ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๘๕. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๕) สร้างผลกระทบจากตัวอย่างที่ดี 


 

การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ของ กสศ.  เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔    มีการนำเสนอ ร่าง แผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (2565 – 2567) ที่ผมคิดว่าควรปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติม    ให้มีแผนสร้าง impact จากแผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ     

เพราะโครงการนี้ดำเนินการมาเกือบ ๓ ปีแล้ว    มีตัวอย่าง good practice มากมาย   แต่ไม่ได้ harvest เอามาสร้างผลกระทบต่ระบบการศึกษา ตามเป้าหมายของคณะกรรมการบริหาร กสศ. ที่ต้องการให้ กสศ. ทำหน้าที่ catalyst for change แก่ระบบการศึกษา    ในร่างแผนนี้ ไม่มีโครงการหรือแผนงานสร้าง impact อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม          

ในที่ประชุม มีกรรมการแนะนำว่า เนื่องจากเป็นแผนงาน ๓ ปีที่สอง    จึงควรเขียนให้เห็นผลงานของ ๓ ปีแรก   ว่ามีผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไรบ้าง    และเมื่อครบ ๓ ปีที่สอง จะเห็นผลลัพธ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างไรบ้าง     ผมมองว่า ร่างแผนที่เสนอมา เขียนแบบ descriptive   ควรปรับให้เป็นแบบ analytical, statistical และ strategic    คือมีตัวเลขแยกแยะผล    ชี้ให้เห็นจุดเป้าหมายที่ยังทำได้ไม่ดีนัก จึงต้องเน้นจัดการแนวใหม่ที่จุดเหล่านั้น   

  เมื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ดี ณ จุดใด (โรงเรียนใด)    ต้องมีการเข้าไปค้นหา เมื่อพบ ต้องเอาเกณฑ์เข้าจับ ว่าบรรลุผลลัพธ์ที่ดีในระดับใด (มีข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือ)   แล้วค้นหาว่า ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนมาอย่างไร จึงบรรลุผลดีในระดับนั้น   มีขั้นตอนที่ได้เผชิญอุปสรรคอย่างไรบ้าง   และเอาชนะได้อย่างไร    ก็จะเป็น “กรณีเรียนรู้” ที่ทรงคุณค่า   และหากจะช่วยเพิ่มคุณค่าการเรียนรู้ให้แก่ทีมงานของโรงเรียนนั้น ต้องช่วยตั้งคำถามและสานเสวนากัน ให้เขาค้นพบจุดปรับปรุงต่อเนื่องของเขาด้วย    ช่วยให้เขาสมาทาน growth mindset   อย่าให้เขาหลงยึด fixed mindset ว่าตนทำได้ยอดเยี่ยมแล้ว     

 ในปัจจุบัน โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ น่าจะมี “ตัวอย่างที่ดี” (good practice) สองสามร้อยกรณี   ที่มีรายละเอียดของผลที่บรรลุ และเส้นทางแห่งความมานะพยายาม ที่แตกต่างหลากหลาย   รวมทั้งระดับของการบรรลุผลในระดับดีเยี่ยมต่างจุดต่างรายละเอียด  ยิ่งเส้นทางของการเดินทางสู่ความสำเร็จยิ่งแตกต่างหลากหลาย   ที่ต้องการการจัดกระบวนการเข้าไปค้นหา    จะเห็นว่า  ร่าง แผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (2565 – 2567) ยังไม่แตะงานส่วนนี้    นี่คือ “การจัดการผลลัพธ์” หรือ จุดเริ่มต้นของ “การจัดการผลกระทบ”    ที่ควรเป็นงานใหญ่ใน ๓ ปีที่สองของโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ    ที่ผมเสนอว่า ควรใช้ทรัพยากร ประมาณครึ่งหนึ่งของทรัพยากรทั้งหมด ใน ๓ ปีที่สอง   

ความยากหรือท้าทาย อยู่ที่การมีเกณฑ์บอกระดับของความสำเร็จที่แม่นยำ   และมีผู้เข้าไปร่วมสานเสวนากับทีมงานของโรงเรียน (ใช้ DE) จนเห็นพ้องกันว่า ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจอยู่ตรงไหนบ้าง   สำเร็จในระดับใด  มีประเด็นเรียนรู้อะไรบ้างจากกระบวนการฟันฝ่าร่วมกันของทีมงานจนบรรลุ    และมีจุดที่เรียกว่า OFI = Opportunity for Improvement อยู่ตรงจุดใดบ้าง

ผู้เข้าไปร่วมสานเสวนากับทีมงานต้องมีทักษะสูง  ต้องฝึกฝนเรียนรู้วิธีทำงานอย่างรวดเร็ว    เน้นปฏิสัมพันธ์แนวราบ      

คุณค่าของการศึกษาตัวอย่างผลงานที่ดี ไม่ใช่เน้นเฉพาะที่ผลลัพธ์   ต้องเน้นที่กระบวนการต่อสู้ฟันฝ่าร่วมกันของทีมงานมากกว่า     คือ เน้นที่ผลลัพธ์เพียงหนึ่งในสาม    อีกสองในสามเน้นเรียนรู้จากกระบวนการทำงานร่วมกันของทีมงานจนบรรลุผลที่น่าชื่นชม   เพราะนี่คือจุดของการเรียนรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง          

ในการศึกษาความสำเร็จ ต้องช่วยกันค้นหา OFI เสมอ    เพื่อขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ growth mindset  ขับไล่ fixed mindset หรืออหังการ์ (กูแน่)    ให้สมาทานแนวคิด “พวกเราต้องร่วมกันปรับปรุงเรื่อยไป”   ที่ในภาษาของกระบวนการคุณภาพเรียกว่า CQI = Continuous Quality Improvement            

และทีมศึกษาผลสำเร็จ ต้องไม่เข้าไปที่โรงเรียนด้วยท่าทีของผู้ประเมิน  แต่ใช้ท่าทีของผู้ร่วมเรียนรู้  ตั้งคำถาม (ที่เฉียบคม) อย่างกัลยาณมิตร  มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีข้อมูลหลักฐานยืนยันให้น่าเชื่อถือ   ทีมศึกษาผลสำเร็จสามารถสร้างความประทับใจหรือความเชื่อถือแก่ทีมงานของโรงเรียนได้   โดยการเก็บข้อมูลและชี้ให้ทีมงานของโรงเรียนเห็นความสำเร็จที่ตนมองไม่เห็น    โดยชี้ให้เห็นว่า หากมีการเก็บข้อมูลบางอย่างเพิ่ม จะช่วยยืนยันข้อเรียนรู้แก่ทีมงานเอง และเอาไปแชร์แก่โรงเรียนอื่นได้   

สะท้อนคิดมาเสียยาว ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นภารกิจ หรืองานในส่วน “การจัดการผลลัพธ์” และ “การจัดการผลกระทบ”  ที่สำนักครูฯ ของ กสศ. ยังเห็นไม่ชัด            

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.ย. ๖๔ 

 

  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท