ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๔๑. อนัตตตา ในชีวิตประจำวัน 


 

หนังสือ ธรรมะใกล้มือ อนัตตตา : ไม่ใช่ไม่มีอะไร มีอะไร แต่ไม่ใช่ตัวตน    บอกว่า หลักคำสอนเรื่องอนัตตาคือหัวใจของพุทธศาสนาที่ไม่ซ้ำใคร    คือไม่มีในศาสนาอื่น    แต่ก็เป็นเรื่องเข้าใจยากสุดๆ    

สาระในหนังสือ มาจากคำบรรยายของท่านพทธทาสแก่ผู้ช่วยผู้พิพากษา เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๔    คือกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว    ผมจินตนาการว่า ผู้พิพากษาหนุ่มๆ เหล่านั้น คงจะนั่งสัปหงก เหมือนอย่างที่ผมเคยเป็นสมัยหนุ่มๆ   

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ในวัยย่าง ๘๐ ก็ยังรู้สึกว่าอ่านยาก   จึงลองตีความว่า อนัตตตา หรือความว่างจากตัวตน ไม่ยึดมั่นในตัวตนของตน  หรือมองเป็นสิ่งสมมติ  เด็กที่เพิ่งรู้เดียงสาเรียนรู้อย่างไร   ผมมองว่าเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นหรือเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ง่ายที่สุด    เป็นการเรียนรู้ธรรมะจาก social หรือ external dimension   ในชีวิตประจำวัน   ว่าคนเราต้องเคารพคนอื่น เคารพความรู้สึกนึกคิดของเขา     ว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดบางส่วนต่างจากเรา     ความรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งเดียวกัน ของเขากับของเราไม่เหมือนกันทั้งหมด   บางส่วนแตกต่างกันอย่างขั้วตรงกันข้าม   คือเขาไม่ชอบ เราชอบ     

สิ่งนั้นมีอยู่จริง   แต่สิ่งนั้นตามการรับรู้ของเรา กับตามการรับรู้ของเพื่อน ไม่เหมือนกัน    การรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ของคนเราจึงเป็นสมมติทั้งสิ้น  รวมทั้งการรับรู้ตัวตนของตนเองด้วย    เมื่อมันเป็นสมมติ เราจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเกินไป จนกลายเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ หรือความขัดแย้ง   

อัตตา หรือตัวตน หรือความยึดมั่นในตัวตนของตนเอง ในฐานะ ยศ ศักดิ์ เกียรติ สติปัญญา ฯลฯ   หากเกินพอดี ก็เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง และความทุกข์    ทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งภายนอก คือขัดแย้งกับคนอื่น    และเป็นความขัดแย้งภายใน คือขัดแย้งภายในใจของตนเอง   และในประสบการณ์ของผม อัตตาหรือตัวตน มันเป็นสิ่งที่เราแบกไว้โดยไม่รู้ตัว    หากปลดออกจากบ่าเสียได้ ก็จะรู้สึกเบาสบาย   

จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ปลดออกจากบ่า แต่ปลดออกจากใจ ที่เป็นจิตใจที่หลงผิด   หลงเอาอัตตาสารพัดด้านมาเป็นเครื่องประดับ (ใจ)    ช่วยให้ใจฟู  และคิดว่าเกิดความสุขความพอใจ    แต่เมื่อ “เครื่องประดับ” เหล่านั้นมันพอกพูนมากเข้า    ก็กลายเป็นภาระให้ใจแบกอยู่ตลอดเวลา    ปลดออกเสียได้ จิตใจก็จะโปร่งโล่งเบาสบาย   

โยงสู่ “ความว่าง” (สุญญตา) ที่ร่างกาย และการรับรู้ยังคงมีอยู่    แต่ว่างจาก “ตัวกู ของกู” ที่ผู้คนมักหลงแบกไว้     ว่างจากตัวตน หรือเครื่องประดับที่ตนเองหลงพอกพูนประดับตน

ในความเป็นจริง ชีวิตไม่ง่ายอย่างที่เขียนข้างบน   แต่ละคนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน   และถูกสภาพแวดล้อมพอกพูนสมมติให้มากมายหลายด้าน    เช่นเกิดมาเป็นลูกเศรษฐี  เรียนจบมหาวิทยาลัยหมายเลขหนึ่งของประเทศ  นั่งรถเบ๊นซ์ เป็นหมอ  และ ฯลฯ อีกมากมายที่ผู้คนยกย่อง    ซึ่งที่จริงเขายกย่อง แต่เราหลงรับมาแบก   เกิดผลลบเป็นการสร้างอัตตา 

การทำความเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท และอนัตตตา ลงรายละเอียดตามในหนังสือ จึงเป็นตัวช่วยให้เราค่อยๆ เห็นทางปลดปล่อยของหนักที่ไม่จำเป็นต้องแบกไว้ในใจ    สู่ชีวิตที่มีสติ สัมปชัญญะ และปัญญา    ในการดำรงชีวิตที่ สงบ เย็นและ เป็นประโยชน์     

พอดีได้รับหนังสือแปล เจ้าชายน้อย ฉบับแปลโดย รศ. ดร. ธีรา ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เป็นของขวัญปีใหม่    อ่านแล้วรู้สึกว่า สาระที่ซ่อนอยู่น่าจะเป็นเรื่องอนัตตานี่เอง               

วิจารณ์ พานิช 

๒๕ ธ.ค. ๖๔  เพิ่มเติม ๓ ม.ค. ๖๕ 

  

  

หมายเลขบันทึก: 696854เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2022 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2022 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจเป็นเพราะเราถูกยกย่องมากไป เลยหลงยึด ทำให้หนัก

พยายามลดความยึดมั่น ถือมั่นลง โดยอ่านหนังสือที่เตือนสติเราได้ค่ะอาจารย์

ตอนนี้อ่านเรื่อง Fear ของนิชนัท ฮันห์ ก็พอได้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท