ทำไมการสอบบุคลากรท้องถิ่นต้องทุจริต


ทำไมการสอบบุคลากรท้องถิ่นต้องทุจริต

18 มีนาคม 2565  

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

พัฒนาการตำนานของพวกขี้โกงข้อสอบจากโรงเรียนสู่สนามสอบราชการ

 

การทุจริตในการสอบเป็นไม้เบื่อไม่เมามีมานานเป็นตำนานของพวกขี้โกงข้อสอบ เพื่อให้ตัวเองสอบผ่าน หรือให้ได้คะแนนดีๆ ไม่สอบตก มีมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา แต่รุ่นแรกๆ นั้นเทคนิคการโกงไม่มาก เพราะไม่มีเทคนิค เครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ที่เพิ่งมีมาในตอนหลัง แม้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดจาก “คนส่วนน้อย” (คนทุจริตมีไม่มาก) แต่ถือเป็นภาระหน้าที่ของบรรดาอาจารย์ ผู้จัดการสอบ รวมการสอบอื่นของข้าราชการ พนักงานลูกจ้างฯ โดยมีหลักเกณฑ์กติกาป้องกันการโกงคะแนนการสอบของผู้เข้าสอบ มีการคาดโทษทางวินัย ทางอาญาด้วย ที่นอกเหนือจากการถูกปรับให้ “สอบตก” เพราะถือเป็นการทุจริตการสอบ และหากเป็นข้าราชการก็ผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

ถือเป็นภาระของอาจารย์ผู้สอบในการป้องกันการทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ นับตั้งแต่การออกข้อสอบ การจัดห้องสอบ จนถึงการคุมสอบ หลักฐานการทุจริตก็พบตั้งแต่ในห้องสอบไปจนถึงห้องน้ำ ข้อมูลสวนดุสิตโพลพบว่า[2] เด็กไทยมีการทุจริตสอบ ลอกข้อสอบ และลอกการบ้านเพื่อนถึง 37.31% อันถือปัญหาด้านจริยธรรมไม่ซื่อสัตย์ของเด็ก มีเล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส และการลอกข้อสอบถ้าจำเป็น ซึ่งเด็กยอมรับได้มากขึ้น เป็นพฤติกรรมของเด็กขี้เกียจ แต่หาวิธีช่วยตัวเองให้รอด ในการวิจัยการลอกข้อสอบ พบว่า มีตั้งแต่วิธีการพื้นๆ อย่างการแอบจดข้อมูลต่างๆ เข้าไปในห้องสอบ โดยซ่อนไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แอบไว้ในอุปกรณ์เครื่องเขียน การลอกเพื่อนด้วยการแอบมอง สลับกระดาษคำตอบกัน ส่งโพยให้กัน การส่งสัญลักษณ์ หรือที่เรียกกันว่า “การส่งซิก” เช่น ข้อ ก.ลูบหัว ข.จับหู ค.จับคอ ง.บิดตัว เป็นต้น

จากเทคนิคพื้นๆ ขี้โกงของเด็กผู้สอบ พัฒนาเทคนิคเดิมๆ มาสู่ การทุจริตสอบรับราชการ หรือบุคลากรของรัฐในลำดับต่อมา รวมทั้งการสอบแข่งขัน (ชาวบ้านเรียกสอบบรรจุ) การสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นประกาศต่างๆ เช่น มาตรการป้องกันการทุจริตการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ. พ.ศ.2563[3] หรือ มาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งยุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. พ.ศ.2563[4] หรือ กรณีสอบท้องถิ่นปี 2562 โดยประกาศคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (พ.ศ.2562) [5] เป็นต้น

ที่เลวร้ายมากขึ้น ก็คือ “การเรียกรับเงิน” ในการสอบบรรจุต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าสอบสอบได้ ที่นอกเหนือการทุจริตอื่นเช่นทำข้อสอบรั่ว ขายโพยข้อสอบ ยังมีการหาเทคนิคอื่นในการหาผู้มาสอบเพื่อรับหัวคิวให้สอบได้ หรือสอบข้อเขียนผ่าน แน่นอนว่าก็คงไม่พ้นเทคนิคแบบเด็กนักเรียนเคยใช้ ที่ปัจจุบันทุจริตอิเล็กทรอนิกส์ด้วยแต่ในการสอบบรรจุอาจมีจำนวนผู้เข้าสอบมีอัตราการแข่งขันที่สูงมากขึ้น หรือมีตำแหน่งรองรับน้อย หรือการรับจำนวนมากแต่ผู้สอบน้อยราย แม้บางช่วงอาจมีการรับบุคลากรบางตำแหน่งที่ถือเป็นข้อยกเว้น เช่น การสอบนายร้อยตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ช่วงปี 2520-2522 ที่อาจมีผู้สมัครสอบน้อยราย เมื่อเทียบอัตราส่วนที่จะบรรจุ หรือสอบปลัดอำเภอช่วงปี 2521 ที่มีการบรรจุอัตราที่ถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าปกติ ถึง 1,500 อัตรา และ โดยเฉพาะการสอบแข่งขันข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น (2531) การสอบ ปลัด อบต. (ประกาศสอบ 20 มกราคม 2540) ที่มีการยกฐานะ อบต. เป็นจำนวนมากหลักหลายพันอัตรา   

แต่ในการสอบแข่ง หรือการสอบเลื่อนชั้นตำแหน่งของข้าราชการในระยะหลังมีอัตราเดิมพันที่สูงมากขึ้น จึงเกิดกระบวนการ “ทุจริต” ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าสอบ “สอบผ่าน” ด้วยวิธีการต่างๆ ที่มองในกระบวนการแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ในภาพรวมขอกล่าวอย่างง่าย แยกแยะกระบวนการไว้สัก 3 อย่างที่สำคัญ[6] คือ (1) กระบวนการออกข้อสอบ (2) กระบวนการสอบของผู้เข้าสอบ (3) กระบวนการตรวจให้คะแนนของผู้เข้าสอบ นี่ยังไม่รวมกระบวนการเล็กๆ อื่นที่นอกเหนือขอบข่ายอีกมากมาย อาทิเช่น การวิ่งเต้นทุกอย่าง การปล่อยให้ “ข้อสอบรั่ว” แก่ผู้เข้าสอบ หรือ ในการรับสมัครสอบที่เป็นกระบวนการหนึ่งของการสอบอาจมีกรณี “ตกเบ็ด” ไปหาผู้เข้าสอบมาสมัครสอบโดย “เรียกรับเงินมาก่อน” และสัญญาว่าจะให้สอบได้  หรือ เมื่อกระบวนการสอบเสร็จแล้วก็มีการ “แก้ไขคะแนนสอบ” หรือ “แก้ไขกระดาษคำตอบ” เพื่อให้สอบผ่าน หรือให้สอบได้คะแนนสูง โดยเฉพาะการสอบสัมภาษณ์ที่มีคะแนน “อัตวิสัย” ที่สามารถให้คะแนนได้สูงๆ แก่ผู้เข้าสอบเป็นพิเศษ เป็นต้น

 

ข่าวการทุจริตสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น

 

ข่าวการทุจริตสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบล (ท้องถิ่น) กรณีการสอบแข่งขัน อบต.ทุ่งคลอง จ.กาฬสินธุ์[7] ได้มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแข่งขันเมื่อ 12 พฤษภาคม 2548 มีผู้สมัครสอบรวมทั้งสิ้น 23,584 คน แต่มีตำแหน่งสอบเพียง 12 ตำแหน่ง กำหนดสอบในวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2548 ทำให้หลายคนสงสัยว่าเหตุการณ์แบบนี้ยังคงมีอยู่อีกเหรอ เหตุเกิดเมื่อ 17 ปีที่แล้ว (2548) ดังประทุมาพร้อมๆ กับข่าวการทุจริตสอบ อปท.ในห้วงระยะเวลาที่ดำเนินการสอบไล่เลี่ยกัน ซึ่งในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา (2557) ก็ยังคงมีให้เห็นไม่มีหมด แม้กาลเวลาจะแตกต่างกันมาก และปัจจุบันเมื่อคราวสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเมื่อปีที่แล้ว (สอบเมื่อ 14 กรกฎาคม 2562) มีจำนวนผู้สมัครและมีสิทธิสอบมากถึง 338,051 คน เพราะสอบสำหรับ อปท.ทั่วประเทศ แต่ในบริบทซ้ำๆ ของการสอบอาจเหมือนกัน ซึ่งผลที่สุดก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล และถูกจับได้ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เรากำลังจะกล่าวถึงการทุจริตในอีกรูปแบบหนึ่งของไทยที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบการทุจริตต้นตอของปัญหา เพราะเป็นการทุจริตในกระบวนการการบริหารงานบุคคลที่เลือกสรรคนเข้ามาทำงานท้องถิ่นที่มีวงเงินทุจริตสูงถึง 300 ล้าน ลองคิดดูจากข่าวทุจริตสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล (ปี 2557) [8] เรียกเงินหัวละ 5-7 แสน 200 ราย เงิน 100 ล้านเห็นๆ

 

จับประเด็นต้นตอปัญหาการทุจริตสอบท้องถิ่น

 

ข่าวการทุจริตที่ดังและก่อให้เกิดการร้องเรียนนั้น เริ่มแต่ต้นทาง ที่มี “ผู้เสนอผู้รับสนอง” เพื่อให้มีการสอบแข่งขันได้ขึ้นบัญชีสอบได้เป็นหลัก พร้อมกับเกิด “การบริหารจัดการที่ไม่ลงตัว” ของ “การสมยอมกัน” จึงก่อให้เกิดการร้องเรียน และการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต

ซึ่งเป็นปัญหาในระยะแรกๆ ของการสอบแข่งขันข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2549 ถอยกลับไป บัญชีสอบแข่งขันท้องถิ่นนั้นสามารถใช้ได้กับ ทุก อปท.แต่หลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 สอบแข่งขันที่ อปท.หรือ จังหวัด (โดย ก.จังหวัด) ใด บรรจุที่นั่น  และแรกๆ ล็อกการห้ามโอนย้าย ก่อนครบบรรจุ 2 ปี เท่ากับว่าบัญชีหนึ่งสามารถบรรจุได้ตำแหน่งละ 1 คน เรียงตามลำดับที่ที่สอบได้ จะข้ามลำดับ หรือใช้เทคนิคให้สมัครใจให้รายอื่นข้ามลำดับที่ได้ อันเป็นเทคนิคการสอบบรรจุแบบเดิม ต้นแบบมากจาก อบต.วังน้ำเขียว จ.นครปฐม เพราะระยะเวลาอายุบัญชี 2 ปี จะใช้เวลา เมื่อได้ประกาศก็เริ่มนับเวลาแล้ว กว่าจะนำเรื่องการขอบรรจุเข้า ก.จังหวัด ก็ถูกจำกัดรอบ 3 เดือน หากไม่ทันต้องรอรอบ 3 เดือนต่อไป ยิ่งทำให้มีการหักลบเวลามากขึ้น แต่หากการต่อรองผลประโยชน์ การสมยอมทุจริตทั้งผู้สอบและผู้รับสมัครสอบลงตัว ก็ไม่ต้องรอบรรจุครบ 2 ปี เช่น บรรจุทำงานเพียง 1 ปี หรือ 6 เดือน หรือ 3 เดือนก็สามารถโอนย้ายตำแหน่งไปบรรจุ อปท.แห่งอื่นได้  เรียกได้ว่า “หมุนเวียนการใช้บัญชีสอบ” เพื่อให้มีการเรียกบรรจุบัญชีในลำดับถัดไปได้ เพราะอำนาจในการบรรจุแต่งตั้งเป็นของนายก อปท.โดยเห็นชอบของ ก.จังหวัดนั่นเอง นี่แหละคือตัวการต้นเหตุของการทุจริตในการจัดสอบเอง ซึ่ง อปท.มอบอำนาจให้ ก.จังหวัดจัดสอบก็ได้ ว่ากันว่า จากจุดกำเนิดการตัดปัญหาห้ามการสอบบรรจุหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549[9] ได้ มันยอกย้อนซ่อนเงื่อน ทำให้การเคลียร์บัญชีสอบแข่งขันเพื่อให้ได้รับการบรรจุไม่หมด จึงเกิดการวิ่งเต้นเพื่อเอาชื่อผู้สอบ “วิ่งไปขอเสียบ บัญชีสอบแข่งขันของ อปท.อื่นๆ” เพื่อให้ได้มีโอกาสรับการบรรจุ เพราะมีการเรียกรับเงินเสียเงินไว้แล้ว แต่ไม่ได้ขึ้นบัญชีสอบไว้ หรือ ขึ้นไว้แต่เรียกบรรจุไม่ถึงลำดับที่ขึ้นบัญชีไว้ คนในวงการท้องถิ่นหลายคนจะเข้าใจเทคนิควิธีการนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ก.จังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ “ระบบ connection” เครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวาง หมู่ รุ่น พวกพ้องของชนชั้นนำในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กล่าวถึงตอนนี้ คงเห็น “ต้นเหตุหรือต้นตอ” ของปัญหาที่นอกจาการ “สมยอมกัน” ของผู้เข้าสอบแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญก็คือการเห็นชอบจาก ก.จังหวัดนั่นเอง เพราะศักยภาพ การจัดคนเวียนบรรจุ ข้าม อปท.ได้ (การบรรจุแล้วโอนย้ายออก ทำให้เกิดตำแหน่งว่างใหม่) มันอยู่ในมือของ ก.จังหวัด นอกจากนี้ ก.จังหวัดยังสามารถ ประสานงานและทำงานร่วมกับ ก.จังหวัดอื่นได้ด้วย ซึ่ง ตามหลักฐานการชี้มูลของ ป.ป.ช.ได้แยกแยะกลุ่มบุคคลไว้เพียง 2 กลุ่ม คือ (1) นายก อปท. กับพวก  และ (2) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิกับพวกและ ก.จังหวัดกับพวก (หมายถึงผู้เกี่ยวข้อง)

ย้อนดูต้นเหตุอีกอย่าง “เงินโบนัส” หรือ “เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปี” คือ ชนวนให้คนท้องถิ่นซื้อขายตำแหน่ง เช่น การสอบคัดเลือก สอบแข่งขัน การโอนย้าย ได้ เพราะมันได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเอาไว้เป็นทุนเสียตัง แต่พักหลังๆ โบนัสได้น้อยเพียงไม่เกิน 1 เท่า แทบไม่มีความหมายยกเว้นคนมีต้งค์ หรือคนยอมเป็นหนี้ไปหากู้มาเสีย หรืออีกกรณีหนึ่ง คือนายกเป็นผู้รับเหมา จึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ได้รับโบนัสประจำปีไป เงินซื้อลักษณะแบบนี้ ถือว่าสะอาดสุดแล้ว เพราะไม่ได้ควักเนื้อใคร 

การนำเสนอแง่มุม เขียนแบบเฉียดไปมา ในเรื่องทุจริตสอบบรรจุ สอบคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้ง การรับโอน การเลื่อนระดับ รวมเลื่อนไหล จะมองเห็นว่าทำไมเงินซื้อตำแหน่งมันสะพัดได้มาก คนซื้อตำแหน่งที่เข้ามาอ่านคงสะเทือนใจไม่น้อย เมื่อมีคนที่เข้าสู่ตำแหน่งด้วยการซื้อขายตำแหน่งหลายราย ก็แอบตามข่าวคราวการทุจริตซื้อตำแหน่งอยู่เช่นกัน มาสดับตรับฟังดู ว่าคนเขาจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง อาจอึ้งกิมกี่ ละอายใจบ้าง เพราะมีคนเอากระจกมาให้มันส่อง ประมาณเอาเรื่องจริงๆ มาตีแผ่ แทงใจดำ เพราะผลพวงนี้มันนำไปสู่การได้บุคลากรที่ “ไม่มีคุณภาพ เป็นกาฝากหน่วยงาน” 

 

ใครได้ประโยชน์จากการทุจริตสอบบ้าง

 

ประเด็นว่าคนท้องถิ่นใครได้ประโยชน์จาก “การเวียนเทียนบรรจุ” บัญชีสอบแข่งขันตรงนี้อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องของบุคคลเฉพาะบางคน บางพวกเท่านั้น ที่อยู่ในกระบวนการนี้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิด “การฟอกเงิน” ด้วยวงเงินที่สูงๆ ได้ถึง 100 ล้านได้ ผลจากวงเงินสะพัดดังกล่าวเจ้าภาพที่ดำเนินการจัดสอบ (หมายถึง อปท.ที่จัดสอบแข่งขันฯ) สามารถแจกทิป เสนอพากลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุไปทัศนศึกษาเที่ยวต่างประเทศได้ คนท้องถิ่นที่ได้ประโยชน์ คือคนที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ กับ “คนเก็บเงิน” ที่มีกระบวนการสมยอมในการเรียกรับเงินกันอย่างลงตัวแล้ว ส่วนบรรดาเลขานุการธุรการต่างสนุกในการจัดหาคนเวียนมาซื้อตำแหน่ง จัดคนลงบรรจุ จัดคนโอนย้าย เล่าว่า ในสมัยนับแต่หลังปี 2550 เป็นต้นมา การขึ้นบัญชีสอบแข่งขันก็จ่ายเงิน บรรจุก็จ่ายเงิน โอนย้ายก็จ่ายเงิน กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว

ปัญหาสืบเนื่องต่อมาได้สร้างปัญหาให้คนที่จะมาสอบบรรจุ แต่มาด้วยความรู้ความสามารถ ก็พลอยต้องหาเงินมาจ่ายในการโอนย้ายด้วยเช่นกัน ลามไปถึงตอนเลื่อนไหลตำแหน่ง ตอนขยายกรอบอัตราตำแหน่ง ตอนคัดเลือก ทำผลงาน ตอนสอบคัดเลือกหรือการคัดเลือกเปลี่ยนสายงาน หรือ การสอบสายงานผู้บริหาร (ตำแหน่งแท่งบริหารและอำนวยการ) รวมทั้งการสอบลูกจ้างประจำ (ช่วงก่อนปี 2547) หรือการสอบ (การสรรหา) พนักงานจ้าง ของแต่ละ อปท. ต้องจ่ายกรรมการ บรรดาเงื่อนไขเวลา ปลดล็อกเงื่อนไข ล็อกเงื่อนไข การนำเรื่องเข้าขอมติที่ประชุม จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกันทั้งสิ้น หากไม่มีความลงตัวเมื่อใดก็จะเกิดปัญหาการร้องเรียน และตรวจจับการทุจริตกันต่อไป วนเวียนซ้ำซากไม่รู้จบ เกิดการเงินเดินสะพัด วงจรเงินหมุนเวียนไปกระทั่งร้านขายอาหาร ร้านถ่ายเอกสาร 

นายก อปท.ที่เคยมีรายได้เสริมจากการจัดซื้อจัดจ้าง จึงมีแหล่งใหม่อีกแหล่งในกระบวนการบริหารงานบุคคล การโอนย้าย การเลื่อนตำแหน่งบุคลากรคน อปท.อีกด้วย “โรคผลประโยชน์ ทางตรง ทางอ้อม” หรือที่เรียกว่า “การทับซ้อนในผลประโยชน์” [10] มันซ้อนทับ ปั่นสร้างราคาซื้อให้สูงได้ พฤติกรรมเช่นนี้หลายคนอาจนึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาจากหลักฐานการชี้มูลของ ป.ป.ช.มันมีให้เห็นมาแล้ว เทียบของเน่าเสียพวกนี้กลิ่นเข้าจมูกอีแร้งได้ไวมาก ถึงแม้มันอาจจะเป็นแค่เงา เหลือแค่เศษกระดูกแทะ อีแร้งก็ยอมทุ่มเท เพราะพฤติกรรมการซื้อเสียงเข้ามาดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ยังคงมีอยู่ 

ตามข่าวเล่าว่า สมัยก่อนนั้นนายกฯ (ทั้งนายกเทศมนตรีและนายก อบต.) เจ้าของบัญชีสอบแข่งขันต้องหอบแฟ้มมาเองเป็นตั้งๆ เพื่อคอยรอ หาโอกาสนั่งคอยจังหวะผู้ว่า หรือรองผู้ว่าฯ (ในฐานะประธาน ก.จังหวัด)ว่าง จะได้เสนอแฟ้มเซ็น มหากาพย์ทุจริตคดีแรกๆ คือ บัญชีสอบแข่งขัน อบต.วังน้ำเขียว จ.นครปฐม โด่งดังทั่วประเทศ บัญชีสอบแข่งขัน อบต.วังน้ำเขียว จ.นครปฐม ทุจริตจริง เพราะมีการรับเงิน คนที่สอบได้บัญชีนี้ ระดับ 1 ตามข่าวบอกเสียเงินจำนวน 18,000 บาท[11] เพื่อแลกกับการสอบได้

 

คำสั่งหน.คสช.ที่ 8/2560 ยึดอำนาจการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกคืนจาก อปท.และ ก.จังหวัด

 

อ้างว่าเพื่อ “ขจัดระบบอุปถัมภ์ที่เป็นปัญหาของการทุจริตออกไป” [12] แต่เดิมแรกสุดการจัดสอบโดยส่วนกลาง ต่อมาเมื่อมีกฎหมายบุคคล 2542 จึงให้ อปท. ดำเนินการ ต่อมาในช่วง คสช. ส่วนกลางยึดไปดำเนินการสอบดำเนินการสอบโดย “คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น” (กสถ.) เช่น ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวการสอบแข่งขันของ ก.กลาง (2560) [13]หรือ คณะอนุกรรมการสรรหาข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร มีการจ้าง “มหาวิทยาลัย” หรือ สถาบันอุดมศึกษาฯ เป็นหน่วยงานทางวิชาการ เป็นผู้จัดการสอบแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลของ กสถ. เช่น การรับสมัครสอบ การออกข้อสอบ ผลิตข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การตรวจข้อสอบ ประมวลผลคะแนนสอบ หรืองานอื่นที่ กสถ.มอบหมาย โดยเฉพาะในการออกข้อสอบที่มีมาตรฐาน มิใช่เพียงพิธีการจ้างมหาวิทยาลัยมาประกอบฉาก พอให้รู้ว่าเอาเครื่องมือด้านวิชาการมาใช้ แต่ไส้ในมิใช่ แต่อย่างไรก็ตาม นายก อปท.แต่ละแห่ง และ “ก.จังหวัด” สามประเภทในแต่ละจังหวัด ยังมีอำนาจบรรจุแต่งตั้งเหมือนเดิม ตามมาตรา 15[14] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 มีภาพพจน์ดีขึ้น กล่าวคือฉากหน้าว่าโปร่งใสขึ้น แต่ฉากหลังยังมีปรากฏบ้างมาตลอด แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่จะเอาผิดได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นความสมยอมกันการเสียเงิน มีความลงตัวในผลประโยชน์แล้ว ภาพพจน์ปัจจุบันดีกว่าเดิม เว้นแต่มีองค์กรอื่นที่ดีกว่ามาทำหน้าที่แทน กรณีนายก อปท.เปิดสอบได้เองจะไม่มีใครจะกล้าร้องฟ้องคดีนายกฯ เพราะชนะคดีจะไม่กล้าไปทำงานอยู่กับนายกฯ แต่หากส่วนกลางเปิดสอบอย่างน้อยก็ยังมีระยะห่างในเรื่องการปะทะประจันหน้ากันลงบ้าง แต่ข่าวว่าปีต่อไปจะกลับมอบให้ ก.จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการแทน ก.กลาง หวังว่าคงไม่แย่กว่าเดิมนะ

 

เขียนมายาว แต่ยังไม่จบหมดหน้ากระดาษก่อน หากว่างจะหยิบประเด็นกลับมาเขียนต่อ หวังว่าคงมิใช่การนำเรื่องไม่จริงมาเล่า แต่อย่างน้อยที่สุด เสียงนกเสียงกาที่ไม่มีพยานหลักฐานยังคงมีพลัง


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 18 มีนาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/332171 

[2]ปัญหาการทุจริตสอบของนักศึกษาแพทย์, Associate Prof. Dr. Permphan Dharmasaroj, ใน GotoKnow, 18 สิงหาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/499146  

[3]มาตรการป้องกันการทุจริตการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2563, https://www.tpeotrang.go.th/wp-content/uploads/2020/06/4.-มาตรการป้องกันการทุจริตการสอบคัดเลือกฯ_0001.pdf

[4]มาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งยุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2563, http://www.edurng.go.th/wp-content/uploads/2020/07/7-มาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบแข่งขัน.pdf

[5]ข่าวคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 1 เรื่อง การป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น, วันที่ 28 มิถุนายน 2562, https://dlaapplicant2562.com/Content/Files/DLA/ข่าวอนุกรรมการป้องกันการทุจริต%20ฉบับที่%201.pdf

[6]มาตรการ รปภ. ลับสุดยอดด้วย “ระบบฟิวส์ (Fuse) ข้อสอบ ป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบที่เป็นระบบตรวจสอบระบบได้”ที่ไม่ได้กล่าวชี้แจงไว้ ที่หน่วยผู้ดำเนินการสอบต้องทำอย่างเคร่งครัด ในการบริหารจัดการสอบแข่งขันที่มีขั้นตอนอย่างน้อย 7 ขั้นตอน ได้แก่ (1) กำหนดกรอบอัตราที่รับ (2) กำหนดเกณฑ์การสอบ (3) ประกาศเกณฑ์การสอบ และรับสมัคร (4) การออกข้อสอบ ควบคุมการจัดทำข้อสอบ รักษาความปลอดภัยข้อสอบ (5) การจัดสถานที่สอบ และลำดับที่นั่งสอบ สำหรับบริหารจัดการได้อย่างประสิทธิภาพ (6) ทำการสอบ เก็บรวบรวมคำตอบ (7) ตรวจความเรียบร้อย กระดาษคำตอบ ก่อนเข้าเครื่องตรวจ

“การฟิวส์ข้อสอบ” คือการเก็บข้อสอบให้อยู่ในความมั่นคง ปลอดภัย ไม่ถูกเปิดเผยหรือถูกลักข้อสอบ เพิ่มเติมจากการล็อกกุญแจ ด้วยการติดผนึก กระดาษกาวบางๆ ที่ซองบรรจุข้อสอบ ลังบรรจุข้อสอบ ถุงบรรจุข้อสอบ ประตู และกุญแจ ห้องมั่นคง (ห้องเก็บข้อสอบ) ด้วยต้องมีลายเซ็นชื่อกำกับของกรรมการทุกครั้งที่ปิดผนึก และกรรมการกรรมการต้องร่วมอยู่ด้วย ทุกครั้งที่เปิดห้องห้องมั่นคง และมีการบันทึกภาพทุกครั้งที่ มีการเปิดและปิดห้องมั่นคง 

อ้างจาก คู่มือการสรรหาและเลือกสรรเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ : การสอบแข่งขัน, สำนักงาน ก.พ., 2562 & อ้างจาก มสธ.

[7]ยึดทรัพย์ 2 รายแรก มหากาพย์สู้คดี 10 ปี แก๊งงาบสินบน ทุจริตสอบ 300 ล้าน “อบต.ทุ่งคลอง จ.กาฬสินธุ์”โดย MGR Online, 23 พฤษภาคม 2559, https://mgronline.com/politics/detail/9590000051445

[8]ป.ป.ช. มีมติชี้มูลทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำงบประมาณ พ.ศ.2557 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกับพวก 8 เรื่อง คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม (ก.อบต.จังหวัดมหาสารคาม) 1 เรื่อง ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กรณี จัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล เรียกรับเงินรายละ 5-7 แสน โดยเฉพาะ กรณีอบต.ปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม  และ อบต.โคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

ดู ผ่าปฏิบัติการ ป.ป.ช. ฟันกลุ่มนายกอบต.-พวก ทุจริตสอบบรรจุพนง.ตำบล เรียกเงินหัวละ 5-7 แสน, สำนักข่าวอิศรา, 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 12:29, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/106328-inves09-20.html

[9]แต่เดิมก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549  อปท.ที่ดำเนินการสอบแข่งขัน การเรียกบรรจุแต่งตั้งไม่ได้เรียงลำดับที่ โดยให้ผู้ที่สอบได้ลำดับที่ก่อนหน้านั้น ทำหนังสือลงนามอนุญาตให้ผู้ที่สอบได้ลำดับที่หลังบรรจุก่อนได้ (ผู้สอบมีการสละสิทธิ์ล่วงหน้าไว้ ซึ่งขัดต่อกับหลักการบริหารงานบุคคลเรื่องความเสมอภาคในโอกาสที่ผู้สอบแข่งขันที่สอบได้ในลำดับก่อน) มติ ก.อบต.ครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 จึงมีการเยียวยาบุคคลตามบัญชีสอบแข่งขัน อบต.วังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่เรียงลำดับที่ ...การบรรจุ ความเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมาตั้งแต่เริ่มแรก จึงมิต้องรับผลกระทบใด... (2) กลุ่มบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่บรรจุแต่งตั้งหมดแล้วทั้งบัญชี โดยไม่เรียงลำดับที่ ข้ามลำดับที่ที่สอบแข่งขันได้ ถือว่ามิชอบมาแต่เริ่มแรก (3) กลุ่มผู้สอบแข่งขันได้ที่บรรจุยังไม่หมด 

ดู หนังสือสำนักงาน ก.อบต.ที่ มท 0809.2/ว 125 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการอนุญาตให้ใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของ อบต.วังน้ำเขียว จังหวัดนครปฐม, http://www.sk-local.go.th/files/download/20070917135919bvksm.pdf

[10]“การทับซ้อนในผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม” หรือ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” (Conflict of interests : COI) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (มาตรา 184–187) เป็นประเด็นปัญหาทางการบริหารภาครัฐในปัจจุบันที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาการ ทุจริตประพฤติมิชอบในระดับที่รุนแรงขึ้น และยังสะท้อนปัญหาการขาดหลักธรรมาภิบาลและเป็นอุปสรรคต่อ การพัฒนาประเทศ 

เป็นสถานะของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีความสัมพันธ์กับรัฐ 2 สถานะ คือ สถานะหนึ่ง คือ (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานให้กับรัฐหรือตัวแทนของรัฐ กับอีกสถานะหนึ่ง คือ (2) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นเอกชนคนหนึ่ง

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ COIหมายถึง สภาวะซึ่งการกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม หรือการตัดสินใจทางการเมืองถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์เฉพาะของธุรกิจเอกชนอัน ทำให้ผลที่ออกมาคือนโยบายที่ให้ผลประโยชน์กับธุรกิจเอกชนบางรายบางกลุ่ม แต่สังคมโดยรวมเสียประโยชน์ (ผาสุก พงษ์ไพจิตร)

[11]คิดอย่างไรกับบัญชีวังน้ำเขียว, ใน แสดงความคิดเห็น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ความคิดเห็นที่ 8, 14 สิงหาคม  2550, http://www.dla.go.th/servlet/WebboardServlet?_mode=detail&parent_id=16236

[12]กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0809.2/ว0975 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560, https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order8-2560.pdf

[13]ดู ประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบแข่งขัน พ.ศ.2560 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560, http://www.kkpao.go.th/dep/personnel/wp-content/uploads/2017/01/27-มิย.60-มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบแข่งขัน-พ.ศ.-2560.pdf 

[14]พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 15 การออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งการย้ายการโอน การรับโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัยการให้ออกจากราชการการอุทธรณ์และการร้องทุกข์หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นอำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด แต่สำหรับการออกคำสั่งแต่งตั้ง และการให้ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน

อำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาข้าราชการในตำแหน่งใดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนด  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท