การอวดดีเป็นความโง่เขลา! (Over confidence is foolish!)


       การอวดดีเป็นความโง่เขลาอย่างยิ่ง ซึ่งผมก็เป็นแบบนั้นมากเกือบครึ่งชีวิตจนกระทั่งมีโอกาสได้เรียนกับศาสตราจารย์ ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิย์ในปี 2531 คือด้วยผมเป็นนักเรียนปริญญาเอกสาขาวิชาการบริหารการศึกษารุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รศ. ดร. อท้ย บุญประเสริฐเรียกผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกว่า “นักเรียน” หมายความว่าเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนครับ) จึงได้มีโอกาสได้เรียนกับกูรูหลายท่านที่สาขาวิชาเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ และศาสตราจารย์ ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ครับ (ผมมีเรื่องเท่านเกี่ยวก้บท่านเยอะครับ จะนำมาเล่าในอีกหลายครั้งครับ)

       ก่อนที่จะได้เรียนกับท่านอาจารย์ ดร. ก่อ นั้นผมเป็นคนอวดดีอวดเก่งมากครับ เชื่อในมันสมองและความสามารถของตนเองมาก ไม่ค่อยอ่านหนังสือเท่าไหร่นัก เพราะคิดเองได้ อะไรประมาณนี้ครับ

        แต่ด้วยบ้านพักขณะนั้นอยู่ที่บ่อนไก่และใกล้มหาวิทยลัยกว่าเพื่อนรวมรุ่นจึงมีหน้าที่มาแต่เช้าเพื่อต้อนรับและดูแลอาจารย์ผพิเศษที่มาสอนพวกเรา และทุกเช้าผมต้องหาเรื่องสนทนากับอาจารย์ขณะที่รอเพื่อน ท่านอาจารย์ ดร. ท่านจะมามหาวิทยาลัยแต่เช้าทุกครั่งที่มาสอน เจ็ดโมงกว่า ๆ ก็มาแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด (ท่านว่า) ผมจึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านเกือบชั่วโมงกว่าเพื่อน ๆ จะมาถึง 

        เหตุเกิดขึ้นในวันหนึ่งที่ผมาถามอาจารย์ ดร. ก่อ ว่า "ทำไมคนไทยชอบนินทาและให้ร้ายคนอื่น ทั้งๆ  ที่ไม่รู้จักกัน หรือไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเขา หรือเรื่องที่เขาทำเลย

        ท่านอาจารย์ ดร. ก่อ หัวเราะ “หึอ ๆ” แล้วพูดว่า “สมาน เคยอ่าน ”คำพิพากษา" ไหม (นิยายเขียนโดย ชาติ กอบจิตติ นิยายรางวัลซีไรต์ ปี 2525) ซึ่งผมก็ไม่เคยอ่าน เพราะผมไม่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว และคำพิพากษานะเป็นนิยาย ผมยิ่งไม่อ่านเพราะผู้มีฐานคติ หรือ mindset ว่า “จะเอาอะไรกับนิยาย"

       แต่หลังจากตออาจารย์ว่า “ไม่เคยอ่านครับ” ก็ต้องหามาอ่าน เพราะพบกันชั่วโมงถัดไปอาจารย์ก็คงถามว่า “อ่านหรือย้ง” นะครับ 

       หลังจากอ่านนิยายเล่มนี้ผมกลายเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของชาติ กอบจิตติ คนหนึ่งครับ ตามอ่านนิยายของเขาทุกเรื่องในเวลาต่อมา

       นิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ให้คำตอบผมโดยอาจารย์ไม่ต้องตอบ หรืออธิบายครับโดยเฉพาะเรื่องที่เกิดกับตัวเอกของเรื่องคือ “นายฟัก” ซึ่งโดยเนื้อแท้เขาเป็นคนดี มีเมตตา และมีความรับผิดชอบสูง แต่ตอนหลังเขาตกเป็นเหยื่อของ “คำพิพากษา” จากสังคม ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่คนในสังคมคิดและตัดสินเขานั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งทำร้ายทำให้เขามีสภาพเหมือนตายทั้งเป็นครับ 

        ท่านที่ยังไม่เคยอ่านน่าจะได้หามาอ่านนะครับ นิยายดังกล่าวน่าจะทำให้เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมของเราได้ไม่น้อย และหาทางแก้ไขปัญหาสังคมของเราได้พอสมควร แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเขียนมานาน แต่ปรากฎการณ์ทางสังคมในบ้านเมืองเรายังมีสภาพเหมือนในนิยายดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น “สื่อสังคมออนไลน์” กลายเป็นเครื่องมือของคำพิพากษากันและกันในสังคมมากขึ้นครับ 

         สำหรับเรื่องการอ่านหนังสือของผมนั้นหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นและหลายครั้งที่ผมถามอาจารย์ และผมก็ได้อ่านหนังสือ หรืองานวิจัย เสมือนการบ้านที่ได้รับจากอาจารย์นั้นทำให้ผมเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือมากขึ้น และเป็นนิสัยใหม่ของผมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

         แต่บทเรียนที่สำคัญที่ได้รับคือ “การอวดดีอวดเก่งของผมเองนั้นเป็นความโงเขลาอย่างยิ่ง ผมเสียโอกาสและเวบาเกือบครึ่งชีวิตในการเรียนูรู้อันเนื่องมาจากการอวดดีของผมเองครับ” 

         จึงขอแชร์กับเพื่อนร่วมโลกครับ 

สมาน อัศวภูมิ

23 มิถุนายน 2565

    

หมายเลขบันทึก: 703172เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2022 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2023 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท