วิธีดำเนินการวิจัย (Research methodology)


การวิจัยส่วนใหญ่นิยมเขียน “วิธีดำเนินการวิจัย” ไว้ในบทที่ 3 เป็นส่วนขยายกรอบแนวคิดและการออกแบบวิจัยที่นำเสนอไว้ในบทที่ 1 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะนำเสนอและอธิบายว่าการดำเนินการวิจัยนั้น ๆ ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้อย่างไร คือ (1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง (2) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (3) การเก็บรวบรวมข้อมูล และ (4) การวิเคราะห์ข้อมูลและวิธีการที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น 

การเขียนวิธีดำเนินการในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่เป็นปัญหาในกรณีที่เป็นการดำเนินการวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่าง และหรือผู็ให้ข้อมูลสำคัญเพียงกลุ่มเดียว และเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน แม้จะเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายกลุ่มก็ตาม แต่ถ้าเป็นการวิจัยที่มีการดำเนินการเป็นหลายระยะ และในแต่ละระยะจะใช้ประชากร/ กลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ หรือแหล่งข้อมูลคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้อาจจะใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลต่างกันด้วย ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ผู้วิจัยต้องระมัดระวังการเขียนอย่างยิ่ง เพราะเมื่อกล่าวถึงประชากรและกลุ่มตัวอย่างหรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยนั้น ผู้เขียนต้องเขียนแยกให้เห็นว่า “ประชากร/ กลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ข้อมูลสำคัญ” กลุ่มไหน ใช้ในการวิจัยระยะใด ในทำนองเดียวกันเมื่อกล่าวถึงวิธีวิเคราะห์ข้อมูลก็เช่นกัน ผู้วิจัยก็ต้องแยกให้เห็นว่าวิธีวิเคราะห์ข้อมูลและสถิตินั้นใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใด เป็นต้น ถ้าไม่ได้ออกแบบให้ดีและเขียนให้ชัดเจนจะเป็นปัญหาในการดำเนินการวิจัยอย่างยิ่งครับ ในควรมเห็นของนั้น ผมเสนอให้เขียนแยกตามระยะของการวิจัย และในแต่ละระยะการวิจัยก็อธิบายให้ครบทั้ง ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เครื่องมือที่ใช้ในการยวิจัย วิธีการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  เช่น สมมติว่าผู้อ่านจะทำวิจัยเกี่ยวกับ “รูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวก้บการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล” ซึ่งผู้วิจัยอาจจะออกแบบในการดำเนินการวิจัยไว้ 3 ระยะ คือ (1) การศึกษาความต้องการในการพัฒนาครู เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล (2) สร้างรูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล และ (3) ตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล ซึ่งอาจจะเขียนวิธีดำเนินการวิจัยดังนี้ 

         การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสทธิผล ซึ่งจะมีการดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะคือ  1) การศึกษาความต้องการในการพัฒนาครู เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล (2) สร้างรูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล และ (3) ตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการพัฒนาครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัยในแต่ละระยะดังนี้ 

          ระยะที่ 1 การศึกษาความต้องการในการพัฒนาครู 

                        การศึกษาความต้องการในการพัฒนาครูในการการวิจัยนี้จะดำเนินการโดยการสำรวจความต้องของครูเกี่ยวกับเรื่องที่เขาต้องการรับการพัฒนาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน และวิธีกาารพัฒนาที่ครูต้องการให้ดำเนินการ ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยดังนี้

                       1.1 ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (อธิยายขอบเขตเนื้อหาที่จะศึกษา)

                        1.2 กำหนดกรอบความคิดในการวิจัย (อธิบายว่าจะกำหนดกรอบอย่างไร และมีการประเมินความตรงเชิงเนื้อหาด้วยไหม) 

                         1.3 สร้างและหาคุณภาพเครื่องมือการวิจ้ย (อธิบายวิธีสร้างเครื่องมือ ลักษณะเครื่องมือ และวิธีการหาคุณภาพเครื่องมือ) 

                          1.4 เก็บข้อมูลการวิจัย (ระบุประชากร กลุ่มตัวอย่าง

                          1.5 การวิเคราะห์ข้อมูล (ระบุวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล/สถิติที่ใช้) 

               ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบการพัฒนาครู

                            การสร้างรูปแบบการพัฒนาครูในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยจะนำใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความต้องการของครูทั้งประเด็นที่ต้องการได้รับการพัฒนา และวิธีการที่ต้องการได้รับการพัฒนา บนฐานแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่ศึกษาวรรณกรรม และมีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยดังนี้

                             2.1 การร่างรูปแบบ (อธิบายว่าผู้วิจัยดำเนินการร่างรูปแบบอย่างไร)

                              2.2 การศึกษาข้อมูลประกอบการปรับปรุงรูปแบบ (อธิบายว่าผู้วิจัยจะเก็นข้อมูลเพื่อนำใช้ในการปรับปรุงรูปแบบอย่างไร เช่น อาจจะใช้วิธีการ “สนทนากลุ่ม” ก็ต้องอธิบายว่าจะทำอย่างไร และผู้ทรงคุณวุฒิในการสนทนากลุ่มเป็นใคร เลือกมาโดยใช้เกณฑ์อะไร  จำนวนเท่าไหร่ ฯลฯ) 

                              2.3 การปรับปรุงรูปแบบ (อธิบายว่าจะปรับปรุงรูปแบบอย่างไร โดยใช้ข้อมูลที่ได้มาอย่างไร) 

                 อนึ่งในกรณีที่ผู้วิจัยเห็นความจำเป็นต้องเขียนคู่มือการใช้รูปแบบเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยนี้ด้วย ต้องระบุไว้ในงานของระยะที่ 2 ด้วย "ระยะที่ 2 การสร้างรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบการพัฒนาครู แล้วในแต่ละขั้นตอนในระยะนี้ก็ทำสองอย่างคู่ขนานกันไปครับ 

                  ระยะที่ 3 การตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบ

                   ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยจะตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบโดยการลงความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิด้วยวิธีการประเมินอิงผู้ทรงคุณวุฒิ (connoisseurship) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยดังนี้ 

                    3.1 การเอกสารและเครื่องมือในการประเมิน (อธิบายว่ามีเอกสารประกอบอะไรบ้าง และมีเครื่องมือะไรบ้าง เป็นต้น)

                     3.2 การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมิน (ระบุเกณฑ์ และจำนวนในการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ)

                      3.3 การดำเนินการประเมินรูปแบบ (อธิบายถึงรูปแบบ และวิธีการดำเนินการประเมินรูปแบบ) 

                       3.4 การสรุปผลการประเมินรูปแบบ (อธิบายว่าผู้วิจัยจะสรุปผลการประเมินรูปแบบอย่างไร จะมีการนำผลไปปรับปรุงหรือไม่ เพราะอะไร เป็นต้น) 

              ในการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบนั้น นอกจากวิธีการประเมินอิงผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผู้วิจัยอาจจะเลือกวิธีการตรวจสอบคุณภาพด้วยวิธีอื่นก็ได้ เช่น การศึกษาความเห็นของผู้ที่จะใช้รูปแบบ หรือทั้งผู้ใช้รูปแบบและผู้เกี่ยวข้อง หรือ การนำรูปแบบไปทดลองใช้ (ในกรณีที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจจะทดลองทั้งรูปแบบ หรือทดลองใช้บางส่วนก็ได้) เป็นต้น 

ขอให้สนุกกับการวิจัยนะครับ 

สมาน อัศวภูมิ

4 กรกฎาคม 2565

 

 

หมายเลขบันทึก: 703417เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2022 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2022 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท