ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๗๔. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๓) ปฏิบัติตามกฎหมาย กับปฏิบัติเพื่อ DLL


 

ช่วงกลางเดือนกันยายน ๒๕๖๔ กสศ. คร่ำเคร่งอยู่กับการจัดทำแผนแม่บท ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๘    ของ กสศ.   เป็นการดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ โดยใช้หลักการบริหารงานสมัยใหม่หลากหลายรูปแบบอย่างน่าชื่นชมยิ่ง     ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร ผมจึงได้เรียนรู้จากกระบวนการดังกล่าว เป็นอย่างมาก   

ยิ่งได้รับร่างของแผนแม่บทมาอ่าน แล้วเข้าอินเอร์เน็ต ตอบแบบสอบถามตอบประเด็นสำคัญ ๕ ประเด็น     และผม reflect ลงบนเอกสาร แล้วส่งกลับ เพื่อให้ทีมบริหารได้เห็นรายละเอียดเชิงหลักการ    ว่าผมมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างอย่างไร    และท่านผู้จัดการส่งอีเมล์สั้นๆ มาหารือว่า     กสศ. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย   ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นก็ทำได้อยู่แล้ว   ทำให้ผมคิดถึง ๒ หลักการ ที่ควรนำมาแลกเปลี่ยน    โดยไม่ยืนยันว่าวิธีคิดแบบใดถูกต้อง   

หลักการสองประการคือ หลักการ both … and ...    กับหลักการ DLL – Double-Loop Learning  

หลักการ both … and ...  เป็นขั้วตรงกันข้ามกับหลักการ either … or …     โดยที่ either … or … เป็นวิธีคิดและปฏิบัติแบบเลือกข้างสิ่งที่แตกต่าง หรือเป็นขั้วตรงกันข้าม    สมัยผมอายุน้อย เมื่อ ๔๐ – ๕๐ ปีมาแล้ว   เราสมาทานความคิดแบบแยกขาวกับดำ   ต้องตัดสินใจเลือกข้าง คือใช้หลักการ either … or …    ใครไม่คิดและปฏิบัติแบบนี้ เราถือเป็นคนโลเล ไม่มีจุดยืน    บัดนี้ ผมเรียนรู้เรื่อง complexity หรือ complex-adaptive systems   ความคิดและความเชื่อเปลี่ยนไป (transformative learning) หันไปสมาทานหลักการ  both … and ...    การที่คุณหมอสุภกร ตอบมาว่า ในทางปฏิบัติ ท่านบริหาร กสศ. ตามหลักการ both … and ... จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมยิ่ง 

กสศ. ในช่วง ๓ ปีแรกของการก่อตั้ง มีการเรียนรู้สูงยิ่ง    ทั้งเรียนรู้จากการทำงาน  และเรียนรู้จากภายนอก    เกิดการเรียนรู้ทั้ง SLL (single-loop learning)  และ DLL (double-loop learning) ในระดับองค์กร    แต่ในเอกสาร แผนแม่บท ๓ ปี  ๒๕๖๕ – ๒๕๖๘   มุ่งเสนอการดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมาย    โดยที่รู้ๆ อยู่ว่ากฎหมายเขียนแบบใช้กระบวนทัศน์เก่า ที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของความไม่เสมอภาาคทางการศึกษาบางประเด็น     กระตุกให้ผมเขียนบันทึกนี้ออกแลกเปลี่ยน     

ประเทศไทย ต้องการการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในหมู่ผู้ถืออำนาจรัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ    ว่าโลกสมัยนี้มัน VUCA ไม่ว่าคิดอะไร ทำอะไร จึงมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว    ความตระหนักว่า ต้องมีการเรียนรู้แบบ DLL จึงมีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของบ้านเมืองในยุคนี้   

พอดีช่วงนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน เล่าเรื่องราวของการเรียนรู้ ที่ผมตีความว่าเป็น DLL ที่นำประเทศจีนสู่ความรุ่งโรจน์ ในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา     จึงอยากให้ชนชั้นปกครองไทยได้เข้าใจและใช้ DLL เพื่อพัฒนาประเทศไทยบ้าง   

เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ว่า    ผมอยากให้ กสศ. เขียนในเอกสารเสนอข้อเรียนรู้ว่า นิยามของความไม่เสมอภาคทางการศึกษามีความไม่ครบถ้วน     และ กสศ. จะดำเนินการแบบ both … and …    คือทั้งทำตามกฎหมาย และทำเพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาที่กฎหมายไม่ครอบคลุม   ผมเสนอความเห็นแบบไม่ยืนยันว่าความเห็นนี้จะถูกต้องในบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน    เพราะผมเป็นละอ่อนทางการเมือง         

ผมอยากเห็น กสศ. ทำงานหนุนการสร้าง DLL ระดับประเทศ    ในเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา        

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๔ 

 

  

หมายเลขบันทึก: 692983เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2021 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2021 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท