ผักบุ้งเลื้อยมา สันตะวาเลื้อยไป


ผักบุ้งเลื้อยมา สันตะวาเลื้อยไป

ผักบุ้ง หรือผักทอดยอด เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับมันเทศ เป็นพืชผักพื้นเมืองที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยและใช้บริโภคกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผักบุ้งพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดต่างๆ ตามที่ชื้นแฉะ ในนาข้าว ตามสวน หรือแม้แต่ที่รกร้าง ผักบุ้งมีลำต้นกลวง มียางสีขาว มีข้อปล้องเห็นได้อย่างชัดเจน มีรากออกตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านยาว ใบมีรูปร่างต่างกันไปตามสายพันธุ์ ดอกเป็นรูปกรวยสีขาว ชมพู หรือชมพูแกมม่วงออกตรงซอกใบ

ผักบุ้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้แก่ผักบุ้งไทยมีสีเขียวล้วน นิยมนำไปแกงเทโพ หรือใส่ในเย็นตาโฟ  ส่วนผักบุ้งที่มีก้านสีแดงแกมม่วง เรียกว่าผักบุ้งนาหรือผักบุ้งแดง นิยมกินคู่กับส้มตำหรือลาบ นอกจากนี้ยังมีผักบุ้งจีนที่นิยมนำมาผัดผักบุ้งไฟแดง เป็นผักบุ้งที่ปลูกเพื่อการค้าไม่ได้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ผักบุ้งทุกพันธุ์มีวิตามินเอสูง ถ้ารับประทานประจำจะช่วยบำรุงสายตา ในตำรายาไทยใช้ต้นต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นยาถอนพิษเบื่อเมา

สันตะวา หรือสันตะวาใบพาย ภาคอีสานเรียกว่า ผักโตวา หรือ ผักโหบเหบ ภาคใต้เรียกว่าผักหวา เป็นไม้น้ำชนิด Ottelia alismoides (L.)Pers. ในวงศ์ Hydrocharitaceae ใบบางและกรอบ ขอบใบเป็นคลื่นสีเขียวอมน้ำตาล ใบคล้ายผักกาด กลีบดอกสีขาวมี 3 กลีบ โคนกลีบสีเหลือง พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดและในนาข้าว สันตะวาเป็นพืชที่อยู่ใต้น้ำโดยมีรากยึดติดกับดิน ลำต้นสั้น ไม่มีไหล ใบเวียนรอบต้นจนดูเป็นกอ

สันตะวามีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียและแพร่กระจายไปทั่วเขตร้อน เป็นพืชน้ำที่มีอายุเพียงปีเดียว ชอบน้ำนิ่งหรือน้ำไหลช้าที่ระดับลึกไม่มาก ถ้าสภาพแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ดี สันตะวาจะเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใดที่น้ำแห้งสันตะวาก็จะแห้งตายไป คนไทยในชนบทรับประทานใบอ่อนและดอกเป็นผักสด แกล้มกับลาบ ก้อย แกงเผ็ด หรือใช้จิ้มน้ำพริก

ใบอ่อนของสันตะวามีรสจืดเย็น ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ในประเทศจีนใช้เป็นยารักษาฝี ในประเทศฟิลิปปินส์ใช้ลดไข้และรักษาโรคริดสีดวงทวาร

นอกจากสันตะวาใบพาย ยังมีสันตะวาใบข้าวที่ภาษาไทยดำเรียกว่าก้านจ้อง ใช้รับประทานกับแกงหน่อส้ม แจ่วปลาร้า แต่ปัจจุบันเป็นผักที่หากินยาก เพราะชอบขึ้นในน้ำสะอาด ปัจจุบันนี้แหล่งน้ำต่างๆเริ่มไม่สะอาดจึงไม่ค่อยพบสันตะวาใบข้าว นอกจากในชนบทที่แหล่งน้ำยังใสสะอาดอยู่

ผักบุ้งและสันตะวาเป็นพืชน้ำที่อาศัยอยู่ร่วมกันตามแหล่งน้ำต่างๆ ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พลายงามยกทัพออกจากเมืองพิจิตร ได้บรรยายธรรมชาติ ดังนี้

เหล่าบัวสายรายกอกันห่างห่าง
พอสางสางก็ตระการบานบุปผา
ทั้งกระจับตับเต่าเถาสันตะวา
ในคงคาหลายอย่างต่างต่างพรรณ

และเมื่อยกทัพออกจากเมืองสวรรคโลก ก็ได้บรรยายธรรมชาติ ดังนี้

สัตตบุษย์บัวแดงขึ้นแฝงฝัก
พรรณผักพาดผ่านก้านบุปผา
แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา
ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร
สาหร่ายเรียงเคียงทับกระจับจอก
ผักบุ้งงอกยอดชูดูสะอ้าน
ภุมรินบินเคล้าสุมามาลย์
ในธาราปลาพล่านตระการตา

สำนวน "ผักบุ้งเลื้อยมา สันตะวาเลื้อยไป" หมายถึง ถ้อยทีถ้อยตอบแทนกัน สำนวนนี้บางครั้งก็ใช้ว่า "น้ำผักบุ้งไป น้ำสายบัวมา"

ที่มาของสำนวน "ผักบุ้งเลื้อยมา สันตะวาเลื้อยไป" ทั้งผักบุ้งและสันตะวาต่างก็เป็นพืชน้ำ อาศัยอยู่ร่วมกันตามแหล่งน้ำ ต่างๆ โดยผักบุ้งลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนสันตะวาลำต้นอยู่ใต้น้ำ เว้นเสียแต่ดอกสีขาวเล็กๆเท่านั้นที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เรียกได้ว่าอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่เบียดเบียนกัน เปรียบเหมือนการใช้ชีวิตในสังคมของคนเรา ต้องพึ่งพาอาศัยกัน มีน้ำใจไมตรีถ้อยทีถ้อยตอบแทนกัน เพื่อรักษามิตรภาพให้ยืนนาน ซึ่งจะทำให้สังคมนั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692861เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2021 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท