สันโดษ : ความพอเพียง


คำว่า “สันโดษ” เป็นคำที่ใช้กับพระ แปลว่าความยินดี คือความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโดยชอบธรรม ในภาษาของชาวบ้านก็คือ “ความพอเพียง” นั่นเอง ความสันโดษ หรือความพอเพียงโดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ 1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามมีตามได้ 2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังความรู้ความสามารถ 3. ยถาสารุปสันโดษ ยินดีตามความเหมาะสม

สันโดษ : ความพอเพียง

 

สันโดษ : ความพอเพียง

ดร. ถวิล  อรัญเวศ

    ความสันโดษ หรือความพอเพียง ความยินดีพอใจตามมีตามได้ ความยินดีพอใจตามกำลัง (ความรู้ความสามารถ) และความยินดีพอใจตามความจำเป็นของตน หรือตามความเหมาะสมถือว่า “บุญทางใจ”

         ทำไม ? เพราะ “สันโดษ” (ภาษาพระ) ไม่ใช่ความเกียจคร้าน ไม่อยากมั่งอยากมี แต่คือความพอดีของชีวิตที่เราได้ทำจนสุดความสามารถของเราแล้ว

   กล่าวกันว่า การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนปัจจุบันถูกเหตุปัจจัยต่าง ๆ หลากหลาย มากระทบกระทั่ง เบียดเบียนอยู่ทุกเมื่อ ยิ่งอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และโอมิครอนแล้ว ยิ่งทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากและขาดนสภาพคล่องในการทำมาหากิน ยิ่งต้องลำบากมากกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า ซึ่งล้วนแต่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง เพราะมีสิ่งมายั่วยุล่อใจให้เกิดความอยากได้อยากมีเกินตัว ทั้ง ๆ ที่การงานก็ไม่มีสภาพคล่อง แต่มีของล่อใจมีมากมาย ถ้าเราไม่สามารถใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วไซร้ ย่อมจะทำให้เราขาดความพอเพียงไปได้ ยิ่งจะทำให้เกิดทุกข์ใจตามมา เพราะอยากได้เกินตัว อยากได้เกินประมาณตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางแห่งการดำรงชีวิตประจำวันที่เราประพฤติปฏิบัติเพื่อประคับประคองตนให้รอดพ้นจากสิ่งที่มายั่วยุให้เกิดความอยากได้เกินตัว หรือให้มีความพอดีความพอเพียง ความสันโดษ โดยการปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ความสันโดษ (พอเพียง) ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำชาวโลกให้แสวงหาความสุขโดยการถือ สันโดษ (พอเพียง)

       คำว่า “สันโดษ” เป็นคำที่ใช้กับพระ แปลว่าความยินดี คือความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโดยชอบธรรม ในภาษาของชาวบ้านก็คือ

“ความพอเพียง”  นั่นเอง

ความสันโดษ หรือความพอเพียงโดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ

1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามมีตามได้

2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังความรู้ความสามารถ

3. ยถาสารุปสันโดษ ยินดีตามความเหมาะสม

มีอรรถาธิบายดังนี้

1. ยถาลาภสันโดษ
          ความยินดีตามที่ตนได้มา คือตนได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจกับสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนจะพึงมีพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาสิ่งของที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยาหรือความโลภจนเกินตัวอันจะทำให้เกิดความทุกข์ใจ หรือเกิดความโลภ จนต้องไปขโมยของเขา

2. ยถาพลสันโดษ
          ความยินดีตามกำลัง (ความรู้ความสามารถ) คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยของตน มีความพอใจในด้วยความขยันหมั่นเพียร ความริยะอุตสาหะแห่งตน ซึ่งถือว่าเราได้ทำจน

ความรู้ความสามารถของเราแล้ว เมื่อได้เพียงนี้ เราก็พอใจในสิ่งที่

เราได้มา  ไม่น้อยอกน้อยใจในโชคชะตาวาสนา

3. ยถาสารุปสันโดษ
          ยินดีตามเหมาะสมหรือสมควรแก่ตน หรือยินดีตามที่เหมาะสมกับภาวะ ฐานะเพศแห่งตน ไม่อยากได้เกินขอบเขตที่ผิดวิสัยธรรมชาติ

จะเห็นว่า ความพอเพียงหรือความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต การรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของโลภะอย่างไม่มีขอบเขต “ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน” หรือ “ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี คือการเป็นเศรษฐีตลอดกาล” 

        พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ ดังคำพูดเปรียบเปรยว่า “เมืองพอ ยังไม่มี มีแต่เมืองพล” ทำนองนั้น

        ถ้าทุกคนต่างมีความสันโดษ พอใจยินดีใช้สอยวัตถุสิ่งของต่าง ๆ อย่างมีสติ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรอง รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ก็จะสามารถสร้างความอยู่ดีกินดีเป็นเหตุให้เกิดความสุขขึ้นได้

ดังนั้น ความสันโดษ หรือความพอเพียง ความยินดีพอใจตามมีตามได้ พอใจตามกำลังและความสามารถ และยินดีพอใจตามความเหมาะสม และจำเป็นของตน พร้อมทั้งมีความขยันหมั่นเพียรหาเลี้ยงชีพด้วย
ความสุจริตไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือ สังคม เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดหนี้สินก็จะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข ความสันโดษ จึงเป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรพินิจพิจารณา น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยติดตัวหรือเป็นวิถีชีวิตโดยแท้แล้วเราจะพบแต่ความสุขนั้นเอง....

 

 

หมายเลขบันทึก: 696886เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2022 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2022 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท