เยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนวัดเจติยาราม (บัณฑิตประชาน้อยพานิช)


 

โรงเรียนนี้อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี   เป็นโรงเรียนลูกคนจน   เพราะอยู่ใกล้เมืองนิดเดียว คนมีฐานะจะนำลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมือง    นี่คือสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมในบ้านเมืองเรา     ที่คนทั่วไปยอมรับโดยดุษณี    แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่รักและห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองไม่ควรยอมรับ     ผมจึงขอร้องให้ลูกสาวสองคนผลัดเวรกันดูแลแม่ที่สมองเสื่อม    ผมไปประชุมที่ราชบุรีและนครปฐม ๒ วัน ในวันที่ ๒๔ และ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๕   

  โรงเรียนนี้เข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ” (TSQP) ที่สนับสนุนโดย กสศ.   ผมทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการโครงการ   จึงอยากเห็นการพัฒนาที่โรงเรียนจริงๆ   เพราะรับรู้ผ่านการบอกเล่าของทีมโค้ช ทีมติดตามประเมินผล และทีมจัดการโครงการมาสองสามปี    ในสถานการณ์โควิดระบาด

รถตู้ของโครงการมารับก่อนเวลานัด ๗.๐๐ น.   โดยผมเตรียมตัวนั่งรออยู่แล้ว   คุยกับ ผศ. ดร. ศิริวรรณ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตอย่างออกรส และประเทืองปัญญา    จนถึงโรงเรียนไม่รู้ตัวตรงเวลานัด ๙.๐๐ น. พอดี   

 เป็นธรรมเนียมของโรงเรียนที่จะต้องจัดพิธีต้อนรับใหญ่โต    ที่ผมมองกลับทางว่า สะท้อนความอัปยศของระบบการศึกษาไทย (และราชการไทย)    ที่ผู้ใหญ่ส่วนกลางสร้างไว้    เป็นความรู้สึกที่เด็กชายวิจารณ์ พานิช รู้สึกตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ อยู่ที่บ้านนอกจังหวัดชุมพร   ว่าผู้ใหญ่ในวงราชการเมื่อลงพื้นที่ก็เรียกร้องการต้อนรับที่ “สมเกียรติ” ตน   ไม่ใช่ขอดู “ความจริง” ในพื้นที่     เขาจึงได้รับรู้ “ผักชี” เป็นหลัก

ตอนนั้น ผมคิดว่า เขามาเพื่อแสดงอำนาจของเขา    ไม่ได้มาเพื่อหาทางช่วยให้ชีวิตของคนบ้านนอกอย่างเราดีขึ้น    ตอนนั้นไม่คิดว่าในที่สุดตนเองจะได้สวมบทบาทนั้น    แต่เมื่อชตาชีวิตผกผัน    ผมก็บอกตัวเองว่า สิ่งใด้ที่เคยรู้สึกสมัยเด็ก หรือเป็นผู้น้อย    ให้จดจำไว้เตือนสติตนเองให้ปฏิบัติอย่างที่ตนเองเคยคิดไว้     และให้จำคำสอนของแม่ ว่าหากชีวิตได้ดิบได้ดี อย่าลืมกำพืดของตนเอง   

ดังนั้นเมื่อพิธีกรรมต้อนรับผู้ใหญ่จากส่วนกลาง ที่เริ่มจากผู้อำนวยการเขต สพป. ราชบุรีเขต ๑ นายยรรยง เจริญศรี   และ ผอ. โรงเรียน นายอนุวัต ทวีผล กล่าวรายงาน (แบบอ่านจากเอกสาร)  จบ     เจ้าหน้าที่เอาแฟ้มคำกล่าวมาให้ผมทันที    ผมก็กล่าวปากเปล่าทันทีว่า พิธีกรรมจบแล้ว   ต่อไปนี้ขอให้คุยกันแบบไม่มีพิธีรีตอง    พูดออกมาจากใจ จากความเป็นจริง    เพื่อช่วยกันหาทางให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ       

โรงเรียนนี้เข้าโครงการ TSQP รุ่น ๒ ในปี ๒๕๖๓   อยู่ในเครือข่าย มรภ. กาญจนบุรี    โดยจริงๆ แล้วเป็นโรงเรียนที่มีต้นทุนสูงมาก่อนแล้วในฐานะโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม   เราจึงไปเห็นโรงเรียนที่เข้มแข็งมากในการพัฒนา V (values - ค่านิยม) ในเป้าหมายการพัฒนาครบด้าน VASK ให้แก่นักเรียน    โดยอวดว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงว่านักเรียนไหว้สวย    และมีการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาคุณธรรม   

เห็นได้ชัดเจนว่า นี่คือโรงเรียนที่ทีมครูตั้งใจทำงาน   และมีผลงานดีเป็นที่ประจักษ์ ผู้ปกครองนักเรียนจึงนำนักเรียนมาเข้าเรียน จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น   หลังการพูดคุยในวงใหญ่ ผมได้โอกาสคุยอย่างกันเองกับครู ๓ ท่าน     จึงได้รับรู้ความหนักใจของครูต่อศิษย์ที่มีปัญหาการเรียนถึง ๖๖ คนจาก ๓๑๕ คน   และบางคนน่าสงสัยว่าเป็นเด็กไอคิวต่ำ   ครูพาไปตรวจที่โรงพยาบาลต้องจ่ายค่าบริการ    ทำให้ผมเห็นความอ่อนแอของระบบช่วยเหลือเด็กเรียนอ่อนที่ระบบไม่ครบวงจร   ไม่เชื่อมโยงกันระหว่างระบบการศึกษากับระบบดูแลสุขภาพ   

หลังการประชุม เราขึ้นไปเยี่ยมชมกิจกรรมในห้องเรียน   ผมแปลกใจที่ห้องเรียนชั้นประถมยังจัดแถวโต๊ะนักเรียนแบบ classroom   ไม่ใช่แบบ studio    แต่เมื่อไปถึงห้องหนึ่งก็พบว่า ครูกับนักเรียนลงไปนั่งล้อมวงอยู่กับพื้น   เพื่อเล่นเกมลูกบอลล์ ที่เมื่อนักเรียนคนใดได้ลูกบออล์ก็จะพูดสะท้อนคิดของตนออกมา     สะท้อนคิดเรื่องอะไรผมจำไม่ได้แน่    คลับคล้ายคลับคลาว่า เป็นเรื่องคุณธรรม   มีคนมากระซิบว่าครูท่านนี้ได้ชื่อว่าสอนเก่ง      

บรรยากาศในห้องเรียนที่ผมไปเห็นบอกว่าโรงเรียนนี้แข็งแรงด้านพัฒนาคุณธรรม (V – values) ให้แก่นักเรียน   แต่ไม่ชัดเจนว่า ด้านพัฒน S & K แข็งแรงแค่ไหน (S = skills - ทักษะ, K = knowledge -ความรู้)    ที่ชัดเจนคือ ครูเอาใจใส่นักเรียน    และ ผอ. ที่เพิ่งย้ายมาใหม่ ๗ เดือนก็สนับสนุนแนวทางการพัฒนาโรงเรียนตามแนวทางของ TSQP อย่างต่อเนื่อง    โดยโรงเรียนได้รับยกย่องเป็นโรงเรียนคุณธรรมระดับ ๔ ดาว    มีเป้ายกระดับเป็น ๕ ดาว    ภายใต้คำขวัญ “มีวินัย ใฝ่จิตอาสา นำพาพอเพียง” เน้นพัฒนา V & A ของนักเรียนชัดเจน (A = attitude – เจตคติ)    ไม่รู้ตัวว่า ลืมเน้นเรื่องการพัฒนา S & K       

ตอนบ่ายเป็นการให้ข้อสะท้อนคิดจากการเยี่ยมชม    โดยมีกรรมการโรงเรียนและผู้นำชุมชนมาร่วมด้วย ๓ ท่าน และท่านเจ้าอาวาสวัดที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนก็มาร่วมด้วย   เห็นชัดเจนว่านักเรียนได้ประโยชน์มากจากการเข้าโครงการ TSQP   เพราะโรงเรียนเปลี่ยนวิธีสอนจากถ่ายทอดความรู้ มาเป็นให้นักเรียนเรียนรู้เชิงรุก   และใช้เครื่องมือต่างๆ ของโครงการ TSQP   ท่านผอ. บอกว่ามีเป้า  Q-Info ปีหน้าระดับ platinum 

 ข้อมูลจากการเยี่ยมชมโรงเรียนวัดเจติยารามครั้งนี้ ช่วยให้ผมสรุปการประชุมในบ่ายวันรุ่งขึ้นได้อย่างมั่นใจ 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มิ.ย. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 703335เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2022 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2022 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท