กลุ่มครึ่งๆ : สะท้อนคิดจากการออกชุมชนของนักศึกษาแพทย์ ปี ๓  โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์


 

กลุ่มครึ่งๆ : สะท้อนคิดจากการออกชุมชนของนักศึกษาแพทย์ ปี ๓   โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์

 

จบไปแล้วกับการออกชุมชนกับ นศ ปี 3 ปีการศึกษานี้ (เริ่มเรียน 1-26 พย สิ้นสุดออกชุมชนเมื่อ 22 พย) รุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นที่ผ่าน ๆ มา รุ่นก่อน ๆ นศ ตอนอยู่ปี 2 จะออกชุมชนประมาณ 10 วัน เพื่อเรียนรู้การพูดคุยกับชาวบ้าน และศึกษาถึงสุขภาพทั้ง 4 มิติ (กาย จิต สังคม ปัญญา) ร่วมกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ (บุคคล สิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพและสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และระบบริการสุขภาพ) และ ปี 3 จึงออกชุมชนเดิมอีกประมาณ 10 วัน เพื่อร่วมกับชุมชนค้นหาปัญหาสุขภาพเพื่อนำมาทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับชุมชน

 

สำหรับรุ่นนี้ ตอนอยู่ปี 2 เป็นช่วงเดือน มิย 63 ที่เรียนรายวิชานี้ของปี 2 ตรงกับโควิดระบาดระลอกแรก ทำให้ไม่สามารถออกชุมชนได้ ต้องเรียนแต่ทฤษฎีของปี 2 และ ปี 3 ไปก่อน มาปีการศึกษานี้ต้องออกชุมชน โดยรวมกิจกรรมที่ต้องทำในชั้นปี 2 และ ปี 3 ไว้ด้วยกัน คือ ฝึกพูดคุยกับชาวบ้าน ศึกษาสุขภาพ ปัจจัยกำหนดสุขภาพ ค้นหาปัญหา และทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเวลาในการออกชุมชนเพียง 10 วัน (นับจริง ๆ จะแค่ 8 วัน

 

ครึ่ง เพราะ บางวันออกแค่ครึ่งวันต้องมีเรียนกันอีกครึ่งวัน) นอกจากนี้ ตามมาตรการป้องกันโควิด ให้ นศ ออกไปแต่วันละครึ่งกลุ่ม (กลุ่มหนึ่งมี นศ 10-11 คน) ทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า แต่ในที่สุด นศ ทั้ง 16 กลุ่มก็สามารถทำกิจกรรมครบถ้วนตามที่ระบุไว้ได้ ถึงแม้อาจไม่สมบูรณ์ หรืออาจมีส่วนร่วมกับชุมชนไม่มากเท่ารุ่นก่อน ๆ

 

นศ กลุ่มที่ผมเป็นอาจารย์ประจำกลุ่มมีจำนวน 11 คน ตามเงื่อนไขมาตรการโควิด นศ ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ไม่สามารถมาเรียนกลุ่มย่อย on-site และไม่สามารถออกชุมชนได้ ในกลุ่มผมมี 1 คนที่ฉีดไม่ครบ 2 เข็มตอนเริ่มเรียน เพิ่งฉีดเข็มสองไปเมื่อวันพฤหัสก่อน สำหรับการเรียนกลุ่มย่อย ๆ เพื่อน ๆ เห็นใจเพื่อนคนนี้เลยไม่อยากให้เรียน on-site แล้วทิ้งให้เพื่อนเรียน online คนเดียว จึงเสนอให้เรียน online เหมือนกันหมด จะได้เท่าเทียมกัน ผมฟังเหตุผลแล้วแอบซาบซึ้งน้ำใจที่มีให้กัน

 

การเรียนกลุ่มย่อยครั้งแรกจึงต้องคุยวางแผนกันภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ออกชุมชน 8 วันครึ่ง จะแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ 4-5 พย ไปแนะนำตัว พูดคุยกับชาวบ้าน ศึกษาสุขภาพ ปัจจัยกำหนดสุขภาพของชุมชน 10-13 พย เก็บข้อมูลสุขภาพ 

 

ปัจจัยกำหนดสุขภาพต่อ และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ร่วมกับ อสม และชาวบ้านจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อเลือกมา 1 เรื่องทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ และ 17-20 พย เตรียม ทำโครงการ ประเมินผลโครงการ และลาชุมชน

 

คุยกลุ่มย่อยครั้งแรก ผมกังวลเรื่องเวลาอันจำกัดเป็นอย่างมาก เพราะผมยังยึดติดเรื่องเวลา แต่พอเสร็จกลุ่มย่อย นศ ก็ตกลงกันว่า จะพยายามทำกิจกรรมให้ได้มากที่สุดตามช่วงเวลาและงานที่กำหนดไว้ สำหรับเรื่องเพื่อนที่ไม่ได้ออกชุมชน นศ ตกลงกันว่าจะใช้เทคโนโลยีพาเพื่อนติดตัวไปด้วยใน tablet/มือถือ เพื่อให้เพื่อนได้ทำกิจกรรมเหมือนกันทุกอย่าง ทั้งพูดคุย สัมภาษณ์ชาวบ้าน และทำโครงการให้ความรู้กับชาวบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ และก็ทำได้ตามนั้นจริง ๆ ด้วย (ไม่งั้นตามกติกาก็ต้องนั่งทำรายงานอย่างเดียว)

 

วันแรกที่ออกชุมชน หลังจากไปฟังข้อมูลจาก ผอ รพสต แล้วก็แยกย้ายไปคุยกับ อสม และเดินเข้าชุมชนเป็นครั้งแรกของ นศ เป็นชุมชนใน อ สามโคก ปทุมธานี หมู่บ้านนี้มี 200 หลังคาเรือน และซีกหนึ่งของหมู่บ้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาจึงยังมีน้ำท่วมบ้านอยู่   หมู่บ้านที่ผมไปมีน้ำท่วมแค่ครึ่งแข้ง บางหมู่ท่วมครึ่งตัว นศ กลุ่มนั้นต้องเดินลุยน้ำถึงสะดือ เพราะ บ้านอยู่ติดน้ำหมด

 

นศ กลุ่มผมแม้ออกชุมชนครั้งแรกก็สามารถพูดคุยกับชาวบ้านได้ถึงจะติดขัดในช่วงแรกบ้างก็ตามที อสม ในหมู่บ้านก็น่ารักมาก พยายามพาเข้าในบ้านต่าง ๆ ที่สามารถเข้าได้ให้มากที่สุด ในที่สุดก็เดินเข้าไปได้ 60 กว่าหลังคาเรือน และได้ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเลือกปัญหามาทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพด้วย

 

เมื่อได้ข้อมูลครบ ก็มาพูดคุยกับ อสม เลือกปัญหาที่จะทำโครงการ และวางแผนเขียนโครงการร่วมกับ อสม ในที่สุดได้เรื่องการกินอาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นการเดินให้ความรู้ตามบ้าน เนื่องจาก การจัดรวมกลุ่มใหญ่เพื่อทำกิจกรรมครั้งเดียวไม่สะดวกทั้งเรื่องโควิดและการเดินทางของผู้ปวย

 

เนื่องจากแบ่งเป็นกลุ่มละ 2 คน เข้า 1 บ้านในการให้ความรู้ นศ จึงคิดว่าหากพูดไม่เหมือนกันจะไม่ดี จึงทำคลิป vdo เปิดให้ผู้ป่วยดู จากนั้นจึงสรุปสาระสำคัญโดยอาศัยโปสเตอร์ที่ทำขึ้น ครั้งนี้อีกเช่นกัน

 

ที่ อสม มาช่วยพาเดินอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ในแต่ละบ้านเมื่อให้ความรู้และประเมินเสร็จ นศ ก็จะกล่าวลาชาวบ้านเป็นบทกลอน

 

เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด วันสุดท้ายในชุมชน นศ นัดลา อสม มีการเตรียมสรุปคืนข้อมูลที่ทำให้ อสม มีการแต่งกลอนร่ำลา โดยวางแผนไว้อย่างละเอียด ให้ นศ แต่ละคนถือ tablet นำเสนอข้อมูลให้ อสม ดู เนื่องจาก กลัวว่า หากเปิดเครื่องเดียว อสม ที่นั่งอยู่หลัง ๆ จะมองไม่เห็น และตอนที่จะอ่านกลอนลา มีการเปิดคลิปภาพที่ อสม ลำบากพาเข้าชุมชน และที่สำคัญยังได้นำภาพที่เพิ่งถ่ายร่วมกับ อสม ไม่ถึง 15 นาทีก่อนหน้าใส่เข้าไปในคลิปแบบทันทีทันใดอีกด้วย บอกว่าเพื่อให้ อสม ประหลาดใจ

 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก นศ กลุ่มนี้ก็คือ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามอย่างไร นศ กลุ่มนี้มีความพยายามในการทำให้สำเร็จ และยังมีน้ำใจเป็นห่วงเพื่อน ๆ ในกลุ่ม และใส่ใจรายละเอียดกับชาวบ้านและ อสม อีกด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมหวัง (จริง ๆ ไม่ควรคาดหวัง เพราะ จะก่อให้เครียดทั้งคนหวังและคนที่ถูกคาดหวัง) ว่าจะคงอยู่ต่อไปถึงแม้ขึ้นชั้นคลินิกและจบออกไปเป็นแพทย์ ขอบคุณ นศ กลุ่มนี้มากครับที่ให้ผมได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ (และไม่ดี) ไปด้วยกัน ขอบคุณมากครับ

หมายเลขบันทึก: 693611เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2021 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2021 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท