จาก COVID-19 สู่ทศวรรษหน้า : การสื่อสารเพื่อรับมือสภาวะวิกฤตโรคระบาด และโลกป่วน (VUCA World) ในมุมมองนักมานุษยวิทยาและสื่อชุมชน ประสบการณ์จากพื้นที่แม่ฮ่องสอน


การสื่อสารโดยเฉพาะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเรื่องที่เฉพาะมากๆ

ที่เฉพาะคือต้องมีจิตวิทยาต่อคนไข้ ต่อความหลากหลายวัย เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา ตลอดจนประสบการณ์ภูมิหลัง และบริบทภูมิสังคมของประชาชน  

อันนี้คนทำงานทั้งสายสื่อ สายสุขภาพ ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว แต่จะ Sensing และทำได้จริงแค่ไหน อยู่ที่วงจรการเรียนรู้ที่แต่ละคน แต่ละองค์กร มีไม่เท่ากัน

วันก่อนคือ 3 ธันวา ผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรในการประชุมที่จัดโดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ภาคเหนือ โดยได้ไปเล่าประเด็นชาติพันธุ์กับการรับบริการสุขภาพในพื้นที่ปางมะผ้า ซึ่งครอบคลุมถึงระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

 

 

ผมเล่าถึงจุดคานงัดที่เป็นความโดดเด่นของกระบวนการที่นี่ ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญของการสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ในวันหน้า

พอเล่าจบ ทางอาจารย์เก ประเสิฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาพลเมืองท่านเห็นว่าน่าสนใจ อยากให้ผมเขียนสรุปออกมาอีกรอบ แล้วโพสต์ & แท็กไปหาท่านด้วย

ผมวุ่นกับงานรีสอร์ตช่วงหยุดยาวมาหลายวัน วันนี้พอจะได้หายใจหายคอ เลยรีบมาสะสาง คิดว่าน่าจะครอบคลุมประเด็นหลักๆที่ได้กล่าวในเวทีออนไลน์ในวันนั้น

เข้าเรื่องเลยละกันครับ

สำหรับผมแล้ว จะสื่อสารได้ดี ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างครับ ถ้าสมมติเป็นแกงสักหม้อ  หลักๆก็มีเครื่องปรุงอยู่ห้าอย่าง

1.วิสัยทัศน์
2.วิธีคิดเชิงระบบ
3.ตัวเอง
4.ผู้ที่รับสาร
5.เครื่องมือ

บางคนจะมีอะไรมากกว่านี้ก็ได้ แต่ผมเอาแบบเบสิคๆ ก่อน สำคัญคือการปรุงส่วนผสมก็ต้องปรุงให้กลมกล่อม พอดีๆ หนักเครื่องปรุงใด ส่วนผสมใด มากไปก็ไม่ดี

เอาสั้นๆทีละเรื่องละกัน  เรื่องของ ตัวเอง ผู้รับสาร รวมถึงเครื่องมือสื่อสาร ผมเคยเขียนไว้บ้างแล้วท่านที่สนใจตามอ่านในบันทึก บล็อก เฟสบุ๊คได้ หาไม่เจอก็บอกนะครับ

รอบนี้ผมของเล่าหัวข้อ 1 2 กับ 4  สามเรื่องนี้ก่อน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นหัวใจคือวิธีคิด วิธีมอง รวมถึงการวิเคราะห์และเข้าถึงผู้รับสาร อีกอย่าง ไม่อยากให้บทความนี้ยาวเกินไป  

 

1.วิสัยทัศน์


ยุคโควิด 19 ยุค VUCA World  ยุค Digital Disruption ที่ทุกอย่างผันผวน ยากจะคาดเดา และคนหันมาใช้เทคโนโลยี  Online คู่ขนานไปกับ On Site , On Ground ในแทบทุกเรื่อง จนกลายเป็น New Normal ไปแล้ว เลิกคิดว่า คนเราจะได้เจอกันที่ทำงาน ที่โรงเรียนทุกวัน อย่าไปฝันว่าเราจะได้ประชุมพร้อมหน้ากันในห้องอย่างที่เคย เมื่อโลกเปลี่ยน และทิศทางยากหวนกลับ  เราก็ต้องออกแบบตัวเอง โดยเห็นทิศทางในสิบปีข้างหน้า ตรงนี้ สายอนุรักษ์ก็คงเคือง แต่ว่ามันจำเป็น เราจะออกแบบชีวิตและการงานในสิบปีข้างหน้ากันอย่างไร อันนี้ หลายคนก็ลืมคิดไป เข้าเวทีก็กระโจนลงไปตะกุยโจทย์ปัญหาเลย อันนี้ เห็นมาเยอะ แล้วเหนื่อยกันทีหลังทุกที ผมนี่ไม่เอาละ พยายามเลี่ยงเลยนะ เวทีแบบนี้ ทอนกำลังมาก

 

อย่างที่เราเห็นครับ สามปีมานี้ หน่วยที่มีบทบาทมากขึ้นในการรับมือโรคระบาดใหญ่ อย่างโควิด รวมถึงสถานการณ์โลกป่วน (VUCA World) และการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะสารพัด ยกแรกคือ ชุมชน จะเห็นขุนพล อัศวินชุดขาวออกมาเกรียวกราว อสม.ก็ดังไปทั่วโลก อันนี้ไม่เถียง เราก็ปรบมือ ให้กำลังใจในความทุ่มเทของพวกเขาด้วย แต่นั่นเป็นเพียงยกแรก ต่อมาไม่ทันข้ามปีดีข้าศึกก็ทะลวงลงมาอีกระลอก  ทั้งสุขภาพ การศึกษา การทำงาน จะเห็นคำว่า From Home เต็มไปหมด

 

ครอบครัวจึงเป็นพื้นที่ชิงธงในยกที่สอง จริงๆทั่วโลกส่งสัญญาณนี้มานานแล้ว แต่คนที่ปักหลักคิดในเชิงปริมาณ และกรอบนโยบาย รวมถึงนักเคลื่อนไหวที่ผูกตัวเองกับชุมชนมายาวนาน คิดในมุมลึกอย่างนี้ยาก ไม่ใช่คิดไม่ได้นะครับ แต่ด้วยตัวเองอาจจะถอยห่างจากครอบครัวมานาน และไม่รู้ทางว่าจะไปต่อยังไง องค์ความรู้ งานวิจัยผลิตมารองรับไม่ทัน ก็เอาเรื่องที่ตนเองถนัดก่อน มันก็ดูง่ายดี แต่ท้ายสุด สำหรับผมนะ มันก็วนๆๆ อยู่ที่เดิมน่ะครับ ไม่ทันกับโลกที่หน่วยการผลิต การบริโภค การศึกษา การสื่อสาร อะไรที่ใหญ่ๆมันลงไปที่ระดับครอบครัวกันมากต่อมากแล้ว

 

 ถึงจะไม่มีข้อมูลเชิงปริมาณในแง่งานวิจัยมากมาย แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนมากครับ ใน Social Determinants of Health หรือหลักคิดเรื่องปัจัยสังคมกำหนดสุขภาพก็ระบุถึงความสำคัญของครอบครัวอย่างที่ว่าไว้ ยิ่งในประเทศไทยก็ดี แถบเอเซียเราก็ดี ครอบครัว (และระบบเครือญาติ) มีความเหนี่ยวแน่น เป็นสิ่งที่มีอิทธิพล (ได้ทั้ง + , - ) ต่อการจัดการสุขภาวะในทุกมิติ ในกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแม่ฮ่องสอนนี่ยิ่งเห็นเด่นชัดมาก และครอบครัวปัจจุบันก็มีความหลากหลายมากซะด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ครอบครัวดาวกระจาย ครอบครัวแหว่งกลาง (คือมีคนรุ่นปู่ย่าอยู่บ้านกับหลาน ขาดคนรุ่นพ่อแม่)  ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามชาติ ครอบครัว LGBTQ

 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า นับวัน ครอบครัวยิ่งเป็นหน่วยจัดการทางสุขภาวะที่มีความหมายมากขึ้นๆ แต่พอถามถึงนโยบาย ก็ไปกันไม่เป็น พอไม่ลงลึกถึงครอบครัว ก็จะวนๆอยู่กับเครือข่าย กระบวนการและประเด็นแบบเดิมอันนี้ ในแง่ยุทธศาสตร์ก็น่าเป็นห่วงมาก

เอาเถะครับ ใครไม่เคลื่อน ผมก็เคลื่อนในแบบของผม และแม่ฮ่องสอนเราก็ใช้กระบวนที่ผมว่านี้ เราทำงานสานกันได้อย่างมีพลังระดับหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการถูกเชิญให้ไปเล่าเรื่องราวในเวทีนี้ อันนี้ผมเลยอยากเริ่มเคาะกันที่วิสัยทัศน์กันก่อนครับ ว่าเรายังใช้วิสัยทัศน์เดิมๆ เราเห็นภาพทศวรรษหน้ากันชัดขึ้นไหม 

 

นี่เป็นคำถามสำคัญที่จำต้องตรวจสอบตัวเอง และหมั่นทบทวนด้วยนะ 

 

ไม่งั้นตกร่องเดิม เราจะกลายเป็นปัญหาซะเอง

 

2.การคิดเชิงระบบ

“กลไก 
นิเวศ
สนามพลัง
Osmosis”

สี่คำนี้ผมย้ำบ่อยๆ ทั้งในเวลาสอนงานคนรุ่นใหม่ รวมถึงเวลาถอดบทเรียนบอกเล่าถึงการทำงาน
พื้นที่ อย่างในเวทีออนไลน์วันนี้ ผมก็พูด 
คำว่า “กลไก” เช่น กลไกคณะทำงาน เราใช้กันบ่อย ใช้คำยังไง หัวคิด หัวใจ เราก็ไปแบบนั้น 
กลไก นี่ มันให้ภาพเป็นเครื่องจักร เป็นอะไรที่เป็นชิ้นๆ แยกส่วนชัดๆ ถ้าเป็นโรงงานชิ้นส่วนก็คงเหมาะ แต่สำหรับสังคมมนุษย์ที่มีความซับซ้อน ลื่นไหล ถ่ายโอน ซึมซับเรียนรู้ วัฒนธรรม อารมณ์ความรู้สึกต่อกัน  ผมคิดว่าคำนี้ ไม่เหมาะเท่าไร เลยมักจะเลี่ยงไปใช้คำอื่นเช่น กลุ่ม ก็ดี เครือข่าย ก็ดี หรือไปใช้คำว่า “นิเวศ” แทนมากกว่า

เพราะฉะนั้นเวลาใครบอกว่า พัฒนาระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ฯลฯ สำหรับผม (และงานในพื้นที่แม่ฮ่องสอนที่ผมช่วยดูแลอยู่) ผมจึงมีภาพของระบบนิเวศที่ไหลวนถ่ายเทถึงกัน เหมือนป่า ที่ใบไม้อันผุพัง สัมพันธ์กับต้นไม้ใหญ่ สัมพันธ์กับทุกสรรพสัตว์ รวมถึง น้ำ ลม แดด ฤดูกาล

เป็นเหมือนคำที่เรียกว่า “สนามพลัง”  ที่ซึมซับ แพร่กระจาย อาจจะใช้คำว่า Osmosis หรือบางทีก็ Tranform หรือพลิกไปเลยคือ Metamorphosis คือเปลี่ยนรูปไปอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่นี่คือระบบนิเวศ เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่กลไก ที่ออกแบบความสำเร็จเป็นขั้นๆ แบบบันไดผลลัพธ์
คนเรา ธรรมชาติ หรือแม้แต่เชื้อโรคตัวจิ๋วไม่ได้อยู่นิ่งให้ทำนายทายทักได้ขนาดนั้น

 

โครงสร้างก็เหมือนกัน เรามอง เราคิดเรื่องโครงสร้างสังคมกันอย่างไร เท่าที่ดูก็มักติดกับดักความเป็นชุมชนแบบเป็นลำดับชั้น มีตำแหน่ง มีอัตลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา เราก็คาดหวังว่าคนในหัวโขนจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนโครงสร้างเครื่องจักร แต่สังคมเป็นสิ่งมีชีวิต มันดีดดิ้นไปมาเป็นปกติ แต่ละคนไม่ได้มีหน้าที่ๆเดียว ไม่ได้มีอัตลักษณ์เดียว หากแต่ๆละคนเป็นปัจเจกที่มีความซับซ้อนในการคิด สื่อสาร และแสดงออกไปตามกาลเทศะบริบท อันนี้ อาจจะเขียนให้เป็นระบบมันก็ยาก แต่เราต้องเข้าใจกับดักทางความคิดตรงนี้ ถ้าเราบอกว่าโครงสร้างคณะทำงาน เราก็มองจะคิดถึงอะไรที่ชัดเจน แข็งตัว อย่างน้ำแข็ง แต่น้ำแข็งก็แปลงเป็นน้ำใส่ขวด ใส่แก้ว ปรับไปตามภาชนะได้ บางทีก็กลายเป็นกาซ แต่เห็นไหม มันก็มีโครงสร้าง H2O มันก็คือน้ำเหมือนกัน 

 

โครงสร้างที่หยุดนิ่งจึงเป็นภาพลวงตา ตรงนี้ต้องระวังมากๆ


หากแต่ถามว่าแล้วเราจะจัดการอย่างไร ผมว่าแรกสุดเลยนี่เราต้องปฏิรูปความคิด เช็ค Mindset ตัวเองก่อนว่ายังแข็งทื่อแบบ “กลไก” ไหม ยังสมาทาน กลไก แบบเดิมๆ ที่ทำมายี่สิบสามสิบปีไหม เราเห็นความบกพร่องของวิธีคิดแบบเดิมของเราไหม ถ้ายังไม่ตระหนักที่จะเปลี่ยนตัวเองว่ามัน Out  ก็ป่วยการที่จะไปออกแบบสิ่งอื่นๆในสิบปีข้างหน้า  

แล้วจะสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจ มันมีวิธีครับ คือเป็นเรื่องการเลือกเครื่องมือด้วย ที่ไม่จำกัดแค่ภาษา แต่ใช้ระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ใช้อะไรก็ได้ที่ Touch เป็น Human Touch ที่สัมผัสโดนใจผู้คนได้ พวกเรียนศิลปะ หรือฝึกศิลปะมาหลายๆแขนงจะเก่งเรื่องนี้ ก็ต้องดึงมาช่วย ตัวเราเองก็ต้องขวนขวายเพิ่ม

จุดนี้ผมยกตัวอย่าง ปิรามิดลำดับขั้นความต้องการ/แรงจูงใจของมนุษย์ของ มาสโลว์  ที่ความต้องการ/แรงจูงใจของมนุษย์ขั้นสูงสุดคือมี Self -Actualization 

 

Self -Actualization เป็นความต้องการและความปรารถนาที่มนุษย์จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีทั้งหมดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เท่าที่เขาพึงจะทำได้ตามศักยภาพ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะเข้าไปช่วยเป็นอย่างมาก ต่างจากความต้องพื้นฐาน และความต้องการด้านการยอมรับ ฯ ที่เป็นความต้องการขั้นต่ำกว่าที่อาศัยวิทยาศาตร์และสังคมศาสตร์เป็นหลักก็เพียงพอ

ถ้าพูดเรื่องการใช้ศิลปะในการสื่อสาร เดี๋ยวจะยาว ไปที่หัวข้อสุดท้ายเลยละกัน คือ ผู้รับสาร

 

3.ผู้รับสาร

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมก็ไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร มันดูแห้งๆและดูว่าคนรับสาร Passive มาก คือ รับอย่างเดียวไม่มีผลอะไรกับเราเลย  แต่อย่างว่า ข้อจำกัดของภาษา ทำให้เราเล่าได้เท่านี้ ก็โอเค ใช้มันไป แต่ต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้หมายความแยกส่วนและหยุดนิ่งแบบที่กระแสหลักเข้าใจ

 

ถ้ามองประสบการณ์ที่ผมเล่าไปในวันนี้ ก็จะเป็นเรื่องผู้รับสาร ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผมรู้สึกเหมือนเป็นนิเวศสังคม เป็นสนามพลัง อันนี้วางหัวคิด วางหัวใจ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติก่อน โอเค แล้วเราไปต่อ ไปมองวิสัยทัศน์ด้วยว่า ที่เราทำเหมือนเป็นสมมติฐานนี่มันจริงไหม ก็พบว่าจริง คือ กลุ่มชาติพันธุ์แม้มีความเป็นชุมชนเป็นหน่วยกลางๆ แต่ในหน่วยกลางๆนั้น มีหน่วยย่อยที่สำคัญยิ่งมาแต่บรรพกาล นั่นคือ ครอบครัวและเครือญาติ ที่เวลาเกิดเหตุเภทภัย ฉุกเฉิน ยากจะรับมือ หน่วยครอบครัว-เครือญาตินี่จะแสดงพลังชัดมาก

 

เมื่อเราเข้าใจระบบความสัมพันธ์แบบนี้แล้ว การสื่อสารกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เราจึงต้องคิดว่าจะ Connect จะ Touch จะ Osmosis กับเขาอย่างไร คิดถึงความสัมพันธ์ และเนื้อหาที่เป็น Social  Content ตรงนี้ก่อนค่อยไปวางเทคนิค

 

 

จุดที่น่าสนใจที่ผมใช้ และเป็นบทเรียนที่ผมได้เห็นจาก Social & Health Influencer ในแม่ฮ่องสอน หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น หมอสุพัฒน์ ผอ.รพ.ขุนยวม (อดีต ผอ.รพ.ปางมะผ้า)อาจารย์เก ประธานสภาพลเมือง และผู้นำด้านวัฒนธรรม , ผอ.รพ.สต. เมืองปอน อย่าง หมอพรชัย , พยาบาลฉุกเฉิน Sky Doctor อย่างหมอบิว รพ.ศรีสังวาลย์ และใครต่อใครอีกหลายคน คือ ท่นเหล่านี้ ต่างเป็นคนที่ผลิต Content on Context เป็นนักเล่าเรื่องสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเปิดให้เห็นรากเหง้า ตัวตน ชีวิตครอบครัวตลอดจนเครือญาติ ทำให้สามารถเชื่อมที่ Connect , Touch , Osmosis ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆผ่านมิติที่หลากหลาย

 

จุดนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำไม่ได้เลยหากไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ชีวิต อัตลักษณ์ สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

นี่กระมัง เป็นกระบวนการสื่อสารเฉพาะ จะเรียกเป็นกลเม็ด เคล็ดลับอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่สำหรับผม ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ และบทเรียนที่น่าสนใจของพื้นที่แม่ฮ่องสอน ที่ใครๆก็ถือว่าเป็นพื้นที่เมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

 

ซึ่งเอาเข้าจริงความพิเศษเหล่านี้ก็มีแตกต่างกันไปในทุกเมือง

 

ไม่จำต้องทำตามแบบผมก็ได้ หากแต่น่าจะได้หลัก ได้แนวคิดอะไรบางอย่าง ในเรื่องการสื่อสารกับผู้คนในยุค COVID ไปจนถึง Post-COVID in VUCA World นี้

 

ว่าจะพิมพ์แค่หน้าเดียว นี่ยาวมาถึงหก ก็นับว่ามากไปแล้ว มีอะไรก็ซักถาม ชี้แนะกันได้นะครับ เรายังมีอะไรที่ไม่รู้ และรู้ผิดๆอีกมาก การหมั่นทบทวนตัวเอง ศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย วิสาสะกับกัลยาณมิตร จะช่วยให้เราไม่ติดหล่ม และยกตัวเองขึ้นจากวังวนนี้ไปด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 693802เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2021 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2021 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท