ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๕๙. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๐) ติดตามประเมินผลเพื่อค้นหาและจัดการ emergence


 

เช้าวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีการประชุม review ข้อเสนอของทีมติดตามประเมินผลโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ของ กสศ.    ที่มี รศ. ดร. พิณสุดา ศิริธรังศรี  เป็นหัวหน้าโครงการ    ดำเนินการ ๑ ปี ช่วง พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้าย (ปีที่ ๓) ของ โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง 

โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองมีหลายโครงการย่อย   เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน    โดยเป้าหมายหลักคือ ยกระดับคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา   ให้แก่นักเรียนกลุ่มที่อยู่ในเศรษฐสังคมด้อยโอกาส      โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงเป็นโครงการที่มีความซับซ้อน (complexity) สูงมาก   และต้องหาทางให้มีการจัดการชุดโครงการนี้ในลักษณะ “จัดการ complexity”    “หรือจัดการให้ complexity ออกพลังขับเคลื่อน transformation ของระบบการศึกษาไทย” 

คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ๙ คน ร่วมกันเสวนากับผู้บริหารของ กสศ. และหัวหน้าโครงการติดตามประเมินผล เพื่อให้เป็นการทำงานติดตามประเมินเพื่อค้นหา emergence ในระบบและกระบวนการที่มีความซับซ้อนและพลวัตสูงมาก     โดย emergence (สิ่งผุดบังเกิด) ในที่นี้หมายถึงความสำเร็จเล็กๆ ในระดับโรงเรียน    ที่ทีมงานภายในโรงเรียนร่วมกันพัฒนาขึ้น    ที่มีความสำคัญต่อการนำมาขยายผล เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ของการศึกษาของประเทศ   

เท่ากับเราคิดออกแบบระบบงานของ “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง”  ให้การติดตามประเมินผล เน้นประเมินเพื่อค้นหา “นวัตกรรม” ในระดับโรงเรียน    และเมื่อค้นพบ มีการค้นหาข้อมูลหลักฐานต่อว่านวัตกรรมนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร    มีการดำเนินกิจกรรม และมีปฏิสัมพันธ์อะไรบ้าง ระหว่างใคร ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น    และหากจะให้นวัตกรรมเล็กๆ ระดับโรงเรียนเกิดขึ้นอยู่เนืองนิตย์ ต้องมีการสร้างระบบนิเวศของการศึกษาอย่างไร    รวมทั้งเสนอว่า มีลู่ทางใช้นวัตกรรมเล็กๆ เหล่านั้นขับเคลื่อน transformation ของระบบการศึกษาภาพใหญ่ของประเทศได้อย่างไร      

ผมคิดว่า ทีมติดตามประเมินผล ทำงานใน ๓ ขั้นตอนคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ  และ ปลายน้ำ 

กิจกรรมต้นน้ำ หมายถึง การค้นหานวัตกรรมในระดับโรงเรียน ที่มีผลยกระดับของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    และ/หรือช่วยให้นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสมี Effect Size ของผลลัพธ์การเรียนรู้ของตน เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับเพื่อนนักเรียนในชั้นเรียนหรือในโรงเรียน ที่ครอบครัวอยู้ในฐานะทางเศรษฐสังคมสูงกว่า   

กิจกรรมต้นน้ำ เริ่มจากการกำหนดนิยาม ว่า “นวัตกรรมระดับโรงเรียน” หมายถึงอะไร    ผลงานแบบไหนเข้าข่าย แบบไหนไม่เข้าข่าย    โดยเกณฑ์สำคัญอยู่ที่โอกาสนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ในโรงเรียน  และในระดับการจัดการระบบการศึกษาของประเทศ    กิจกรรมต้นน้ำนี้ ตามด้วยการรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในระดับโรงเรียน     

กิจกรรมกลางน้ำ หมายถึง  การทำความเข้าใจที่มาที่ไปของนวัตกรรมที่ค้นพบ จากกิจกรรมต้นน้ำ    เพื่อทำความเข้าใจ ว่านัตกรรมชิ้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร   มีปัจจัยหนุนอะไรบ้างภายในโรงเรียน   และมีปัจจัยหนุนอะไรบ้างในระบบนิเวศของระบบการศึกษา     ที่เอื้อให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าว หรือที่คล้ายคลึงกัน    รวมทั้งทำความเข้าใจในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ว่านวัตกรรมแต่ละชิ้น น่าจะมีคุณค่าต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง (transformation) ในระดับโรงเรียน และระดับระบบการศึกษาของประเทศอย่างไร   

สองขั้นตอนข้างบน คือต้นน้ำ และกลางน้ำ เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของทีมติดตามประเมินผล     

กิจกรรมปลายน้ำ  หมายถึง การดำเนินการเพื่อนำนวัตกรรมระดับโรงเรียนที่ค้นพบ ไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และขับเคลื่อนสังคม     กิจกรรมนี้ผู้รับผิดชอบหลักคือฝ่ายสื่อสารสังคมของ กสศ.    ทีมติดตามประเมินผลทำหน้าที่ให้ข้อมูล    เน้นที่ข้อมูลเชิงลึก       

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ส.ค. ๖๔ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692705เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2021 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2021 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท