ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๑๕. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๒๑) ระบบเกี่ยวกับครู


 

ช่วงบ่ายวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูในพื้นที่ห่างไกล ของ กสศ. และภาคี  ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔   เป็นที่มาของสาระในบันทึกนี้   ที่เสนอว่า ประเทศไทยต้อง transform ระบบเกี่ยวกับครูในหลากหลายด้าน  ได้แก่

  1. ระบบการผลิตครู    ต้องเปลี่ยนจากระบบเปิด เป็นระบบปิด    คือผลิตครูเท่าที่ต้องการเท่านั้น   ไม่ปล่อยให้สถาบันผลิตผลิตตามใจชอบ  เวลานี้ประเทศไทยผลิตครูเกินความต้องการหลายเท่า   และสาขาที่ผลิตก็ไม่ค่อยตรงความต้องการ    รวมทั้งคุณภาพก็แตกต่างกันมาก    สภาพดังกล่าวทำให้เรามีครูที่ด้อยคุณภาพ    ส่งผลให้ระบบการศึกษาคุณภาพต่ำ   รวมทั้งเกิดความสูญเปล่าของทรัพยากรของชาติปีละมากมาย   
  2. ระบบการจัดการทรัพยากรบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ   ในปัจจุบันเน้นการเติบโตหรือก้าวหน้าผ่านย้ายที่ทำงาน    ย้ายจากโรงเรียนเล็กไปโรงเรียนใหญ่  ย้ายจากโรงเรียนห่างไกลไปโรงเรียนในเมือง    ย้ายจากตำแหน่งครูสู่ตำแหน่งบริหาร   การได้ย้ายนี้ส่อความสำเร็จในชีวิตการงานส่วนบุคคล   ทำให้วงการครูและบุคลากรการศึกษาไม่ค่อยเน้นความสำเร็จที่ผลงานที่ตัวเด็ก หรือที่ระบบการศึกษาหรือส่วนรวม  เราต้องช่วยกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่ผลสำเร็จในชีวิตการงานที่วัดจากผลงานที่นักเรียนให้จงได้   
  3. ระบบที่มองครูในฐานะผู้สอน    โดยทำตามที่กำหนดในหลักสูตร   มีผลให้ครูถูกลดทอนความเป็นผู้ก่อการ ตามรายละเอียดในบันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ (๑)   ต้องเปลี่ยนท่าทีต่อครู    ให้ครูได้เป็นผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตร  และร่วมพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา    มีกระบวนทัศน์เกี่ยวกับครูว่า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง   แต่เป็นผู้ร่วมพัฒนากิจการทุกด้านของการศึกษา    อย่างน้อยที่สุดก็ร่วมกันพัฒนากิจการในโรงเรียนของตน    การที่ครูมีความเป็นผู้ก่อการ จะช่วยให้ครูหนุนให้นักเรียนมีความเป็นผู้ก่อการได้ดีขึ้น    ประเทศได้พลเมืองผู้ก่อการ (agentic citizen) ในอนาคต 
  4. เปลี่ยนจากระบบการทำงานแบบโดดเดี่ยวตัวใครตัวมัน    เป็นระบบทำงานเป็นทีม  และเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงาน    ซึ่งจะนำสู่คุณภาพการศึกษา   
  5. เปลี่ยนจากระบบการทำงานแบบแยกส่วนโรงเรียนออกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และชุมชน   เป็นระบบงานที่มีการดึงศักยภาพภายนอกเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ให้การเรียนเชื่อมโยงกับชีวิตจริง (real-world) ให้มากที่สุด    ส่งผลที่การสร้างสมรรถนะด้านต่างๆ ในตัวนักเรียน     
  6. ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ผลงานยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่พิสูจน์แล้วว่ามีการดำเนินการต่อเนื่อง  เกิดผลดีต่อนักเรียนหลายรุ่น    โดยไม่ใช่แค่เน้นที่ผลงาน  แต่เน้นที่วิธีการ และความมุ่งมั่นของทีมงานในโรงเรียน (ทีมครูและผู้บริหาร) ที่ได้เอาชนะอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ   และส่งเสริมให้ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่อง เป็น Double-Loop Learning   รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายโรงเรียนตามแนวทางดังกล่าว     เป็นเครือข่ายที่จริงจังและระยะยาว              

ผมนึกออกเพียงแค่นี้   แต่เชื่อว่า น่าจะยังมีแนวทางเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และวิถีปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ครูได้ปลดปล่อยศักยภาพออกมากระทำการเพื่อศิษย์ เพื่อระบบการศึกษา และเพื่อบ้านเมือง ได้อีกมาก   เช่นบทบาทในการพัฒนาชุมชนโดยรอบโรงเรียน  โดยใช้นักเรียนเป็นพลังร่วมกับผู้นำชุมชน        

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ย. ๖๔ 

 

หมายเลขบันทึก: 694641เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2021 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2021 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท