อคติฝังลึก (Implicit bias) ในห้องเรียน


 

บทความเรื่อง Disrupting the Impacts of Implicit Bias ในเว็บไซต์ของ US National Academies of Science (๑)  เตือนสติให้เราตระหนักเรื่องอคติโดยนัย หรือโดยไม่รู้ตัว    ซึ่งพบได้ในทุกเรื่อง  รวมทั้งในห้องเรียน    โดยที่รายงานวิจัยนี้ทำในสหรัฐอเมริกา    ประเทศที่มีปัญหาการเหยียดผิวรุนแรง     

บทความเล่าเรื่องผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วิจัยพฤติกรรมของครูในโรงเรียน ที่พบว่าหากนักเรียนผิวดำประพฤติผิดเรื่องหนึ่ง   ต่อมาอีกสองสามวันนักเรียนผิวดำอีกคนหนึ่งทำผิดแบบเดียวกัน    นักเรียนคนนี้จะถูกครูดุหรือลงโทษเหมือนกับทำผิดมาแล้วสองครั้ง     สภาพเช่นนี้ไม่เกิดต่อนักเรียนผิวขาว    นักเรียนผิวดำถูกครูกระทำต่อในลักษณะกลุ่ม หรือเหมารวม    แต่นักเรียนผิวขาวได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะปัจเจกบุคคล    นักวิจัยเจ้าของผลงานชื่อ Jennifer Eberhardt 

สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม. ๑ อายุ ๑๐ ขวบ (สมัยนั้นเรียนจบ ป. ๔ ก็เรียนต่อ ม. ๑)    ผมเคยถูกครูประจำชั้นปรามาสว่า “เด็กบ้านนอกก็ไม่มีกิริยามารยาทอย่างนี้”    ในเมืองไทยคนชั้นล่างก็ถูกเหมารวมเหมือนกันนะครับ   

เขาอธิบายว่า อคติฝังลึกเรื่องผิวสี หรือฐานะในสังคม หรือเรื่องอื่นๆ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในห้องเรียน   ซึ่งในอเมริกาคงจะรุนแรงมาก    และประสบการณ์ชีวิตผมในฐานะเด็กบ้านนอก ก็ได้รับการปฏิบัติต่อเช่นนั้นจนตอนหลังได้ความสามารถในการเรียนช่วยกู้ฐานะ    แต่เพื่อนผมที่บ้านนอกกว่าและยากจนกว่าโดนแรงกว่ามาก   

บทความเล่าอคติในห้องเรียนประเด็นอื่นอีก    และเล่าลามไปถึงผู้ป่วยโควิด ๑๙   ว่าผู้ป่วยที่เป็นคนดำจะได้ยาระงับความปวดน้อยกว่าคนขาว   

ยังมีเรื่องราวของคติต่อคนดำ หรือคนผิวสีอีกมากมายในบทความ   และเขาบอกว่าอคตินี้แต่ละคนรับมาเอง ไม่มีใครสอน (bias is caught, not taught)    ผมตีความว่า เป็นเรื่องการกล่อมเกลาทางสังคม   ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกันกับที่ผมได้รับความขยัน ความซื่อสัตย์ และเห็นแก่ผู้อื่น มาจากพ่อแม่    โดยที่พ่อแม่ไม่ได้อบรมสั่งสอน   

การขจัดอคติ และพฤติกรรมที่เกิดจากอคติฝังลึก จะช่วยสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม    สร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (mutual trust)    ที่จะปูพื้นฐานสู่สังคมสันติสุข    

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 691423เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2021 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2021 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท