บทที่สอง: บทที่ผู้วิจัยต้องสร้างทฤษฎีของตนให้ได้ (Chapter two: A researcher must construct his own theory) )


บมเขียนที่แล้วผมได้พูดถึงการเป็นประธานสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ว่ามักจะพบปัญหาหลัก ๆ 4-5 เรื่อง และผมได้เขียนเกี่ยวกับการเขียนบทที่หนึ่ง หรือความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัยไปแล้ว สำหรับบทนี้เป็นเรื่อง “การเขียนบทที่สอง” ครับ 

จุดหมายของบทที่ 2 แตกต่างจากบทที่ 1 คือ จุดหมายของบทที่ 1 คือ การตอบคำถามว่า ”ทำไมจึงควรมีการวิจัยเรื่องนั้นๆ" ขณะที่จุดหมายของบทที่ 2 นั้น คือ แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่นำใช้เป็นฐานคิดในการทำวิจัยเรื่องนั้น ดังนั้นหลักในการเขียนบทที่ 1 จึงใช้ “หลักความคิดของผู้วิจัยนำ” กล่าวคือผู้วิจัยต้องเข้าใจเรื่องที่จะวิจัยชัดเจนและสามารถชี้ให้เป็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่ควรวิจัยเรื่องนั้น ๆ ส่วนข้อมูล แนวคิด หรืองานวิจัยของผู้อื่นเป็นข้อมูลที่นามาสนับสนุนความคิดของผู้วิจัยเป็นหลัก ดังกล่าวมาแล้วในบทเขียนที่แล้ว ส่วนสาระของบทที่ 2 เป็นการทบทวนและทำความเข้าใจแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยของผู้อื่นนำเสนอหรือวิจัยเกี่ยวกับเรื่องไว้ เพื่อนำใช้เป็นฐานคิดของเรื่องที่ผู้วิจัยจะทำวิจัยครั้งนั้น หลักการเขียนบทที่ 2 จึงใช้ “หลักการศึกษางานของผู้เขียนและสรุปเป็นความเข้าใจของเรา” 

กรอบคิดในการทบทวนวรรณกรรมที่จะนำมาเขียนไว้ในบทที่ 2 นี้ได้มากจากการวิเคราะห์ตัวแปรหลักที่เราจะวิจัยว่าในการวิจัยเรื่องนั้นมีตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องอะไรไบ้าง เช่น งานที่วิจัยที่ยกตัวอย่างในบทเขียนที่แล้ว คือ “การบริหารงานวิชาการในยุคโควิด-19” ชื่องานวิจัยเต็มเรื่อง (ผมเรียนแล้วว่าไม่ได้นำชื่องานวิจัยของลูกศิษย์มาจริง เพื่ปกป้องงานของผู้ศิษย์) อาจจะเป็นว่า "ปัญหาและแนวทางในการบริหารงานวิชาการภายใต้ภาวะวิกฤติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัด …." หัวข้องานวิจัยนี้มี 2 ตัวแปรหลักคือ “การบริหารงานวิชาการ” กับ “ภาวะวิกติจากการระบาดของโควิด-19” ดังนั้นในการบททวนวรรณกรรมและเขียนบทที่สองของการวิจัยนี้ต้องมีสองเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นที่ต้องการจะทบทวนวรรณกรรมและเขียนไว้ในบทที่ 2 นี้ก็ได้ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องวิจัยนี้ในทางใดทางหนึ่ด้วย จึงควรนำมาเขียนไว้ในบทที่ 2

ของจากได้ตัวแปรหลักที่จะทบทวนวรรณกรรมและนำมาเขียนในบทที่ 2 แล้ว ต่อไปผู้วิจัยค่อศึกษาและกำหนดกรอบสาระย่อยของตัวแปรนั้นว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องการบริหารงานวิชาการ เป็น ผู้วิจัยก็ศึกษาดูว่าเมื่อกล่าวถึงงานวิชาการในหนังสือ ตำรา งานวิจัย หรือบทความต่าง ๆ ผู้เขียนเหล่านั้นเขากล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง และสุดท้ายเราจะเลือกแนวคิดของคนใดคนหนึ่งมาใช้ในงานวิจัยของเรา ด้วยเหตุผลเชิงวิชาการก็ได้ หรือจะใช้วิธีวิธีการสังเคราะห์แนวคิดของแต่ละคนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเลือกหัวข้อย่อยที่มีความถี่มากกว่ารายการอื่นจำนวนหนึ่งมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยของเราก็ได้ เราก็จะสรุปได้ว่าเมื่อกล่าวถึงการบริหารงานวิชาการแล้ว “ประกอบด้วยตัวแปร หรือองค์ประกอบอะไรบ้าง” และหลังได้กรอบแนวคิดที่จะวิจัยแล้ว ผู้วิจัยควรได้มีการทบทวนวรรณกรรมในแต่ละตัวแปรย่อย และสรุปเป็นความคิดของผู้วิจัยเองทุกตัวแปร ซึ่งข้อสรุปนี้ก็จะนำไช้ในการเขียนนิยามปฏิบัติการ และเขียนข้อคำถามในแบบเก็บข้อมูลต่อไป 

อย่าลืมหลักสำคัญของบทที่สองที่ว่า “เป็นการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีของคนอื่นแล้วสรุปเป็นแนวคิดและทฤษฎีของเรา” ดังนั้นการทบทวนวรรณกรรมในทุกเรื่องในบทที่ 2 นี้ “ต้องจบด้วยการสรุปวรรณกรรมที่ทบทวน” เสมอ เพราะบทที่สองเป็นการทำความเข้าใจของของผู้อื่นในเรื่องที่เราจะวิจัย

หวังว่าบทเขียนนี้จะช่วยนักศึกษาที่กำลังตั้งไขหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้บ้างนะครับ 

อ้อเกือบลืมไปว่า “การทบทวนวรรณกรรมที่จะนำมาเขียนบทที่ 2” นี้ความจริงแล้วเป็นสิ่งแรกที่ผู้วิจัยต้องทำมาก่อนเขียนบทที่ 2 เพียงแต่นิยมเขียนรายงานไว้ในบทที่ 2 เท่านั้น ทั้งนี้เพราะการทบทวนวรรณกรรมเป็นจุดเร่ิมต้น และเป็นแหล่งข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าใจและเห็นช่องในการทำวิจัยครับ 

นอกจากนี้การทาบทวนวรรณกรรมยังสามารถดำเนินต่อไปในระหว่างการยกร่างเค้าโครงการวิจัย เพราะจะทำผู้วิจัยเข้าใจงานที่กำลังทำวิจัยได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น และได้กรอบความคิดในการวิจัยที่จะตอบโจทย์การวิจัยได้ครบทถ้วนมากขี้น ยิ่งกว่านั้นแม้แต่ระหว่างการทำวิจัย และขณะเขียนรายงานวิจัย ก็ยังสามารถทบทวนวรรณกรรมได้เพิ่มเติมได้ และการเขียนบทที่สองก็สามารถจะปรับแก้ไขได้จนถึงวินาทีสุดท้ายที่ผู้วิจัยจะเผยแพร่งานวิจัยครับ 

สมาน อัศวภูมิ

3 กรกฎาคม 2565

 

หมายเลขบันทึก: 703401เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2022 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2022 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท