ชีวิตที่พอเพียง 4091. เล่าไว้ในวัยสนธยา : (๓๗) วัยรุ่นสามรุ่น


 

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลูกชายกับหลานสาว เยเช (ดญ. จินญาณา พานิช อายุ ๑๓ ปี) มาเยี่ยมย่ากับปู่    ผมฝากหนังสือ สอนเด็กให้เป็นคนดี(ดาวน์โหลดได้ฟรี) ไปให้แม่และพ่อของเขาคนละเล่ม    และบอกว่า สำหรับเรียนรู้เรื่องการฟังลูกที่เป็นวัยรุ่น       

เด็กวัยรุ่น “ออกอาการ” แทบทุกคน ในทุกยุคสมัย    เป็นวัยแห่งมรสุม ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนและอื่นๆ ภายในร่างกาย    ผู้ใหญ่จึงต้องเรียนรู้วิธีช่วยให้ลูกหลานวัยรุ่นผ่านพ้นวิกฤติชีวิตวัยรุ่นไปด้วยดี    ไม่เกิดอาการ “ชีวิตอับปาง" ตอนวัยรุ่น   

ผมย้อนรำลึกถึงตอนตัวเองเป็นวัยรุ่น    โชคดีที่อยู่ในชนบท  สิ่งแวดล้อมที่เย้ายวนมีน้อย    รวมทั้งผู้ใหญ้แวดล้อมก็คอยเตือนไม่ให้ “ใจแตก”  และ “เสียคน”    คนบ้านนอก ความรู้น้อย ไม่เข้าใจกลไกด้านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงวัยรุ่น   แต่ก็รู้ว่ามีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งพลาดท่าเสียทีในชีวิต    โดยแรงขับดันด้านในของตนเองทำให้ “ได้เมีย”  และ “มีลูก” ตั้งแต่อายุยังน้อย    หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวติดพันกับทางเสื่อม เช่นยาเสพติด  การพนัน     เป็นการตัดอนาคตการเรียนของตนเองไป   

เพื่อนของพ่อคนหนึ่ง ชื่อ ลุงเอื้อน เป็นคนคุยสนุก และรักผมมาก   บอกผมว่า ให้ท่องไว้ว่า “สตรีคือศัตรู”   ซึ่งหมายถึงศัตรูต่อความก้าวหน้าในชีวิต     

ตอนเป็นวัยรุ่นที่จังหวัดชุมพร จำได้ว่า ผมน่าจะเป็นคนเด่นพอสมควร   เด่นในด้านเป็นคนเรียนเก่ง  และพ่อแม่เป็นคนมีฐานะ   ดังนั้นจึงน่าจะเป็นที่หมายปองของสาวๆ   แต่ตอนนั้นผมโชคดีที่ไม่ประสีประสาอะไร   ครั้งหนึ่งตอนอายุ ๑๔ - ๑๕  ผมไปเที่ยวงานศิลปหัตถกรรม ตอนค่ำกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนชุมพร “ศรียาภัย”   งานจัดตรงลานหน้าศาลากลางจังหวัดในสมัยนั้น   มีการออกร้านขายผลงานการฝีมือของโรงเรียน   ที่ร้านของโรงเรียนการช่างสตรีมีผลงานเย็บปักถักร้อยมากมาย    เมื่อหนุ่มๆ เดินเข้าไปชม  นักเรียนสาวๆ เรียกชื่อคนไปชมชวนเชิญให้ซื้อกันเสียงขรม   ผมตกใจที่เขารู้จักผม และระดมกันเชิญชวนให้ผมซื้อ ในลักษณะที่ผมน่าจะเป็นเสี่ยกระเป๋าหนัก   โดยในความเป็นจริงผมมีเงินในกระเป๋าไม่กี่บาท    คิดย้อนกลับไป หากผมเป็นคนเจ้าชู้    น่าจะได้เมียตั้งแต่ตอนนั้นได้    โชคดีที่ไม่ประสีประสา

เช้าวันที่ ๑๗ ตุลาคม ผมเอ่ยกับลูกสาว เรื่องอาการวัยรุ่นของเยเช ที่ทำให้เขากับพ่อคุยกันไม่รู้เรื่อง    และถามว่าเขาสร้างความปวดเศียรให้ป้าจิตร (ลูกคนนี้มาอยู่กับป้าตั้งแต่เด็กจนโต) แค่ไหน    เธอตอบว่า พฤติกรรมวัยรุ่นของเยเชกับของเธอต่างกัน    เยเชดื้อแบบเถียง  แต่เธอดื้อแบบเงียบ   

ทำให้คิดย้อนกลับไปสมัยเลี้ยงลูกวัยรุ่น   ที่ช่วงนั้นผมกำลังทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย    น่าจะมีผลให้ลูกบางคนรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร   แต่คงจะบรรเทาด้วยความคิดว่าพ่อมีงานยุ่งมาก    แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในลูกทั้ง ๔ คนคือ    เขาจัดพื้นที่ความคิด และพฤติกรรมเห็นที่เป็นส่วนตัวของเขาไม่ให้พ่อแม่รุกล้ำ     โดยตระหนักว่า พ่อมีแนวโน้มจะเข้าไปจัดการตัวพวกเขา     คล้ายๆ เป็นการเล่นเกมรักษาพื้นที่ส่วนตัว     โดยที่ผมคอยดูอย่างระมัดระวังอยู่ห่างๆ   

เพราะพ่อเป็นตัวแบบของคนที่มีจุดยืนเป็นของตัวเองอย่างมั่นคง     ลูกๆ ของผมจึงไม่อยากเดินตามรอยพ่อ อยากเป็นตัวของตัวเอง   ลูกบางคนที่เรียนดีในระดับสอบเข้าเรียนหมอได้ ตัดสินใจไม่เรียนแพทย์    มีผลให้ชีวิตของเขาระหกระเหินกว่าที่ควร   แต่ผมก็คิดว่า มีผลให้มีคนสมองดีและเป็นคนดี ไปทำงานด้านอื่นให้แก่ประเทศบ้าง    น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าเรียนเป็นหมอ   

ชีวิตวัยรุ่น เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ สู่ชีวิตในอนาคต    ใครเป็นผู้กำหนด บอกไม่ได้   แต่พ่อแม่ที่เข้าใจสภาพของลูกหลานวัยรุ่นจะช่วยประคับประคองได้มาก   

หนังสือ สอนเด็กให้เป็นคนดี เป็นเรื่องจิตวิทยาเด็ก   ตังแต่เด็กเล็ก ไปจนเป็นวัยรุ่น    คนเป็นพ่อแม่ หากเข้าใจลูก    จะสามารถช่วยให้ลูกผ่านพ้นปัญหา และมีชีวิตที่ดีได้       

วิจารณ์ พานิช 

๑๗ ต.ค. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693354เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2021 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2021 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนมีจุดยืนอย่างมั่นคงหายากในปัจจุบันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท