นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น


นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น

ที่บ้านเลี้ยงแมวไว้หลายตัว โดยที่แต่ละตัวมีที่มาต่างๆกันบางตัวก็มีคนเอามาปล่อย บางตัวก็เดินเข้ามาขอกินขออยู่ด้วย บางทีมาขออยู่ด้วยคนเดียวไม่พอพาเพื่อนมาขอกินด้วย บ่อยครั้งที่ในบ้านมีคดีเกิดขึ้นโดยที่จับมือใครดมไม่ได้ เช่นข้าวของแตกหักเสียหาย แต่ถ้าเป็นของกินหายไปก็มักจะสังเกตได้ว่าใครที่นั่งเลียปาแผล็บๆ ส่วนใหญ่แล้วจะทำเป็นขบวนการ เสร็จแล้วก็ทำเนียน "นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" เลยต้องโทษที่ตัวเองประมาทไม่ระมัดระวัง

สำนวน "นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ. ศ. 2554 หมายถึง ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มักใช้เป็นข้ออ้างเวลาไม่อยากรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น นอนคู้ หมายถึง การนอนขดตัวงอมืองอเท้า

ที่มาของสำนวน มาจากการนอนหลับสนิท หลับเป็นตาย หรือหลับโดยไม่รู้เรื่องเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจอะไรทั้งนั้น ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอย่างไร โดยใช้คำว่านอนหลับอธิบายความเพิกเฉยดังกล่าวว่า ไม่ขอรับรู้หรือไม่ขอสนใจ คนที่นอนหลับสนิทที่เรียกว่าหลับลึกจะไม่รู้เรื่องราวใดๆที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเกิดไฟไหม้บ้าน ถ้าไฟไม่ลุกลามถึงตัวก็คงจะไม่รู้เรื่อง จึงนำมาเปรียบเทียบกันคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่รู้เรื่องราวใดๆที่เกิดขึ้น ว่า " นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น"

สำนวน "นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" ใช้ในทางกระแหนะกระแหน เป็นข้ออ้างไม่เอาตัวเข้าไปพัวพัน ปฏิเสธเอาไว้ก่อนว่าไม่รู้ไม่เห็น หรือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวใดๆ บ่งบอกถึงนิสัยชอบเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ประสีประสา รู้ความไม่ทันคนอื่น หรือเหตุการณ์ที่เป็นไป บ่งบอกถึงความพาซื่อ ไม่รู้จักสดับตรับฟัง หรือคิดเองไม่เป็น

สำนวนนี้ใช้ในการตักเตือนให้รู้จักติดตามข่าวสารต่างๆว่ามีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง เหตุการณ์นั้นๆ เกี่ยวข้องกับตัวเราหรือไม่อย่างไร เราควรจะละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะพลเมืองดี

ตัวอย่าง

ถึงคุณจะนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น แต่คุณเป็นผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ภาพนี้นุ้งจี๊ดไม่ได้ “นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น” แต่นุ้งจี๊ดฟินกัญชาแมวต้นใหญ่ที่แม่จี๊ดเก็บมาจากหน้าหมู่บ้าน

นายแบบ : น้องส้มจี๊ด 

 

หมายเลขบันทึก: 692412เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2021 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท