ขิงก็รา ข่าก็แรง


ขิงก็รา ข่าก็แรง


ขิงเป็นพืชล้มลุกมีลำต้นอยู่ใต้ดินซึ่งมีลักษณะคล้ายมือ เรียกว่า "เหง้า" ขิงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า ขมิ้น กระวาน และหน่อกะลา หรือ เร่ว ลำต้นบนดินมีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ขิงมีรสเผ็ด ยิ่งแก่ยิ่งมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมเฉพาะตัวของขิงเกิดจากน้ำมันหอมระเหยในเหง้า

สรรพคุณของขิง

ขิงมีฤทธิ์ร้อนช่วยลดน้ำหนักได้ เพียงดื่มน้ำขิงเป็นประจำวันละ 1-3 แก้ว จะช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไกลโครเจนได้ดีขึ้น ขิงมีสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ช่วยเพิ่มอัตราการนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้มากขึ้น จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

ขิงช่วยให้ประสิทธิภาพของสมองดีขึ้น มีส่วนช่วยให้ระบบการป้องกันเซลล์ประสาทดีขึ้น ลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ ขิงช่วยลดอาการจุกเสียดได้ น้ำมันหอมระเหยในขิงมีสารออกฤทธิ์คือเมนทอลและซินีออล ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารให้บีบตัวมากขึ้น จึงเกิดการขับลมออกมา นอกจากนี้ขิงยังช่วยป้องกันอาการวิงเวียนระหว่างการเดินทางได้ด้วย

ขิงมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด ลดอาการอักเสบ ยับยั้งอาการอักเสบของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ขิงช่วยรักษาอาการปวดไมเกรนได้เพียงดื่มน้ำขิงเข้มข้นเป็นประจำหรือรับประทานขิงสดบ่อยๆ นอกจากนี้ขิงยังช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ ด้วยความเผ็ดร้อนที่พอดีของขิง เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา ขิงจึงไปช่วยลดอาการไอ จาม ลดน้ำมูกได้ และขิงยังช่วยเปิดทางให้เลือดลมสูบฉีดไหลเวียนได้ดี

ข่าเป็นพืขที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน (เหง้า) ประกอบไปด้วย ใบ ดอก ผล และเมล็ด โดยจัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่างๆ นอกจากนี้ดอกและลำต้นยังใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มพริกได้อีกด้วย

สรรพคุณของข่า
ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยบรรเทาอาการไอ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียด แก้โรคปวดข้อและโรคหลอดลมอักเสบ ใช้ทาภายนอกรักษากลาก เกลื้อน แก้ไฟลวก แก้ลมพิษ ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ต้านเชื้อวัณโรค ต้านภูมิแพ้และต้านอนุมูลอิสระ

ขิงและข่าเป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารเหล่านี้

ขิง : ไก่ผัดขิง

ขิง : ต้มส้มปลากระบอก

ขิง : โจ๊กเบคอนไข่เยี่ยวม้า

ขิง : ขนมจีนซาวน้ำ

ขิง : หมูสับนึ่งปลาอินทรีย์เค็ม

ข่า : ไก่ต้มข่า

ข่า : ต้มแซ่บกระดูกอ่อน

ข่า : ต้มยำไก่บ้าน

ข้า : ต้มยำกุ้งแม่น้ำ

ข่า : ต้มยำขาหมู

ทั้งขิงและข่าต่างก็มีรสเผ็ดร้อนด้วยกันทั้งคู่ จึงไม่ปรากฏขิงและข่าในอาหารเมนูเดียวกัน เพราะถ้านำทั้งขิงและข่ามาปรุงอาหารร่วมกัน จะทำให้รสชาติอาหารเผ็ดร้อนรุนแรงมากจนเกินไป จึงนิยมใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นที่มาของสำนวนไทย "ขิงก็รา ข่าก็แรง"

ความหมายของสำนวน "ขิงก็รา ข่าก็แรง" หมายถึงคนสองคนที่มีนิสัยอารมณ์ร้อนพอๆกัน ต่างฝ่ายต่างแรง ไม่มีใครยอมแพ้หรือลดละให้แก่กัน ใช้ความรุนแรงเอาชนะกัน


ที่มาของสำนวนมาจากขิงและข่าที่มีคุณสมบัติด้านความเผ็ดร้อนเหมือนกัน ไม่เหมาะจะนำมาทำอาหารร่วมกันเพราะเผ็ดร้อนด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นจะใช้ขิงก็ต้องไม่มีข่า... จะใช้ข่าก็ต้องไม่มีขิง...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691728เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2021 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท