ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๙๓. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๙๗) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเข้าสู่ยุทธศาสตร์ใหม่


 

วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔  มีการประชุมหารือ ร่างข้อเสนอโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ปี 2564    ที่ผมคิดว่าต้องปรับให้เป็นการสนับสนุนแบบแยกกลุ่มโรงเรียนตามความก้าวหน้าเอาจริงเอาจัง    เพื่อหนุนให้ “พัฒนาตนเอง” ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

โดยที่โรงเรียนในโครงการนี้รุ่นแรกดำเนินการมาแล้ว ๑ ปีครึ่ง    เห็นชัดเจนแล้วว่าโรงเรียนที่มีความก้าวหน้าสูงมีที่ใดบ้าง     จุดแข็งของแต่ละโรงเรียนกลุ่มนี้คืออะไร    โรงเรียนกลุ่มนี้ควรได้รับการสนับสนุนพิเศษ แตกต่างออกไป เพื่อให้พัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น    สำหรับเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนอื่นๆ     และสำหรับเป็นที่ศึกษา (วิจัย) ผลกระทบที่นักเรียนและครูได้รับ จากการดำเนินการโรงเรียนพัฒนาตนเอง   

คำถามคือ การสนับสนุนพิเศษคืออะไรบ้าง    ที่ผมนึกออกประการแรกคือ การจัดเครือข่ายเรียนรู้ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาตนเอง    กับเครือข่ายครูแกนนำพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ประการที่สามคือ หาวิธีให้โรงเรียนเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากต้นสังกัด    ให้ได้ทำหน้าที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent) ในระบบการศึกษา     

หลักการสำคัญคือ กสศ. ต้องการเป็น change catalyst ต่อการลดปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา  และการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย   ไม่ใช่ผู้ดำเนินการเพื่อเป้าหมายดังกล่าว     เพราะการแก้ปัญหาทั้งสองนั้น ต้องแก้ที่ระบบใหญ่    กสศ. ได้รับงบประมาณปีละราวๆ ๕ พันล้านบาท  คิดเป็นราวๆ ร้อยละ ๐.๖ ของค่าใช่จ่ายด้านการศึกษาของประเทศทั้งหมดซึ่งมีราวๆ ๙ แสนล้านบาท เท่านั้น     

เพื่อทำหน้าที่ systems change catalyst    กสศ. ต้องใช้งานพัฒนาต้นแบบ (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเป็นโครงการพัฒนาต้นแบบ) ในการทำงานวิจัยสร้าง evidence ว่าต้นแบบดีจริง และมีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้ได้ผลจริง

ดังนั้นเป้าหมายของ กสศ. ต่อโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงมี ๒ ชั้น   คือโรงเรียนในโครงการ ๗๒๗ โรงเรียนพัฒนาตนเองเป็น   กับมีข้อมูลหลักฐานสำหรับนำไปทำกิจกรรมสื่อสารสาธารณะ เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง ๘ พันโรงเรียน   และพัฒนาโรงเรียนทั้งหมด ๓ หมื่นโรงเรียน      

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 691384เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2021 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2021 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท