Centralization รัฐราชการรวมศูนย์ขนานแท้


Centralization รัฐราชการรวมศูนย์ขนานแท้

10 ธันวาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

การเติบโตของรัฐราชการ

มาดูข้อมูลปัญหาการเติบโตของจำนวนข้าราชการไทยเป็นปัญหามากต่อ “การวางแผนกำลังคนในภาคราชการไทยฝ่ายพลเรือน” ที่แม้ไม่รวมถึงข้าราชการทหาร ที่มีกำลังพลประจำการสูงเป็นอันดับ 9 ของทวีปเอเชียและโอเชียเนีย[2] ที่ 360,850 นาย แบ่งเป็นกองทัพบก 245,000 นาย กองทัพเรือ 69,850 นาย กองทัพอากาศ 46,000 กองทหารรักษาพระองค์ 87 หน่วย และกองกำลังกึ่งทหาร ทั้ง ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจน้ำ อาสาสมัคร กองบินตำรวจ ตำรวจท้องที่ และทหารพราน รวมแล้วกว่าอีก 93,700 นาย ฉะนั้น ปี 2563 งบทหารไทยจึงสูงอันดับ 27 ของโลก และมีกำลังพลมากอันดับ 9 ของเอเชีย 

ข้อมูลสำนักงาน ก.พ. (2563) [3] พบว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกำลังคน ทั้งหมดประมาณ 2.3 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.04 ต่อปี สำหรับจำนวนข้าราชการมีประมาณ 1.3 ล้านคนและข้าราชการพลเรือนประมาณ 390,000 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีมากถึงร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลต้องการลดให้น้อยลง มีจำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่น 7,855 แห่ง 73,108 คน ครู 27,100 คน ลูกจ้างพนักงานจ้าง 62,108 คน รวม 162,216 คน[4]จากข้อมูลจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ “รัฐราชการ” ที่มีกำลังพลมากมาย

 

ในวังวนรัฐราชการมีเทคโนแครตผู้วาดฝัน

แนวความคิดของผู้รู้เทคโนแครต แบบ “คนรัฐราชการผู้ชอบวาดฝันบรรเจิด” แต่ผลลัพธ์ ผลการประเมิน ไม่บรรเจิดได้ตามที่วาดไว้ เช่นสอบตกตัวเลข จึงตกแต่งตัวเลขข้อมูลขึ้นใหม่ ที่แตกต่างจากตัวเงินงบประมาณที่ใช้จริง ใช้ “วาทกรรม” คำบรรยายด้วยภาษาที่เข้าใจยาก เลี่ยงบาลี อุปมาสวยแต่จบไม่สวยดัง ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา เป็นวัฒนธรรมทางการบริหารที่ลงไปถึงท้องถิ่น ทำให้คน อปท.หลงในวาทกรรมนั้นและลอกตาม ทำตาม แต่กลับถูกดัดหลัง จากหน่วยตรวจสอบ หลังหักว่าทุจริต ประปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยระเบียบ ฝ่าฝืน จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำโดนถ้วนหน้าหลายราย การทำงานตามคำสั่ง ตามหนังสือสั่งการ ตามหนังสือแจงแนวทาง จึงไม่ปลอดภัยใน อปท.ยุคนี้ หน่วยราชการที่ใช้งบประมาณแบบล่ำซำ งบสูง ละเลง แต่ไม่ตรวจสอบ อย่างนี้จะให้เรียกว่าอย่างไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ หากมองย้อนไปเรื่อยๆ มันจะไปสะดุดอยู่ที่ “ประเด็นรัฐราชการรวมศูนย์” เพราะในระยะหลังๆ รอบ 7 ปีที่ผ่านมามีนักวิชาการนักคิด นักการเมืองฝ่ายค้านพูดถึงบ่อย แม้ก่อนหน้านั้นก็มีความพยายามนำเสนอประเด็น “การกระจายอำนาจ” การแก้ไขปัญหาประชาธิปไตย หรือ ในนัยยะความหมายตรงกันข้ามก็คือ การต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการรวบอำนาจโดยส่วนกลาง 

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เสนอหลักการพื้นฐานสำคัญ 2 ด้านของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค คือ[5] (1) กระจายอำนาจบริหารจัดการจากรัฐบาลไปสู่ท้องถิ่น และ (2) กระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม อันจะเป็นหลักประกันทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติว่าอำนาจจะ “กระจาย” ไปถึงประชาชนจริงๆ ไม่ “กระจุก” อยู่แต่กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐส่วนกลาง เพราะ “ความเหลื่อมล้ำ” [6] หรือคำศัพท์เบื้องต้นว่า “ความไม่เท่าเทียมกัน” (inequality) [7] ในความสัมพันธ์ทางอำนาจนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศไทย และเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอื่นๆ อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งจะโยงมาถึงคำว่า “ความเสมอภาค” (Equality) และคำว่า “ความเที่ยงธรรม” หรือ “ความเท่าเทียมที่มีความเป็นธรรม” (Equity) ที่หายาก ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบราชการรวมศูนย์ไทย

 

ความยุติธรรมความเท่าเทียมไม่มีจริงเป็นเพียงลมปาก

เวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง การเพิ่มอำนาจท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นธรรม (2555) [8] เปิดประเด็นสารัตถะสำคัญ ในความอยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ(สุดขั้ว) และไม่เสมอภาค โดยเฉพาะกลุ่มยากจน ชายขอบของการพัฒนาและการบริหารจัดการทางการเมืองแบบรวมศูนย์ เพื่อ “ความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคในระดับท้องถิ่น” อย่างน้อยที่สุดในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรการเมือง เพื่อให้พ้นวังวนซ้ำซากของการ “เลือกตั้ง-รัฐประหาร” ที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมืองใหม่

แต่ด้วยอำนาจตำรวจ (Policing Power) ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ ประกอบกับกลไกระงับไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแตกแยกขัดแย้งผลประโยชน์ที่ต่างกันในระดับพื้นที่ซึ่งความขัดแย้งในระดับพื้นที่อาจปะทุเป็นความแตกแยกระดับชาติ เชื่อว่าหากลดความขัดแย้งในพื้นที่ลงการแข่งขันการเมืองระดับชาติย่อมลดความรุนแรงลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเสมอภาคภาคถือว่าเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ความเท่าเทียมระหว่างคนจนคนรวย การเข้าถึงโอกาสยังเข้ายากเอื้อมไม่ถึง เพราะมีสองมาตรฐาน (Double Standard) ในความเสมอภาคที่ไม่เสมอภาค (Unequal Equality) ในสังคมไทยที่เอื้อชนชั้นนำ(Elites)

 

ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบไม่มี ประชาธิปไตยครึ่งใบยังอยู่

หลังรัฐธรรมนูญปี 2521 ต้นกำเนิด “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” (Semi democracy) [9] ขนานแท้และดั้งเดิม” ในช่วงปี 2521-2530 ที่มอบอำนาจอธิปไตยให้แก่นักการเมืองกับข้าราชการ (ข้าราชการในที่นี้หมายรวมทหารด้วย) มีระบอบการปกครองมีลักษณะทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการปนกัน ซึ่งตอกย้ำด้วยประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย 2 เมื่อหลังรัฐประหารปี 2535 ที่ส่งผลคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจมานานนับสิบปีถึงปัจจุบัน โดยอ้างรัฐธรรมนูญและมี ส.ว.250 คนเป็น “พรรค” ใหญ่ที่สุดในสภาเป็นกลไกสำคัญ 

ข้ออ้างว่า กลไกปกติในรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” เพราะประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศชาติได้ และอ้างรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จากรายงานวิชาการ (2559) [10] ว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบได้สร้าง “ค่านิยมแบบศักดินา” ขึ้น ทำให้ระบบรัฐราชการมีความเข็มแข็งและสร้างเครือข่ายกับตัวแสดงนอกระบบราชการ ส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ไม่ก้าวหน้า เพราะเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง จะไม่ยอมใช้กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหา แต่กลับยอมรับให้อำนาจรัฐราชการและเครือข่ายเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศชาติ 

ข้ออ้างประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ (true democracy)[11]จะไม่มีในโลกเป็นเหตุผลในการสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมเผด็จการจำแลง ที่อีกฝ่ายล้อว่าเป็น “ศักดินาฟาสซิสต์” [12]หรือขวาสุดขั้ว แม้ว่าทรัมป์ก็เป็นพวกขวา เช่นกันฝั่งสังคมนิยม จีนเป็นคอมมิวนิสต์แปลง เหมารวมอำนาจ เติ้งเสี่ยวผิงแปลงอำนาจใหม่มาเป็นการตลาด เช่นเดียวกับ กอบาชอฟ รัสเซียเปลี่ยนลัทธิมาร์ก ที่เลนินใช้ให้เป็นระบบเสรีขึ้น ฉะนั้นจึงไม่มีประเทศใดที่เผด็จการสุดๆ คอมมิวนิสต์สุดๆ แล้วเจริญก้าวหน้า คิวบาก็เปลี่ยน เหลือเพียงเกาหลีเหนือที่แทบไม่เปลี่ยน

 

อำนาจนิยมอุปสรรคที่ขวางกั้นประชาธิปไตยไทย

มีสำนวนปรากฏการปัญหา “งูกินหาง” หรือเรื่องราวที่เป็นปัญหา หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองหรือผู้อื่นเกี่ยวโยงพันกันไปมาไม่รู้จบไม่สิ้น เกิดปัญหาอย่างหนึ่งก็มีปัญหาอีกอย่างวนตามมา เหมือนงูกินหางตัวเอง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น[13] ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่แก้ไขยากมาก ปัญหาทุจริตคอรัปชันในประเทศต่างๆ ยากจะแก้ไข ปัญหาการติดหนี้ ติดการพนัน สำนวนอเมริกันเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Catch – 22” [14] (แคทช ทะเวนตี้ ทู) ที่หมายถึง เหตุการณ์ที่เมื่อสิ่งหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นผลต่อเนื่องกัน คำนี้ความหมายคล้ายคำว่า no-win situation เป็นสถานการณ์ซึ่งมีความขัดแย้งกันจนหาคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบที่ดีได้เนื่องจากปัจจัยของคำตอบเกี่ยวพันกัน เหมือน “ไก่” กับ “ไข่” ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ที่หมักหมมทับถมพอกพูนจนถึงวิกฤตทางตัน (Impasse) หรือ สถานการณ์อับจน ไม่มีทางออกได้

จากข้อมูลรายงาน(2554) [15] พบคุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้สังคมขาดพลัง 4 ประการคือ (1) การเป็นรัฐอุปถัมภ์ รัฐรวมศูนย์ผูกขาดอธิปัตย์ คือ การผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (2) การศึกษา ก็ถูกออกแบบและกำกับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองนั่นเอง (3) สื่อสารมวลชน เพราะครูที่สำคัญที่สุดของเยาวชนด้านวัฒนธรรมการเมือง คือนักการเมืองและผู้นำทางการเมือง รองลงมาคือ สื่อสารมวลชน ที่ล้วนมีผลต่อการจดจำและเอาเป็นตัวอย่างได้ง่าย (4) สถาบันครอบครัว ถูกจำกัดทั้งการมีทัศนคติแบบอุปถัมภ์ การไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ระบบการเลี้ยงดูในครอบครัวก็ได้รับอิทธิพลนี้ไปด้วย

สังคมรากหญ้าชาวบ้านถูกครอบงำ ถูกรวบอำนาจผูกขาดชีวิตโดยกลุ่มทุน ทำให้มีหนี้สิน เพราะ “รัฐราชการรวมศูนย์” ที่แผ่ขยายถึงท้องถิ่นด้วยอำนาจนิยม เกิดคำถามว่า (1) รัฐราชการรวมศูนย์ มีดีมีเสีย อะไรบ้าง เช่น การฉุดรั้งประชาธิปไตย การฉุดรั้งเศรษฐกิจ การขัดหลักสิทธิมนุษยชน ขัดกติกา กฎบัตร UN ขัดมติโลก (New World Orders) [16] เป็นต้น (2) การแก้ไขระบอบอำนาจนิยมไทย จะแก้ไขได้ด้วยวิธีใด (3) แนวโน้มพลังอำนาจกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” เจน Z รวม New Voter (7 ล้านคน) [17] และ พวกหัวก้าวหน้า (Progressive or Liberal) [18] ประชาธิปไตย มีเพียงใด ด้วยจำนวนที่สูสีกับกลุ่มอนุรักษ์และแนวร่วม ที่หมายรวม ถึงกลุ่มข้าราชการพลเรือน 3.9 แสน[19] ตำรวจ 2.3 แสน[20] ทหาร 3.6 แสน[21] กำนันผู้ใหญ่บ้าน (74,709 หมู่บ้าน 7,255 ตำบล) 2.9 แสน[22] กลุ่มพลังมวลชนจัดตั้ง 5 แสน[23] รวมเบ็ดเสร็จราว 2.8 ล้าน (เป็นกำลังพลภาครัฐ 2.3 ล้าน) [24] คูณด้วย 3 คือจำนวนคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ลูกหลาน = 8.4 ล้านคนที่ต้องวัดดวงกันในสนามเลือกตั้ง

จากรายงานการศึกษา (2562) [25] ปัญหาอุปสรรคของระบบประชาธิปไตยไทยมี 7 ประเด็น คือ (1) การยึดติดกับรูปแบบของประชาธิปไตย (2) ระบบอุปถัมภ์ (3) การแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทย (4) การบริหารราชการแผ่นดินแบบรัฐรวมศูนย์ (5) การคอรัปชั่น (6) พรรคการเมืองไทยที่ขาดความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง (7) การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย ที่ถือว่า เป็นรากฐานของปัญหาและอุปสรรคของประชาธิปไตยที่สำคัญตามมุมมองของตน ที่ยึดติดกับรูปแบบหรือกระบวนการของประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง และการ เลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยล้มเหลวที่พยายามสร้างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ไม่เกิดผลประโยชน์กับประชาชนแต่เกิดกับชนชั้นนำทางการเมือง[26] สรุปว่าปัญหาและอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยไทยที่แท้อยู่ที่ความไม่สามารถที่จะทำให้มิติของเป้าหมายหรือหลักการของประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และมั่นคงในประเทศไทยได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ “รัฐรวมศูนย์” หรือ “การบริหารราชการแผ่นดินแบบรัฐรวมศูนย์” (State administration of central government) ที่รวมศูนย์กลางของอำนาจในการสั่งการและทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางอย่างเข้มข้น โครงสร้างรัฐรวมศูนย์ในกลุ่มข้าราชการได้เติบใหญ่แทรกซ้อนและซึมซาบลงสู่วิถีชีวิต ของผู้คนทั้งปวง จนมีอำนาจครองใจ (Hegemony) คนทั้งหลายได้ในอีกหลายรุ่นต่อมา อย่างไรก็ตาม อำนาจครองใจที่ให้การยอมรับและยกย่องการได้เป็น “เจ้าคน นายคน”

ล่าสุดข้อมูลซูเปอร์โพล (2564) [27] ตอกย้ำว่าประชาชนต้องการให้ อบต.ปฏิรูปเปิดช่องตรวจสอบการคอร์รัปชัน ส่วนใหญ่ 68.5% ระบุมีการจ่ายเงินซื้อเสียง 66.4% ระบุคนชนะเลือกตั้งส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 65.5% ระบุมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในการใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่ 62.8% ระบุขาดการประสานงานที่ดีกับชุมชน มักจะทำงานแบบ “อำนาจนิยม เผด็จการ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” 

 

ในอำนาจนิยมยังมีความเห็นต่าง

ข้อสันนิษฐานว่าแนวคิดอำนาจนิยมคงไม่ได้มีในกลุ่มอนุรักษ์ทุกคน คนในกลุ่มที่มีความเห็นตรงกันข้ามยังมีอยู่ แต่ไม่สามารถแยกแยะจำนวนได้ ความแตกแยกแนวในแนวความคิด อุดมการณ์ ล้วนเกิดจากคนใกล้ชิดทั้งสิ้น มีขาวก็มีดำ มีร้อนก็มีหนาว มีสูงก็มีต่ำ เกิดจากการเปรียบเทียบกัน แต่คนเห็นต่างในกลุ่มข้าราชการมีแน่นอน แต่มีเพียงน้อย และไม่แสดงออก เช่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ สายแข็งคือ ข้าราชการ มท. และทหารประจำการ สงครามความคิดการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) [28] สงครามเย็น โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โลกเสรี ล้วนมีความแตกแยกเกิดจากภายใน ผู้คนเห็นต่าง ใช่ว่าไม่แสดงออกทางภาษากายเท่านั้น ยังมีภาษาอื่นๆ อีกมากมายเช่น แพลตฟอร์มในโลกโซเซียล การมีท้องถิ่น อปท.ที่เกิดมาจากคนมหาดไทยตั้งและครอบงำ หาใช่ว่าคนท้องถิ่นจะเป็นคน มท.เสียทั้งหมด เช่น หาก มท.ทำดีคนที่เขาเสียอำนาจ บทบาท เขาก็คงไม่ติดใจ แต่หาก มท.ทำไม่ดีนี่แหละคือเงื่อนไข ต้องหันมาคิด มันอยู่ที่คนมีอำนาจสั่งการทั้งสิ้น คนหัวๆ ท้องถิ่นต้องทำให้เป็น ทำให้ได้ ให้บรรลุผล ได้ผลงาน มันเหมือนการทำคดี มันเหมือนการต่อสู้โรคภัยไข้เจ็บที่ไม่ชนะก็แพ้ ไม่มีคำว่าเสมอ การทำสิ่งใดบรรลุผลในเรื่องส่วนรวม มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่เหมือนงานส่วนตัว หรืองานบริษัท ผู้บริหารท้องถิ่น ติดกับดักเรื่อง การถอนทุน กิเลสตัณหา ไม่มุ่งมั่นอย่างที่ตั้งใจ ก่อนเข้ามา ทำไม่ตรงคำพูดที่ให้ไว้แต่เดิม ยิ่งนานวัน ยิ่งปลิ้นปล้อน ความเชื่อถือศรัทธาจากชาวบ้าน จึงเลือนหาย พวกที่เข้ามาด้วยระบบอุปถัมภ์ ยิ่งอำนาจนิยมผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมมองไม่เห็นภาพบังตาเหล่านี้ แน่ชัดในทุกองค์กรจะมีคนฝ่ายตรงกันข้ามกันเสมอ ความแตกต่างทางความคิดจึงเป็นธรรมดา แต่ผู้มีอำนาจอย่าทำตัวเป็นมาเฟียเสียเอง แม้ในความเชื่อในทางศาสนาก็ยังมีความต่าง ที่ไม่อาจบังคับจิตใจกันได้เลย ศัพท์รัฐธรรมนูญเรียกว่า “Absolute Rights” [29] เป็นสิทธิเสรีภาพภาพแบบสัมบูรณ์ที่รัฐมิอาจจำกัดได้

 

เอกลักษณ์ที่ฆ่าไม่ตาย อุปนิสัยนิสัยคนไทยโอนอ่อน ใจดี ยอมรับคนง่าย เห็นอกเห็นใจ รักสามัคคี ประนีประนอม (Compromise) [30] ผสมกลมกลืน (Assimilation) [31] เข้ากับทุกสังคม ชอบรักสันติ และมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (Fraternality) [32] ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เป็นสีสรรของประชาธิปไตย อำนาจนิยมอย่ามาผูกขาดให้คนร้าวกัน ขอให้ชาติไทยจงเจริญ ฝ่าวิกฤตได้ตลอด


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 10 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/304650  

[2]ช็อก ปี 63 งบทหารไทยสูงอันดับ 27 ของโลก กำลังพลมากอันดับ 9 ของเอเชีย, เวบสนุก, 8 กรกฎาคม 2564, https://www.sanook.com/news/8409182/ 

[3]จากข้อมูลสำนักงาน ก.พ. พบว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกำลังคน ทั้งหมดประมาณ 2.3 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.04 ต่อปี สำหรับจำนวนข้าราชการมีประมาณ 1.3 ล้านคนและข้าราชการพลเรือนประมาณ 390,000 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีมากถึงร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลต้องการลดให้น้อยลง

ดู นายกฯสั่งยกเครื่องระบบข้าราชการไทย นำระบบดิจิตอลมาใช้ หวังลด ขรก., ไทย พีบีเอส, 7 กันยายน 2563, https://news.thaipbs.or.th/content/296222   

[4]จำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่น เทศบาลและเมืองพัทยา 1,159 แห่ง 23,368 คน องค์การบริหารส่วนตำบล 6,620 แห่ง 26,061 คน กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง 18,040 คน รวม 7,855 แห่ง 73,108 คน ครู 27,100 คน ลูกจ้างพนักงานจ้าง 62,108 คน รวมทั้งสิ้น 162,216 คน

ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง (2) เทศบาล 2,472 แห่ง แยกเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง, เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง (3) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง (4) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง

ดู ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนบุคลากรส่วนท้องถิ่น, (7,855 แห่ง), http://local.moi.go.th/local_sub5.htm  & สรุปข้อมูล อปท. ทั่วประเทศ, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563, http://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp 

[5]ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ, โดย คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.), เมษายน 2554, http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/07/คปร.-ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ.pdf 

[6]“ความเหลื่อมล้ำ” คือ ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) ซึ่งเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันปรากฏในทุกๆ เรื่อง ทุกๆพื้นที่ ทุกๆภาคส่วน และทุกๆเวลา ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะขจัดให้หมดสิ้นไปได้ ความ

เหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกันโดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มคนเปราะบาง คนชายขอบ ที่ยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่รับบทเป็นผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน และถูกตีตราอยู่เสมอไป ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม 

รากเหง้าปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การกำเนิด ชาติพันธุ์ ผิวสี เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่อาศัย อายุ สังคม โอกาส และรวมถึงความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามมา

ดู ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกับสิทธิมนุษยชน : ความเปราะบางของสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดย อำนาจ มงคลสืบสกุล, ใน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), 2563, http://ucl.or.th/?p=3472 

[7]“การพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมกัน ในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องยาก” ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 9 ธันวาคม 2564

[8]เพิ่มอำนาจท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นธรรม, โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ, ใน เวทีนโยบายสาธารณะ ผู้จัดการรายวัน MGR Online, 27 ธันวาคม 2555, https://mgronline.com/daily/detail/9550000157384 & สองมาตรฐาน : ความเสมอภาคที่ไม่เสมอภาคในสังคมไทย (Double Standard: Unequal Equality in Thai Society) โดย สิริปภา ภาคอัตถ์ Siriprapa Pakau, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ, ThaiJO ใน Journal of MCU Humanities Review Vol.6 No.1 (January – June) 2020, https://so03.tci-thaijo.org/index.php/human/article/download/238294/165664/  

[9]ประชาธิปไตยครึ่งใบ เสียหายตรงไหน, ผู้จัดการออนไลน์ MGR Online, 26 กุมภาพันธ์ 2559, https://mgronline.com/politics/detail/9590000020635 & กลับไปอ่าน “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”: มีอดีต แต่ไม่มีอนาคต, โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ, The 101, 25 เมษายน 2560, https://www.the101.world/halfway-democracy/ & ประชาธิปไตยครึ่งใบ กับเงื่อนไขสำคัญที่สุด, โดยซูม, ไทยรัฐออนไลน์ thairath, 25 กันยายน 2560, https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1079145 

& ประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย 2, โดย วีรพงษ์ รามางกูร, ประชาชาติธุรกิจ prachachat, 16 มิถุนายน 2561, https://www.prachachat.net/opinion-column/news-175747  & ประชาธิปไตยครึ่งใบขนานแท้, ไทยรัฐออนไลน์ thairath, 14 พฤศจิกายน 2563, https://www.thairath.co.th/news/politic/1975807  

[10]ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐราชการไทยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (2523-2531) โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ นิสิตหลักสูตรปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ใน วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 มีนาคม – สิงหาคม 2559 ธรรมาภิบาล (Good Governance) หน้า 287, http://copag.msu.ac.th/journal/filesjournal/6-2/20012017114853.pdf 

[11]True Democracy โดยนัยยะในที่นี้คือ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” หรือ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ” ใกล้เคียงกับคำว่า “ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” (Pure Democracy) หรือ Direct Democracy คือ รูปแบบของรัฐที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองได้โดยตรง

รายงานคะแนนของประเทศไทย เราได้รับคะแนนสิทธิทางการเมือง (Political Rights) 6 เต็ม 40 และเสรีภาพของพลเมือง (Civil Liberties) 26 เต็ม 60 รวมกันได้ 32 คะแนน จัดอยู่ในกลุ่ม “มีเสรีภาพบางส่วน (Partly free)” สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 2 คะแนน ถือว่าหลุดจากสถานะไร้เสรีภาพที่เป็นชนักติดหลังประเทศมาตั้งแต่การยึดอำนาจโดย คสช. และเป็นการยกระดับจากการเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยลดฮวบในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

ดู “เสรีภาพปักหลักอยู่กับที่ เลือกตั้งหลังเผด็จการ 5 ปี ไร้ความหมาย?”, ติดตาม Freedom in the World 2020, 6 มีนาคม 2563, https://futureforwardparty.org/?p=11129  

[12]ศักดินาฟาสซิสต์ (Fascist Feudalism) โดยนัยยะในที่นี้คือ ระบบเจ้าขุนมูลนายเผด็จการ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “อำนาจนิยม” (Authoritarianism) เป็นพวกนิยมแบบขวา ตามแนวคิดจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองและพรรคการเมือง (left-right politics) ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา (2537) เรียกว่า “ระบบเจ้าขุนมูลนายหรือศักดินา”

[13]“งูกินหาง” สำนวนนี้มักจะใช้พูดถึงเรื่องราวที่มีความเกี่ยวโยงกันไปเป็นทอดๆ เหมือน งูกินหาง ตัวเอง โดย มักจะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองหรือผู้อื่น

ดู งูกินหาง เรื่องราวที่เกี่ยวโยงกันไม่จบไม่สิ้น, SiameBook.com, http://www.siamebook.com/lbro/en/thai-idiom/666-%E0%B8%B7ngor-ngoo-thai-idiom/5486-งูกินหาง.html   

[14]อ้างจาก : สำนวนอเมริกันในหมวดอักษร “C”, ThaiTranslator.com, Articles Published by VIPAT DHARAPAK, http://vipatthaitranslator.blogspot.com/2009/01/c-32-06.html & “catch-22” อธิบายชีวิต By อาหารสมอง, กรุงเทพธุรกิจ, 9 มิถุนายน 2563, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/125303  

[15]คุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ “การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง” โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร, 2554, ในเวบ GotoKnow โดย ชาญโชติ, 11 มกราคม 2556, 

https://www.gotoknow.org/posts/515936

[16]กฎ ระเบียบโลกใหม่ หรือการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของความคิด และทฤษฎีดังกล่าวขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการหาทางที่จะทำให้ชาวโลกยอมรับ เป็นการบังคับให้ประชาคมโลกจะต้องยืนอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ เท่านั้น และใครก็ตามที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ คือ “พวกก่อการร้าย” เป็น ค่านิยมประชาธิปไตยโลกขั้วเดี่ยว (Unipolar World) เป็นชัยชนะของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเด่นชัดมาก่อนปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)

ดู “New World Order” ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับชาวโลก แต่มันเป็นคัมภีร์แห่งการล่าอาณานิคมยุคใหม่” โดย ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี ใน เอบีนิวส์ทูเดย์, 25 กุมภาพันธ์ 2557, https://www.abnewstoday.com/450 & ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดย FundTalk, ใน FINNOMENA, 2 ธันวาคม 2563, https://www.finnomena.com/fundtalk/new-world-order/ 

[17]เยาวชนรุ่นใหม่ปี 2562 มีจำนวน 7-8 ล้านคน ดู เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของ 'New Voter' กว่า 7 ล้านคน กับ 'การเลือกตั้งครั้งแรก', voicetv, 11 กุมภาพันธ์ 2562, https://voicetv.co.th/read/PwFDTDQ_K

[18]อุดมการณ์หรือโลกทัศน์ทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยม (Liberal)ก็มีความเชื่อพื้นฐานในหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคทางการเมืองและกฎหมาย และความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นรากฐานของความคิดเกี่ยวกับเสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและการปลดปล่อยมนุษย์จากการถูกกดขี่ไม่ว่าจะโดยรัฐ สถาบันศาสนา จารีต

คนหัวก้าวหน้า (Progressive)ในที่นี้หมายถึงคนรุ่นใหม่ (New Generation) หรือ “พิพัฒนาการนิยม” (Progressivism) เป็นปรัชญาการเมืองที่สนับสนุนการปฏิรูปสังคม ตามแนวคิดของความก้าวหน้า ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบทางสังคม มีความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพการเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ในสังคมไทยค่อนข้างย้อนแย้ง เห็นตรงข้าม เพราะเห็นว่า เป็นพวกซ้าย พวกหัวรุนแรง พวกชังชาติ ฯลฯ

ดู ปีศาจในคราบคนหัวก้าวหน้า, เฉลิมชัย ยอดมาลัย ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า, 30 มีนาคม 2562, https://www.naewna.com/politic/columnist/39538  

[19]อ้างแล้ว, ข้อมูล ก.พ.2563

[20]ตำรวจทั้งหน่วยปฏิบัติการ และหน่วยสนับสนุน มีกำลังพลกว่า 2.3 แสนนาย ทั่วประเทศ (2556) 

[21]อ้างแล้ว, เวบสนุก, 8 กรกฎาคม 2564 

[22]ข้อมูลกรอบอัตรากำลัง (พื้นที่ที่มีอัตรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ได้ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่), ส่วนบริหารงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน สำนักบริหารการปกครองท้องที่, ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2564, https://multi.dopa.go.th/pab/news/cate9/view46 

[23]ในปี 2555 เฉพาะ ทสปช. องค์กรเดียวมีสมาชิกทั่วประเทศ 233,161 คน และในกลางปี 2559 กอ.รมน. แถลงว่าจะนำมวลชนกลุ่มต่างๆ ของตนกว่า 500,000 คน มาช่วยรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ดู มวลชนจัดตั้งในทศวรรษ 2560, โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน waymagazine, 24 สิงหาคม 2563, https://waymagazine.org/rightwing-masses/   

[24]นายกฯสั่งยกเครื่องระบบข้าราชการไทย นำระบบดิจิตอลมาใช้ หวังลด ขรก., ไทย พีบีเอส, 7 กันยายน 2563, อ้างแล้ว

[25]ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย (พ.ศ.2475 – ปัจจุบัน): ข้อสังเกตในเชิงทฤษฎี โดย ผศ.ณัฏฐพล บุณยพิพัฒน์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใน การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะยุคดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The Third National Conference on Public Affairs Management in the Digital Era), “การบริหารกิจการสาธารณะยุคดิจิทัล: กฎหมาย ความเป็นธรรม และการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย” (Public Affairs Management in the Digital Era: Legal, Justice and A Return to Democracy) Problems and obstacles in the development of democracy in Thailand (1932 - Present): Theoretical observations, 1 - 2 พฤศจิกายน 2562 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น : College of Local Administration Khon Kaen University (COLA), https://conference.kku.ac.th/colaimg/files/articles/254ae-o-6-.pdf  

[26]การเมืองไทยยังไม่ใช่เรื่องของประชาชน แม้ว่าโครงสร้างทางสังคมไทยจะแบ่งผู้คนออกเป็นสี่ชนชั้น แต่การเมืองการปกครองของไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นการปกครองโดย “ชนชั้นนำ” นั่นก็คือ “ชนชั้นปกครอง”  สังคมไทยแบ่งผู้คนในสังคมออกเป็นสี่ชนชั้นตามลำดับสถานะทางสังคม ดังนี้ (1) ชนชั้นปกครอง ตั้งแต่กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทหารระดับสูง องคมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง (2) ชนชั้นข้าราชการ ที่มีอำนาจบริหารรวมทั้งข้าราชการทั่วไป (3) ชนชั้นกลาง พวกพ่อค้าต่างชาติที่มาอาศัยในประเทศไทย มักจะเป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ชนชั้นกลางในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ และ (4) ชนชั้นล่าง พวกพนักงาน คนงาน ชาวนา ชาวไร่ ชาวบ้าน ซึ่งเป็นประชาชนที่มีเป็นจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ไม่ได้รับการนับถือและถูกเอาเปรียบจากชนชั้นอภิสิทธิ์มาโดยตลอด ชนชั้นนี้เข้าถึงทรัพยากรได้ยาก และไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจในด้านการเมืองการปกครองของไทยนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ยุคสมัย คือ (1) ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (2) ยุคอำมาตยาธิปไตย (3) ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (4) ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นการประสานอำนาจในการเมืองการปกครองระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง (5) ยุคธนาธิปไตย เป็นยุคที่อำนาจการเมืองการปกครองอยู่ที่นักธุรกิจและนักการเมือง และ (6) ยุคมวลชนาธิปไตย เป็นยุคที่มีการรวมกลุ่มทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้มีการเมืองการปกครองตามที่กลุ่มต้องการ

ดู ชนชั้นและยุคสมัยการเมืองการปกครองไทย (Classes and Political Periods of Thailand) โดย จิตติมา อานสกุลเจริญ (Chittima Ansakulcharoen) นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูนนาน ใน วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ; ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 : มกราคม - เมษายน 2558 (Nakhon Phanom University Journal ; Vol.5 No.1 : January - April 2015), https://www.tci-thaijo.org/index.php/npuj/article/download/43919/36320/

[27]ซูเปอร์โพล' ชี้ประชาชนต้องการให้ อบต.ปฏิรูปเปิดช่องตรวจสอบการคอร์รัปชัน โดย : ไทยโพสต์CFR, 5 ธันวาคม 2564, https://www.thaipost.net/x-cite-news/39093/ 

[28]โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)เป็นรูปแบบการสื่อสารแบบหนึ่งซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อโน้มน้าวจูงใจผู้รับฟัง และเพื่อผลักดันเป้าหมายทางการเมืองซึ่งอาจไม่เป็นภววิสัย และอาจใช้การเสนอความจริงเฉาพะบางส่วนเพื่อสร้างผลตอบรับที่คาดหวัง หรือใช้ภาษาที่มีน้ำหนักเพื่อให้เกิดผลตอบรับทางอารมณ์มากกว่าทางเหตุผลต่อข้อมูลที่นำเสนอ : วิกิพีเดีย 

Garth S. Jowett and Victoria O'Donnell ในหนังสือ Propaganda and Persuasion (2011) ให้คำจำกัดความของการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น “ความพยายามโดยเจตนาและเป็นระบบในการกำหนดรูปแบบการรับรู้ปรับเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมโดยตรงเพื่อให้บรรลุการตอบสนองที่ตรงกับความตั้งใจที่ต้องการของผู้โฆษณาชวนเชื่อ .”

ดู โฆษณาชวนเชื่อคืออะไร?, 16 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.greelane.com/th/มนุษยศาสตร์/อังกฤษ/propaganda-definition-1691544/

[29]สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการนับถือศาสนา หรือ สิทธิความเชื่อในทางศาสนา ที่รัฐมิอาจจำกัดได้ เป็น “สิทธิอันสัมบูรณ์ หรือเด็ดขาด” (Absolute Rights)หรือ “สิทธิเด็ก” สิทธิอันเป็นสากล (Universal Rights) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) ที่จะต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) หรือ สิทธิมนุษยชนบางอย่างจำกัดไม่ได้ถือเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์(Absolute Rights)เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสรีภาพจากการอุ้มหายอุ้มฆ่าอุ้มทรมาน ฯลฯ แม้สิทธิมนุษยชนโดยทั่วไปไม่ได้มีลักษณะเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์ 

ดู อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่คนไทยควรรู้, การปฏิรูปกฎหมาย : LAW REFORM ใน จุลนิติ ก.ค.-ส.ค.2552, 

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/10reform/reform7.pdf & หลักสิทธิมนุษยชนกับการดำเนินคดทีเป็นธรรม โดย สมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), 2562, https://voicefromthais.files.wordpress.com/2019/10/fairtrial-training-somchai-homlaor.pdf

[30]การประนีประนอม (Compromise) เป็นวิธีที่บุคคลทั้งสองฝ่ายที่มีความขัดแย้ง สามารถตกลงกันได้โดยวิธี “พบกันครึ่งทาง” ต่างฝ่ายต่างต้องยอมลดความต้องการของตนบางส่วน มองการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน 

ดู แนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง ตอนที่ 3-วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง โดย อ.สมิต, 4 กันยายน 2550, https://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?pageid=3&bookID=653&read=true&count=true & การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management), ในเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้และทักษะเภสัชกร, 16 กุมภาพันธ์ 2560, https://competencyrx.com/index.php/เนื้อหาเภสัชกรวิชาการ/41-การบริหารความขัดแย้ง   

[31]การผสมกลมกลืน (Assimilation)หรือ “การกลืนกลายทางวัฒนธรรม หรือ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม” (Cultural Assimilation) คือการโต้ตอบทางการเมืองต่อสถานการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ที่เป็นนโยบายในการส่งเสริมการกลืนชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนหมู่มาก การผสานทางวัฒนธรรมเป็นปรัชญาที่ตรงกันข้ามกับปรัชญาของการยอมรับความแตกต่าง (Affirmative Philosophy) เช่นในปรัชญาคตินิยมวัฒนธรรมหลากหลาย (Multiculturalism) ที่เป็นปรัชญาที่แสวงหาการดำรงความแตกต่างของชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม คำว่า “การกลืนกลาย” หรือ “Assimilation” มักจะเป็นคำที่ใช้กับชนอพยพ เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ (วิกิพีเดีย)

ในอดีตแนวคิดเรื่องการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม (Assimilation) เป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อให้ชนกลุ่มน้อย (รวมชาติพันธุ์ต่างๆ) เข้าผสมกลมกลืนกับชนกลุ่มใหญ่ โดยพยายามให้ชนกลุ่มน้อยค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของตน ให้กลมกลืนหรือสอดคล้องกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่จนในที่สุดชนกลุ่มน้อยจะไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

[32]คำว่า ภราดรภาพ (Fraternality) ที่เป็นหนึ่งในสามนิ้ว ที่แปลความหมายแท้จริงมาจากฝรั่งเศสคือ ไม่หมายความว่า “ความน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือ ความรักสามัคคี” (solidarity, unity, harmonious) ไม่ใช่แปลว่าความเป็นพี่น้องกันเท่านั้น ตามศัพท์ ถ้อยคำ wording/terminology แต่ความหมายที่แท้จริงคือ “การเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์” (Empathy, Compassion) ที่ใกล้เคียงกับคำว่า “Hospitality” ที่แปลว่า ความมีน้ำใจ (broad-mindedness) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (charity) การต้อนรับขับสู้ 

 “ภราดรภาพ” (Fraternité) คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์

“การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือก็คือการพยายามเข้าใจสถานการณ์ มุมมองและความรู้สึกของอีกฝ่าย และเป็นการเรียนรู้ที่จะสื่อสารความเข้าใจนั้นให้อีกฝ่ายได้รับรู้

ดู ‘ปิยบุตร’ แถลง 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มล้างการปกครอง ชี้น่าจะมีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ, ข่าวมติชน, 3 ธันวาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_3070631 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท