ชีวิตที่พอเพียง 4134. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๒๕) สะท้อนคิดข้อเรียนรู้ ๓ ปี กสศ.


 

พลวัตเรียนรู้ ๓ ปี กสศ.

วิจารณ์ พานิช

.................

เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้ร่วมเขียนข้อสะท้อนคิดสั้นๆ ลงในหนังสือ Founder & Flower เล่มนี้    คงจะเนื่องจากทีมงานของ กสศ. รู้ดีว่าผมถือโอกาสที่ได้รับเชิญมาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร    ใช้ กสศ. เป็น “โรงเรียน” ของผม    และได้บันทึกข้อเรียนรู้ไว้กว่าร้อยตอนในช่วงเวลาสามปีเศษ ในบล็อก Gotoknow.org   ที่เข้าไปอ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/ความเสมอภาคทางการศึกษา    ข้อสะท้อนคิดนี้ เป็นการตกผลึกจากบันทึกเหล่านั้น    

ข้อเขียนจากการสะท้อนคิด (reflection)   เป็นผลของการคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) ที่ตอนคิดฟุ้ง (divergent thinking) อาจคิดผิดมากกว่าถูก     ข้อเขียนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในมิติคิดฟุ้ง     ส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากคิดสรุป (convergent thinking) อย่างรอบคอบ   ผู้อ่านจึงพึงอ่านโดยใช้วิจารณญาณ (critical thinking) แนวกาลามสูตร      

ผมตีความว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ change agent ให้แก่ระบบการศึกษาไทย   ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน ที่เรียกว่า transformation    เพื่อให้การศึกษาทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงแก่การพัฒนาประเทศไทย สังคมไทย สู่สังคมรายได้สูง สังคมดี ความเหลื่อมล้ำน้อย   

หากถามว่า ในช่วงเวลา ๓ ปี ภายใต้ภาวะผู้นำของ นพ. สุภกร บัวสาย กำกับโดยคณะกรรมการบริหารที่มี ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน สอบผ่านการทำหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่   ผมให้เกรด A    โดยมีหลักฐานผลงานอยู่ในรายงานประจำปี    และในหนังสือ Founder & Flower เล่มนี้   โดยส่วนที่ผมให้น้ำหนักมากที่สุด คือการวางรากฐานขององค์กร 

คุณหมอสุภกร มีอนุสาวรีย์ชีวิตถึง ๒ อนุสาวรีย์   จากผลงานก่อตั้ง สสส. และ กสศ.   ที่ทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานให้แก่สังคมไทย    การก่อตั้งแต่ละองค์กรต้องฝ่าฟัน อดทน และใช้เวลายาวนานหลายปีหลายขั้นตอน   กว่าจะสบโอกาสได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการโดยมีพระราชบัญญัติก่อตั้ง    และที่สำคัญมีกลไกทางการเงินสนับสนุนอย่างมั่นคง    และมีการเปิดช่องให้องค์กรมีการเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง    เป็นผลงานที่สร้างคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างอเนกอนันต์   

ในบันทึกข้อเรียนรู้บันทึกแรกที่เขียนเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ (gotoknow.org/posts/654944)  ผมสะท้อนคิดไว้ว่า “ยุทธศาสตร์การทำงานของ กสศ. คือ (๑) ยุทธศาสตร์การเรียนรู้  (๒) ยุทธศาสตร์ข้อมูลหลักฐาน  และ (๓) ยุทธศาสตร์ร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับภาคี”   กว่าสามปีให้หลังผมประเมินว่า กสศ. ได้ใช้แนวทางดังกล่าวอย่างได้ผล    และกลายเป็น “ดีเอ็นเอ” หรือวัฒนธรรมองค์กร ของ กสศ.    ดังมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ Founder & Flower เล่มนี้    

ผมได้เรียนรู้ว่า การทำงานสร้างสรรค์ระดับหน่วยงาน ในระบบราชการไทย ในช่วงนี้ ยากกว่าที่ผมเคยทำเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนอย่างมากมาย    เต็มไปด้วยกฎระเบียบรัดรึง ขาดความยืดหยุ่นคล่องตัว    เน้นทั้งการตรวจสอบก่อนปฏิบัติงาน และการตรวจสอบภายหลัง    ทำให้การทำงานเชิงสร้างสรรค์ในงานสาธารณะที่อยู่ใต้ระบบราชการ ทำได้ยากขึ้นมาก    ความรับผิดรับชอบขึ้นกับกลไกทางกฎหมาย ยิ่งกว่าการตรวจสอบที่ผลงาน    กสศ. ทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดนี้    แต่กระนั้นก็ตาม ผลงานในช่วงสามปีได้ A ตามการให้คะแนนของผม 

เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ของทีมบริหารชุดใหม่    ผมขอร่วม “ให้ดอกไม้” แก่ท่านผู้จัดการที่จบบทบาท คือคุณหมอสุภกร บัวสาย    และเพื่อต้อนรับผู้จัดการท่านใหม่ ด้วยข้อเรียนรู้ ๑๐ ประการของผม  ที่ขอเสนอเป็น ข้อน่าชื่นชม ๕ ประการ และประเด็นเพื่อพัฒนา ๕ ประการ ต่อไปนี้       

ข้อน่าชื่นชม ๕ ประการ

  1. การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การเรียนรู้อย่างได้ผล    ที่เด่นที่สุดคือการว่าจ้างบริษัท Roland Berger เข้ามาประเมินแนวทางการปฏิบัติงานขององค์กร  และเสนอแนะแนวทางพัฒนาวิธีทำงาน    นำสู่การเรียนรู้ในลักษณะของ “การเรียนรู้สองวงจร” (DLL - double-loop learning)    คือได้รับ feedback ให้ปรับเปลี่ยนที่วิธีทำงาน (single-loop learning)  และปรับเปลี่ยนเป้าหมายขององค์กร (double-loop learning)    มีผลให้คณะกรรมการบริหารมีมติกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เป็น “ตัวเร่ง” การเปลี่ยนแปลง (catalyst for change)    วงจรเรียนรู้ใน กสศ. ยังมีในระดับ meso และ micro อีกมากมาย    และกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง   
  2. การพัฒนา และใช้ระบบข้อมูลเพื่อการทำงาน    เป็นวิธีทำงานของ กสศ. ตั้งแต่ยังเป็น สสค. และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ที่เด่นที่สุดคือระบบ iSEE (Information System for Equitable Education) สำหรับใช้จัดการ “ทุนเสมอภาค”    อีกระบบหนึ่งที่ใช้ในระดับโรงเรียนคือ Q-Info   ที่น่าชื่นชมมากคือการใช้ข้อมูลเพื่อจำแนกประชากรเป้าหมาย สู่การวางระบบงานขององค์กร    เรื่องระบบข้อมูล โดยเฉพาะ Q-Info ยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก 
  3. การทำงานร่วมมือกับภาคีที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต้นสังกัดของครูและโรงเรียน   ที่ก่อผลกระทบชัดเจนที่สุดในด้านการเรียนรู้คือการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น OECD, UNESCO, World Bank, UNICEF เป็นต้น  และที่จะสร้างผลกระทบมากในด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systems transformation) คือความร่วมมือกับต้นสังกัดของโรงเรียนและครู    เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ก่อความขัดแย้ง         
  4. การสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กร เพื่อความต่อเนื่องยั่งยืนของทรัพยากร    กสศ. ดำเนินการในลักษณะที่เป็นองค์กรเปิด   มีผู้แทนภาคีหลากหลายฝ่ายอยู่ในคณะกรรมการและอนุกรรมการทุกชุด    รวมทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องทำรายงานประจำปี เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา    และเผยแพร่แก่สาธารณชนทั่วไป   ความโปร่งใสและผลงาน คือกลไกความต่อเนื่องยั่งยืนของทรัพยากรจากภาครัฐ    และต่อการสร้างแหล่งทรัพยากรจากสาธารณชน ที่กำลังพัฒนากันอยู่    กลยุทธสื่อสารสาธารณะ ตามในข้อเสนอแนะที่ ๔ ข้างล่าง    ที่ใช้หลักการ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” จะช่วยสร้างความต่อเนื่องยั่งยืนของทรัพยากรในระยะยาว     
  5. การวางโครงสร้างการทำงาน ในหน้าที่ ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง (catalyst for systems transformation)    กสศ.วาง strategic positioning นี้ไว้ตั้งแต่ต้น   และมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในปีที่สาม เมื่อประยุกต์ใช้หลักการห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของงาน   ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงของงาน   และการมีเป้าหมายความเสมภาคทางการศึกษาในภาพใหญ่    เป็นการปูพื้นฐานที่ชัดเจนและทรงคุณค่า ต่อการดำเนินการในช่วงสามปีที่สอง      

ข้อเสนอเพื่อพัฒนาต่อเนื่อง ๕ ประการ       

  1. การทำงานในสภาพ ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน    นี่คือกระบวนทัศน์การทำงานแบบ complex-adaptive systems    หลีกเลี่ยงวิธีคิดและปฏิบัติแนวเส้นตรงและเป็นสมการชั้นดียว (simple-linear system) ที่ใช้กันโดยทั่วไปในระบบราชการ    เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในลักษณะของ emergence    ดังข้อเสนอรายละเอียดใน gotoknow.org/posts/691188, gotoknow.org/posts/691275, และ gotoknow.org/posts/691329    กลยุทธสำคัญคือ พนักงานประจำต้องมีความสุขความคล่องตัวในองค์กรแบบนี้    นำไปสู่ข้อเสนอแนะข้อที่ ๕  
  2. การทำงานบูรณาการระหว่างการลงทุน กับการเก็บเกี่ยวผล     เนื่องจากผลงานสร้างสรรค์ในช่วงสามปีแรกออกดอกผลมากมาย ที่จะต้องเก็บเกี่ยวและนำมาเข้าห่วงโซ่เพิ่มคุณค่าเพื่อใช้เป็นกลไก “เร่ง” การเปลี่ยนแปลง    ดังรายละเอียดใน gotoknow.org/posts/691555, gotoknow.org/posts/691567, และ gotoknow.org/posts/691635   ในบันทึกทั้ง ๓ นี้ เป็น “สินทรัพย์” จากโครงการ TSQP   ยังมี “สินทรัพย์” ที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงอีกมากเช่น FSQL, PFS (PISA for Schools) เป็นต้น       
  3. หมุนวงจร DLL ด้วย DE เพื่อบรรลุเป้าหมายหลัก    หัวใจของกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคือการเรียนรู้ของผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders)   ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ตนยึดถืออยู่นั้นไม่เป็นความจริง หรือมีความจริงชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่   หากจะให้เกิดคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา    จะต้องนำข้อมูลความเป็นจริงมาร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิด    เพื่อร่วมกันวางแนวทางดำเนินการร่วมกัน สู่เป้าหมายที่ต้องการ   กระบวนการนั้นเรียกว่า Developmental Evaluation (DE)   
  4. พัฒนา ชาลาบูรณาการ งานขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษา    นี่คือ “ชาลาขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาของชาติ” (National Platform for Education Equity)  ที่จะต้องบูรณาการงานของทุกสำนักของ กสศ.   และต้องบูรณาการออกไปภายนอก กสศ.    เพื่อทำงานร่วมกับ strategic partners ที่มีเป้าหมายเดียวกัน   เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ “เอื้ออำนาจ” (empower) ผู้ปฏิบัติตัวจริง    เช่นกลไกในพื้นที่    ทั้งนี้ ภายใต้หลักการตามข้อน่าชื่นชมข้อที่ ๑   การทำหน้าที่ “ตัวเร่ง” การเปลี่ยนแปลง     ไม่ใช่ กสศ. เข้าไปทำหน้าที่ “ผู้ปฏิบัติ” เสียเอง    

ข้อเตือนสติที่สำคัญของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานใน กสศ. คือ กสศ. ต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าของเป้าหมายและกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา   

ชาลาขับเคลื่อนนี้ ต้องรวมกิจกรรมสื่อสารสาธารณะ (ย้ำว่า ไม่ใช่สื่อสารองค์กร ไม่ใช่สื่อสารผลงานของ กสศ.) ที่ต้องเน้นสื่อสารอุดมการณ์ กลยุทธ  วิธีการ  และตัวอย่างความสำเร็จเล็กๆ ของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่สามารถขยายใหญ่สร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ได้    ที่ดำเนินการและสร้างสรรค์โดยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่    เพื่อใช้กลไกการสื่อสารกระตุ้น และสร้างความมั่นใจตนเองของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้ทำงานอย่างมีความริเริ่มสร้างสรรค์    ที่เรียกว่าเป็น “ผู้กระทำการ” (agency)    การขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยไม่มีวันสำเร็จหากครูของเราไม่เป็น “ครูผู้ก่อการ” (agentic teacher)   ดังระบุใน gotoknow.org/posts/693353   

  1. Outsource งานธุรการ  เก็บงานยากและสร้างสรรค์ไว้ทำเอง    นี่คือเคล็ดลับของการทำงานแบบ complex-adaptive systems   ที่ผู้ปฏิบัติงานต้อง “ลับ” พลังของ “สัมผัสที่หก” เพื่อการรับรู้ “การผุดบังเกิด” (emergence) ของนวัตกรรม หรือการเรียนรู้ใหม่ ที่โผล่ออกมาในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ    ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำจึงต้อง “คัดเลือก” และฝึก ให้ทำงานสร้างสรรค์ ที่เป็นงานยากและต้องการการเรียนรู้สูง อดทนสูงต่อความไม่ชัดเจน ตามข้อเสนอที่ ๑   และมีระบบมอบหมายงานยากเหล่านั้นให้เจ้าหน้าที่ประจำทำ       กสศ. จึงต้องระวัง ไม่ตกหลุมระบบงานที่เน้นใช้เจ้าหน้าที่ประจำทำงานที่ทำง่าย คืองานเชิงธุรการ   เอางานยาก ที่ต้องใช้ความสามารถสูง มีการเรียนรู้สูง ไปให้บุคคลภายนอกทำ     

 

สามปีแรกของ กสศ. ได้วางพื้นฐานการเป็นองค์กรเรียนรู้ไว้เป็นอย่างดี   ผู้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องจึงถือว่าเป็นคนมีบุญ    ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ จากกิจกรรม และพลวัตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ผมจึงขอแสดงความขอบคุณด้วยข้อสะท้อนคิดเชิงเรียนรู้และเชิงเสนอความเห็น ๑๐ ข้อข้างบน    โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว ผมได้เรียนรู้มากมายกว่า ๑๐ ข้อนี้มาก ดังเล่าแล้วใน https://www.gotoknow.org/posts/tags/ความเสมอภาคทางการศึกษา     โดยขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นข้อเขียนที่เน้นเขียนโดย divergent phase of creative thinking   จึงอาจมีส่วนที่ผิดมากกว่าส่วนที่ถูกต้องเหมาะสม       

.........................................

 

 

หมายเลขบันทึก: 696309เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2022 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2022 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท