สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ๕. กรอบปฏิบัติการที่ ๑ วัฒนธรรมปฏิสัมพันธ์ (interactive culture)



บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุกนี้    เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)    กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม   และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

บันทึกนี้ตีความจากหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) บทที่ ๗ หัวข้อ Repertoitre 1 : Interactive Culture   และส่วนหนึ่งของ Appendix I    

ห้องเรียนที่ให้ผลลัพธ์การเรียนรู้สูงจากการพูด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (นักเรียนและครู) ต้องมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกติกาที่ใช้จัดการการพูด  หรือจัดการปฏิสัมพันธ์    ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปนานๆ ก็จะกลายเป็นความเข้าใจร่วมกันโดยไม่ต้องเห็นข้อเขียนกติกา     แต่เมื่อเริ่มต้นน่าจะต้องมีการทำความตกลงกติกาและเขียนติดไว้ในห้องสำหรับเตือนใจ    ย้ำว่ากติกาต้องมาจากการอภิปรายและทำความตกลงกันในชั้น    ไม่ใช่ครูหรือโรงเรียนกำหนด     

ตัวอย่างเช่น เราฟังอย่างตั้งใจ    เรามองหน้าผู้พูด    เราเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น   เราพูดทีละคน   เราไม่พูดแซงกัน หรือพูดซ้อนกัน    ไม่แย่งกันพูด    ไม่ผูกขาดการพูดไว้คนเดียว    ให้เวลาคนอื่นสำหรับคิด  เป็นต้น   

ข้อสรุปจากงานวิจัยใน ๕ ประเทศ (อังกฤษ  สหรัฐอเมริกา  อินเดีย  ฝรั่งเศส  และรัสเซีย) บอกว่า ประเด็นเชิงวัฒนธรรมในห้องเรียน ที่ผู้สอนแบบสานเสวนาพึงตระหนักถึง มี ๖ มิติคือ  (๑) ประเด็นเชิงสังคมชีวิตฆราวาส (temporal),  (๒) ประเด็นเชิงกระบวนการ (procedural),  (๓) พฤติกรรม (behavioural),  (๔) ปฏิสัมพันธ์ (interactive),  (๕) ภาษา (linguistic)  (๖) หลักสูตร (curricular)  

เนื่องจากการสอนเสวนา เน้นความร่วมมือ    ครูจึงต้องระมัดระวังไม่ให้บรรยากาศแข่งขัน หรือเล่นเกมเอาชนะระหว่างนักเรียน เข้ายึดครองห้องเรียน    ครูต้องมีวิธีทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสพูดเท่าๆ กัน    

อีกประเด็นหนึ่งคือ โอกาสและความกล้า (ของทั้งนักเรียนและครู) ในการเข้าสู่การเสวนาประเด็นที่มีข้อโต้แย้ง มีความล่อแหลม หรืออ่อนไหวทางสังคมหรือความเชื่อ   

ครู (และเพื่อนนักเรียน) พึงตระหนักว่า นักเรียนบางคนต้องการการสนับสนุนหรือโอกาสพูดแตกต่างจากคนอื่นๆ    เพราะการพูดเป็นเรื่องยากสำหรับเขา     ครูและเพื่อนๆ ต้องให้โอกาสด้วยความเห็นอกเห็นใจ    ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนที่อ่อนแอด้านการพูด กลายเป็นคนที่มั่นใจในตนเองที่จะแสดงข้อคิดเห็นที่เฉียบแหลม แตกต่างจากข้อคิดเห็นของคนอื่น

ข้อพึงตระหนักอีกข้อหนึ่งคือ นักเรียนจากบางวัฒนธรรมอาจมีความยากลำบากที่จะร่วมเสวนาหรือให้ข้อคิดเห็นในบางประเด็นที่ในสังคมของเขาเป็นเรื่องต้องห้าม  

วิถีปฏิบัติตามปกติ หรือมาตรฐาน (norms) สำหรับห้องเรียนที่สอนแบบสานเสวนาอาจแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มคือ  (๑) ด้านการสื่อสาร (communicative)   (๒) ด้านการถกเถียง (deliberative)  และ (๓) ด้านความรู้ (epistemic)   

ข้อปฏิบัติด้านการสื่อสาร

 เป็นลักษณะของธุรกรรม (transaction) หรือกิจกรรมการพูด    เช่น ฟังซึ่งกันและกันอย่างตั้งใจ    สบตาผู้พูดหรือผู้ที่เราพูดด้วย    ไม่ขัดจังหวะหรือพูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูด    ไม่ครอบครองเวทีพูดอยู่คนเดียว    ส่งเสริมให้ผู้อื่นพูด    ให้เวลาผู้อื่นคิด เป็นต้น      

ข้อปฏิบัติด้านการถกเถียง

เป็นกติกาด้านการอภิปราย  ถกเถียง  และโต้แย้ง    เช่น เสนอจุดยืนชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้    แยกระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น    ยื่นข้อเสนอพร้อมข้อมูลหลักฐานและเหตุผล    พร้อมที่จะท้าทายข้อเสนอที่มีผู้ให้ไว้ โดยมีเหตุผลประกอบ    เสนอจุดยืนโดยพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหากมีคำแนะนำที่ดีของผู้อื่น      

ข้อปฏิบัติด้านความรู้

เป็นกติกาว่าด้วยเนื้อหาความรู้ในการอภิปราย    ซึ่งแตกต่างไปตามกลุ่มสาระ (domain) หรือรายวิชาในหลักสูตร    หรืออาจแตกต่างไปตามแต่ละบทเรียนก็ได้    ประเด็นเอาใจใส่ในที่นี้เป็นเรื่องถ้อยคำที่ใช้ในกลุ่มสาระ  ไม่แตะเข้าไปถึงศัพท์เทคนิคของแต่ละกลุ่มสาระหรือรายวิชา   

ในที่นี้เราสนใจการใช้ถ้อยคำที่สะท้อนการคิด และการให้ความหมาย    ซึ่งในบางกลุ่มสาระเช่น วรรณคดี  ประวัติศาสตร์  และหน้าที่พลเมือง มีประเด็นอ่อนไหวทางสังคม ที่จะต้องระมัดระวัง    ซึ่งในชั้นมัธยมและอุดมศึกษามีมากกว่าในชั้นประถม      

สรุปกรอบปฏิบัติการที่ ๑ ได้ว่า เป็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมการพูดเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน  

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เมษายน ๒๕๖๔   ปรับปรุง ๒๓ และ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔  

         

หมายเลขบันทึก: 690814เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2021 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2021 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท