แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ OECD เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ


 

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ ผมเข้าร่วมประชุม Webinar กับทีม OECD  เรื่อง Teaching, learning and assessing 21st Century Skills in education : Thailand’s experience   โดยผมเข้าร่วมในฐานะทีมงานของ กสศ.   ที่มีคนเข้าฟังกว่าสามร้อยคน    ใช้เวลาชั่วโมงเดียว   

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง บันทึกเทปการกล่าวเปิดสั้นๆ นำมาเสนอต่อที่ประชุม     แล้ววิทยากรฝั่งไทยมี ๓ คน คือ ดร. สิริกร มณีรินทร์ เล่าเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ   ผมเล่า health systems reform ของไทยโยงเข้าสู่ education systems reform   ที่ต้องการการวิจัยระบบ    ดร. ไกรยส ภัทราวาท เล่ากิจกรรมหลัก ๕ กิจกรรม เพื่อเป็น catalyst for change ของการศึกษาไทย     

หัวหน้าใหญ่ด้านการศึกษาของ OECD  Andreas Schleicher ให้ข้อสังเกตที่มีคุณค่ามาก ว่า

  • ในการเปลี่ยนหลักสูตรจาก content-based ไปเป็น competency-based  ต้องทำให้ครูสอนน้อยสาระลง หันไปเพิ่มความลึกของการเรียนรู้   จึงจะบรรลุการพัฒนาสมรรถนะ    นอกจากนั้นท่านบอกว่า มีหลักฐานจากทั่วโลกว่า หากไม่จัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง    ไม่ว่าจะเปลี่ยนหลักสูตรกี่ต่อกิ่ครั้ง  ก็จะไม่มีผลต่การเรียนรู้ของนักเรียน    ท่านยกตัวอย่างประเทศเกาหลี  ที่เปลี่ยนหลักสูตรหลายครั้ง  แต่นักเรียนยังเรียนแบบเดิม   เพราะพ่อแม่เน้นที่ผลสอบของลูก    ตรงกันข้าม ประเทศปอร์ตุเกส ไม่ได้เปลี่ยนหลักสูตร    แต่เปลี่ยนการเรียนการสอน ทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้นมาก    ผมตีความว่า เปลี่ยนหลักสูตรในกระดาษและที่กระทรวงศึกษาธิการ   โดยไม่จัดการให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไปถึงตัวเด็ก ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ความหมาย 
  • วงการศึกษาทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมที่มีสภาพอนุรักษ์    นักการเมืองที่เข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาจึงมักไม่เป็นที่ชื่นชอบ และเก้าอี้หลุดได้ง่าย   เพราะจะเปลี่ยนได้จริงต้องดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก        
  • ต้องใช้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เข้าช่วย   ดำเนินการให้สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา    จึงจะสำเร็จ    นั่นคือ ต้องดำเนินการ engage กับพ่อแม่และนอกวงการศึกษา   
  • ต้องเน้นการเปลี่ยนวัฒนธรรม    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมข้อมูลหลักฐาน    

สองชั่วโมงเศษหลังการประชุมเสร็จสิ้นเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. ทาง OECD ก็ส่งข้อมูลมาบอกว่าคนเข้าชมทางซูมมี ๓๖๐ คน    และเข้าถึงคนทาง เฟศบุ๊ก ๑,๒๒๔ คน    และส่งลิ้งค์วิดีทัศน์มาให้   ชมได้ที่ (๑) 

ในเวลา ๑ ชั่วโมง  คุยกันเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งยวด อย่างเรื่องคุณภาพการศึกษาได้ไม่ครบด้านหรอกครับ     แต่ข้อสังเกตของทาง โออีซีดี ก็มีคุณค่ายิ่งต่อการขับเคลื่อนในประเทศไทย     

วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 693055เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2021 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2021 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เคยได้ยินนักการศึกษาผู้เกี่ยวข้องวิพากษ์การศึกษาบ้านเราเมื่อหลายปีก่อนคล้ายๆกันนี้ “ไม่ว่าจะเปลี่ยนหลักสูตรไปอย่างไร ครูที่โรงเรียนยังสอนเหมือนเดิม”

ถ้าพิจารณาให้ดีที่ผ่านมาการจัดการเรียนการสอนของครูที่โรงเรียนน่าจะมีความสอดคล้องกับความต้องการจริงๆของสังคมโดยรวม รวมทั้งปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องเสมอ

ฉะนั้น ที่สำคัญกว่าการปรับเปลี่ยนหลักสูตร หากหวังความสำเร็จ..ศธ.ควรพัฒนาสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆกันด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท