๙๘๕. การเรียนรู้เรื่อง การหมั่นเจริญมรณสติ


การเรียนรู้เรื่อง การหมั่นเจริญมรณสติ

การเจริญมรณัสสติ คือ การระลึกถึงความตาย เป็นหลักธรรมประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดง แต่ชาวพุทธส่วนหนึ่งที่ยังติดอยู่ในเรื่องของความเชื่อเรื่องโชคลาง…มักจะปฏิเสธที่จะคิดถึงในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว เรื่องของความเจ็บป่วยเรื่องของความตายเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…หากไม่ได้มีการเตรียมตัว เตรียมใจไว้ก่อน จะเกิดความทุกข์มาก เมื่อเรื่องเหล่านี้มาถึง…พระพุทธองค์จึงสอนให้มนุษย์พึงระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

เวียนมาอีกครั้งกับเช้านี้…ที่ผู้เขียนได้ฟังเรื่องของการหมั่นเจริญมรณสติ…ฟังแล้วรู้สึกปิติที่เราได้เรียนรู้เรื่องของความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ในการที่มนุษย์ต้องพบกับเรื่องของการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป…แต่กว่าที่จะเข้าใจ ได้เรียนรู้มาตลอดชีวิตของผู้เขียนเองกับเรื่อง “ธรรมะ”…สุดท้ายก็ได้เข้าใจในความเป็นจริงที่จะต้องเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง…เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้เข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอกันทุกคน ไม่เว้นแต่คนจน เศรษฐี…ทุกคนต้องพบกับเรื่องของความตาย เป็นอนิจจังที่ต้องพบเจอกับเรื่องการตาย

อาจเป็นจุดสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่เริ่มต้นการเกิดมาเป็นมนุษย์ทารกน้อย ลืมตาเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง…บางคนอาจหลงลืมตนในเรื่องของความเป็นจริงของโลก…เพลิดเพลินไปกับปัจจัยที่โลกประโคมให้เกิดความหลงไหลเพื่อนำมาเสพให้ชีวิตดูหรู มีค่า มีราคา แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่โลกมีความเป็นจริงนั้นคืออะไร แม้จนกระทั่งใกล้หมดลมหายใจ บางคนยังนึกไม่ถึงว่า มีสิ่งนี้อยู่ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญในโลกของความเป็นจริง

หากถ้าเราเรียนรู้ถึงความเป็นจริงของโลกที่เราควรที่จะเรียนรู้ในเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ หรือหลักธรรมะที่สอนถึงเรื่องความเป็นจริงของโลกแล้ว จะทำให้เราได้ผ่อนคลาย เรียนรู้และซึมซับกับสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในทุก ๆ เรื่องของการที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้…สิ่งสำคัญที่สุด และเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะต้องเผชิญ นั่นคือ เรื่องของความตาย…หากเราหมั่นเจริญภาวนาสติ ระลึกรู้อยู่เสมอว่า เราจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง หรืออาจเป็นวันนี้ วันพรุ่งนี้ หรือแม้แต่วินาทีนี้ หากเราหมั่นฝึกจิตของเรามาตลอดรายทางที่เรามีชีวิตอยู่ จะทำให้เราเป็นคนที่ตระหนัก และระลึกรู้ถึงการเรียนรู้ในเรื่องของความตายเสมอ ๆ…จิตที่ถูกฝึกมาดีนั้น ย่อมให้คน ๆ นั้น มีจิตที่เข้มแข็ง และแข็งแรง เพราะจิตจะต่อภพไปในภพเบื้องหน้า หรือภพต่อ ๆ ไป

จงเรียนรู้…ที่หมั่นจะเพียรฝึกภาวนาในการหมั่นเจริญมรณสติ…ใช่ว่าผู้เขียนจะมาฝึกเอาตอนนี้ แต่ความจริง ผู้เขียนเป็นคน Gen baby boomer สมัยก่อนอาจถูกสอนมาด้วยพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่พาผู้เขียนเข้าวัด จึงได้เห็นและซึมซับกับสิ่งที่ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า สิ่งนั้น คือ สิ่งดีต่อการที่ผู้เขียนควรนำมาปฏิบัติ…แรก ๆ ก็เรียนรู้แบบงง ๆ แต่อาศัยที่มีจิตใจ ชอบ ฝึกปฏิบัติมาเสมอ ตั้งแต่ในวัยเด็ก มาจนถึงอายุ ๖๐ ปี ณ ปัจจุบันนี้ ทำให้มีความเข้าใจในหลักธรรมของการนำมาใช้ในชีวิตประจำ…เรียนรู้ โดยการนำสิ่งที่คิดว่าดีมาปฏิบติต่อตนเองและสังคมเสมอ แม้ว่า อาจไม่ถูกใจของคน Gen X Gen Y แต่ถ้าเป็นเรื่องของการกระทำดีแล้ว ผู้เขียนจะนำมาปฏิบัติ…อาจจะด้วยการพิสูจน์ด้วยตนเองว่าสิ่งนั้นก่ำกึ่งของการใช่หรือไม่ แต่ผู้เขียนก็จะพิสูจน์ด้วยตนเอง สุดท้ายก็ทราบว่า คำสอนของพระพุทธองค์ที่พร่ำสอนนั่นคือ ของจริง ของแท้ที่มนุษย์สามารถใช้กันได้บนโลกใบนี้

สุดท้าย…ในทุก ๆ ลมหายใจ จึงทำให้เราไม่ประมาทต่อชีวิต เรียนรู้ในเรื่องของความตายเสมอ กว่าจะมาถึงจุดสุดท้ายของการหมั่นเจริญมรณสติ จุดเริ่มต้นของการหมั่นฝึก นั่นคือ เรื่องของการมีสติ การฝึกสมาธิ การฝึกให้มีจิตที่มีความเมตตาให้เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เสมอ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถนำมาใช้ต่อชีวิตประจำวัน และการทำงานของเราได้อยู่เสมอ…เพราะในการทำงาน หลังเรียนจบการศึกษาแล้ว สิ่งที่เราจะต้องนำมาใช้ในชีวิตของการทำงานนั้น มิใช่เรื่องของความรู้ ความสามารถอย่างเดียว แต่ควรเป็นในเรื่องของพฤติกรรม คือ การที่ตัวเราได้ฝึกปฏิบัติมาตลอดที่เรามีประสบการณ์ในแต่ละช่วงวัย เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา หากเป็นทางโลกตะวันตก สิ่งนั้น คือ เรื่องของความรู้ ความสามารถ อาจหมายถึงในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ของงาน ที่ภาครัฐอาจแบ่งตอนนี้ได้เท่ากับ ๗๐ หรือ ๘๐ เพราะโลกต้องการผลงานเพื่อมาวัดในเรื่องของการบรรลุผลสัมเร็จของงานที่เกิดจากการได้มีการพัฒนาความรู้

อีกส่วนหนึ่งที่ภาครัฐจะกำหนด นั่นคือ เรื่อง สมรรถนะ ที่ ณ ปัจจุบันนี้อาจวัดได้เท่ากับ ๓๐ หรือ ๒๐ ตามที่แต่ละแห่งกำหนดที่จะวัด…สมรรถนะ จริง ๆ แล้ว ก็คือ พฤติกรรมของมนุษย์ หรือหากเป็นสมัยก่อน ซึ่งโลกตะวันออกได้นำมาปฏิบัติ นั่นคือ เรื่องของการมีคุณธรรม การมีจริยธรรม การมีเจคติที่ดีต่อตนเองและองค์กรอย่างไรนั่นเอง หากเทียบกับคนในสมัยก่อน ส่วนหลังนี้ ส่วนใหญ่จะวัดกันไม่ค่อยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก…หากคน ๆ นั้น ไม่มีจิตสำนึก หรือความรับผิดชอบที่ดี เพราะคนที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับการฝึก และนำมาสู่การปฏิบัติให้ได้ และให้เป็นมากกว่า ผลของการปฏิบัติจึงจะเกิดขึ้นกับมนุษย์…คือ ถ้าเปรียบเทียบแล้ว การนำความรู้ของโลกตะวันตกมาใช้ ก็มิได้แตกต่างจากโลกตะวันออกสักเท่าใด เพียงแต่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และอาศัยประสบการณ์ที่แต่ละช่วงวัยได้เติบโตมา จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงได้…เพราะสิ่งนี้ คือ การพัฒนา ว่าแต่จะพัฒนาไปในทิศทางใด นำเครื่องมือใดมาใช้กับเรื่องของการพัฒนาคน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความคิด นั่นคือ เรื่องการฝึกการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่ดีต่อตนเอง และดีต่อสังคมได้ ทุกคนควรฝึกให้มีความเข้าใจในความเป็นจริงของโลกให้ได้ และให้เป็น เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์โลกต้องการ พอ ๆ กับผลสัมฤทธิ์ของงาน สำหรับผู้เขียนมีความคิดว่า หากคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้ว ควรที่จะ ๕๐:๕๐ มากกว่า ไม่ควรเอนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เหตุผลเพราะหากเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะทำให้ผลของด้านนั้นลดลง

************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาในบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕



ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ พี่แก้ว ชีวิตจริงคนเราก็เท่านี้จริง ๆ ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท