ชีวิตที่พอเพียง  4217. การพัฒนาชุมชนและสังคมในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา


 

วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๕ เป็นวันครบ ๑๐ ปี ที่คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมจากพวกเราไป    คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม และองค์กรภาคี ได้จัดงาน ปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ ๘   ดังข่าว (๑)   (๒)  

จริงๆ แล้ว เป็นการอภิปรายร่วมกันของคนรุ่มใหม่ ๔ ท่าน และคนรุ่นคุณไพบูลย์ ๓ ท่าน (ผมเป็น ๑ ในนั้น)    มีวิทยากรคอยซักสรุปและเสริม ๒ ท่าน    และผู้สรุป ๑ ท่านคือ ศ. ดร. สุริชัย หวันแก้ว    ในช่วงเวลา ๓ ชั่วโมงเศษ ผมได้ความรู้มากอย่างเต็มอิ่ม  ได้เห็นภาพใหญ่ของพัฒนาการ (และไม่พัฒนา) ของสังคมไทย    จากการอภิปรายของคุณนวพร และคุณชายอุ๋ย   

ใน ๕๐ ปี เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากฐานเกษตร สู่ฐานบริการและอุตสาหกรรม    โดยที่ผมตีความว่า ด้านสังคมยังเป็นสังคมวัฒนธรรมฐานเกษตรเป็นส่วนใหญ่    แต่ปรับชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนจากชุมชนชนบท มาเป็นชุมชนเมืองมากกว่าครึ่งของประชากรไทย   และการคมนาคมก็ดีขึ้นอย่างมากมาย   ที่เปลี่ยนแรงมากคือการสื่อสารและสื่อ เปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อโซเชี่ยลที่ใครๆ ก็สื่อสารออกไปได้    มองด้านดี ทำให้คนเสมอภาคกันมากขึ้น    ในด้านลบ มีการสื่อสารอย่างไร้ความรับผิดชอง หรือเพื่อแสวงประโยชน์มิชอบ มากขึ้น    รวมทั้งมีการรวมกลุ่มคนคอเดียวกัน สื่อสารกันในกะลาครอบ ที่ฝรั่งเรียกว่า echo chamber  ไม่มีโอกาสรับรู้มุมมองที่ต่าง   

ในสภาพเช่นนี้ การทำงานเพื่อสังคม จึงมีมิติเพิ่มขึ้น   โดยที่งานเพื่อสังคมบางแบบอาจไม่ต้องสัมผัสตัวคนหรือกลุ่มคนโดยตรง    แต่มีการทำงานบนพื้นที่ ดิจิทัล    ดังกรณีคนรุ่นใหม่ ๓ คนที่เป็นวิทยากรในวงเสวนา

คุณชายอุ๋ย (มรว. ปรีดียาธร เทวกุล) ให้ความเห็นว่าสมัย ๕๐ ปีก่อน การช่วยเหลือคนจน ที่มักเป็นเกษตรกรในชนบท มักเป็นการช่วยเหลือโดยตรง ใน ๔ ด้านคือ การทำมาหากิน  ด้านสุขภาพ  การศึกษา และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   ริเริ่มโดย อ. ป๋วย ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะชนบท    ใช้วิธีให้คนไปฝังตัวในชุมชนแล้วกลับมาเล่าและคิดหาทางช่วยเหลือ    ต่อมาจึงคิดทำโครงการลุ่มน้ำแม่กลอง โดยชักชวน ๓ มหาวิทยาลัยเข้าร่วม (มธ., มก., มม.)    แต่ไม่ทันดำเนินการที่กำหนดเริ่มปี ๒๕๒๐ ก็เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙  และ อ. ป๋วยต้องออกนอกประเทศ   

คุณชายให้ความเห็นว่า เวลานี้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น จากการเกษตรผสมผสาน (เกษตรทฤษฎีใหม่)   การประกันราคาผลิตผล    ปัญหาที่ยังคงอยู่คือ ด้านการศึกษา  การกระจายอำนาจด้านสุขอนามัยคือ รพสต.   ด้านชุมชนเข้มแข็ง    และด้านความเหลื่อมล้ำ                                     

ท่านที่สนใจเข้าฟัง/ชมรายการย้อนหลังได้ที่ (๓)   

วิจารณ์ พานิช 

๑๓ เม.ย. ๖๕ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 702675เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2022 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2022 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท