ปลักมะหว้า....YSF & SF


คือ...เกษตรกรรุ่นใหม่ การเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จรูป ที่นี่ Smart Farmer ใครๆ ก็เป็นได้คร้าบ!!!!

                                          -เมื่อหลายปีก่อน(ปี 2559)ผมได้มีโอกาสนำเอาเรื่องราวของ"ลุงวิทย์"มาบันทึกไว้ที่นี่ครับ ปกเกล้า...เพียงดิน.... - GotoKnow ซึ่งครั้งนั้น “ลุงวิทย์”ได้เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับการนำเอา"อินทผลัม"มาปลูกในพื้นที่ของหมู่ 8 บ้านปลักมะหว้า สำหรับบรรยากาศในการพูดคุยกับ"ลุงวิทย์"ในคราวนั้นสามารถเข้าไปติดตามได้ตามลิ้งค์ที่ผมแปะไว้ข้างบนนี้ได้เลยนะครับ….ผ่านมา 7 ปีกับการรู้จักพืชชนิดใหม่นามว่า “อินทผลัม”มาวันนี้จึงได้มีโอกาสกลับเข้าไปสวนของ"ลุงวิทย์"อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น พร้อมแล้วตามผมไปชมพร้อมๆ กันได้เลยคร้าบบ!!!

1.เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการพาทีมงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่ายไปเยี่ยมชมกิจกรรมการเกษตรในสวนของ"ลุงวิทย์"ตัวผมเองก็ต้องขอออกไปเก็บข้อมูลในเบื้องต้นก่อนครับ และวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 ผมจึงออกเดินทางไป ณ บ้านปลักมะหว้า หมู่ 8 ตำบลพรานกระต่าย ครับ….

2.เมื่อมีโอกาสออกไปพื้นที่ทั้งที งานนี้ต้องขอแวะเยี่ยมชมกิจกรรมการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรคนเก่งของตำบลพรานกระต่ายกันก่อนครับ และจุดแรกที่แวะชมนั่นก็คือแปลงนาของ"น้องธเนศ อินเมฆ"เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่ปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกข้าวนาปรังมาเป็นการ"หว่านถั่วเหลือง"ครับ โดย"ธเนศ"เล่าให้ผมฟังว่าปีก่อนๆ ได้ปลูกข้าวนาปรัง แต่พบกับปัญหาเรื่องของต้นทุนที่สูงและการใช้น้ำที่มีปริมาณมาก รวมทั้งราคาผลผลิตก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้นปีนี้จึงชวนเกษตรกรแปลงข้างเคียงมาหว่านถั่วเหลือง ทั้งนี้ก็เพื่อว่าจะได้มีการบริหารจัดการเรื่องการดูแลและการเก็บเกี่ยวด้วย ทำให้ปีนี้มีสมาชิกที่เห็นพ้องต้องกันได้ลงมือหว่านถั่วเหลืองเพื่อนพิสูจน์ทราบด้วยกันครับ และวันนี้ได้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลสรุปว่าปีนี้"ธเนศ"หว่านถั่วเหลือง 11 ไร่ ได้ผลผลิตทั้งหมด 2,520 กิโลฯ ราคากิโลกรัมละ 19.75 บาท มีรายได้ 49,770 บาท ลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์/การดูแลต่างๆ ประมาณ 20,000 บาทเศษ ดังนั้นก็เท่ากับว่าปีนี้"ธเนศ"มีกำไรประมาณ 20,000++ “ธเนศ”บอกว่าถ้าลองเทียบกับการทำนาปรังแล้วก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนครับ เพราะว่าดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย แม้ว่าปีนี้ผลผลิตจะไม่สูงมากนักแต่ก็ได้เรียนรู้และคิดว่าปีหน้าจะปรับปรุงวิธีการจัดการและดูแลให้ดีกว่านี้ครับ พร้อมกันนี้เรายังได้แลกเปลี่ยนกันว่าปีต่อไปน่าจะลองทำ"ถั่วเหลืองฝักสด"เพื่อขายดู อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะมีรายได้เพิ่ม ได้คุยกับ"ธเนศ"และ"เกษตรกร"วันนี้ทำให้ได้ความรู้อะไรอีกมากมายเลยล่ะครับ มีเวลาน้อยเพราะว่าต้องเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรรายต่อไปอีก เอาเป็นว่าวันนี้ขอเก็บข้อมูลการปลูกถั่วเหลือง"ของ “ธเนศ”มาบันทึกไว้เพียงเท่านี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ และนี่ก็คือ"เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer"ตัวจริงเสียงจริงของตำบลพรานกระต่ายคร้าบ!!!!

3.จุดที่สองของวันนี้ผมได้แวะไปเยี่ยม"สวนน้อยหน่า"ของ"ลุงบุญช่วย ศิวิวงษ์" ครับ สำหรับ"ลุงบุญช่วย"ถือเป็นเกษตรกรผู้นำในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชของตำบลพรานกระต่ายเลยล่ะครับ เพราะหลายปีก่อนหน้านี้"ลุงบุญช่วย"ปลูก"ผักหวานป่าประมาณ 10,000 ต้น"แต่ด้วยมีปัญหาด้านการดูแล การปลูกผักหวานป่าไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนมาปลูก"น้อยหน่า"และได้ผลผลิตที่ดี ถือว่า"น้อยหน่า"ของสวนแห่งนี้จะมีจำหน่ายในอำเภอพรานกระต่ายทุกปี โดยคนพรานกระต่ายจะเรียกน้อยหน่าว่า"น้ำแหน่" และตอนนี้ยังมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย โดยมีลูกๆ หลานๆ ของ"ลุงบุญช่วย"ได้เข้ามาช่วยกันดูแลครับ และปีนี้"ลุงบุญช่วย"ก็มีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในสวนด้วย เอาเป็นว่ารอดูผลผลิตที่จะออกมาให้ได้ลิ้มลองกันในเดือน กรกฎาคม ที่จะถึงนี้นะครับ และสวนนี้ยังมี"ผักหวานป่าต้นใหญ่"ที่เอาไว้ให้"ลุงบุญช่วย"เก็บกินและขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าจะเหลือไม่กี่ต้น แต่ก็พอได้ค่ากับข้าว และนี่ก็คือ" Smart Farmer"ที่ชื่อว่า “ลุงบุญช่วย”ครับ…

4.และจุดที่สามของวันนี้นั่นก็คือ"สวนอินทผลัม"ของ"ลุงวิทย์"ครับ สำหรับปีนี้ผมไม่ได้เจอกับ"ลุงวิทย์"เพราะว่า"ลุงวิทย์"ได้กลับไปประกอบอาชีพที่ต่างจังหวัด แต่ได้ให้"ป้ากาญจนา"และ"ลูกชาย"เป็นคนดูแลสวนแทนครับ สำหรับวันนี้"ได้รับการนำทางโดย"ผู้ใหญ่วรวัลย์  บดีรัฐ"ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ไฟแรงอีกคนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ครับ วันนี้เราได้สอบถามข้อมูลต่างๆ ของการปลูกอินผลัมกับ"ป้ากาญจนา"ได้ข้อมูลมาพอสมควร เอาเป็นว่าเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังพร้อมๆ กันอีกทีตอนพาทีมงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่ายมาเยี่ยมชมสวนนะครับ สำหรับวันนี้เก็บภาพมาให้ชมเป็นน้ำจิ้มก่อนก็แล้วกันนะคร้าบบบ!!!!

5.และวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2565 ก็ได้เวลานัดหมายที่เราได้กำหนดเอาไว้ครับ วันนี้ทีมงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย ได้ตรงไปยังสวนอินทผลัมในเวลาประมาณบ่ายโมงเศษครับ อากาศค่อนข้างจะร้อนไปสักหน่อย แต่พอเข้าไปในสวนแล้วก็รู้สึกเย็นสบาย คงเป็นเพราะมีใบของต้นอินผลัมช่วยกรองแสงและดินมีความชื้นจากการให้น้ำด้วย วันนี้จึงคลายร้อนไปได้บ้างครับ เมื่อมาถึงแล้วเราก็ได้พบกับ"ป้ากาญจนา"และ"น้องกัน"วันนี้ทั้งสองคนได้ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกและดูแลต้น"อินทผลัม" เริ่มด้วยการดูแลในเบื้องต้น สวนนี้ต้นที่ให้ผลิตมีประมาณ 29 ต้น ปีก่อนนั้นมีรายได้จากการขายผลสดประมาณ 200,000 บาทเศษครับ และป้ากาญจนาก็เริ่มสาธิตวิธีการผสมเกสรอินทผลัม สำหรับเทคนิคการเก็บเกสรและการผสมเกสรนั้นคงจะต้องเก็บข้อมูลมาบันทึกให้ได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีเทคนิคมากมาย บรรยายวันนี้ไม่หมดแน่ๆ ครับ 5555….น่าสนใจๆ ว่าแต่จะต้องดูแลอะไรบ้างนั้นตามไปชมกันต่อดีกว่าครับ…

6.หลังจากได้รับชมการผสมเกสรแล้ว ต่อไป"ป้ากาญจนา"ก็ได้สาธิตวิธีการจัดการ"พวงอินทผลัม"ครับ โดยการจัดการจะต้องมีการเด็ดลูกที่ไม่ได้ขนาดหรือมีปัญหาออกก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการจัดการผลผลิตในเบื้องต้น เพื่อให้ได้ลูกที่สมบูรณ์ที่สุด การตัดแต่งแบบนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เอาง่ายๆ ก็คือต้องดูแลตลอดเวลา แบบนี้ถึงจะได้ผลผลิตที่ดีและตรงกับความต้องการของตลาดครับ ที่สำคัญ"ป้ากาญจนา"บอกว่า"ผลอ่อนอินผลัม"สามารถนำไปทำส้มตำได้"วันนี้ผมจึงขอเก็บกลับมาด้วย เอาเป็นว่าถ้าได้ลิ้มลองแล้วจะนำเอามาบันทึกให้ได้รับชมกันต่อนะครับ ว่าแต่ลูกอ่อนๆ มันก็จะฝาดๆ หน่อยนะคร้าบบบ!!!

7.และขั้นตอนสุดท้ายที่"ป้ากาญจนา"ได้สาธิตให้เราได้รับชมในวันนี้ นั่นก็คือ"การห่ออินทผลัม"ครับ สำหรับการจัดการผลผลิตที่จะได้คุณภาพตามความต้องการของตลาดนั้น ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและต้องดูแลทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิดครับ เพราะว่าทุกระยะของการดูแลจะส่งผลถึงผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ดังนั้นการทำสวนอินทผลัมก็ไม่่ได้ง่ายๆ ที่ใครเห็นแล้วจะปลูกได้ เอาเป็นว่าหากใครสนใจก็สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและขอความรู้จาก"ป้ากาญจนา"ได้เลยนะครับ  วันนี้…..ความรู้+ประสบการณ์ของ"ป้ากาญจนา"และ"น้องกัน"ได้ถ่ายทอดมาให้เราได้อย่างเต็มที่  แต่ผมเชื่อว่ายังมีองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ อีกมากมายที่เราจะเข้าไปเรียนรู้และเก็บข้อมูลในโอกาสต่อไปครับ…

8.ก่อนที่จะเดินทางกลับ วันนี้ได้ข้อมูลจาก"น้องกัน"เพิ่มเติมว่าสวนนี้มีชื่อเท่ห์ๆ ว่า"สวนการเวก"ครับ “น้องกัน”บอกว่าชื่นชอบการปลูก"ต้นการเวก"ดังนั้นจึงนำมาตั้งชื่อสวนนี้ ไม่ธรรมดานะครับ"น้องกัน"วัยสะรุ่น…..แห่งเมืองทิพย์…ที่บ้านปลักมะหว้า  คนนี้ขอบอกเลยว่าต้อง"จองตัว"เอาไว้เป็นตัวอย่างของ Young Smart Farmer ประจำอำเภอพรานกระต่ายด้วยนะคร้าบ!! อ้อๆ หากใครสนใจก็สามารถโทรติดต่อสอบถามกันก่อนได้ที่เบอร์นี้  092-7598203 นะครับ 

                                              สำหรับวันนี้เป็นบันทึกเรื่องย้าวยววว….ที่น่าจะเริ่ม Start เครื่องได้แล้วหลังจากห่างหายจากการบันทึกไปนาน 5555 เอาเป็นว่าเดี๋ยวจะเก็บเรื่องราวต่างๆ มาบันทึกให้ได้รับชมกันบ่อย  ๆ ก็แล้วกันนะครับคุณผู้ช้มมมมมม!!!! อย่าลืมตามติดภารกิจของพวกเราชาวเกษตรได้นะคร้าบ!!!

                                                                                                            สวัสดีครับ

                                                                                                           เพชรน้ำหนึ่ง

                                                                                                            28/03/2565

ปล.ขอขอบคุณ -ผู้ใหญ่วรวัลย์ บดีรัฐ และทีมงาน ผู้นำทาง

                       -ภาพสวยๆ จากทีมงานสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย

                       -คนต้นเรื่อง “น้องธเนศ/ลุงบุญช่วย/ป้ากาญจนา/น้องกัน”

                       -ตัวผู้เขียน “เกษตรบ้านพราน/เพชรน้ำหนึ่ง งามซึ้งพึงเป็นยอดมณี…”5555555

หมายเลขบันทึก: 699920เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2022 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2022 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่น้องเพชรที่นำเรื่องเกษตรกรมาให้เรียนรู้นะคะ

เกษตรกรมือใหม่ชอบค่ะ

-สวัสดีครับพี่หมอแก้ว…-ด้วยความยินดีที่ได้แบ่งปันเรื่องราวของเกษตรกรที่ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและส่งเสริมในพื้นที่ของอำเภอพรานกระต่ายครับ-ได้เรียนรู้เทคนิคและความรู้มากมายจากผู้มีประสบการณ์ตรงครับ-ขอบคุณที่ติดตามชมเรื่องราวในบันทึกนี้ด้วยนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท