ชีวิตที่พอเพียง 4131a. บทสะท้อนคิดในวันครู : คนเราและสรรพสิ่งเป็นครูซึ่งกันและกัน


ชีวิตที่พอเพียง 4131a. บทสะท้อนคิดในวันครู : คนเราและสรรพสิ่งเป็นครูซึ่งกันและกัน

  วันที่ ๑๖ มกราคม เป็นวันครู   ช่วยให้ผมสะท้อนคิดชื่อบันทึกนี้ออกมา

ประเด็นใหญ่คือ เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยความเป็นครู   ว่าครูจะต้องยอมรับและเป็นฝ่ายรุกสร้างสัมพันธภาพใหม่ระหว่างครูกับศิษย์    จากสัมพันธภาพแนวตั้ง หรือ hierarchical relationship   มาเป็นสัมพันธภาพแนวนอน (horizontal relationship)   

ซึ่งหมายความว่า ต่อไปนี้สัมพันธภาพครูกับศิษย์   ไม่ได้อยู่ในฐาน “ผู้รู้” กับ “ผู้ไม่รู้” อีกต่อไป     แต่อยู่ในฐานของ “ผู้เรียนรู้” ด้วยกัน    ซึ่งหมายความว่า ครูที่ดี ไม่ใช่ “ครูสอน” แต่เป็น “ครูเรียน” เรียนรู้วิธีเอื้อให้ศิษย์ได้เรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    ในหลากหลายด้าน ที่เรียกว่า holistic learning   โดยไม่ใช่เน้นรับถ่ายทอดความรู้จากครู    แต่มุ่งเรียนรู้จากการลงมือทำ ตามด้วยการสะท้อนคิด    โดยที่ครูก็เรียนรู้วิธีทำหน้าที่ครูในทำนองเดียวกัน   

ครูเรียนรู้ตามแนวทางดังกล่าว โดยมีพฤติกรรมต่างๆ ของศิษย์ ช่วยเอื้อ

ศิษย์เรียนรู้ตามแนวทางดังกล่าว โดยครูช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้    ออกแบบระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้    และคอยเก็บข้อมูลผลการเรียนรู้ของศิษย์สำหรับเป็น constructive feedback ให้ศิษย์ปรับวิธีเรียนรู้ของตน    และครูเองก็ปรับวิธีทำหน้าที่ครูด้วย    

ครูทำหน้าที่ครูให้แก่ศิษย์    และในขณะเดียวกัน ศิษย์ก็ช่วยทำหน้าที่ครูแก่ครู ด้วย

ผมมีลูกเป็นครู    มีภรรยาเป็นครู   และมีผู้คนที่ผมมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเป็นครูทั้งหมด   โดยที่หลายครั้งปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นเชิงลบ    หรือสร้างความอึดอัดขัดข้องแก่ผม    แต่ลงท้ายผมพยายามใช้เป็นครูทั้งหมด    และในหลายกรณี ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่พอใจผม    ซึ่งผมขอถือโอกาสวันอันเป็นมงคลนี้ ขออโหสิ จาก “ครู” ที่เป็นเพื่อนร่วมกิจกรรมเหล่านั้นด้วย     

จึงขอนำข้อสะท้อนคิดจากชีวิตจริงของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง    มาเผยแพร่เป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชาครูเนื่องในวันครู พ.ศ. ๒๕๖๕   โดยที่ครูของผมคือทุกคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผม ทั้งทางตรงและทางอ้อม    

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ม.ค. ๖๕  วันครู  

หมายเลขบันทึก: 696185เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2022 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2022 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท