ปัดฝุ่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น


ปัดฝุ่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น

17 ธันวาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

มิติการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

 

มองในแง่การพัฒนาท้องถิ่น ต้องเป็นเรื่องที่ชาวบ้านได้รับการพัฒนา และชาวบ้านได้ประโยชน์จริง แต่ปัจจุบันและในรอบหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาภาครัฐจะติดขัดระเบียบกฎหมายที่บางหน่วยงานราชการอ้างบังคับใช้แบบ “เลือกปฏิบัติ” และ “ไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมชาวบ้าน”  บางครั้งเป็นอุปสรรคการพัฒนาด้วยซ้ำไป ยิ่งจุดอ่อนการทำงานของราชการไทย คือ การทำงานแบบ “Playsave” ไม่เสี่ยง ไม่กล้าเดินหน้า ไม่เชิงรุก (proactive) แต่เน้นเชิงรับ (reactive) แบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราวไป นอกจากนี้ การทำดีของข้าราชการใช่ว่าจะได้ดี ถ้าทำ “ไม่ถูกใจ” นี่เป็นจุดอ่อนยิ่งของข้าราชการไทย ฉะนั้น โครงการพัฒนาโดยคนภาครัฐโดยแนวคิดของ “เทคโนแครค” หรือ "หัวไอ้เรือง" จึงนับวันยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง ของความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ห่างจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folk Culture) [2]ห่างจากวิถีขนบประเพณีของชาวบ้าน หรือ “Folklore” [3] (ศัพท์สังคมวิทยาว่า คติชนวิทยา) หรือ ห่างไกลจากวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ที่เรียก วิถีประชา (folkways) [4] เพราะวัฒนธรรมในวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวชนบทนั้น มีสิ่งตกทอดทางวัฒนาธรรมจากรุ่นสู่รุ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่า เพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน งานช่างฝีมือชาวบ้าน ฯลฯ เหล่านี้มันหลอมรวมอยู่ในแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน 

จึงเกิดแนวคิด “แนวทางการจัดการท่องเที่ยวโดยใช้คติชนของชุมชน” ขึ้น แต่หากในภาพรวมในหลายๆ อย่างกว้างก็เป็น “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ที่สามารถสร้างสิ่งแปลกใหม่แก่การท่องเที่ยวที่เป็น “นวัตกรรม” ได้ (an innovation for tourism) [5]หลายชาติที่มีประวัติศาสตร์มีวัฒนธรรมจึงร้อยเรียง มีจุดกล่อมเกลา ของแต่ละชาติที่ต่างกันให้มีการ “ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่นไป เพราะ วัฒนธรรมมักมีการปรุงแต่งขึ้น คล้ายกับประวัติศาสตร์ที่อาจถูกบิดเบือน ที่นักประวัติศาสตร์ต้องชำระคดีทางประวัติศาสตร์ให้ได้ว่าความจริงแท้คืออะไร เช่น ไทยรบพม่า แต่พม่าบอกไม่ได้รบไทยมากมายตามที่คนไทยคิด ที่มีนัยยะในกรอบแนวคิดทางวัฒนธรรมที่ในรายละเอียดที่แตกต่างกันคนละขั้ว

          ประวัติศาสตร์พื้นบ้าน เพียงเป็นคำบอกเล่า คำเล่าขาน นิทานปรัมปรา ที่ไม่ได้จารึก แม้จะมีการบันทึกกัน ก็เป็นการบันทึกในรุ่นหลังๆ ส่วนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองล้วนเขียนโดยชนชั้นนำ การสืบทอด ที่หมายถึง วัฒนธรรม (culture) จึงถูกนำโดยผู้นำ ส่วนประวัติพื้นบ้านจะหลงเหลืออยู่บ้างก็โดยเพียงคำบอกเล่า คำเล่าขาน และการประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตจนเป็นประเพณี (Folklore) เช่น ฮีต 12 คลอง 14 ของคนลาวและคนอีสานที่เหมือนกัน เพราะเป็นคนในภูมิภาคเดียวกันที่สืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันมาช้านาน งานประเพณีท้องถิ่นต่างๆ ที่สื่อถึงความเป็นอยู่ แต่หากอิงไปถึงการเมืองการปกครองไปพาดพิงถึง “อำนาจปกครองบ้านเมือง” จึงมักจะถูกตัดออก หรือถูกขัดเกลาเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ฮีต 12 จึงพูดแต่เรื่องการทำบุญในรอบ 12 เดือนเท่านั้น

ประวัติผู้นำผู้ปกครองเมือง จึงมักถูกล้มล้างโดยผู้นำฝ่ายตรงข้าม ผลัดเปลี่ยนกันไป กบฏต่างๆ จึงถูกป้อนข้อมูลให้เป็นฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่ดี ชั่วร้าย มิใช่วีรบุรุษ แต่ประวัติศาสตร์ในความเป็นอยู่ของชาวบ้านนับแต่อดีตมา สามารถนำมาสื่อได้ตลอด ตราบที่ไม่ไปกระทบกับระบบการปกครองบ้านเมือง จึงกล่าวได้ว่า หากจะสื่อสารถึงวัฒนธรรม เช่น “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” จึงหาลุกหนีไปไม่พ้นในวัฒนธรรมที่ถูกปรุงแต่งมาแล้ว กล่าวคือ ในรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงอาจคลาดเคลื่อนกับความจริงที่เป็นจริงได้มากน้อยต่างกันไป เพราะมันเป็นตำนานเล่าขาน ไม่มีหลักฐานยืนยัน แม้บางอย่างอาจมีหลักฐานยืนยัน เช่น สถูป เจดีย์ วัดโบราณ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์โบราณ ก็ยังคลาดเคลื่อนที่นักประวัติศาสตร์ต้องชำระ 

ฝ่ายศาสนา ก็ถูกนำด้วยการปกครอง เรียก อาณาจักร ไม่สามารถนำธรรมวินัยมาปกครองโดยตรงได้

แต่ใช้กฎหมายบ้านเมืองไปปกครองศาสนา ที่ฝ่ายปกครองบ้านเมืองตามคติความเชื่อแบบ “เทวราชา” (Devine Right) ที่ถือว่า กษัตริย์หรือผู้ปกครองบ้านเมืองคือ “สมมุติเทพ” ปกครองบ้านเมืองด้วยหลัก “กฎหมายมนู” หรือ “พระธรรมศาสตร์” (Dharmasastras) หรือ “พระมนูศาสตร์” (The Laws of Manu) [6] ที่รับมาจากชาวฮินดู (อินเดีย) และไทยรับต่อมาจากขอม (ชนชั้นปกครองเขมรโบราณ) มาช้านานตามความเชื่อ โดยเฉพาะที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ยศช้าง ขุนนางพระ จึงมีอยู่ 

วัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และในอีกหลายจังหวัดถือว่าเข้มแข็ง ที่มีการสืบทอดต่อกันมายาวนาน ส่วนอำนาจภาครัฐก็เข้ามาส่งเสริม ชี้นำ ประเพณีพื้นถิ่นเหล่านี้ โดยเฉพาะในแง่ของเงินงบประมาณ ที่นอกเหนือจากการปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมพื้นถิ่นเช่น การละเล่น ดนตรี การแสดงศิลปินพื้นบ้านต่างๆ ที่พัฒนาไปถึง “รถแห่” ดนตรีพื้นบ้าน เป็นวัฒนธรรมที่ได้กระจายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านถึงลาว เขมร พม่า ที่ต่อไปอาจไปได้ถึงยุโรป อเมริกา ตามคนพื้นถิ่นที่อพยพไปอาศัยอยู่กระจายไปสู่ต่างชาติ เหมือนดังเช่น คนจีนมีประเพณีแห่สิงโต กินเจ ไปทั่วโลกที่มีคนจีนอยู่ เป็นต้น ปัจจุบันพบว่า การทำเครื่องเสียงประกอบรถแห่ของไทย ได้เป็นสินค้าส่งออกไปแล้ว แม้แต่จีนก็ยังมาลอกเลียนแบบไป

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี อาหาร พื้นบ้าน การสาธารณสุข ยาสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นภูมิปัญญา เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน อย่างน้อยก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น 

          มีข้อสังเกตว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ปรุงแต่งน้อย ตรงนี้ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) จะชอบ เพราะมันธรรมชาติ บริสุทธิ์ เป็นแบบพื้นบ้านจริงๆ เพราะเขาต้องการมาเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเอเซียที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเขา โดยเฉพาะในช่วงหนีหนาวของชาวตะวันตก ชาวสแกนดิเนเวีย รัสเซีย ยุโรป อเมริกา จะแห่กันมาท่องเที่ยวประเทศเขตร้อนแถบเอเชียที่มีภูมิทัศน์ที่โรแมนติก อุดมงดงามตามธรรมชาติ จุดขายด้านวัฒนธรรมของไทยก็ใช่ย่อย ยังไม่ตกยุคเป็นที่นิยมชมชอบของชาวตะวันตกมาก ไม่แพ้ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย

วัฒนธรรมที่ถูกซ้อนทับกันเป็นทอดๆ คล้ายกันกับการบริหารที่ซ้อนทับกันอยู่ ทำให้วัฒนธรรมมีการปรุงแต่ง ทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเองไปได้ เช่น หมอลำก็ใช้เครื่องดนตรีคีย์บอร์ด กีตาร์ มาประกอบแคน พิณ (ซึง) เป็นต้น หรือ อย่างบั้งไฟ ปัจจุบันก็ใช้ท่อพีวีซี ที่มีความแข็งแก่งกว่าไม้ไผ่ตามธรรมชาติ ตามให้บรรจุดินดำได้มากกว่าปกติ จึงจุดบั้งไฟได้สูงกว่าอดีต หรือที่ซ้ำร้าย มีว่า ใช้ทีเอนทีผสมในดินดำเพื่อให้มีความแรง เสียงดังมากขึ้น เช่นใส่ในปะทัด หรือใส่ในตะไลเพื่อให้จุดได้แรงได้สูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

ปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศไทย

 

แม้ว่าจุดเด่น จุดขายทางวัฒนธรรม ที่เป็นภูมิ(ปูม)หลัง "กำพืด" หน่อแนว แต่การระบาดของโควิดถือเป็นการ Set zero ภาคการท่องเที่ยว เพราะโลกหลังโควิด (pandemic) การท่องเที่ยวไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มองที่มิติตัวปัญหาชุมชนและท้องถิ่น (Community and Locality) ที่พบว่าปัญหาที่มีมาแต่เดิมก็คือ ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมเกิด “โอเวอร์ทัวริซึ่ม” หรือมีนักท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมา มีผู้กล่าวว่าหากไม่รีบแก้ไขก็จะเกิด “หายนะในแบบช้าๆ” (Disaster in Slow Motion) [7] คล้ายกับ “ทฤษฎีกบต้ม” เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีขนาดใหญ่ครอบคลุมเกี่ยวข้องหลายส่วน ทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การท่องเที่ยวหยุดชะงักที่ไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการ แต่ยังมีแรงงานในภาคท่องเที่ยวอีกจำนวนมากด้วย 

 

เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยมีมากเพียงใด

 

ไทยมีจุดขายในเศรษฐกิจการท่องเที่ยว (Visitor Economy & Tourism Industry) เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของ GDP ในแต่ละปีที่สูง มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในเชิงมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงาน 

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ข้อมูลปี 2553 การท่องเที่ยวไทยมีแค่ 6-8% ของ GDP ปี 2561, 2562, 2563 เติบโตขึ้นเป็นสัดส่วน ถึง 12%, 20% และ 21% ของ GDP ตามลำดับ [8] 

          ปี 2562[9] ภาคการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้มูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท หรือเป็นสัดส่วน 20% ต่อ GDP ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติรายได้ราว 2 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยภายในประเทศมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 จากยอดนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.7 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมามีนักท่องเที่ยวถึงปีละ 11 ล้านคน ในรอบ 5 ปี (2015 - 2020) [10] มีจำนวนถึง 183 ล้านคน (เฉลี่ยปีละ 30.5 ล้านคน) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากถึง 10.99 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่หลังจากเกิดโควิดไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนเพราะปิดประเทศ ส่งผลให้ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเที่ยวในประเทศราว 95-100 ล้านคน-ครั้ง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวหดตัวเหลือแค่ 7.5 แสนล้าน หรือลดลงราว 70-80% 

ปัจจุบัน (2563) [11] รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนถึง 2/3 ของรายได้ทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศประมาณ 4 ล้านคน

ปี 2565 [12] มีเป้าหมายรุกตลาดต่างชาติที่มีความเฉพาะมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอย่างเช่นกลุ่มที่รักสุขภาพ กลุ่มที่มารักษาตัว กลุ่มแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ขยับค่าใช้จ่ายต่อคนต่อการเดินทางจาก 47,000 บาทเป็น 62,000 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำรายได้ใกล้เคียงกับปี 2562 แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง

 

ความหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (cultural based tourism)

 

การท่องเที่ยว (Tourism) มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” เพราะ ไทยมีมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) [13] จำนวนมาก เช่น ปราสาท พระราชวัง วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิต เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมายาวนานเนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งอารยธรรมที่รุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีต ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ภูมิสังคมที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่

เป็นคำที่เกิดขึ้นจากการประชุมสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites: ICOMOS) ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ค.ศ.1969[14] สรุปความหมายคือ[15] การเที่ยวชมสถานที่วัฒนธรรมชุมชน เพื่อศึกษาหาความรู้ในพื้นที่หรือในบริเวณที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของคนในชุมชน มีการบอกเล่าเรื่องราวของสังคมผ่านองค์ความรู้ต่างๆ และสามารถถ่ายทอดให้เราได้เห็นคุณค่าของประวัติ ความเป็นมา การดำเนินชีวิต หรือสภาพแวดล้อมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นแง่เศรษฐกิจ สังคม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) กระแสแนวคิดวัฒนธรรมข้ามชาติได้เริ่มทยอยเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นระดับภูมิภาคต้องปรับเปลี่ยนสู่ความทันสมัย เกิดกระแสการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (Cultural Assimilation) [16] ที่ต้องพัฒนาตามแนวทาง “วิถีถิ่น วิถีไทย” [17]

สรุปรูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (cultural based tourism) ประกอบด้วย[18] การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (historical tourism) การท่องเที่ยวงานชมวัฒนธรรมและประเพณี (cultural and traditional tourism) การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท (rural/village tourism) นอกจากนี้ยังรวมถึง วิถีชีวิต เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน เทศกาลท้องถิ่น เทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้เฉพาะท้องที่นั้น

 

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

 

ขอประมวลนับแต่ปี 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้เผยแพร่และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมานานแล้ว ที่สำคัญรวม 9 ชุมชน[19] ได้แก่ (1) ชุมชนบ้านผาบ่อง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน (2) ชุมชนเมืองลับแล ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (3) ชุมชนบ้านดอนข่า ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น (4) ชุมชนญัอกุร ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ (5) ชุมชนไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี (6) ชุมชนเกาะพิทักษ์ ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร (7) ชุมชนเขาอ้อ สำนักตักศิลาเขาอ้อ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขุน จังหวัดพัทลุง (8) ชุมชนบ้านท่าหิน ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (9) ชุมชนบ้านบ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

          เวบกปุก (2561) [20] แนะนำเชิญชวนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 14 ชุมชน ความสุขอยู่ใกล้แค่เอื้อม เที่ยวไปทั่วไทย ได้แก่  (1) ชุมชนไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน จังหวัดพะเยา (2) ชุมชนบ้านลาวเวียง จังหวัดอุตรดิตถ์ (3) ชุมชนวัดศรีฐานปิยาราม จังหวัดเพชรบูรณ์ (4) ชุมชนนาถ่อน จังหวัดนครพนม (5) ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี (6) ชุมชนบ้านยวน นครจันทึก จังหวัดนครราชสีมา (7) ชุมชนย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ (8) ชุมชนบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดสุพรรณบุรี (9) ย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (10) ชุมชนหัวบ้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (11) ชุมชนตลาดบางหลวง ร.ศ.122 จังหวัดนครปฐม (12) ชุมชนไทยพวน จังหวัดนครนายก (13) ชุมชนตลาดใหญ่ จังหวัดพังงา (14) ชุมชนนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง

ShopBack Blog (2563) [21] แนะนำเชิญชวนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 10 สถานที่เที่ยวสนุก อบอุ่นหัวใจ แถมไปได้ทุกฤดูได้เรียนรู้วิถีชุมชน ได้แก่ (1) สยามนิรมิต กรุงเทพมหานคร (2) บ้านป่าแป๋ จ.แม่ฮ่องสอน (3) ชุมชนไทลื้อเมืองมาง เมืองหย่วน จ.พะเยา (4) บ้านลาวเวียง จ.อุตรดิตถ์ (5) บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ (6) ชุมชนอ่าวคราม  จ.ชุมพร (7) บ้านเกาะกลาง จ.กระบี่ (8) ชุมชนวัดศรีฐานปิยาราม จ.เพชรบูรณ์ (9) ชุมชนนาถ่อน จ.นครพนม (10) บ้านยวน นครจันทึก จ.นครราชสีมา

 

          ที่จริงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยมีมากมายที่รอการเจียระไนแต่งองค์ทรงเครื่อง ที่รัฐต้องนำหน้าส่งเสริมจะปล่อยให้ชุมชนหรือเอกชนริเริ่มดำเนินการเองจะไม่เติบโต โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่น่าดึงดูด เช่น ตามประเพณีฮีต 12 แม้ว่าจะมีโครงการชุมชน “นวัตวิถี” โดยกรมการพัฒนาชุมชนก็ตาม แต่ยังมิใช่แนวทางที่การท่องเที่ยวท้องถิ่นควรจะเป็น มีข้อเสนออื่น เช่น การท่องเที่ยวแบบ "พอเพียง" ก่อนฤดูหนาว บ้านรุ่งอรุณ จีนยูนนาน จ.แม่ฮ่องสอน [22] เป็นต้น หวังว่ารัฐต้องจริงจังกับเรื่องนี้เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 17 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/306523   

[2]วัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folk Culture)หมายถึงการแสดงออกของวิถีชีวิตชาวบ้านและคนท้องถิ่นซึ่งยึดถือในพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีและอยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง เช่น ชุมชนชาวนาที่ยังชีพแบบเรียบง่าย แต่เดิม แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านใช้อธิบายลักษณะ คุณค่า และโครงสร้างสังคมที่มีอยู่ในชุมชนชนบท นักมานุษยวิทยาและนักคติชนวิทยาในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 19และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อธิบายว่า “คนพื้นบ้าน” หมายถึงชาวนาหรือชนชั้นแรงงานที่ยึดในจารีตประเพณี เป็นพวกที่อยู่ตรงข้ามกับชนชั้นนำในเมืองที่มีหัวก้าวหน้า การศึกษาเรื่องคนพื้นบ้านได้แก่ เรื่อง Folk-Ways ของวิลเลียม ซัมเมอร์ และ Golden Bough ของเจมส์ เฟรเซอร์

ดู คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา (Anthropology Concepts), โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/159 

[3]คติชาวบ้าน (Folklore)หมายถึง แบบแผนการแสดงออกทางความคิดความเชื่อของชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น ดนตรี ตำนาน ความเชื่อ สุภาษิต คำพังเพย คติพจน์ นิทาน เรื่องเล่า เป็นต้น คำว่า Folklore เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1846 โดย วิลเลียม โธมัส หมายถึง นิยายของชาวบ้าน โดยทั่วไปคติชาวบ้านจะใช้การแสดงออกทางภาษาซึ่งแฝงด้วยความเชื่อทางศาสนา มีการเล่าแบบปากต่อปากจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ชาร์ด วีส อธิบายว่า folk หมายถึงทัศนคติ ความคิด สำนึกทางจิตใจที่เป็นของส่วนรวม และเป็นไปตามจารีตประเพณี

ดู คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา (Anthropology Concepts), โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, อ้างแล้ว

[4]วิถีประชา หรือ วิถีชาวบ้าน (Folkways)หมายถึง แนวทางการปฏิบัติของบุคคลในสังคม ซึ่งปฏิบัติตามความเคยชิน และเป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น การลุกให้คนชรานั่งในรถประจำทาง วิถีประชา ยังหมายถึง มารยาททางสังคม งานพิธีต่าง ๆ ตามสมัยนิยม เช่น การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เป็นต้น ผู้ที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะได้รับการติเตียน เยาะเย้ยถากถาง หรือการนินทาจากผู้อื่นทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตาม

ในทางสังคมวิทยา จารีต (Mores) และ วิถีประชา (Folkways) เป็นบรรทัดฐานอย่างไม่เป็นทางการของสังคม ซึ่ง Mores มาจาก ศีลธรรม "Morality" กลายเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่เรียกว่า จารีตประเพณี 

วิถีประชา (Folkways)เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่คนยอมรับนับถือจนเกิดความเคยชิน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของบุคคลในสังคม ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความดีความชั่วดังเช่นจารีต บ้างจึงเรียกวิถีประชาเรียกว่า "วิถีชาวบ้าน" เช่น การยกมือไหว้ หรือการสวมชุดดำในงานศพ โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานทางพฤติกรรม ไม่มีการบังคับควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อมีการละเมิดผู้ละเมิดก็เพียงได้รับคำติฉินนินทา : วิกิพีเดีย

[5]Tourism Innovation หรือ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว” (Traveltech Innovation) เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจเป้าหมาย ภายใต้โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้าที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  (องค์การมหาชน) (NIA)ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นธุรกิจภาคบริการที่ขยายตัวสูงและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2561 ที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลักในการจัดการการท่องเที่ยว สำหรับปี 2562 เน้นการส่งเสริมและยกระดับการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) ศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) เรียนรู้วิถีเกษตรกรรม และการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health/Wellness Tourism) เยี่ยมชมสถานที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ

ดู เอ็นไอเอดัน‘ทราเวลเทค’ ผสานท่องเที่ยว-นวัตกรรม โดย สาลินีย์ ทับพิลา, 1 มีนาคม 2562, https://www.bangkokbiznews.com/tech/828393

[6]“พระธรรมศาสตร์” หรือ “มนูธรรมศาสตร์” ถือเป็นคัมภีร์กฎหมายเก่าแก่ของอินเดียโบราณ ตามแนวคิดของฮินดู “พระมนู” เชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างมนุษยชาติ “มนูธรรมศาสตร์”  เป็นชื่อกฎหมายฉบับหนึ่งของฮินดู ซึ่งเชื่อกันว่าเทพเจ้าที่มีบาปว่า มนู เป็นผู้แต่งเรียกว่ามนูสัมฤติ มีมานับพันปี จนสืบสาวหาเค้าเงื่อนที่แท้จริงไม่ได้ เป็นกฎหมายที่แสดงหลักความยุติธรรม ที่มีชื่อเสียงที่สุด ในบรรดาประมวลกฎหมายฮินดูที่เรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ และเป็นกฎหมายที่เป็นแบบอย่างของกฎหมายโบราณ ทั้งหลายในแหลมอินโดจีน ตลอดถึงอินโดนีเชีย แต่งขึ้นหลังพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ.350  เป็นตำรากฎหมายที่สืบเนื่องมาจาก ตำรากฎหมายอื่นหลายฉบับที่มีมาก่อน 

ดู เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย, พระมนู, https://www.baanjomyut.com/library/knowledge_of_encyclopedias/584.html

[7]“พิชัย” ห่วง บิ๊กตู่ ทำปท. เสียหายอย่างช้าๆ ชี้แม้ทุนสำรองมาก แต่ไร้แนวทางพัฒนา ทำเสียผู้นำอาเซียน, ข่าวมติชน, 9 ธันวาคม 2564, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3079852 

[8]การท่องเที่ยวไทย แค่ 6% ของ GDP เท่านั้นจริงหรือ โดย พรเทพ ชูพันธุ์, ใน SCB : The Siam Commercial Bank Public Company Limited, 4 สิงหาคม 2553, https://www.scbeic.com/th/detail/product/355 

[9]“ท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” คุยเรื่องท่องเที่ยวไทยในโลกหลังโควิดกับ ผู้ว่า ททท. สัมภาษณ์พิเศษ Sirarom Writer, workpointtoday, 14 มกราคม 2564,  https://workpointtoday-com.translate.goog/tat-interview-tourism-future/?_x_tr_sl=th&_x_tr_tl=en&_x_tr_hl=en&_x_tr_pto=sc

[10]จำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล : สพร.(องค์การมหาชน)ปี 2015-2020, https://data.go.th/blog/tourism-2015-2020 

[11]การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในสภาวะไร้นักท่องเที่ยว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง?, UNESCO Bangkok, 8 กันยายน 2563, https://bangkok.unesco.org/content/th/cultural-tourism-without-tourists-beyond-business-usual 

[12]“ท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” คุยเรื่องท่องเที่ยวไทยในโลกหลังโควิดกับ ผู้ว่า ททท. สัมภาษณ์พิเศษ Sirarom Writer, workpointtoday, 14 มกราคม 2564, อ้างแล้ว

[13]มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage)ของมวลมนุษยชาติ ตามนิยามของยูเนสโก (UNESCO) ที่ได้ทำอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (วิกิพีเดีย, 2546) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 

(1) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Knowledge) หมายถึง สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ทางกายภาพ ครอบคลุมมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุเคลื่อนที่ได้ และวัตถุเคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน กับ 

(2) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) หมายถึง ความรู้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือแนวปฏิบัติทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นสากลและเป็นของท้องถิ่น ซึ่งถูกสร้างขึ้นและถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใด ผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้โดยกระบวนการสั่งสมความรู้และการประยุกต์ใช้ เช่น “นวดไทย” NUAD THAI (ปี 2562) “โขนไทย (Khon, masked dance drama in Thailand) (ปี 2561) 

ดู ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “นวดไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมฯ ของมนุษยชาติ ต่อจาก “โขน” ในประเทศ, workpointTODAY, 13 ธันวาคม 2562, https://workpointtoday.com/unesco-nuadthai/

[14]การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน (Cultural Tourism Management According to the Way of Life of People in the Community) โดย เสกสรรค์ สนวา สุพัฒนา ศรีบุตรดี, พงศ์สวัสดิ์ ราชจันทร์ และนภัสภรณ์ ภูวตานนท์ ณ มหาสารคาม Received : February 28, 2020; Revised : April 9, 2020; Accepted : April 12, 2020, ใน วารสารการบริหารการปกครองและนวัตกรรมท้องถิ่น : ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (2563) : มกราคม-เมษายน (JOURNAL OF LOCAL GOVERNANCE AND INNOVATION : Vol. 4 No. 1 (2020) : JANUARY-APRIL), https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JLGISRRU/article/download/240196/164313/

[15]การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่กว้างไกล จากการมีประสบการณ์ในแหล่งวัฒนธรรมที่คงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น : วิกิพีเดีย

ดู 10 สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เที่ยวสนุก อบอุ่นหัวใจ แถมได้เรียนรู้วิถีชุมชน, ShopBack Blog TH Team, 24 กันยายน 2563, https://www.shopback.co.th/blog/tr-th-เที่ยวเชิงวัฒนธรรม/

[16]การกลืนกลายทางวัฒนธรรม หรือ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม (Cultural assimilation) คือการโต้ตอบทางการเมืองต่อสถานการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ที่เป็นนโยบายในการส่งเสริมการกลืนชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนหมู่มาก การผสานทางวัฒนธรรมเป็นปรัชญาที่ตรงกันข้ามกับปรัชญาของการยอมรับความแตกต่าง คำว่า "การกลืนกลาย" หรือ "assimilation" มักจะเป็นคำที่ใช้กับชนอพยพ เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ : วิกิพีเดีย

ดู การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน (Cultural Tourism Management According to the Way of Life of People in the Community) โดย เสกสรรค์ สนวา กับพวก, 2563, อ้างแล้ว

[17]เกิด “ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หรือ Cultural Tourism Communities (CTC)หรือ ”วัฒนธรรม” เชิง “การท่องเที่ยว” ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2558

ดู 10 ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปี 2559 (Cultural Tourism Communities (CTC) 2016) เอกสารลำดับที่ 1/2560 จัดพิมพ์โดย กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายท้องถิ่นและชุมชน กองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม พฤษภาคม 2560 พิมพ์ที่ สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, http://www.poochaosamingprai.go.th/attachments/article/2052/10%20ชุมชน%20ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม%20ปี%202559.pdf

[18]โครงสร้างของระบบการท่องเที่ยว (Structure of tourism system) โดย วารัชต์ มัธยมบุรุษ สาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพะเยา, 10 เมษายน 2560, https://www-gotoknow-org.translate.goog/posts/627366?_x_tr_sl=th&_x_tr_tl=en&_x_tr_hl=th&_x_tr_pto=op,sc

[19]ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2559, https://www.m-culture.go.th/mculture_th60/ebook/B0313/#p=1

[20]ความสุขอยู่ใกล้แค่เอื้อม เที่ยวไปทั่วไทย กับ 14 ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, เวบกปุก, 26 กันยายน 2561, https://travel.kapook.com/view199234.html 

[21]10 สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เที่ยวสนุก อบอุ่นหัวใจ แถมได้เรียนรู้วิถีชุมชน, ShopBack Blog TH Team, 24 กันยายน 2563, อ้างแล้ว

[22]การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวแบบ “พอเพียง” โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร, ใน GotoKnow, 

https://www.gotoknow.org/posts/53979



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท