คุยกันเรื่องครูเรากันเถอะ (Let's talk about our teachers)


“ศิษย์มีครู” เป็นคำกล่าวที่นำยมใช้กันในสังคมไทยเรา เพื่อจะบอกว่าสิ่งที่เราทำ ก็มีครูเหมือนกัน ไม่ใช่เดาสุ่ม และผมเชื่อว่าทุกคนผ่านการเรียนรู้จากครูมามากมายหลายคน ทั้งครูในดวงใจ และครูที่ไม่อยากพูดถึงครับ วันนี้ผมจะชวนท่านกันเรื่องครูกันดีกว่า 

สมัยที่ผมสอนวิชา “ความเป็นครู” อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กิจกรรมยอดฮิต (สำหรับผม) คือ ให้นักศึกษานึกถึงครูในดวงใจ พร้อมเหตุผลว่าทำไมจึงถือว่าท่านเป็นครูในดวงใจ แล้วก็ให้นักศึกษากลับไปเยี่ยมครูท่านนั้น หรืออย่างน้อยก็ติดต่อท่านทางใดทางหนึ่งครับให้ได้แล้วเขียนรายส่ง และผมจะสุ่มงานเพื่อนำเสนอผลงานหน้าชั้น 

เชื่อไหมว่า “การพบกันของศิษย์และครูในดวงใจสร้างความมหัศจรรย์หลายเรื่องและสร้างทัศนะที่ดีต่อความเป็นครูอย่างไม่น่าเชื่อ” ท่านลองทำดูนะครับ 

สำหรับวันนี้ผมจะเล่าเรื่องประทับเกี่ยวกับครูที่ผมมีโอกาสได้เป็นศิษย์สู่ฟัง สัก 2  ท่านครับ (ที่เหลือจะเล่าภายหลัง) 

ท่านแรกคือครูชั้น ป. 1 ของผมครับ คือ ครูบังอาจ สุทธิประภา 

ครูบังอาจ สุทธิประภา เป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองขี้ม้า ต. โนนชัยศรี อ. โพนทอง จ. ร้อยเอ็ด (บ้านผมเกิดครับ) 

ตอนที่ผมเรียน ป.1 ผมได้เป็นครูผู้ช่วยนะครับ (จะบอกให้)  เรื่องนี้มีที่มาครับ

ปฐมเหตุของเรื่องคือ ตอนผมอายุได้ 6 ขวบ พ่อพาผมไปฝากให้เข้าเรียน ป.1 ก่อนเกณฑ์ โดยบอกกับครูใหญ่ว่า “บักหมานมันดื้อหลาย เอามาให้ครูดัดสันดานมันแน่” [สมานนี่ซนมาก เอามาฝากให้ครูอบรมบ่มนิสัยแต่เด็ก ๆ หน่อย​] 

ผมก็เลยได้เข้า ป. 1 ก่อนเกณฑ์ และผลการสอบไล่ของชั้น ป.1 ปีนั้น สมาน ได้ที่ 1 ครับ (555) แต่ไม่ได้เลื่อนชั้น เพราะว่าเข้าโรงเรียนก่อนเกณฑ์ ผมก็เลยต้องเรียน ป. 1  ซำ้ซั้น (น่าจะเป็นครั้งคนเดียวในประเทศไทยที่สอบได้ที่ 1 แต่ต้องเรียนซำ้ซั้นนะครับ) 

เพื่อเป็นรางวัลปลอบใจ ครูบังอาจ สุทธิประภา ก็เลยให้ผมเป็นครูช่วยสอน ทุกรายวิชาครับตั้งแต่สอนอ่าน สอนเขียน คณิตศาสตร์ วาดรูป ฯลฯ ผมก็สนุกกับการได้สอนเพื่อน เลยลืมเรื่องเลื่อนชั้นเลยครับ 

ความประทับใจดังกล่าวจึงทำให้ผมอยากเป็นครู และผมก็ได้เป็นครูสมอยากจนถึงปัจจุบันครับ ขอบคุณที่ได้เรียนซำ้ชัน แม้จะสอบได้ที่ 1 และขอบคุณครูบังอาจ สุทธิประภา ที่ท่านรู้จักสร้างเด็กตัวน้อย ๆ คนหนึ่งให้เป็นครูจนถึงปัจจุบันครับ 

 ครูอีกคนคือ “ครูเข็มชาติ เจาะจง” ครับ เป็นครูผมสมัยเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปริญญาศรม ในอำเภอโพนทอง เป็นโรงเรียนเอกชน แต่ตอนนี้เลิกกิจการไปแล้วครับ 

การได้เข้าเรียนโรงเรียนนี้ ซึ่งทำให้มีโอกาสได้พบครูชั้นยอดของผมอีกคนก็มีที่มากที่ไปอีกครับ 

คือ หลังจากผมเรียนจบ ป. 4 จากโรงเรียนวัดบ้านหนองขี้ม้าแล้ว ครูก็แนะพ่อว่า “หมอหมานนี่เรียนดีนะ ควรได้เรียนต่อ” 

พ่อในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้มีประสบการณ์ในเมือง เห็นการศึกษาในเมืองพอสมควร (มั้ง) พ่อก็เลยตัดสินใจให้ผมเรียนต่อในเมือง 

วันจะไปสมัครเรียนนั้นผมตื่นแต่เช้า เดินทางเข้าอำเภอโพนทอง (เดินทางจริง ๆ ครับ สมัยนั้นยังไม่มีรถโดยสาร ไปไหนมาไหนต้องเดิน หรือนั่งเกวียน  แต่ถ้ารวยหน่อยก็จะมีจักรยาน ครับ) 

ถ้าใครคุ้นเคยกับเส้นทางเสลภูมิ-โพนทอง ​จะเห็นได้ว่าบ้านหนองขี้ม้าห่างจากตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร และก่อนจะถึงอำเภอจะมีหมู่บ้านชื่อ “บ้านหนองนกเป็ด” และระหว่างบ้านหนองนกเป็ดกับตัวอำเภอนั้นจะมีโรงเรียนเอกชนชื่อ “ปริญญาศรม” ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ด้านขวามือครับ 

พ่อกับผมเดินมาถึงหน้าโรงเรียนปริญญาศรมประมาณ 10 เช้า มีครูสองคนยืนอยู่ทางเข้าโรงเรียน (ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใคร) และครูคนหนึ่งถามพ่อว่า “สิไปไสลุง” [จะไปไหนลุง​] 

พ่อก็บอกว่า “จะพาลูกไปเข้าโรงเรียน” แล้วครูคนนั้นก็บอกว่า “เข้าโรงเรียนนี้ก็ได้นะ” 

พ่อก็เลยพาแวะสมัครเข้าเรียน และนี่คือที่มาของการได้เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนปริญญาศรม และได้พบกับครูเข็มชาติ เจาะจง ครับ 

ครูเข็มชาติเจาะจง เป็นคนบ้านสว่าง ตำบลสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ดครับ หลังจากจบมัธยมศึกษาแล้ว ท่านก็มาเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนแห่งนี้เพื่อได้สิทธิสอบครู “พ.กศ.” (ประกาศนียบัตรวิชลาการศึกษา) เป็นวุฒิขั้นต้นในการเป็นข้าราชการครูได้

ก่อนครูเข็มชาติจะสอนแต่ละชั่วโมง ท่านจะเล่านิทานให้พวกเราฟังก่อน พอถึงตอนสำคัญท่านจะบอกว่า “วันนี้เอาเท่านี้ก่อน” แล้วก็เริ่มสอน อ้อลืมบอกว่าครูเข็มชาติสอนวิชาวิทยาศาสตร์ครับ 

ด้วยเทคนิคดังกล่าว นักเรียน (อย่างน้อยผม) ใจจดจ่อรอเรียนกับท่าน และการบ้านที่ท่านมอบให้ทำต้องเรียบทำ กลัวจะได้ได้ฟังนิทานครับ 

คนที่มีความเป็นครูย่อมมีเทคนิคในการสอนดี ๆ เสมอครับ ครูเข็มชาติทำให้ผมชอบวิชาวิทยาศารสตร์ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาครับ 

ครูเข็มชาติเกษียณอายุด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครับ ท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วครับ ในงานวันขาวดำของท่าน ลูกศิษย์ (รวมทั้งผมด้วย) เดินทางไปส่งท่านครั้งสุดท้ายกันเกือบทุกคนครับ 

ด้วยความเคารพรักคุณครูครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

12 กรกฎาคม 2565

 

 

หมายเลขบันทึก: 703875เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022 07:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ด้วยรักและชื่นชม คุณครูสมาน อ้ศวภูมิ เสมอมา ตั้งแต่ได้มีโอกาสไปทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา 10 (ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ ศน.ใหม่) ท่านให้หลักคิดเชิงระบบไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Leaning by doing) ซึ่งปัจจุบันคือการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่กำลังรณรงค์ให้ใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งการเป็นต้นแบบของนักคิด นักศึกษาค้นคว้าที่ไม่หยุดนิ่ง จนถึงปัจจุบัน ขอบคุณคุณครูมากๆ ครับสัมภาษณ์ คำผุย

ขอบคุณท่านมาก ๆ เช่นกันครับ โลกนี้ประกอบด้วยสรรพสิ่งที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีความสวยงามครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท