มหาวิทยาลัยและนักศึกษายุควิกฤตโควิด


มหาวิทยาลัยและนักศึกษายุควิกฤตโควิด

เว็บไซต์ University World News ลงบทความ The pandemic university is not the hybrid model we need เขียนโดย Rikke Toft Nørgård 08 May 2021 (๑)    เสนอแนะในตอนท้ายน่าฟังมาก    ผมตีความว่า    ในยุคโควิดระบาดหนักรอบสามเช่นนี้    การจัดการเรียนการสอนแบบ hybrid เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้   

และต้องไม่แค่ hybrid ระหว่างการเรียน ออนไลน์  กับ ออนไซต์ เท่านั้น    ต้องสร้างความเป็นชุมชนในหมู่นิสิตนักศึกษาด้วย

ต้องไม่ลืมว่า คุณค่าที่มหาวิทยาลัยให้แก่ศิษย์ (ศิษย์นะครับ ไม่ใช่ลูกค้า) ต้องไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้น    ต้องได้ครบ ASKR (Attitude, Skills, Knowledge)    และที่สำคัญยิ่งคือ  R – Relationship คือปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน    มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเชิงสังคม    ยกระดับ socio-emotional skills ขึ้นไปเรื่อยๆ     เป็นพื้นฐานต่อทั้งความสำเร็จ และความสุขในชีวิต    รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการมีชีวิตที่มีทั้ง give and take    หาก give มากกว่า  take เพียงไร ก็เป็นชีวิตที่ดีเพียงนั้น

ตกลงผมไม่ได้เขียนบันทึกนี้ตามบทความที่อ้างถึง    แต่ใช้บทความเป็นตัวกระตุ้นจินตนาการออกมา   

คำถามก็คือ ในยุคโควิดระบาดหนักเช่นนี้ แค่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ทั้ง ASK ก็นับว่ายากแสนเข็ญอยู่แล้ว    นี่ผมยังแถม R – ปฏิสัมพันธ์เข้าไปอีก    อาจารย์มิกระอักหรือ   

คำตอบคือให้ใช้หลัก “หนามยอก เอาหนามบ่ง” ครับ    คือใช้ R เข้าไปช่วยการพัฒนา ASK   โดยมีเคล็ดลับคือ อาจารย์ (และสถาบัน) ต้องบอกเหล่านิสิตนักศึกษาว่า    แม้ในยามยากเช่นนี้ มหาวิทยาลัยก็ยังมุ่งมั่นจัดให้นักศึกษาได้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ    ต้องทำอะไรได้บ้าง ในระดับไหน (competencies) บอกให้ชัด    รวมทั้งบอกว่ายามนี้ส่วนที่บรรลุยากคืออะไรบ้าง     อาจารย์จะพยายามหนุนเต็มที่    แต่นักศึกษาต้องช่วยกัน  นักศึกษาที่เรียนเก่งต้องช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อน    และนักศึกษาที่เรียนอ่อนต้องขยันขึ้น และมุ่งมั่นช่วยตัวเอง    พูดง่ายๆ ว่าให้เรียนเป็นทีม   

จริงๆ แล้ว ไมว่าในสถานการณ์ใด คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อตนเองทำตัวเป็น “agentic learner” ผู้เรียนรู้ผ่านการกระทำการ    ใช้ภาษาไทยธรรมดาๆ ว่าเป็นคนขวนขวายช่วยตัวเอง ช่วยเหลือกันเอง      ไม่เอาแต่งอมืองอเท้ารอให้มหาวิทยาลัยและอาจารย์จัดการให้    สถานการณ์วิกฤตโควิดเช่นนี้ มันเอื้อกึ่งบังคับให้ทุกคนต้องขวนขวาย    เมื่อทำจนเป็นนิสัยติดตัว จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี   

เมื่อขวนขวายร่วมกันยามยากเช่นนี้  ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นจะเกิดขึ้น ทั้งระหว่างนิสิตนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างนิสิตนักศึกษากับอาจารย์    เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าไปยาวนาน   

จะยิ่งดีหากใช้ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” สองชั้น     ชั้นแรกที่กล่าวไปแล้ว คือใช้วิธีเรียนแบบร่วมมือช่วยเหลือกัน    ชั้นที่ ๒ คือ    นอกจากช่วยเหลือกันในหมู่นิสิตนักศึกษาอาจารย์แล้ว    ยังหาวิธีเรียนรู้ผ่านการช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนจากโควิดในรูปแบบต่างๆ    เท่ากับใช้สถานการณ์โควิดช่วยให้ออกแบบการเรียนรู้แบบ service learning ได้ง่ายดาย    ได้พัฒนาจิตสาธารณะขึ้นในตน    ซึ่งก็จะเป็นคุณต่อตนเองไปตลอดชีวิต

ที่กล่าวนั้น เป็นเชิงทฤษฎีหรือหลักการ     ในทางปฏิบัติต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ประมาท    ใช้ทั้งกิจกรรม ออนไซต์ และ ออนไลน์    เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติ ในสถานการณ์จริง     โดยต้องไม่ลืมเอาประสบการณ์มาใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ร่วมกัน    ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งด้าน ASKR    เทียบกับทฤษฎีเป็นอย่างไร    ได้พัฒนาสมรรถนะ (competency) ใดบ้าง ในระดับใด    ยังมีสมรรถนะใดที่จะต้องพัฒนาเพิ่ม    และปรึกษากันว่าจะเพิ่มสมรรถนะนั้นๆ อย่างไร    เพื่อให้จบการศึกษาออกไปอย่างมีคุณภาพ แม้จะเรียนอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ

โปรดอ่านบทความ (๑)     นะครับ    ให้ข้อคิดเห็นดีมาก แต่ผมไม่ได้คัดลอกเอามา     ผมตีความใหม่ ว่าการเรียนรู้แนว hybrid ในยุควิกฤตยากลำบากต้องใช้หลายพลังผสมปนเปกัน    โดยมีข้อกำหนด competencies ตามมาตรฐานหลักสูตรเป็นเข็มทิศ    ในสถานการณ์เช่นนี้ คนไข้บางคนเป็นครูให้เราได้ดีกว่ายามปกตินะครับ    เพียงแต่เราต้องรู้จักใช้ปฏิสัมพันธ์ให้เกิดผลเชิงบวก     

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ค. ๖๔                   

หมายเลขบันทึก: 690875เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2021 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2021 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท