ชีวิตที่พอเพียง 4004. อดีต – ปัจจุบันของเศรษฐกิจวัดไทย


 

               หนังสือ อดีต – ปัจจุบันของเศรษฐกิจวัดไทย จากกัลปนาและศรัทธาสู่ไสยพาณิชย์ เขียนโดย ศุภการ ศิริไพศาล    เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศประวัติศาสตร์   ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ   เป็นเอกสารลำดับที่ ๓๓ 

อ่านแล้วก็เห็นว่าวัดไทยอยู่กับผลประโยชน์มาแต่โบราณ     โดยที่เรื่องราวที่อยู่ในประวัติศาสตร์ก็ย่อมผูกโยงกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่เป็นผู้กำหนดระบบต่างๆ   วัดได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านกำลังคน การได้รับกัลปนาที่ดินและทรัพย์สิน และได้รับเงินถวาย    วัดที่ควรเป็นที่สงบวิเวกจึงกลายเป็นสถานที่วุ่นวายเรื่องผลประโยชน์มาแต่โบราณ    เพราะพระโดนฆราวาสเกิเลสไปประเคณ ไม่ต่างจากในปัจจุบัน   

ก่อนการเลิกทาสสมัย ร. ๕ กำลังคนของวัดมี ๓ ประเภท คือ ข้าพระ โยมสงฆ์  และ เลกวัด (หน้า ๒๒) นี่คือแรงงานของวัด   วัดจึงเป็นแหล่งที่มีกำลัง อาจเป็นแหล่งส้องสุมกำลังที่เป็นอันตรายต่ออำนาจปกครองบ้านเมืองได้ (ตัวอย่างพระตั้งตัวเป็นเจ้า เช่น เจ้าพระฝาง สมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒)    จึงต้องมีระบบกำกับ เรียกว่า เจ้ากรมวัด  ปลัดกรมวัด ในยุคต้นรัตนโกสินทร์   

เมื่อ ร. ๕ ดำเนินการเลิกทาส วัดก็ถูกกระทบ    หนังสือระบุการแก้ปัญหาหลากหลายด้าน    ยิ่งเมื่อ ร. ๕ ปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง   เงินถวายวัดลดน้อยลง วัดต้องหารายได้เข้าวัดก็มีเรื่องราวในหนังสือที่น่าอ่านมาก    เพราะเป็นจุดที่วัดเริ่มทำธุรกิจ (หน้า ๔๖ - ๕๔)    และเกิดมรรคนายกในปี ๒๕๔๑ (หน้า ๖๑)   

ตอนตั้งกระทรวงธรรมการในปี ๒๔๓๕ หน้าที่หลักน่าจะเป็นเรื่องการควบคุมเศรษฐกิจวัดนี่แหละ    เรื่องการศึกษาน่าจะเป็นหน้าที่รอง    มีรายละเอียดวิธีควบคุมวัดน่าสนใจมาก   

เพราะ ร. ๕ มีราโชบายลดเงินอุดหนุนวัด    ทำให้วัดต้องดิ้นรนหารายได้   กลายเป็นโอกาสเรียนรู้วิธีหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของวัดด้วยวิธีต่างๆ มากมาย     ทั้งการให้เช่าที่วัด  การหารายได้จากงานเทศกาล   การเรี่ยราย  การหารายได้จากการฌาปนกิจศพ    การออกเงินกู้หรือฝากธนาคารกินดอกเบี้ย    การชักชวนให้คนบริจาคที่ดินถวายวัด เป็นต้น    หนังสือมีรายการทรัพย์สินและรายได้ของวัดดังๆ    อ่านแล้วรู้สึกว่าพระผู้ใหญ่อาจอยู่กับสิ่งยั่วกิเลสมากกว่าฆราวาสแก่ๆ อย่างผม   

บทที่ ๔ การจัดการเศรษฐกิจของวัดไทยปัจจุบัน   เล่าเรื่องพุทธ-ไสยพาณิชย์ของวัดดัง คือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร และเอ่ยชื่อวัดดังๆ ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระเกจิอาจารย์ชื่ดัง   และยกตัวอย่างการจัดการวัดตากฟ้า พระอารามหลวง (นครสวรรค์) ที่มีความรัดกุมและทำประโยชน์ต่อสังคมน่าเลื่อมใส        

เมื่อมีวัดที่มีรายได้มากมายฟู่ฟ่า การทุจริตเงินวัดย่อมเกิดตามมา   ดังกรณีสมัย ร. ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงเห็นว่ารายได้วัดมีมากเกินกำลังจัดการขงกระทรวงธรรมการ จึงทรงมีพระบัญชาให้โอนการจัดการเงินผลประโยชน์ของวัดไปไว้ที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หน้า ๗๖ - ๗๗)    

ผมขอเพิ่มเติมว่า ในปี ๒๕๖๑ เกิดกรณีอื้อฉาวทุจริต ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพระผู้ใหญ่ร่วมกันโกงเงินงบประมาณอุหนุนวัด (๒)(๓)    ในที่สุดมีผู้เกี่ยวข้องถูกศาลตัดสินจำคุก  และชดใช้เงินจำนวนมาก (๔)      พระชั้นพระราชาคณะผู้ใหญ่ถูกจับสึก (๕)

ขณะนี้ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล นำโดย ดร. บัณฑิต นิจถาวร กำลังดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการวัด    เพื่อให้มีการจัดการที่ดี และมีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ ธำรงศรัทธาของประชาชน  (๖) ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง           

ขอขอบคุณ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้    

วิจารณ์ พานิช

๗ มิ.ย. ๖๔ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 691608เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2021 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2021 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท