สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก  ๑๑. กรอบปฏิบัติที่ ๗ อภิปราย (Discussing)


บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก นี้   เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง    โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)   ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)   กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม  และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

 บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๗ หัวข้อ Repertoitre 7 : Discussing   และส่วนหนึ่งของ Appendix I

การอภิปรายเป็นคำกลางๆ ที่ใช้อยู่ในทุกกรอบปฏิบัติของการสอนเสวนา    มีความหมายเชิงลบก็ได้ กลางๆ ก็ได้ หรือเชิงบวกก็ได้    โดยมีคำ ๔ คำที่มีความหมายคาบเกี่ยวต่อเนื่องกันคือ การสนทนา (conversation), การอภิปราย (discussion),  การร่วมกันตรวจสอบความคิดหรือข้อโต้แย้ง (deliberation), และการโต้แย้ง (argumentation)   

การอภิปรายมี ๔ ขั้นตอนคือ  (๑) การเสนอ (initiating),  (๒) การสนอง (eliciting),  (๓) การขยายความ (extending),  (๔) การได้ข้อยุติ (qualifying) 

ที่จริงเรื่องราวของการอภิปรายมีอยู่ในกรอบปฏิบัติที่ ๑ - ๖ ที่เสนอมาแล้ว  และในกรอบปฏิบัติที่ ๘ ที่เป็นตอนต่อไป   แต่เนื่องจากการอภิปรายมีความสำคัญมาก   จึงสรุปรวมแยกมาเป็นอีก ๑ กรอบปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ 

  • การเรียนรู้เป็นกระบวนการร่วมมือกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง    เป็นการสื่อสารสองทาง หรือสานเสวนา ไม่ใช่การพูดฝ่ายเดียวหรือการถ่ายทอดความรู้    ซึ่งหมายความว่าเป็นกระบวนการที่จะต้องเปิดรับ (elicit) ข้อคิดเห็นจากผู้อื่น นำมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ ภายในตน เพื่อหาความหมายจากโลก
  • การอภิปราย (discussion) กับการโต้แย้ง (argumentation) มีความหมายซ้อนทับกันอยู่มาก    คือเป็นกิจกรรมที่มีการขยายความได้ทั้งเชิงเห็นด้วยและโต้แย้ง    มีการขยายความในเชิงทำให้หลักฐานแน่นแฟ้นขึ้น หรือให้หลักฐานโต้แย้งก็ได้   หรือขยายสู่การแสวงหาความหมายใหม่ (exploratory)  หรือสู่ประเด็นเชื่อมโยง (expand)    การฝึกฝนกระบวนการเหล่านี้ เป็นการพัฒนาปัญญา
  • การอภิปรายมีกรอบที่กว้าง ทั้งมุมมองอดีต อนาคต มองออกไปรอบข้าง  คาดเดาหรือทำนาย   จินตนาการ  และสร้างสรรค์    โดยครูต้องฝึกศิษย์ให้พูดอย่างมีความรับผิดรับชอบ (accountability) และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง   ความรับผิดรับชอบมี ๓ ด้านคือ  (๑) รับผิดรับชอบต่อการสร้างสรรค์ชั้นเรียนให้เป็นชุมชนเรียนรู้  ไม่เกิดความร้าวฉานด้านมิตรไมตรีระหว่างนักเรียนบางคน  (๒) รับผิดรับชอบต่อมาตรฐานการใช้เหตุผล (reasoning)   และ (๓) รับผิดรับชอบต่อความรู้หรือข้อเท็จจริง ที่มีความแม่นยำ ตรงตามความเป็นจริง     การพูดอย่างมีความรับผิดรับชอบ นำไปสู่การอภิปรายที่ก่อผลและคุณค่าสูง
  • การอภิปรายเน้นเพื่อผลกระทบ ๓ ด้านคือ  (๑) เพื่อสื่อสาร  (๒) เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐาน และ (๓) เพื่อให้เกิดความรู้และการเรียนรู้    นั่นคือข้อสรุปจากหนังสือ    แต่ผมมีข้อเสนอขยายความว่า การอภิปรายในชั้นเรียนให้คุณค่าในเชิงฝึกปฏิสัมพันธ์ทางสังคม    รวมทั้งฝึกทำความรู้จักตนเองด้วย โดยเฉพาะด้านอารมณ์และการควบคุมอารมณ์  ข้อเสนอของผมน่าจะรวมอยู่ในผลกระทบข้อ ๓ แล้ว   แต่อยากย้ำเพื่อให้ครูเอาใจใส่คุณค่านี้ด้วย    เพื่อจะได้ทำหน้าที่เอื้อหนุนให้ศิษย์ได้ฝึกฝนพัฒนาครบด้านจากการสานเสวนาในชั้นเรียน
  • กรอบการจัดการการอภิปราย ควรคำนึงถึง ๔ ปัจจัยคือ (๑) ปฏิสัมพันธ์ อาจอภิปรายร่วมกันทั้งชั้น   หรือแบ่งกลุ่มย่อย   โดยอาจนำโดยครูหรือนักเรียนก็ได้  (๒) การแบ่งกลุ่มย่อย  เพื่อร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ (collaborative) ซึ่งอาจแบ่งย่อยลงไปอีกในบางเวลาเป็นทีมสองคนเพื่อช่วยกันทำงานพูดหรือเขียนตามที่กำหนดให้ลุล่วง (cooperative)   (๓) พื้นที่  อาจจัดเป็นแถวแบบห้องเรียน   จัดเป็นรูปเกือกม้า   หรือจัดเป็นกลุ่ม  (๔) เวลา   อาจใช้เวลาทั้งคาบในการอภิปราย   แต่ควรสลับให้เป็นการอภิปรายกลุ่ม โดยนักเรียนเป็นผู้นำการอภิปรายเป็นช่วงๆ    โดยเฉพาะตอนช่วงทำกิจกรรมตามใบงาน    แล้วให้กลับมารายงานต่อชั้นรวม
  • การอภิปรายใช้หลักการพูดเพื่อเรียนรู้ ดังต่อไปนี้  (๑) พูดเพื่อถาม (interrogatory) : ถาม  ตอบ  (๒) พูดเพื่อสำรวจไปข้างหน้า (exploratory) : เสนอแนะ  คาดเดา  ตั้งสมมติฐาน  ซักไซ้ไล่เรียง สร้างความกระจ่าง  (๓) พูดเพื่อร่วมกันตรวจสอบความน่าเชื่อถือ (deliberative) : ขอฟังเหตุผล  ถาม โต้แย้ง  ตั้งคำถาม  ตั้งสมมติฐาน ท้าทาย  ปกป้อง  พิสูจน์ความถูกต้อง  วิเคราะห์ สังเคราะห์  ชี้ชวน  ตัดสินใจ  (๔) พูดเชิงจินตนาการ (imaginative) : กำหนดทฤษฎี  เสนอเป็นภาพ  บอกรายละเอียด บอกความเป็นไปได้  (๕) พูดแสดงความคิด (expressive) : คาดเดา  ให้การยอมรับ  โต้แย้ง  (๖) พูดเชิงประเมิน (evaluative) :  ประมาณการ  ยืนยัน โต้แย้ง  พิสูจน์ความถูกต้อง
  • ใช้การพูดเพื่อสอนดังต่อไปนี้  (๑) การอภิปราย  (๒) พูดเพื่อร่วมกันตรวจสอบความน่าเชื่อถือ (๓) พูดเพื่อโต้แย้ง
  • การอภิปรายใช้การตั้งคำถาม โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

เป้าหมายของการตั้งคำถาม

  • เริ่มต้น : ทวนความจำ  กระตุ้น  เชื้อเชิญ
  • เค้นหา (probe) : เค้นหา  ทำความกระจ่าง
  • ขยายความเข้าใจ (expand) : ขยายความเข้าใจ   พัฒนา

โครงสร้างของคำถาม

  • เปิด
  • ปิด
  • ขยายประเด็น

ครูต้องฝึกให้นักเรียนเป็นนักตั้งคำถาม  โดยมีวิธีดังนี้  (๑) ให้นักเรียนแต่ละคนเขียนคำถามของตนลงบนกระดาษ แล้วนำมารวมกันและจัดหมวดหมู่ของคำถาม  (๒) ให้แบ่งกลุ่มย่อย ร่วมกันตั้งคำถาม 

  • ใช้การพูดขยายความในการอภิปราย    โดยครูพูดใน “จังหวะที่สาม” (ของ IRE/IRF) เพื่อกระตุ้นให้มีการคิดและพูดต่อ    รวมทั้งฝึกให้นักเรียนรู้วิธีถามเพื่อเพิ่มความชัดเจน หรือเพื่อขยายวงความรู้ออกไป เช่น ขอให้พูดอีกที     ถามหาข้อมูลหลักฐานหรือเหตุผล    ท้าทายหรือยกตัวอย่างที่ตรงกันข้าม   บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยพร้อมเหตุผลประกอบ
  • การพูดเชิงโต้แย้ง (argumentation) มีส่วนที่นำมาใช้ในการอภิปรายได้ เช่น ขอให้บอกความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เชื่อมโยงความคิด  ตรวจสอบที่มาของคำถาม   ประเมินข้อเท็จจริง   ใช้ถ้อยคำแสดงเหตุผล

 

 เงื่อนไขสำหรับการอภิปรายที่ครูเป็นผู้ดำเนินการ

       มี ๔ ข้อ ตามที่ระบุไว้แล้วในบันทึกที่แล้ว ได้แก่ (๑) เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างได้ผลดีผ่านการอภิปราย  ประการแรกต้องให้นักเรียนพูด เพื่อได้แสดงออกอย่างมีความหมาย และได้รับการรับฟังและเข้าใจ   (๒) ต้องทำให้นักเรียนฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ (๓) การอภิปรายต้องไม่ทำอย่างผิวเผิน นักเรียนต้องมีการเจาะลึกทำความเข้าใจเหตุผลของตนเอง  (๔) เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจเหตุผลของคนอื่น

 

เงื่อนไขสำหรับการอภิปรายที่นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ

       ต้องมีการเตรียมตัวมากหน่อย    เริ่มจากการหาตัวนักเรียนที่ทำหน้าที่นี้    ซึ่งมักเป็นการประชุมกลุ่มย่อย   และต้องแยกระหว่างนักเรียนชั้นมัธยมซึ่งมีความพร้อมพอสมควรแล้ว  กับนักเรียนชั้นประถม

 

  • นักเรียนชั้นมัธยม    หนังสือเล่าเรื่องนักเรียนอายุ ๑๓ ปี ดำเนินการอภิปรายกลุ่มย่อยในชั้นได้เป็นอย่างดี   โดยดำเนินการ ๔ ขั้นตอนคือ
    • เริ่มต้น (initiate)   สมาชิกกลุ่มเสนอแนวคิดใหม่   ‘ฉันคิดว่า...’    ‘ฉันไม่คิดว่า’    ‘คุณคิดเรื่อง...อย่างไร’
    • ดำเนินต่อ (elicit)    โดยเมื่อมีคนเสนอ ผู้ดำเนินการอภิปรายขอให้สมาชิกกลุ่ม (๑) ให้ความเห็นต่อประเด็นนั้น  (๒) ขยายความคำพูด  (๓) ให้การสนับสนุน  (๔) ให้ข้อมูลหลักฐาน
    • ขยาย (extend)    กลุ่มร่วมกันทำความเข้าใจแต่ละความคิดที่เสนอ
    • สู่ข้อยุติ (qualify)   นำไปสู่การร่วมกันปรับปรุงแนวคิดนั้น

 

  • นักเรียนชั้นประถม    เนื่องจากนักเรียนยังเยาว์มาก    เขาแนะนำหลักปฏิบัติ ๓ ประการคือ  (๑) ครูต้องช่วยให้นักเรียนร่วมกันกำหนดรูปแบบการพูดและพฤติกรรมของนักเรียนในการประชุมกลุ่ม   โดยครูทำเป็นตัวอย่าง ของการรับฟังแนวคิดแปลกๆ ด้วยท่าทีให้เกียรติ ท่าทีรับฟังทุกความคิด และให้โอกาสอธิบาย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ   (๒) ครูควรช่วยให้นักเรียนร่วมกันกำหนดกติกาการพูดในกลุ่มหรือในชั้นเรียน   และกติกานั้นใช้ต่อการอภิปรายทุกรูปแบบ ของทุกคน   (๓) ควรออกแบบกิจกรรมกลุ่มให้เกิดการถกเถียงและการคิดเหตุผลร่วมกัน   ซึ่งหมายความว่าโจทย์ของการประชุมกลุ่มต้องเป็นโจทย์ที่ต้องการอภิปรายถกเถียงกันจริงๆ    ไม่ใช่แค่ประชุมกลุ่มเป็นพิธีกรรม

 

ทักษะในการเป็นผู้นำการอภิปรายเป็นทักษะสำคัญที่นักเรียนควรได้ฝึกให้คล่องแคล่ว    เพราะเป็นทักษะจำเป็นที่ต้องใช้ตลอดไปทั้งในชีวิตการศึกษา และในชีวิตประจำวัน   

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ เมษายน ๒๕๖๔   ปรับปรุง ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔

           



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท