สอนทักษะสร้างสรรค์  9. ตัวอย่างกิจกรรมขององค์กรระหว่างชาติ  และของประเทศ


 

บันทึกชุด สอนทักษะสร้างสรรค์ ฝึกนักเรียนให้คิดเป็นและคิดอย่างมีวิจารณญาณ นี้ ตีความจากหนังสือ Teaching Creative Thinking : Developing learners who generate ideas and can think critically (2017)  เขียนโดย Bill Lucas  และ Ellen Spencer    ที่เป็นหนังสือว่าด้วยการคิดสร้างสรรค์ (critical thinking)   แต่ตีความเชื่อมโยงออกไปกว้างขวางมาก    และมีคำแนะนำภาคปฏิบัติ   รวมทั้งมีตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการในแนวทางที่เสนอ    ผมเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อร่วมขบวนการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แก่สังคมไทย   

ตอนที่ ๙ นี้ ตีความจากหนังสือบทที่ 5  Promising Practices : Some case studies    ครึ่งหลังของบท     ว่าด้วยตัวอย่างของการส่งเสริมการพัฒนาทักษะสร้างสรรค์โดยองค์กรระหว่างประเทศ  และโดยการดำเนินการของบางประเทศ   

 

OECD และฝรั่งเศส 

OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เป็นองค์กรนำ ในด้านการส่งเสริมการให้ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ    โดยดำเนินการขับเคลื่อนด้วย ๒ กลไกหลักคือ (๑) การทดสอบ PISA (๒) โครงการวิจัยที่ดำเนินการใน ๑๔ ประเทศ ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมด้วย   เป็นโครงการวิจัยที่ใช้แนวคิด ๕ มิติ ของการคิดสร้างสรรค์ ตามที่เสนอในหนังสือ Teaching Creative Thinking    

ผมขอเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้ว อีซีดี ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษาของโลกด้วยกลไกที่ ๓  คือการเผยแพร่แนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่ออนาคต ผ่านทางเว็บไซต์ (๑)    เช่นการเผยแพร่ Learning Compass 2030 (2)   competency framework (3) ที่สะท้อนการให้ความสำคัญต่อการพัฒนา ขีดความสามารถ (capabilities) สอดคล้องกับสาระในหนังสือ Teaching Creative Thinking   แต่ โออีซีดี เรียก ว่า competencies    ซึ่งตรงกับที่วงการศึกษาไทยเราใช้คำว่า สมรรถนะ  และสมรรถนะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการผสมผสาน ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณค่า เข้าด้วยกัน (๔)      

การทดสอบ PISA 

การทดสอบ PISA (๑) ดำเนินการทุกๆ ๓ ปี   และประเทศไทยได้เข้าร่วมตั้งแต่ต้น   ทดสอบความรู้ที่ซับซ้อน ๔ ด้านของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี  คือ คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ การอ่าน  และมิติเชิงนวัตกรรมที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้งของการทดสอบ PISA    มิติที่ ๔ นี้ของปี 2015 คือ การแก้ปัญหา (problem-solving)   ของปี 2018  คือ สมรรถนะระดับโลก (global competence)   ในปี 2021 จะทดสอบความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking)    

การที่ไทยเข้าร่วมการทดสอบนี้เรื่อยมามีคุณค่ามาก   เพราะช่วยให้เราได้ข้อมูลหลักฐานว่าคุณภาพการศึกษาของเราตกต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา   

การวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ

โครงการวิจัยนี้ดำเนินการมา ๑๐ ปี    นำสู่การประชุมที่ลอนดอนตอนปลายปี ๒๕๖๒    ที่ผมไปร่วมและเขียน บล็อกเล่าไว้ที่ (๕) และพิมพ์เป็นเล่มให้ดาวน์โหลดได้ที่ (๖)    โออีซีดี ได้ตีพิมพ์ข้อเรียนรู้จากการวิจัย เป็นหนังสือ Fostering Students’ Creativity and Critical Thinking : What It Means in School  (๗)    ประเทศไทยได้เข้าร่วมการวิจัยนี้ด้วย    งานวิจัยนี้นำสู่ความเข้าใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความหลายหลายของวิธีการเอื้อให้นักเรียนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตน  และแนวทางประเมินความคิดสร้างสรรค์ในนักเรียน    ที่ยังมีช่องทางให้พัฒนาได้อีกมาก    หัวใจสำคัญคือ การศึกษาต้องเอื้อให้นักเรียนเรียนรู้ทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณค่าไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดสมรรถนะสำคัญที่พึงประสงค์ รวมทั้งการสร้างสรรค์

หลักการเลือกวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายดังกล่าวคือ

  • เลือกวิธีการที่เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการ
  • สร้างโอกาสที่ครูจะปลูกฝังนิสัยใจคอ (habits of mind) ที่ดีให้แก่ศิษย์ 
  • สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่มีลักษณะน่าพิศวง  เป็นชีวิตจริง ทำต่อเนื่องยาวนาน ขยายพื้นที่ออกไปนอกโรงเรียน มีการร่วมมือกัน  และมีการสะท้อนคิด
  • ใช้วิธีจัดการเรียนรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล เช่น  การเรียนรู้บนฐานปัญหา  กระบวนทัศน์พัฒนา  ห้องเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้   ฝึกปฏิบัติอย่างใคร่ครวญ  ทดลองอย่างสนุกสนาน 
  • ให้คุณค่าต่อเรื่องนิสัยใจคอ และการสร้างสรรค์ อย่างชัดแจ้ง
  • เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ร่วมออกแบบการเรียนรู้
  • บูรณาการการประเมินอยู่ในกระบวนการเรียนรู้
  • เปิดช่องให้สิ่งที่ไม่คาดฝันช่วยส่งผลต่อการเรียนรู้       

ประเด็นเรียนรู้หลักจากการริเริ่มของ โออีซีดี ได้แก่

  1. ขีดความสามารถหรือสมรรถนะเกิดจากการผสมผสานระหว่างความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณค่า
  2. การให้นักเรียนร่วมออกแบบการเรียนรู้มีความสำคัญ
  3. ต้องบูรณาการการประเมินอยู่ในการสอน
  4. ครูต้องเปิดพื้นที่ให้สิ่งที่ไม่คาดคิดออกมาแสดงบทบาทต่อการเรียนรู้    

 

VCAA, Australia

VCAA = Victorian Curriculum Assessment Authority ของประเทศออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นผู้นำของโลกในการดำเนินการพัฒนาสมรรถนะให้แก่นักเรียน    เริ่มจากหลักสูตรของประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ต้องพัฒนาสมรรถนะที่เรียกว่า “การคิดอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์” (critical and creative thinking) (๘)  ที่มี ๔ องค์ประกอบ ตามรูป (๙)    แล้ว VCAA พัฒนาเพิ่มอีก ๓ ด้านคือ

  • ปรับ ๔ องค์ประกอบให้เหลือ ๓ ที่เกี่ยวพันกันดังเกลียวเชือกคือ (๑) คำถามและความเป็นไปได้   เพื่อพัฒนาจินตนาการและปัญญาญาณ  รวมทั้งพัฒนาความใคร่รู้และการคาดเดา    ผ่านการเสนอไอเดียใหม่ๆ   สร้างสิ่งของที่ไม่ลอกเลียนใคร  และสร้างความเชื่อมโยงใหม่ๆ  (๒) การให้เหตุผล  เพื่อให้ความรู้และเครื่องมือ สำหรับสร้างและประเมินไอเดียหรือข้อโต้แย้งที่แปลกใหม่   (๓) อภิปัญญา (metacognition)  เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจ  ฝึก และพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนเอง 
  • ร่วมมือกับ Centre for Real-World Learning ในการพัฒนาต้นแบบของวิธีจัดการเรียนรู้ที่ได้ผลดี    โรงเรียนประถม Brunswick East ที่เอ่ยถึงในตอนที่ ๘ อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย 
  • ฝ่ายการเมืองของรัฐวิกตอเรีย กำหนดให้มีการประเมินสมรรถนะเช่นเดียวกับประเมินความรู้ด้านวิชาการ  

   ประเด็นเรียนรู้หลักได้แก่

  1. ทำให้ข้อกำหนดเรื่องการคิดอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
  2. กำหนดให้เห็นความก้าวหน้าใน ๒ ปี  ไม่ใช่ ๑ ปี
  3. ลงทุนด้านการเรียนรู้ของครูและผู้บริหาร
  4. ดำเนินการพัฒนาจากล่างขึ้นบน (bottom-up) และแชร์วิธีดำเนินการที่ได้ผลดี
  5. ใช้การประเมินเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
  6. เชื่อมโยงนโยบาย  การวิจัย และการปฏิบัติ 

 

New Pedagogies for Deeper Learning, Canada

NPDL เริ่มต้นในแคนาดา แล้วกลายเป็นขบวนการระดับโลก (๑๐)    เน้นการพัฒนา 6C คือ

  1. Creativity   เริ่มจากการมีจินตนาการพัฒนาตนเองให้เป็น “ผู้ประกอบการ” (entrepreneur) เพื่อหาโอกาสพัฒนาสังคมและ/หรือเศรษฐกิจ    ตั้งคำถามใหม่ๆ สู่ไอเดียดีๆ  มีภาวะผู้นำที่จะเอาไอเดียไปปฏิบัติ   
  2. Critical thinking  ตรวจสอบสารสนเทศและข้อโต้แย้งอย่างเข้มงวดจริงจัง    ตรวจหาแบบแผน (pattern) และความเชื่อมโยง (connections)   สร้างความรู้ที่มีความหมายและทดลองใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง   
  3. Collaboration    ทำงานเป็นทีมแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (interdependently)  และเสริมพลังซึ่งกันและกัน (synergistically)   โดยใช้ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  และทักษะการทำงานเป็นทีม    รวมทั้งการจัดการพลวัตและความท้าทายการทำงานเป็นทีม    มีการตัดสินใจในเรื่องสำคัญร่วมกัน  มีการเรียนรู้จากการเรียนรู้ของสมาชิกทีม และเอื้อต่อการเรียนรู้ของสมาชิกทีม    
  4.  Citizenship   ฝึกคิดในฐานะพลโลก (global citizen) โดยพิจารณาประเด็นสำคัญของโลก ภายใต้ความเข้าใจที่ลึกเกี่ยวกับมุมมองและการให้คุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย    มีความสนใจและมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมองได้ต่างกันหลายแง่หลายมุม เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน     
  5. Character    มีบุคลิกของผู้เรียนรู้ในมิติที่ลึก (deep learn)   โดยพัฒนาคุณลักษณะ การมีแรงบันดาลใจและดำเนินการต่อเนื่อง (grit)    เกาะติด (tenacity)  อดทนมานะพยายาม (perseverance)  และยืดหยุ่น (resilience)   รวมทั้งมีทักษะบูรณาการการเรียนรู้เข้ากับการดำรงชีวิต   
  6. Communication    สื่อสารอย่างได้ผล โดยใช้หลากหลายสไตล์  วิธีการ และเครื่องมือ รวมทั้งเครื่องมือดิจิตัล โดยปรับตามผู้รับสารที่แตกต่างหลากหลาย     

วิธีการที่ทรงพลังของ NPDL คือการสร้างกลุ่มโรงเรียน กลุ่มละ ๕ โรงเรียนขึ้นไป   กลุ่มโรงเรียนเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย    เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และเชื่อมโยงกับกลไกรัฐ   คือใช้พลังของทั้งความไม่เป็นทางการและของความเป็นทางการ   เพื่อใช้กระบวนการตั้งคำถามร่วมกัน (collaborative inquiry) เพื่อให้นักเรียนออกแบบ ประเมิน และติดตามผลการเรียนรู้ของตนเอง    ครูร่วมกันประเมิน  ออกแบบ  ดำเนินการ สะท้อนคิด และปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้  ผู้บริหารประเมินการเรียนรู้เพื่อเป้าหมายการเรียนรู้ที่ลึก และออกแบบกลยุทธในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อ      

ประเด็นเรียนรู้สำคัญได้แก่

  1. มีการรณรงค์เพื่อโลกที่ยั่งยืน และการสร้างสมรรถนะของนักเรียนเพื่อเป้าหมายนั้น
  2. ลงทุนด้านการเรียนรู้ของครู
  3. จัดระบบ PLC
  4. กำหนดเป้าหมายความก้าวหน้าในแต่ละสมรรถนะ 

 

Four Dimensional Education, USA 

4DE (๑๑) เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนโดย P21 (Partnership for 21st Century Learning) (๑๒)   ส่งเสริมการเรียนรู้สมรรถนะหรือทักษะเพื่อการเรียนรู้และนวัตกรรม ๔ ประการ (4C) ไปพร้อมๆ กับการเรียนสาระวิชา    4C ได้แก่ creativity, critical thinking, communication, collaboration    จะเห็นว่า 4DE แยก creativity กับ critical thinking ออกจากกัน    และเสนอว่า การพัฒนา 4C ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น   แต่อยู่ในทุกระดับของสังคม ได้แก่ ห้องเรียน  โรงเรียน  นอกโรงเรียน ชุมชนโดยรอบ  รัฐ  ประเทศ 

การประเมินเป้าหมายและมาตรการดังกล่าวต้องไม่ทำเฉพาะที่ตัวนักเรียนและห้องเรียนเท่านั้น    ต้องประเมินการดำเนินการในระดับอื่นๆ ด้วย ตามที่ระบุข้างบน

ประเด็นเรียนรู้สำคัญได้แก่

  1. เชื่อมโยงการวิจัย  การปฏิบัติ และนโยบาย
  2. สร้างพันธมิตร
  3. ส่งเสริมให้การดำเนินการที่ส่อผลดีเป็นกรณีตัวอย่าง
  4. ให้ความสำคัญแก่สมรรถนะเฉพาะสาขา  ระหว่างสาขา และสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อย่างเท่าเทียมกัน   

 

Creative Schools 

นี่คือขบวนการที่นำโดย Sir Ken Robinson ที่เขียนเป็นหนังสือ (๑๓)   และพูดใน Ted Talk (๑๔) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง    ท่านบอกว่าโรงเรียนสร้างสรรค์ต้องพัฒนา 8C ให้แก่นักเรียน ได้แก่  (1) Curiosity   ความใฝ่รู้  ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ  (2) Creativity   คิดไอเดียใหม่ๆ และดำเนินการทดลองใช้  (3) Criticism   วิเคราะห์ข้อมูลและไอเดีย สู่การโต้แย้งและตัดสิน  (4) Communication  สื่อสารความคิดและความรู้สึกในรูปแบบต่างๆ และในสื่อที่หลากหลาย  (5) Collaboration   ทำงานร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับผู้อื่น  (6) Compassion   รู้ใจผู้อื่น และปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเข้าใจนั้น   (7) Composure   รู้ใจตนเอง และมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดด้านในของตนเอง  (8) Citizenship   อยู่ในสังคมอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกิจกรรมที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม         

ประเด็นเรียนรู้สำคัญได้แก่

  1. สร้างแรงบันดาลใจแก่ปัจเจกบุคคล
  2. ใช้การสื่อสารทาง เว็บ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในวงกว้าง
  3. ใช้ผลการวิจัย  เรื่องเล่า  เรื่องราว  และข้อโต้แย้ง
  4. สื่อสารให้ถึงคนระดับล่าง 

 

Educating Ruby และ Building Learning Power, UK

หนังสือ Educating Ruby : What Our Children Really Need to Learn (2015) เขียนโดย Guy Claxton และ Bill Lucas ผู้เขียนหนังสือ Teaching Creative Thinking   และเว็บไซต์ Building Learning Power สื่อสารสังคมวงกว้าง   ในทำนองเดียวกันกับ Expansive Education   และ Centre for Real-World Learning 

Educating Ruby เน้นพัฒนา 7C  ได้แก่ confidence (ความมั่นใจในตนเอง), curiosity (สงสัย กล้าถาม กล้าลอง ไม่กลัวผิด), collaboration (มีพฤติกรรมที่นำไปสู่ความร่วมมือกับผู้อื่น), communication (สั่งสมความรู้และทักษะที่ซับซ้อน ทำให้เป็นคนสื่อสารดี รวมทั้งรู้จักเงียบในจังหวะที่ควรเงียบ), creativity (ค้นพบความสร้างสรรค์ของตนเอง), commitment (เห็นคุณค่าของการเป็นคนมุ่งมั่นทำสิ่งที่รับผิดชอบให้สำเร็จ), craftsmanship (ได้สัมผัสและเห็นคุณค่าของการได้ทำงานฝีมือ) 

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักว่าครูทำอย่างไร ศิษย์ (Ruby) จึงพัฒนา 7C ใส่ตนได้ดี    จึงขอถอดความคำพูดของ Ruby (ตัวละครที่สมมติว่าเป็นนักเรียน) ว่าที่ตนมี 7C นั้น   เพราะครูทำอย่างไร     

ครูช่วยให้ฉันมีความมั่นใจในตนเอง (confidence) ด้วยท่าทีและคำพูดของครูที่สะท้อนว่าคำพูดของฉันมีความหมาย  ครูช่วยให้ฉันรู้สึกว่าฉันสามารถบรรลุความสำเร็จได้ในหลายสิ่งหลายอย่างถ้าฉันตั้งใจ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่การเรียนวิชา  ครูช่วยให้ฉันตระหนักว่า ถ้าฉันพยายามมากพอ ก็จะได้รับผลดี    ด้วยการที่ครูยุยงส่งเสริมให้ฉันไม่ละความพยายาม ครูช่วยให้ฉันพัฒนาเป็นคนที่มีท่าทีมั่นใจว่าตนทำได้ 

ครูช่วยให้ฉันเป็นคนสงสัยใคร่รู้ (curious)    เมื่อฉันถามคำถาม ครูไม่เคยแสดงท่าทีหรือคำพูดที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองโง่    ครูไม่เคยตอบว่า ทำไม่ฟังให้ดีๆ   หากฉันถามออกนอกลู่นอกทาง ครูอธิบายว่าคำถามไม่เข้าประเด็นด้วยท่าทีให้เกียรติ   ครูส่งเสริมให้ศิษย์ทุกคนลองสิ่งใหม่ๆ โดยไม่มีการหัวเราะเยาะความงุ่มง่าม   ครูช่วยให้พวกเรารู้ว่าทุกคนทำผิดได้ การทำผิดพลาดไม่ได้หมายความว่าเราไม่เก่ง แต่หมายความว่าเรากำลังเรียนรู้   ดังนั้นฉันจึงตอบรับความท้าทายเสมอ   ฉันทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ลอง   

ครูช่วยให้พวกเราเป็นคนสนุกสนาน และร่วมมือกัน (collaborative)   ครูได้แสดงตัวอย่างของการพูดอภิปราย และแสดงความไม่เห็นพ้องอย่างให้เกียรติ   ทำให้พวกเราปฏิบัติต่อกันในทำนองนั้น   ครูสอนให้พวกเราไม่หัวเราะเยาะคนที่ไม่รู้  ครูช่วยให้พวกเราเข้าใจคุณค่าของการเป็นคนที่เชื่อถือได้ และจริงใจต่อผู้อื่น   รวมทั้งให้ยอมรับความสับสน และขอโทษเมื่อพูดทิ่ผิดพลาด 

ครูช่วยให้ฉันสื่อสารเก่งขึ้น (communicative)   เพราะช่วยให้ฉันชอบอ่านหนังสือ  ช่วยให้ฉันเข้าใจคนอื่นและมีคลังคำมากขึ้น โดยเฉพาะคำที่แสดงอารมณ์และความคุ้นเคยกัน   เราพูดคุยกันมากในชั้นเรียนและครูช่วยให้เราเข้าใจการพูดแบบต่างๆ หลากหลายแบบ และช่วยให้เข้าใจวิธีพูดที่เหมาะสม   และฉันได้เรียนรู้ว่าในบางสถานการณ์ฉันควรเงียบ โดยที่ไม่ใช่เพราะอายหรือไม่พอใจ  ฉันได้เรียนรู้ว่าบางครั้งฉันควรหยุดคิดเสียก่อน 

ครูช่วยให้ฉันค้นพบความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) ของตนเอง   ครูได้ทำให้พวกเราฉงนและถามความเห็นของเรา ช่วยให้พวกเราได้ฝึกคิดดังๆ และคิดต่อจากคนอื่นๆ   เราได้เรียนรู้ว่า ไม่ควรละเลยสิ่งที่ดูไร้ความหมายเร็วเกินไป เพราะมันอาจนำไปสู่ความคิดที่ใหม่และน่าสนใจ    ครูบางคนได้สอนให้พวกเราทำพฤติกรรมประหลาด เช่นช่วงหนึ่งแสดงความมีเหตุผลและความชัดเจน แต่ต่อมากลับแสดงจินตนาการหรือความฝัน  เป็นการฝึกให้พวกเรารู้จักควบคุมใจของตัวเราเอง

ครูช่วยให้พวกเราเห็นคุณค่าของความเป็นคนทุ่มเทอุทิศตน (committed) ต่อสิ่งที่ทำ   ครูให้โอกาสพวกเราได้เรียนอย่างอิสระ ช่วยให้เรารู้จักรับผิดชอบในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง   มุ่งมั่นทำงานที่ยากให้สำเร็จด้วยตนเอง ไม่ใช่รอความช่วยเหลือ   ตอนนี้ฉันไม่กลัวงานยาก และรู้ว่าความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย   ดังนั้นเมื่อฉันเข้าเรียนมหาวิทบาลัย ฉันจะมีวินัยในตนเอง เพื่อบรรลุความสำเร็จ   

ครูสอนให้ฉันรู้จักความพึงพอใจในการทำงานฝีมือ (craftsmanship)  ฉันเคยเป็นคนมีนิสัยทำงานลวกๆ    แต่ตอนนี้ฉันมีความสุขกับการทำงานให้ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้    ฉันไม่ต้องการเป็นคนทอดทิ้งเพื่อน  และไม่ต้องการทอดทิ้งตนเอง  ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การมีความมุ่งมั่นเท่านั้น ยังเกี่ยวกับความละเอียดลออ  คิดใคร่ครวญในสิ่งที่ทำ และหาทางปรับปรุง แก้ไขส่วนที่ผิด และฝึกทำส่วนที่ยากซ้ำๆ 

โปรดสังเกตว่า “คำพูดของนักเรียน” เหล่านี้    ช่วยเตือนสติครูว่า หากต้องการสร้างความคิดสร้างสรรค์ (และสมรรถนะสำคัญอื่นๆ) ให้แก่ศิษย์ ครูต้องแสดงพฤติกรรมอะไรบ้างที่มีความสำคัญ   โดยที่พึงตระหนักว่า นักเรียนไวต่อสัมผัสการสื่อสารทางอ้อมผ่านพฤติกรรมที่ครูทั้งตั้งใจปฏิบัติ และที่ครูปฏิบัติโดยไม่ได้ตั้งใจ               

ประเด็นเรียนรู้สำคัญได้แก่

  1. พูดกับพ่อแม่ตรงๆ
  2. แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ต้องการเรียนรู้ทั้งความรู้วิชาการและสมรรถนะ
  3. แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนและครูสามารถทำได้ แม้ระบบการศึกษาของประเทศจะไม่เอื้อ
  4. นิยามการศึกษาเพื่อการสร้างบุคลิก

โรงเรียนต้องสอนทักษะสร้างสรรค์ (และสมรรถนะอื่นๆ) ทั้งโดยกิจกรรมในหลักสูตร และโดยกิจกรรมนอกหลักสูตร                 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ย. ๖๔ 

 

หมายเลขบันทึก: 696793เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2022 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2022 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท