“การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” : พื้นที่ทางนโยบายและปฏิบัติการของกลุ่มชาติพันธุ์ , ผู้หญิง , ผู้สูงอายุ , คนพิการ , รวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทย


ทั้งหมดนี่เป็นภาพของ “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” ที่ต้องทำเป็นระบบนิเวศ คือมองให้เห็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health หรือ SDH) เหมือนเหตุมีแล้ว ที่เหลือคือทำเงื่อนไขให้ถึงพร้อม ผลจึงจะเกิดไปตามบริบท อันนี้ ภาคปฏิบัติชัดเลย

คนชนเผ่า ชาติพันธุ์ , ผู้หญิง , ผู้สูงอายุ , คนพิการ , รวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทย จะได้รับ “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” อย่างไร?

เวทีประชุมให้ความเห็นและร่วมพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ตามบริบท จ.แม่ฮ่องสอน

มติ “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ”

วันนี้ (12 พ.ค.64) มาในแบบประชุมออนไลน์ ขลุกขลักกันไปตามบริบทสัญญาณเน็ต และทักษะการใช้มือถือ แต่ก็ช่วยกันประคับประคองวงประชุมไปได้แบบได้น้ำได้เนื้อ อันนี้เป็นเพราะต้นทุนความสัมพันธ์ดี ทุกคนมี Commitment ช่วยกันบอกช่วยกันจูน

เห็นถึงน้ำใจที่พยายามช่วยกันและกันในวงประชุมออนไลน์ ไม่ใช่หนีหาย หรืออึดอัดใส่กัน แต่กลับกลายเป็นใส่ใจ

อันนี้ลึกๆ วงนี้ทำได้น่าชื่นชม

............................................................................................

ส่วนตัวผมได้เสนอความเห็นไปหลายเรื่อง ยาวนิดแต่ก็อาจจะเป็นประโยชน์นะ เลยอยากนำมาแชร์;

ผมคิดว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤต จะเป็นธรรมได้ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ข้อจำกัดของผู้คน และคิดในบริบทของพวกเขา

-คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักไม่เข้าใจภาษาไทยชัดเจน ต้องอาศัยลูกหลาน หรือล่ามแปล โดยเฉพาะล่ามชุมชนที่มีความรู้ทั้งทางฝั่งวิถีวัฒนธรรมชุมชน และความรู้ทางฝั่งการแพทย์สมัยใหม่ (รวมถึงคนพิการที่จริงๆควรต้องมีล่ามชุมชนไว้รองรับคนพิการอย่างเป็นระบบด้วย)

-เพศภาวะโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ มีบทบาทการเป็นเมียและเป็นแม่ ซึ่งพวกเธอมักต้องเป็นคนหลักในการดูแลลูกและสมาชิกในบ้าน

งานบ้าน งานนอกบ้าน ภาระที่ต้องดูแลคนอื่นมากมายทำให้การดูแลตัวผู้หญิงเองน้อยลง , การเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวก็ยากลำบาก เพราะบ้านไกลและถ้าได้รักษาคิวช้าก็จะต้องกลับเย็นหรือค่ำ ก็เสี่ยงต่ออันตราย , ทักษะในการขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ก็น้อย เมื่อเทียบเท่ากับชาย ,

ยิ่งเป็นประเด็นโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ จุดซ่อนเร้นต่างๆ หรือการประกอบอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ (เช่นไปทำงานสถานบริการแล้วติดเชื้อมา) ตรงนี้ลึกๆผู้หญิงมักจะอายที่จะไปใช้บริการสุขภาพ

ความอายประกอบกับข้อจำกัดต่างๆข้างต้น ทำให้พวกเธอห่างจากระบบบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตเพิ่มขึ้น

ไม่รวมถึงการมีส่วนร่วมในตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ ผู้หญิงชาติพันธุ์ก็มีส่วนร่วมในตำแหน่งต่างๆน้อยมาก

อันนี้เป็นเรื่องเพศภาวะและบทบาทของผู้หญิงชาติพันธุ์ที่มีผลเป็นข้อจำกัดสำคัญ

...................................................................................................

-ระบบออนไลน์ แอพพลิเคชั่นต่างๆที่ส่วนกลางสร้างออกมารองรับการลงทะเบียนใช้สิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิในบริการสุขภาพ

เอาเข้าจริง ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแม่ฮ่องสอนยังประสบปัญหาในการเข้าถึงระบบนี้

แม้ส่วนกลางจะเจตนาดี แต่เราต้องคำนึงถึงโครงสร้างและระบบที่รองรับการใช้งานด้วย

ชาวบ้าน คนยากจน ต้องมีมือถือรุ่นที่รองรับแอพฯ มีโครงข่าย Wifi ที่เสถียรพอ มีคนคอยช่วยให้คำแนะนำในการใช้งาน

(อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย คนแม่ฮ่องสอนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอ่านภาษาไทยไม่คล่องหรือไม่ได้เรียนหนังสือ)

- “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” ได้ไม่ใช่มีแต่นโยบายด้านสุขภาพหรือสาธารณสุข แต่ต้องมีนโยบายและมาตรการระดับล่างรองรับด้วย เช่น การเร่งรัดให้ผู้สูงอายุทำบัตรประชาชนได้สะดวกขึ้น (เพราะคนเฒ่าคนแก่เองก็ต้องใช้บัตรประชาชนมาลงทะเบียนแอพลิเคชั่นต่างๆ--บางคนเป็นบัตรแบบเก่า บางคนบัตรหาย แต่สภาวะคนแก่จะมาทำบัตรประชาชนทีก็ยากลำบาก)

อันนี้รวมถึงคนพิการ ควรที่เราต้องมีมาตรการเชิงรุกที่พวกเขาไม่ต้องลงดอยมา เสียเงินทองมากไม่พอยังเสี่ยงต่อการรับเชื้อกลับไปอีก

แต่จะทำอย่างไร ออกแบบระบบอย่างไร ไปคิดกันดู

นี่ยังต้องรวมถึงการเร่งรัดออกใบรับรองความพิการด้วย ตรงนี้ที่แม่ฮ่องสอนก็มีให้เห็นอยู่มาก

ถ้าได้บัตรคนพิการ ความช่วยเหลือด้านบริการสุขภาพก็จะเฉพาะเจาะจง

ตรงกับความจำเป็นของคนๆนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเป็นกลุ่มคนทั่วไป

.................................................................................

ในส่วนผู้ไม่มีสัญชาติไทยและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เกือบทั้งหมดถือเป็นคนยากไร้

แม้จะให้สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤต ให้สิทธิในการฉีดวัคซีน แต่คำถามก็คือแล้วคนเหล่านี้เขายังจำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนอื่นอีกไหม?

เช่น ข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย , กฏหมายที่จำกัดการเดินทางยังปิดกั้นพวกเขาในการไปใช้สิทธิทางสุขภาพหรือไม่ อย่างไร ,

รวมถึงถ้ามีการเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมลง มีการส่งมอบงานทะเบียนอย่างเป็นระบบ (ไม่ใช่นายอำเภอย้าย ปลัดย้าย ก็ถือเป็นเหตุให้ต้องช้าไปอีก) ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตเท่าเทียมกันกับคนไทยทั่วไป

ตรงนี้จะทำอย่างไร สาธารณสุขคงคิดลำพังไม่ได้ ก็ต้องมีมหาดไทย มีฝ่ายความมั่นคง มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ มาช่วยกันหาทางออก

แต่ลำพังจะอาศัยหมอที่เป็น Health Sector อย่างเดียวไม่พอ ก็ต้องมี Non-Health Sector ในทั้งระดับMacro กับ Micro มาหนุนด้วย

ทั้งหมดนี่เป็นภาพของ “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” ที่ต้องทำเป็นระบบนิเวศ คือมองให้เห็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health หรือ SDH)

เหมือนเหตุมีแล้ว ที่เหลือคือทำเงื่อนไขให้ถึงพร้อม ผลจึงจะเกิดไปตามบริบท

อันนี้ ภาคปฏิบัติชัดเลย

............................................................................

สุดท้าย เป็นเรื่องกลไกและระบบติดตาม “การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ”

ถามว่าเราจะฝากความหวัง ฝากบทบาทในการติดตามประเมินผล และสะท้อนกลับสู่ทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง Commitment ร่วมต่อไปได้อย่างไร ที่ไม่ใช่กลไกที่ใช้แต่ภาครัฐโดยเฉพาะ Health Sector นำอย่างเดิม

ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ารับมือกับวิกฤตที่ซับซ้อนและหนักหนานี้อย่างลำพังไม่ได้

หากถ้ามองจุดแข็งและบทเรียนในการจัดการ ก็จะเห็นตัวอย่างระดับจังหวัด เช่น ลำปางโมเดล ฯลฯ ซึ่งเป็นลักษณะการกระจายอำนาจ

“การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ” การออกแบบ , การปฏิบัติการ , สื่อสาร , ไปจนถึงการพัฒนากลไกและระบบติดตาม ก็จำต้องอาศัยการออกแบบที่ให้น้ำหนักกับการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของทุกภาคส่วน โดยน่าจะคำนึงถึงบริบทให้มีผู้แทนของกลุ่มประชากรเฉพาะ โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุ , ผู้แทนเครือข่ายชาติพันธุ์ , เครือข่ายคนพิการ , เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน ฯลฯ เข้าไปอยู่ในกลไกหรือกรรมการที่มีบทบาทเหล่านี้

จึงจะนับได้ว่า มีการพัฒนาโครงสร้างและกลไกที่เป็นธรรม สอดรับไปพร้อมกับที่เรากำลังพัฒนานโยบายที่เป็นธรรมเหล่านี้ด้วย

พิมพ์ยาวๆนี่ก็ใช้พลังงานเยอะ แต่อยากบันทึกไว้เป็นความทรงจำและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนภาคีในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมกับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากลำบาก คนตัวเล็กตัวน้อยที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์

กองเลขานุการกิจ สมัชชาสุขภาพแม่ฮ่องสอน

13-5-64

หมายเลขบันทึก: 690581เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท