ศรัทธาและปัญญา ต้องไปด้วยกันเสมอ


แม้ว่า ศรัทธา ความเชื่อ จะเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ก็จริง แต่ ศรัทธา จะต้องคู่กับปัญยาเสมอ หรือใช้ปัญญากำกับศรัทธา        การที่จะสร้างศรัทธาความเชื่อให้เกิดขึ้นนั้น นับว่ายากแสนยาก เพราะคนเรากว่าจะปักใจเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแสดงว่า ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณค่ามากและอยากจะได้หรือบรรลุสิ่งนั้น และถ้าคนจะศรัทธาในคนใดคนหนึ่งได้นั้นก็ยากเช่นกัน แสดงว่าเขาคนนั้น ต้องมีคุณงามความดีหลายอย่างพอจะเป็นแบบอย่างในการเดินตามแนวทางนั้นได้ พระพุทธองค์ทรงให้แนวคิดไว้ว่า หากจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็จะทรงสอนปัญญากำกับไว้ในเรื่องนั้นเสมอ นั่นก็หมายความว่า ทรงสอนให้ใช้ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาทุกครั้งจึงจะไม่ใช่การเชื่อที่งมงาย  ตัวอย่างเช่น ในหลักคำสอนหมวด พละ 5 ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หรือใน อริยทรัพย์ 7 (ทรัพย์ภายในอันประเสริฐ) ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล หิริ  โอตตัปปะ  พหุสัจจะ จาคะ และปัญญา

ศรัทธาและปัญญาต้องไปด้วยกันเสมอ

 

 

ศรัทธาและปัญญา

ต้องไปด้วยกันเสมอ

ดร.ถวิล  อรัญเวศ

 

        แม้ว่า ศรัทธา ความเชื่อ จะเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ก็จริง แต่ ศรัทธา จะต้องคู่กับปัญยาเสมอ หรือใช้ปัญญากำกับศรัทธา

        การที่จะสร้างศรัทธาความเชื่อให้เกิดขึ้นนั้น นับว่ายากแสนยาก เพราะคนเรากว่าจะปักใจเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแสดงว่า ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณค่ามากและอยากจะได้หรือบรรลุสิ่งนั้น และถ้าคนจะศรัทธาในคนใดคนหนึ่งได้นั้นก็ยากเช่นกัน แสดงว่าเขาคนนั้น ต้องมีคุณงามความดีหลายอย่างพอจะเป็นแบบอย่างในการเดินตามแนวทางนั้นได้

         พระพุทธศาสนาเห็นความสำคัญในเรื่องศรัทธาความเชื่อมาก เพราะศรัทธาเป็นดาบสองคมถ้าปราศจากปัญญาแล้วไซร้ ก็จะเป็นการเชื่อที่งมงายได้ พระพุทธองค์จึงทรงให้แนวคิดไว้ว่าก่อนจะเชื่อใดสิ่งหนึ่ง อย่าด่วนเชื่อง่ายๆ ดังจะเห็นได้จากหลักกาลามสูตร เรื่องความเชื่อหรือศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาหรือเหตุผล ดังที่ทรงสอนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมในแคว้นโกศล ว่าอย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพียงเพราะฟังตามๆกันมา เพียงเพราะถือปฏิบัติกันสืบๆมา เพียงเพราะข่าวเล่าลือ เพียงเพราะการอ่านตำราหรือคัมภีร์ เพียงเพราะการให้เหตุผลแบบตรรกะ เพียงเพราะการอนุมานเอาตามอาการที่ปรากฏ เพียงเพราะเห็นว่าเข้ากันได้ตรงตามทฤษฎีหรือความคิดเห็นของตน เพียงเพราะเห็นว่ามีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ และเพียงเพราะถือว่าสมณะหรือนักบวชผู้นี้เป็นครูของเรา แต่เมื่อใดได้ใช้ปัญญาพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว และเห็นว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน อีกทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ก็จงทำสิ่งนั้น แต่หากสิ่งใดเมื่อทำลงไปแล้วตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน นักปราชญ์ติเตียน ก็จงอย่าได้ทำสิ่งนั้นเลย

            พระพุทธองค์ทรงให้แนวคิดไว้ว่า หากจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็จะทรงสอนปัญญากำกับไว้ในเรื่องนั้นเสมอ นั่นก็หมายความว่า ทรงสอนให้ใช้ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาทุกครั้งจึงจะไม่ใช่การเชื่อที่งมงาย  ตัวอย่างเช่น ในหลักคำสอนหมวด พละ 5 ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หรือใน อริยทรัพย์ 7 (ทรัพย์ภายในอันประเสริฐ) ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล หิริ  โอตตัปปะ  พหุสัจจะ จาคะ และปัญญา

             จะเห็นว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องมีปัญญากำกับด้วยเสมอ (ซึ่งเป็นจุดเด่นต่างจากศาสนาอื่นบางศาสนาที่จะสอนให้มีศรัทธาอย่างเดียว ถ้าพระคัมภีร์สอนไว้อย่างนี้ ก็จะต้องเชื่อตามโดยไม่มีข้อแม้ ถ้าหากไม่เชื่อถือว่าเป็นคนบาป เป็นต้น)
            ในทางพระพุทธศาสนาแม้แต่การสอนหลักธรรมของพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงบังคับให้เชื่อตามที่พระองค์สอน พระองค์ทรงแนะนำให้พิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลและปฏิบัติด้วยตนเองเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ
ในสิ่งนั้น

                          

การสร้างศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง\

            การสร้างศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องสำคัญเพราะศรัทธาที่ถูกต้องเป็นสื่อนำไปสู่การพัฒนาปัญญาได้ แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ

            1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น ( belief in Karma; confidence in accordance with the law of action)

           2. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (belief in the consequences of actions)

          3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน  ( belief in the individual ownership of action)

          4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรมบัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง ( confidence in the Enlightenment of the Buddha)

 

        สำหรับปัญญา หมายถึงความรู้หรือความหยั่งรู้เหตุผล ปัญญาที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนามีลักษณะ  3  ประการ  คือ

        1. ความรู้จักเหตุแห่งความเสื่อมและโทษของความเสื่อม (อปายโกศล)

        2. ความรู้จักเหตุแห่งความเจริญและประโยชน์ของความเจริญ (อายโกศล)

        3. ความรู้จักวิธีการละเหตุแห่งความเสื่อมและวิธีการสร้างเหตุแห่งความเจริญ (อุปายโกศล)

        การที่พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นพระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล หรือเป็นศาสนาแห่งปัญญาที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้สติปัญญาความคิดเห็นของตนพิจารณาอย่างเต็มที่ก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อตาม

 

ฝากให้คิด

          ก่อนจะเชื่อ สิ่งใด ให้พิสูจน์    
             ก่อนจะพูด ให้ยั้งคิด วินิจฉัย

                 ก่อนจะทำ กิจการ งานใดใด  ให้ดี   

                           คิดให้ถ้วนถี่ จึงจะเกิดผลดีตามมา

 

 

-------------

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=181

 

หมายเลขบันทึก: 693901เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2021 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2021 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท