ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๒๕. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๒๓) ใช้ PISA for Schools เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผนวกกับเป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการที่เป็นนวัตกรรม


 

บ่ายวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ กสศ. จัดการ ประชุมเพื่อให้ความเห็นทางวิชาการต่อผลการดำเนินงานโครงการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา (PISA for Schools - PFS)    ที่ กสศ. (วสศ.) ร่วมมือกับ โออีซีดี (จ่ายเงินให้บริษัทเอกชนที่ทำงานให้ อีซีดี เป็นผู้ดำเนินการประมวลข้อมูล) และทีมงาน RIPED ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการทดสอบในโรงเรียนที่มีสัดส่วนนักเรียนทุนเสมอภาคสูงจำนวน ๖๖ โรงเรียน   

อ่านรายงานผลแล้วผมสลดใจในความอ่อนด้อยของระบบการศึกษาไทย    และเห็นโอกาสที่จะพลิกฟื้น โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพลิกฟื้น   โดยตั้งคำถามว่า ใน ๖๖ โรงเรียนนี้ มีโรงเรียนใดบ้างที่เอาผลไปดำเนินการและติดต่อขอความร่วมมือจากทีม กสศ.    ให้ทำงานกับโรงเรียนเหล่านี้   เพื่อให้ทีมงานของโรงเรียนคิดวิธีพัฒนานักเรียน  เอามาคุยกับทีมงานของ กสศ. และภาคี    เพื่อวางแนวทางดำเนินการและวัดผล DOE (desired outcome of education) เป็นระยะๆ    ตามแนวทางประเมินของ PISA for Schools    ที่วัดทั้งความรู้ และสมรรถนะ    ทั้งสมรรถนะทั่วไป และสมรรถนะเฉพาะด้าน   

ข้อดีของ PFS คือ มีรายงานผลการทดสอบของนักเรียนแต่ละโรงเรียน     ที่มีทั้งผลการทดสอบสมรรถนะด้านการอ่าน วิทย์ คณิต    และผลการทดสอบสมรรถนะทั่วไป (socio-emotional skills)   รวมทั้งความเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมสำคัญๆ ของครูด้วย (ecosystems ของการเรียนรู้)   เท่ากับแต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมได้รับ feedforward เพื่อการปรับตัว   

การวัดผลเพื่อรู้ หรือเพื่อทำงานวิชาการเฉยๆ เป็นการลงทุนที่ไร้ประโยชน์    จะให้เกิดประโยชน์ต้องทำงานกับโรงเรียน ให้โรงเรียนเป็นผู้กระทำการหรือก่อการ (agency)  ไม่ใช่ผู้รอรับคำสั่งหรือคำแนะนำ    โดยร่วมมือกับต้นสังกัดของโรงเรียนด้วย    เพื่อร่วมกันหาทาง empower โรงเรียน     ให้โรงเรียนมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐาน (bottom-up school transformation)    เคลื่อนมาบรรจบกับการดำเนินการที่ส่วนกลาง ที่เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากยอด (top-down education systems transformation)    โดยผมมองสัดส่วน 70 : 30  หรือ 80 : 20       

ความรู้สำคัญที่สุดสำหรับครูในโรงเรียนที่สมัครใช้เครื่องมือ PISA for Schools (PFS) ในการพัฒนานักเรียน    คือวิธีบูรณาการสมรรถนะจำเพาะเข้ากับความรู้และทักษะเฉพาะวิชา    หรือกล่าวง่ายๆ คือ วิธีสอนวิชาให้ไปถึงการใช้ประโยชน์วิชานั้นๆ ในสถานการณ์จริง    รวมทั้งวิธีประเมินว่านักเรียนได้เรียนรู้ในระดับที่เกิดสมรรถนะเฉพาะด้านนั้นจริง     รวมความแล้ว เป็นการหนุนให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนบรรลุสมรรถนะทั้งสมรรถนะเฉพาะด้าน และสมรรถนะทั่วไป นั่นเอง    เท่ากับเป็นการหนุนการประยุกต์ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนนั่นเอง     

กสศ. ได้เชิญ ดร. สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการ อำนวยการในคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช .... (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ของกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมฟังการนำเสนอผลงานโดยที่มของ โออีซีดี    และให้ข้อแนะนำด้วย    รวมทั้ง รศ. ประภาภัทร นิยม ผู้มีบทบาทผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศอย่างเข้มแข็งก็มาร่วมด้วย

ผมมีความเห็นว่า ควรจัดตั้ง “คณะกรรมการชี้ทิศทางเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาคุณภาพแนว PISA for Schools เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของหลักสูตรฐานสมรรถนะ”    ที่เน้นการ empower โรงเรียนในเครือข่าย    โดยที่โรงเรียนต้องสมัครและได้รับการคัดเลือกตามเงื่อนไขที่กำหนด      

   PFS วัดสมรรถนะของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี    แต่ประเทศไทยต้องการใช้แนวทางของ PSF ในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นมา    หรืออย่างน้อยตั้งแต่ชั้นประถมขึ้นมา    เพราะ “กว่าจะอายุ ๑๕ ก็สายเสียแล้ว”    เราจึงต้องเอาเครื่องมือและวิธีการของ PSF มาเป็นแนวทางพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ให้เกิดสมรรถนะทั้งสองแบบ (สมรรถนะเฉพาะวิชา กับสมรรถนะทั่วไป) ในชั้นประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย    โดยเน้นพัฒนาขึ้นในระดับโรงเรียน  เน้นให้โรงเรียนแกนนำจำนวนหนึ่งร่วมกันพัฒนา  โดยมีกลไกช่วยหนุน              

   เท่ากับเราจะต้องเชื่อมกิจกรรม PFS กับการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะเข้าด้วยกัน    เพื่อสร้างพลังเสริมในการหนุน school transformation ในประเทศไทย 

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ PFS คือ เราได้รับข้อมูลเอามาวิเคราะห์เองได้ด้วย     ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ได้วิเคราะห์พบ “นักเรียนช้างเผือก” (ยากจนแต่เรียนดีมาก) จำนวนหนึ่ง    และพบว่าโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายมีนักเรียนกลุ่มดังกล่าวมากเป็นพิเศษ    นี่คือข้อค้นพบสำหรับวิจัยต่อ ว่าโรงเรียนนั้นมีการดำเนินการอย่างไรบ้างที่มีส่วนหนุนให้เกิดนักเรียนช้างเผือก   และกลุ่มนักเรียนช้างเผือกมีพฤติกรรมแตกต่างจากนักเรียนอื่นๆ อย่างไรบ้าง    สำหรับนำมาใช้ปรับวิธีสนับสนุนที่บ้านและที่โรงเรียน       

 โอกาสใช้ PFS ในการหนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างได้ผลยิ่งขึ้น    รู้แนวทางที่ก่อผลดีต่อนักเรียนได้อย่างแท้จริง  และอย่างเสมอภาค    ยังมีอีกมาก   โดยเราต้องมีวิธีจัดการเพื่อหนุนให้เกิดการริเริ่มกระทำ (ก่อการ) ในระดับโรงเรียน    ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมี Double-Loop Learning    โดยมีการทดสอบนักเรียนด้วยข้อสอบแนว PISA และ PSF ที่เราจัดทำคลังข้อสอบเองในทุกช่วงชั้น   

ย้ำว่า หากจะใช้ PFS อย่างมีผลกระทบสูงต่อการศึกษาไทย    วสศ./กสศ. ร่วมกับภาคี ต้องดำเนินการสร้างคลังข้อสอบแนว PSF ของเราเอง สำหรับครูใช้ในการจัดการเรียนรู้ และการทดสอบแนว AfL  และ AaL    ทั้งที่เป็นคลังข้อสอบของช่วงชั้นที่ ๑  ช่วงชั้นที่ ๒   ช่วงชั้นที่ ๓   และช่วงชั้นที่ ๔   

คุณภูมิ จดรายงานการประชุมส่วนหนึ่งว่า “Gwinnett County รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา – เน้นกำรใช้ PISA for Schools เพื่อสนับสนุนการ พัฒนาครู โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์และพัฒนาต้นแบบในการรายงานผลในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม    นอกจากนี้ ยังใช้ PISA for Schools ในการวัดผลกระทบของมาตรการทาง การศึกษาต่างๆ”    กสศ. จึงควรขอข้อมูลจากโออีซีดี หรือติดต่อ Gwinnett County โดยตรง เพื่อขอเรียนรู้วิธีใช้ข้อมูลของ PFS ไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ    สำหรับนำมาคิดต่อว่า เราจะใช้ PFS เพื่อพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบของเราอย่างไร   

กสศ. โดยสำนักพัฒนาครูและโรงเรียน   ควรรับลูกเอามาดำเนินการให้โรงเรียนในโครงการ TSQP   และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายใช้ PFS เป็นพลังหนุน DLL   โดยรับจำนวนจำกัด    เช่น เครือข่ายช่วงชั้นที่ ๑ จำนวน ๑๐ โรงเรียน   เครือข่ายช่วงชั้นที่ ๑ และ ๒ จำนวน ๑๐ โรงเรียน    เครือข่ายช่วงชั้นที่ ๑, ๒ และ ๓ จำนวน ๑๐ โรงเรียน    และเครือข่ายช่วงชั้นที่ ๓ และ ๔ จำนวน ๑๐ โรงเรียน   มีกลไกการเชื่อมโยงและสนับสนุนการดำเนินการของเครือข่ายสนับสนุนโดยแผนงานพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ร่วมกับ วสศ., OECD, และหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียน           

หาก กสศ. จะดำเนินการตามข้อเสนอนี้ ผมยินดีช่วยตั้งชื่อเครือข่ายนี้ให้เก๋ไก๋           

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ย. ๖๔   ปรับปรุงเพิ่มเติม ๓๐ พ.ย. ๖๔ 

   

หมายเลขบันทึก: 695390เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2022 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2022 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท