เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (23) : เมื่อผมอ่าน “ฮาบพนาสูง”


ผมก็ยังยืนยันผ่านมุมมองของผมว่า “ฮาบพนาสูง” คือหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีหลายสถานะ บางห้วงอารมณ์ ผมรู้สึกกำลังอ่านพจนานุกรม หรือไม่ก็สารานุกรม รวมถึงสารคดี และหนังสือภาษาศาสตร์ก็ไม่ผิด การอ่านแต่ละครั้งแต่ละบท มิได้รู้แค่ว่ามีคำศัพท์อีสานที่ “ใหม่-เก่า” หรือแม้แต่คำศัพท์ที่ “สูญหาย” ไปแล้วเท่านั้น ตรงกันข้าม กลับฉายให้เห็นภาพอันเป็นเรื่องราวชีวิตผู้คนในสังคมอีสานไปพร้อมๆ กัน

เพราะชีวิตคนเรา ล้วนมีวิธีการที่หลากหลายในการที่จะทบทวนชีวิตอันเป็น “วัน-วัย” ของตนเอง  สำหรับผมแล้ว หนึ่งในวิธีอันหลากหลายนั้น ผมไม่ลังเลที่จะเลือกท่องทะยานผ่าน “หนังสือ”

ผมยืนยันว่า - การทบทวนชีวิตผ่านเรื่องราวในอดีต  มิใช่การจ่อมจม – จองจำ - หรือกักขังตัวเองไว้กับอดีตเลยสักนิด  และยืนยันว่า  ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายว่า "ปัจจุบันหม่นมัวชวนจากลา" ตรงกันข้ามกลับหมายถึง "การเทใจรำลึกอดีต เพื่อเสริมพลังบวกให้กับชีวิต"

ฉะนี้แล้ว กวีนิพนธ์ “ฮาบพนาสูง” ของ คำเมือง ราวะรินทร์” จาก “สาระคนสำนักพิมพ์” จึงเป็นหนึ่งในหนังสือที่ช่วยให้ผมได้กลับไปท่องเล่นในโลกวัยเยาว์ของตนเอง  พร้อมๆ กับการโหยหาความเป็นบ้านเกิดเมืองนอนบนผืนแผ่นดินที่ราบสูงอย่างแจ่มชัด ทั้งในมิติที่เป็นอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่การเบิ่งมองไปสู่อนาคต -


ฮาบพนาสูง เป็นกวีนิพนธ์ 1 ใน 18 เล่มที่ผ่านเข้าสู่รอบ Long list การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2562  ก่อนยุติการเดินทางในเวทีดังกล่าวแต่เพียงเท่านั้น

เพราะรางวัลมิใช่ตัวแปรหลักของการทำให้ “ฮาบพนาสูง” ต้องหยุดการเดินทางลงอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้ามกวีนิพนธ์เล่มดังกล่าวได้ค่อยๆ ท่องทะยานในเวทีอื่นๆ อย่างละมุนละม่อมตามแบบฉบับอันเป็นท่องทำนองเฉพาะตัวของผู้เขียน  ซึ่งคนคุ้นเคยจะสัมผัสได้ว่า “คำเมือง วาระรินทร์” (ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์) มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน คือ สมถะ ถ่อมตน แต่มากล้นด้วยภูมิรู้

ในมุมมองของผม “ฮาบพนาสูง” คือกวีนิพนธ์ที่รวบรวมคำศัพท์อีสานจากพยัญชนะ ก-ฮ จำนวน 60 คำมาประกอบสร้างเป็นภาพวิถีคนอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบัน ผ่านคำประพันธ์หลากรูปแบบ เช่น กลอนสุภาพ กลอน 6 โคลงสี่สุภาพ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง 16 ร่ายดั้น โครงสาร (อีสาน) หรือแม้แต่เพลงกล่อมลูกก็ถูกนำมาเป็นหนึ่งในกลวิธีของการฉายภาพความเป็นอีสาน

ความทรงจำในวัยเด็กของผมฉายภาพชัดผ่านกวีนิพนธ์หลายบท  โดยเฉพาะวิถีชีวิตในวัยเด็กที่โลดแล่นอยู่ตามหัวไร่ปลายนาและป่าโคก ทั้งโดยวิถีของตัวเอง และการวิ่งๆ เดินๆ ไปตามจังหวะชีวิตของผู้เป็นพ่อ

                ตื่นแต่เช้าต้อนควายออกชายทุ่ง
                ไล่เข้าบุ่งห้วยฮ่องหม่องตื้นเชิน
                ควายเล็มเลาะ “ละมุ” รายรอบเนิน
                สายจึงเดินออกมาจากป่าเลา

                          (ละมุ : หน้า 74)

...
                 จับสวิงลงส่อนหวังปลาน้อย
                 ได้ลูกฮวกตัวจ้อยข้อยดีดดิ้น
                 ใส่ลงครุคลาน “ดั้วเดี้ย” ดูจนวิน  
                 พ่อขุดดินฮิมทามย่ำจิซอน 

                           (ดั้วเดี้ย : หน้า 34)

ถึงแม้บ้านเกิดของผมจะไม่ปรากฏพื้นที่ชีวิตอันเป็น “บุ่งทาม”  แต่ผมก็ไม่เคยกังขาเลยว่า บุ่งทาม คือ นิเวศวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าทั้งต่อชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่ง  ซึ่งกวีนิพนธ์เล่มนี้กล่าวถึงอย่างถี่ซ้ำ ประหนึ่งปักเป็นเสาเข็มใหญ่เพื่อยืนยันคุณค่าและความสำคัญของบุ่มทามอย่างหนักแน่น

               เกล็ดขาววับวาวแสง
                   ตัวตะแคงแกร่งผยอง
                   จับกำนำให้น้อง
                   ว่า “คุยคาม” ปลาทามแท้

                        (คุยลาม : หน้า 25)


                   พ่อกลับจากแทงปลาไหลในทามทุ่ง
                   ถอกจากถุงใส่กระบุงไม้ไผ่สาน
                   แล้วเว้าแซวลูกชายใต้เฮือนชาน
                   คนขี้ค้าน มาขี้ “โย่ย” ย่านผีอำ

                         (โย่ย : หน้า 73)

อีกห้วงหนึ่งที่ชวนให้ผมคิดถึงอดีตกาลของตนเองที่เติบโตมาจาก “เรื่องเล่า” ของคนรอบกาย โดยเฉพาะเรื่องเล่าของคนในชายคาบ้านที่บันดาลความรื่นรมย์ แต่แฝงแก่นสารอันเป็นข้อคิดไว้อย่างเนียนนุ่มและลึกซึ้ง  ผ่านนิทานหลากเรื่องหลากรสของพ่อ

นิทานของพ่อมีเวทีในการสื่อสารทั้งใน “วงข้าว” และ “หลังวงข้าว” ทั้งในชายคาบ้านและท้องไร่ท้องนา  แต่ทั้งปวงนั้น นิทานของพ่อล้วนร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับเรื่องเล่าและตำนานที่แฝงฝังด้วยความรู้และคำสอน  ครั้นโตขึ้น ผมก็ได้สดับฟังอีกครั้งจากกระบวนการการเรียนการสอนในหลักสูตรของแต่ละช่วงชั้นแห่งการเป็นนักเรียน-นักศึกษา

ใช่ครับ- มันเหมือนการเรียนล่วงหน้ายังไงยังงั้นเลยทีเดียว เป็นการเรียนล่วงหน้าจาก "บิดา" ผู้ซึ่งเป็น “ครูชีวิตคนแรก” ของผม - ครูผู้ซึ่งไร้ซึ่งใบปริญญาบัตร แต่ลุ่มลึกและจัดเจนในความรู้หลากศาสตร์

                    โลกใหม่แห่งไทเฮา  
                    เกิด “ง้วนดิน” อันหอมหวาน
                    เหล่าพรหมเข้าชมเสพ    
                    เทพติดรสแห่งดินง้วน
                    ฤทธิ์หายกายบ่นวล
                    ตกสวรรค์เป็นมนุษย์ 

                           (ง้วนดิน : หน้า 26)


เช่นเดียวกับนิทานพญาแถนผู้พ่ายสงครามแก่ผญาคันคากจนนำมาสู่การประทานฝนให้กับมนุษย์โลก ซึ่งเรื่องเล่านี้กลายเป็นหนึ่งในวิถีแห่ง “ฮีต 12 คอง 14” ของชาวอีสานสืบล่วงมาจนถึงปัจจุบัน

                    ลมใต้พัด “วอยวอย”
                    ฝอยฝนลอยลมรำเพย
                    ฟ้าฮ้องก้องเบิกเผย    
                    สัญญาณแถนไขปักตู
                    พ่อฮุดแฮกแบกไถ   
                    นาท่งใหญ่ได้กินอยู่
                    ฮ็ดนาทั้งฤดู
                    ตั้งแต่ฝนจนฮอดหนาว 
       
                            (วอยวอย : หน้า 77)

อีกหนึ่งความทรงจำที่ฉายชัดขึ้นมาในตัวตนผมเมื่ออ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็คือกระบวนการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ในแบบ “บ้านๆ” หรือที่เรียกขานด้วยความเคารพศรัทธาว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” 

ณ ห้วงเวลาที่ว่านั้น หัวสมองของผมเต็มไปด้วยคำถามมากมาย  แต่เป็นคำถามที่มิได้กังขา หรือคลางแคลงใจ หากแต่เป็นคำถามที่ผสมผสานปนเประหว่างความมหัศจรรย์กับการเฝ้าภาวนาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พลิกฟื้นสร่างหายจากความทุกข์ระทมอันหลากรูปลักษณ์ของการป่วยไข้

                 เคยฮูปฮ่างงามต่งย่งกลับ “ต้วยซ้วย”
                 ว่าเจ็บป่วยโรคร้ายกายซูบเศร้า
                 พ่อจึงบอกหา หมอทาฮักษาเอา
                 หรือหมอเหยาซุมเก่าเป่าแคนปัว
               
                         (ต้วยซ้วย : หน้า 42)

                 โรคนางเกิดแก่ภายใน
                 ฮักษายากไซร้
                 เอิ้นขานนาม “ทำมะลา”
                 สิเร่งรีบหาหยูกยา
                 ซอกค้นตามป่า
                 เทิงภูพานเขตสกลฯ
       
                        (ทำมะลา : หน้า 48)

จะว่าไปแล้วเกี่ยวกับประเด็นภูมิปัญญาการรักษาอาการป่วยไข้ของคนในชุมชนที่ปรากฏในกวีนิพนธ์เล่มนี้มีตัวละครสำคัญในการเดินเรื่อง นั่นคือ “หมอทา” ผู้ซึ่งมีสถานะเป็น “พ่อหมอ” ของชาวบ้าน ซึ่งฮาบพนาสูงมิได้สะท้อนเพียงกระบวนการ หรือวิธีการรักษาเท่านั้น ทว่าเชื่อมโยงให้เห็นถึงทรัพยากรหยูกยาที่อยู่ในป่าเขาลำเนาไพรอันเป็น “นิเวศวัฒนธรรม” อย่างเด่นชัด

                   กล่าวถึงหมอทาเฒ่า ผู้สืบเหง้าหมอชีวก
                   ย่างป่าฮกตอนยัง “ถ่าว”
                   ยามฮ้อนหนาวบ่ได้อยู่ เสาะหา
                   ครูเฮียนวิชา ปรารถนาฮักษาโรค
                   ถือเป็นโชคไทบ้านเฮา เพิ่นบ่เอารัด
                   เอาเปรียบ เพิ่นย่างเหยียบไสซุ่มเย็น

                   (ถ่าว : หน้า 43)

โดยส่วนตัวผมมองว่า กวีนิพนธ์ข้างต้น มิได้บ่งบอกความหมายของ “ถ่าว” ที่หมายถึง “วัยหนุ่ม” อย่างผิวเผิน หากแต่สื่อสารหนักแน่นถึงความเป็นคนหนุ่มที่มีตื่นตัวและมีพลังที่จะเรียนรู้บนบริบทของชุมชนตัวเอง จนในที่สุดก็กลายมาเป็นบุคคลสำคัญที่ได้นั่งอยู่ในหัวใจของชาวบ้านอย่างไร้ข้อกังขา

เรื่องราวของ “หมอทา” ถูกขยายความต่อเนื่องในหลายๆ บท  แต่ที่ผมชื่นชมมากอีกบทหนึ่งก็คือในบทที่ว่าด้วย “พะเนียม” (หีบใส่ของ) และ “พายโซน” (สะพายของ) เพราะสะท้อนถึงการจัดการทรัพยากรอย่างรู้ค่าและบ่งชี้ถึงวิถีการอยู่ร่วมกันเฉกเช่นพี่น้อง “มีอะไรก็แบ่งกัน” หาใช่ “ซื้อขายต่อกัน”

กล่าวคือ เมื่อ “หมอทา” ดั้นต้นไปเสาะหาหยูกยาสมุนไพรมาได้ก็มีน้ำใจเผื่อแผ่แบ่งปันให้คนในชุมชนนำไปปลูกที่คัวเรือนตนเอง เพื่อนำกลับมาเป็นหยูกยาในการสร้างภูมิต้านทานและบำบัดเยียวยาตัวเอง  อันเป็นวิถีการอยู่ร่วมกันที่งดงามและน่าศรัทธา มิหนำซ้ำยังมีมิติ “การจัดการความรู้” (Knowledge management) คู่ “ความรัก” อยู่กรายๆ

                   กล่าวเถิงหมอทาซุมยาใหญ่
                   จากไปหลายเดือนในเถื่อนป่า
                   ซอกค้นสมุนไพรได้ตัวยา
                   เดือนห้ากลับมาสู่เฮือนตน
                   ศิษย์หาม “พะเนียม” ใหญ่และหนัก
                   เบี้ยไม้มากนักจักแบกขน
                   เพิ่นนำเมล็ดพันธุ์เหมาะเพาะบ่ดน
                   แจกคนเพื่อนบ้านไปปลูกเลี้ยง
                   
                            (พะเนียม : หน้า 64)

                   ไทบ้านมาจุ้มอุ้มเบี้ยไม้ 
                   ขวักไขว่ “พายโซน”  จนเกือบเกลี้ยง 
                   หมอทาปริ่มยิ้มอยู่เทิงเตียง
                   ข้างเคียงพะเนียมใหญ่ใส่เบี้ยมา

                             (พายโซน : หน้า 65)

แน่นอนครับ – ผมชื่นชอบเพราะสื่อให้เห็นถึงวิถีการพึ่งพาระหว่างคนกับธรรมชาติ  ระบบพึ่งพิงของคนในชุมชนที่ต้องดูแลกัน รวมถึงการยึดโยงให้เห็นถึงความเป็นคนกับมิติที่เหนือธรรมชาติ จะโดยเรื่องผีบรรพบุรุษ หรือแม้แต่อื่นๆ ก็เถอะ ผมว่ามีนัยสำคัญอย่างน่าสนใจ

         

จะว่าไปแล้ว “ฮาบพนาสูง”  มิได้ทำหน้าที่เพียงบันทึกความเป็นอดีตกาลของคำอีสานที่สาปสูญ หรือคำอีสานร่วมสมัยที่ยังปรากฏใช้อยู่ในทุกวันนี้เท่านั้น  หากแต่ในบางห้วงตอนได้สะท้อนภาพความเป็นสังคมอีสานที่เปลี่ยนผ่านตามกลไกทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรืออื่นๆ อยู่ในที  ประหนึ่งการยืนหยัดตัวตนการเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคม (Literature reflecting society) ที่ฉายให้เห็นถึงสภาพสังคมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพอาทิ ระบบการคมนาคมที่ฉาบปนด้วยการค้าขายและการไปมาหาสู่ของผู้คนในยุคที่ยังต้องสัญจรด้วยเรือผ่านท้องน้ำ ดังว่า

               พ่อตอบ “เฮือกะแซง” 
               ลำใหญ่แฮงออกแกว่งวัง
               ค้าขายได้สตังค์            
               พอมีรถ เฮือบ่มี 

                       (กะแซง : หน้า 23) 

หรือในอีกบทที่สื่อถึงระบบเศรษฐกิจใหม่ของนายทุน ที่คืบคลานเข้าขึงยึดชุมชนผ่านวิถีโครงสร้างในครัวเรือน ดังที่ปรากฏใน “แด่นแด้” ที่หมายถึงความยากแค้นอัตคัด

               เมื่อคราวครั้งฝนแล้งพ่อยังเด็ก
               มีพวกเจ๊กจากจังหวัดมาประสม
               เป็นลูกเขยตาสายหลานยายชม
               ได้ขุดถมดิน “แด่นแด้” แก่ขายกิน
               เมื่อร่ำรวยจากขายดินและขุดสระ
               จึงมานะจะทำโรงโม่หิน
               ปรากฏเหล็กหล่นทับงับใส่ดิน
               เหลือทรัพย์สินให้ตาสายค้าขายพอ
         
                    (แด่นแด้ : หน้า 40)

ถึงตรงนี้ ผมก็ยังยืนยันผ่านมุมมองของผมว่า “ฮาบพนาสูง” คือหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีหลายสถานะ บางห้วงอารมณ์ ผมรู้สึกกำลังอ่านพจนานุกรม หรือไม่ก็สารานุกรม รวมถึงสารคดี และหนังสือภาษาศาสตร์ก็ไม่ผิด  

การอ่านแต่ละครั้งแต่ละบท มิได้รู้แค่ว่ามีคำศัพท์อีสานที่ “ใหม่-เก่า” หรือแม้แต่คำศัพท์ที่ “สูญหาย” ไปแล้วเท่านั้น  ตรงกันข้าม กลับฉายให้เห็นภาพอันเป็นเรื่องราวชีวิตผู้คนในสังคมอีสานไปพร้อมๆ กัน

และที่สำคัญคือการได้เห็นอดีตกาลของตัวเองไปโดยปริยาย –

ด้วยความที่ผมไม่ใช่นักเขียน หรือนักอ่าน จึงไม่อาจหาญตีตราประทับค่าว่า “ฮาบพนาสูง” คือวรรณกรรมอันทรงค่าวิเศษเหนือกวีนิพนธ์ใดๆ  กระนั้นก็กล้าพอที่จะยืนยันในฐานะคนอ่านธรรมดาคนหนึ่งว่า  กวีนิพนธ์เล่มนี้ ช่วยทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองอย่างมีสติ เดินช้าลง และหันกลับไปเพ่งพินิจรอยเท้าและความทรงจำของตัวเอง ณ บ้านเกิดของตนเองอย่างมหัศจรรย์

แน่นอนครับ -  ชีวิตคนเราล้วนมีหลากหลายวิธีในการที่จะทบทวนชีวิตอันเป็น “วัน-วัย” ของตนเอง  

สำหรับผมแล้ว หนึ่งในวิธีอันหลากหลายนั้น ผมเลือกที่จะท่องผ่านการ “อ่านหนังสือ”  และ “ฮาบพนาสูง” ก็เป็นเหมือนพาหนะอันแสนวิเศษที่พาผมกลับไปยังวันและวัยที่ว่านั้นอย่างรื่นรมย์

ไว้มีโอกาสจะมาเล่าต่อละกัน ครับ -

หมายเลขบันทึก: 690560เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2021 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นักอ่าน นักวิเคราะห์ตัวจริง เสียงจริง ;)…

มักเด้ครับ

ผมยืนยันว่า - การทบทวนชีวิตผ่านเรื่องราวในอดีต มิใช่การจ่อมจม – จองจำ - หรือกักขังตัวเองไว้กับอดีตเลยสักนิด และยืนยันว่า ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายว่า “ปัจจุบันหม่นมัวชวนจากลา” ตรงกันข้ามกลับหมายถึง “การเทใจรำลึกอดีต เพื่อเสริมพลังบวกให้กับชีวิต”

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ขอบคุณคำชมอันเป็นปนะหนึ่งน้ำทิพย์ชะโลมใจกลางฤดูอันร้อนแล้งนะครับ 5555 ถึงกระนั้นก็ยังยืนยันว่าตัวเองเป็นนักอ่านมือใหม่ เป็น “นักอ่านเอาความ” แบบงูๆ ปลาๆ ครับ

สำคัญคือ สุขใจที่ได้อ่านครับ หากแต่ช่วงนี้ สารภาพว่าไม่สงบนิ่งพอที่จะอ่านหนังสือจบเล่มจริงๆ ครับ

รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ครับ คุณ ตะวัน (อาจารย์นอด)

ที่เขียนเช่นนั้น เพราะตระหนักเสมอมาว่า เราต่างมีอดีตและเติบโตมาจากอดีต การทบทวนอดีตอย่างมีสติ ย่อมทำให้ชีวิตเราได้ค้นพบชุดความรู้ที่จะทำให้วันนี้และพรุ่งนี้ของชีวิตมีพลัง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท