ระบบการศึกษาชุมชน


 

ผมปิ๊งแว้บไอเดียตามชื่อบันทึกนี้ระหว่างประชุมหารือยุทธศาสตร์การทำงานของ กสศ. ยุคหลังโควิด  เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔   

ที่จริงก็ได้แนวคิดมาจากระบบสุขภาพชุมชน (community health systems)   นำสู่คำถามว่า เราจัด community education systems ได้ไหม   ควรจัดไหม   ถ้าจัดควรจัดอย่างไร   คำตอบคือธรรมชาติของเรื่องสุขภาพกับเรื่องการศึกษาแตกต่างกันมาก   

หลักการสำคัญคือ    ไม่ว่ารื่องอะไร หากประชาชนหวังพึ่งภาครัฐทั้งหมด   โดยประชาชนไม่รวมตัวกันจัดระบบเพื่อพึ่งตนเอง ช่วยเหลือกันเองส่วนหนึ่ง    ระบบนั้นๆ จะไร้คุณภาพและประสิทธิภาพต่ำ    อย่างระบบสุขภาพ ประชาชนต้องรวมตัวกันสร้างชุมชนที่มีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค   และร่วมมือกันช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้     รวมทั้งมีระบบร่วมมือกับระบบบริการสุขภาพในการเชื่อมต่อการดูแลที่บ้านกับที่โรงพยาบาล    โดยที่ระบบสุขภาพภาครัฐนั่นเอง เข้าไปหนุนการจัดตั้งระบบสุขภาพภาคประชาชน   

โควิดมาบอกเราว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องมีส่วนจัดการเรียนรู้ให้ลูก    ไม่ใช่ยกให้เป็นภาระของโรงเรียนทั้งหมด    ยามโควิดระบาด เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน    พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ “ผู้ช่วยครู” ให้ลูกเรียนวิชา และพัฒนาสมรรถนะตามเป้าหมาย    โดยเรียน ออนไลน์   

แต่พ่อแม่ยากจน ต้องทำงานปากกัดตีนถีบ   ต้องทำงานจึงจะมีรายได้   การหยุดงานเพื่อดูแลการเรียนรู้ของลูกจึงทำได้ยาก    ในกรณีเช่นนี้ การจัดระบบชุมชน (community organization) เพื่อการศึกษาของเด็ก จึงน่าจะช่วย    นั่นคือ มีระบบอาสาสมัครชุมชนช่วยเป็นผู้ช่วยครูแทนพ่อแม่ และอาสาสมัครหนึ่งคนอาจดูแลเด็กสองสามคน    รายละเอียดของการจัดระบบน่าจะมีมาก และต้องทดลองในหลากหลายบริบท   

แม้ยามปกติ ชุมชนก็ควรรวมตัวกันจัดระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน    เพื่อเป็นฐานให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตไปมีชีวิตที่ดี    เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนรุนแรงต้องได้รับการสนับสนุนให้ตั้งเป้าว่า โตขึ้นตนจะหลุดจากความยากจน และเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีชีวิตที่สุขสบายได้    เริ่มจากตอนเป็นเด็กต้องหัดช่วยตัวเอง    หาทางให้ตัวเองมีอาหารกินอิ่มครบมื้อ เพื่อให้ร่างกายและสมองเติบโตแข็งแรง   ไม่หวังรอความช่วยเหลือ

ชุมชนช่วยกันชักชวนเด็ก (และพ่อแม่) ในบ้านที่ยากจน   ให้รวมตัวกันปลูกผักเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารของตนเอง และอาจขายหารายได้มาซื้อเครื่องใช้ในการเรียน   การรวมตัวกันของเด็กยากจนนี้หวังผลสามต่อ    คือ (๑) สร้างความคิดมุ่งพึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น  (๒) สร้างทักษะการทำงาน  และ (๓) เพื่อร่างกายและสมองที่เติบโตแข็งแรง   

การเรียนรู้ของเด็ก (และของทุกวัย) เกิดจากการได้ฝึกหรือการลงมือทำ ตามด้วยการสะท้อนคิด    นอกจากเด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้จากการเรียนวิชาและฝึกสมรรถนะ รวมทั้งจากการทำงานบ้านแล้ว   ในยามว่างเด็กและเยาวชนควรได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ตนชอบ    เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการเรียนรู้   ชุมชนจึงควรจัดชมรมให้เด็กได้เข้าทำกิจกรรมร่วมกันตามความชอบความถนัดของตน  เช่นชมรมฟุตบอลล์, ชมรมบาสเก็ตบอลล์, ชมรมกีฬาอื่นๆ, ชมรมดนตรี, ชมรมนาฏศิลป์ (เช่นโขน), ชมรมถ่ายรูป, ชมรมวาดรูป, ชมรมเลี้ยงกบ, ชมรมการเกษตร, ชมรมภาษาจีน, ฯลฯ 

กิจกรรมเหล่านี้ น่าจะมีครูบางคนที่ทำงานแบบอาสาสมัครในการร่วมจัดระบบ    และจริงๆ แล้ว ระบบการศึกษาชุมชนเหล่านี้ ควรมีคนในระบบการศึกษาภาครัฐนั่นเองเป็นผู้ริเริ่มสนับสนุน    แต่ทำในนามของอาสาสมัคร ด้วยการเห็นคุณค่า    ไม่ใช่ทำตามหน้าที่

นี่คือฝันที่ผมอยากเห็น กสศ. ทำหน้าที่ catalyst for change ให้แก่ระบบการศึกษาไทย    เป็นระบบคู่ขนาน    มีทั้งระบบการศึกษาของราชการ และระบบการศึกษาของชุมชน   ที่ทำงานเอื้อหนุนซึ่งกันและกัน   ร่วมกันสร้างพลเมือไทยรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนรู้จากการลงมือทำ    ภายใต้ความคิดมุ่งพึ่งตนเอง และหวังช่วยเหลือผู้อื่นและทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม    โดยครูทำตัวเป็นตัวอย่าง     ครูเป็นทั้งครูข้าราชการ  และเป็นประชาชนจิตอาสา    ร่วมกับชาวบ้านสร้างระบบการศึกษาชุมชนที่มีความไวในการปรับตัว    และมีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนของตน

กสศ. น่าจะได้พิจารณารับสมัครหมู่บ้านหรือตำบลนำร่อง จัดระบบการศึกษาชุมชนเพื่อลูกหลานของตน   โดยน่าจะเริ่มทดลองปีแรกเพียง ๑๐ – ๒๐ แห่งก่อน   โดยประกาศรับสมัครแบบมีเงื่อนไข   และไม่ควรสนับสนุนเป็นเงิน    แต่สนับสนุนการร่วมกันคิดและทดลองทำ    รวมทั้งการระดมทุนจากภายในชุมชนเอง   หรือชวนเด็กและเยาวชนทำกิจกรรมหารายได้เอามาพัฒนาระบบ    คือให้การริเริ่มนี้เป็นกลไกสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งไปในตัว    หาก กสศ. ทำโครงการแบบใช้เงินนำ     จะได้ชุมชนที่สมัครเพราะอยากได้เงิน   ไม่ใช่เพราะอยากสร้างระบบการศึกษาเพื่อเยาวชนขงตนอย่างแท้จริง      

     

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ย. ๖๔

            

หมายเลขบันทึก: 693089เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2021 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2021 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท