ชีวิตที่พอเพียง 4150a. คนไม่รู้จริง 


ชีวิตที่พอเพียง 4150a. คนไม่รู้จริง   

มายาคติอย่างหนึ่งของคนเก่ง ที่ผู้คนยอมรับนับถือ  คือหลงผิดคิดว่าตนรู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ชีวิตเรื่องนี้    จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้    ไม่ได้มุ่งเอามาโอ้อวดแต่อย่างใด   

เมื่ออายุ ๑๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๓) ผมเรียนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษา ด้วยคะแนนรวมร้ยละ ๙๓.๗ (๙๔.๔)  สูงที่สุดในประเทศ    สมัยนั้นเรียกกันว่าสอบติดบอร์ด (๕๐ อันดับแรกของประเทศ)    และผมติดบอร์ดที่ ๑   มีชื่อเสียงโด่งดังในกลุ่มนักเรียนสมัยนั้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเด็กบ้านนอกที่สอบได้ที่ ๑   

แต่แปลกมาก ที่ผมไม่คิดว่าตัวเองเก่งอย่างที่เพื่อนๆ ยกย่อง    และเพื่อนๆ เขาบอกว่า ผมถ่อมตัว   

หากพูดด้วยวาทกรรมการศึกษาสมัยนี้    เมื่ออายุ ๑๘ ผมสมาทาน growth mindset โดยไม่รู้จักคำนี้   ซึ่งหมายความว่า    ผมเชื่อว่า ที่ผมทำข้อสอบ หรือเอาความรู้ไปใช้ในบริบทต่างๆ ได้ดีนั้น   ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ใช่จุดสุดยอด   ยังมีหลายวิชาที่เพื่อนคนอื่นทำได้ดีกว่าผม    เพียงแต่ว่าเมื่อรวมคะแนนผมได้คะแนนสูงสุด   แต่ในเรื่องความเก่งมีคนที่เก่งกว่าผมอีกมากมาย   ในหลากหลายด้าน

ความเก่งของคนเรา มีหลากหลายด้าน 

โชคดี  ที่ผมเป็นคนมีจุดอ่อนประจำตัว ที่ชัดเจนปกปิดไม่ได้   คือเล่นกีฬาไม่เก่ง  และอ่อนด้านศิลปะ   เป็นความจริงที่ช่วยดึงไว้ให้ผมในวัยรุ่นไม่เหลิง หรือหลงตัวเอง    และช่วยให้ผมเชื่อในความเก่งหลายด้าน    ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า multiple intelligence   จะเห็นว่า ผมเข้าใจ multiple intelligence ก่อนจะรู้จักคำนี้  และทฤษฎีว่าด้วยคำนี้   

คนเราเข้าใจทฤษฎีโดยไม่รู้จักทฤษฎีได้นะครับ    คือเราสรุปหลักการให้แก่ตนเองได้ เอาไว้สอนตนเองได้   โดยอธิบายเป็นทฤษฎีอย่างที่นักวิชาการทำไม่เป็น   เพราะเราไม่ได้สร้างหลักการหรือทฤษฎีส่วนตัวจากทฤษฎีอื่น   แต่เราสร้างหลักการหรือทฤษฎีจากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง           

ผมเป็นนักสร้างทฤษฎีเอาไว้สอนใจตัวเอง มาตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่น    มีหลักการประจำใจของผมมากมาย    ที่บางหลักการผมมาค้นพบทีหลังว่าผิด    แต่โชคดีที่ผมมีทฤษฎีผิดๆ นั้นในช่วงวัยรุ่น   เพราะมันช่วยให้ผมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในชีวิต ที่จะเสียคน   

หลายทฤษฎีที่ผมสร้างขึ้นในช่วงวัยรุ่น เป็นเครื่องมือของการควบคุมตนเอง (self-regulation)   ช่วยให้ผมมีหลักยึดมั่นคง   ไม่สั่นคลอนเมื่อมีแรงกระตุ้นจากภายนอก และจากภายในตนเอง เช่นโดยฮอร์โมนเพศ   ย้ำว่าหลายทฤษฎีที่ผมสร้างขึ้นใช้ในการดำรงชีวิตที่ดี    เป็นทฤษฎีที่ผิด  แต่มีคุณค่าต่อชีวิตของผมในช่วงนั้น    และนำสู่ชีวิตที่ดีในช่วงนี้ ที่เป็นยามชรา อายุ ๘๐ ปี   

ทั้งหมดนั้น บอกผมว่า ความรู้และการเรียนรู้เป็นอนัตตา คือไม่ยั่งยืนแน่นอน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น    มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา    รวมทั้งมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม หรือบริบท เกี่ยวข้องด้วย     

ผมเชื่อว่า “ความรู้” เกือบทั้งหมดไม่ใช่  “ความจริงแท้” (absolute truth)    แต่มีลักษณะเป็น “สมมติ” ขึ้นกับสมมติฐาน   ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น relational    และ “ความรู้” เป็นสิ่งที่ซับซ้อน    มีหลายมิติ หลายชั้น มีความไม่ชัดเจน (ambiguous) ตีความหรือมองเห็นได้หลายแบบ ในต่างสถานการณ์หรือต่างบริบท   

ผมจึงมั่นใจว่า ผมเป็นคนไม่รู้จริง   

ชีวิตมนุษย์ มีความรู้ที่เป็นคุณต่อตนเองมากมายในแต่ละช่วงชีวิต   ที่ตนเองต้องสร้างให้ตนเองยึดเป็นหลักคุ้มครองการดำรงชีวิต   

แม้ผมจะเป็นคนไม่รู้จริง    แต่ผมก็โชคดี ที่รู้จักวิธีสร้างทฤษฎีสำหรับยึดถือประจำใจตน   โดยเฉพาะทฤษฎีด้านจิตใจ หรือด้านจิตวิญญาณ   หรือที่เราเรียกกันว่า “อุดมคติ”   ผมเคยได้รับคำเตือนจากแม่ว่า “ลูกเอ๋ย อุดมคติกินไม่ได้หรอก”  ที่ผมไม่เชื่อ   และในภายหลังเมื่อผมอายุกว่า ๕๐ และแม่อายุ ๘๐ ผมถามแม่ว่า การตัดสินใจมีชีวิตแบบนี้ของผมถูกต้องไหม   แม่ยิ้ม พยักหน้า และบอกว่า ดีแล้ว 

แต่ในนิยามความสำเร็จในชีวิตต่างนิยาม    ชีวิตของผมมีความสำเร็จต่ำกว่าเพื่อนร่วมรุ่นจำนวนหนึ่งอย่างเทียบกันไม่ติด            

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.พ. ๖๕  

  

หมายเลขบันทึก: 697683เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2022 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2022 05:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์เป็นปูชนียบุคคลในประเทศไทยค่ะ ที่ให้วิธีคิดที่ดีเสมอนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท