ระดับ ลักษณะ ความเคลื่อนไหว ระหว่างจำนวนวันกับระดับการเปลี่ยนแปลงของจิตใจในการปฏิบัติธรรม


ระดับ ลักษณะ ความเคลื่อนไหว ระหว่างจำนวนวันกับระดับการเปลี่ยนแปลงของจิตใจในการปฏิบัติธรรม

ในที่นี่จะยกตัวอย่างจำนวนวันและเวลาที่ข้าพเจ้าคิดเหมาะสมที่สุดในการปฏิบัติธรรม คือ จำนวน ๕ วัน

จากการที่ได้มีโอกาสรับคณะอบรมมาเป็นเวลากว่า ๕ ปี มีทั้งการปฏิบัติธรรมระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และระยะยาวมาก...

ระยะสั้นประมาณ ๑-๒ คืน ส่วนใหญ่จะเป็น ๓ วัน ๒ คืน

ระยะกลาง ๓-๔ คืน ส่วนใหญ่จะเป็น ๕ วัน ๔ คืน

ระยะยาว ตั้งแต่ ๕ คืนขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๙ คืน

ระยะยาวมาก คือ อยู่กันเป็นเดือน เป็นปี หรือจนกว่าจะตาย...

----------

แต่การปฏิบัติสำหรับหน่วยงานทั่วไปส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง ๓-๕ วัน แต่มีส่วนมากก็จะมาขออยู่แค่สองวัน คือ มานอนคืนเดียว ถ้าเจอเคสนี้ข้าพเจ้าจะต่อรองให้มาสองคืน เพราะมาคืนเดียวไม่ได้อะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่การได้อยู่แบบเต็ม ๆ วันสักหนึ่งวัน ซึ่งจะต่อรองว่า อย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่อยากให้เสียงานถึงสามวัน ก็ให้มาช่วงเย็นวันแรก คือ เลิกงานแล้วก็มา มาถึงกี่โมงก็ได้ จะเย็น จะค่ำ แต่ขอให้มานอนวัดในคืนแรก และอยู่หนึ่งวันเต็ม ๆ ส่วนวันสุดท้ายจะกลับตอนเที่ยงก็ได้ ซึ่งก็ดีกว่ามานอนคืนเดียว 

คือ โครงการที่เขียนมาเหมือนจะมาปฏิบัติธรรมสองวัน แต่จริง ๆ นั้นไม่ใช่ เพราะวันแรกกว่าจะออกมาจากหน่วยงานก็แปดโมง แปดโมงครึ่ง กว่าจะถึงวัดก็แวะโน่นแวะนี่ แวะเซเว่น แวะซื้อกาแฟ มาถึงก็สิบเอ็ดโมง เที่ยงวัน นี่ก็เสียไปครึ่งวันแล้ว มาถึง กว่าจะเข้าที่พัก ทานอาหารกลางวัน ก็ปาเข้าไปบ่ายโมง บ่ายสอง ปฏิบัติจริง ๆ ก็ช่วงบ่ายแก่ ๆ สักพักก็กลับไปอาบน้ำตอนเย็น มาสวดมนต์ แล้วก็เข้านอน ตื่นเช้ามาก็เตรียมแพ็คของกลับบ้าน 

และไม่รู้เป็นอะไรกับโครงการปฏิบัติธรรม คนที่จัดโครงการกับคนที่มาจะมาขอออกจากวัดให้เร็วที่สุด โดยอ้างว่า รถติดบ้าง จะกลับถึงบ้านเย็นบ้าง มืดบ้าน จะมีคนไปทำธุระอะไร ๆ ที่ต่าง ๆ บ้าง พอตื่นขึ้นมาบางคนก็เตรียมกระเป๋าจะกลับบ้านกันเลย 

ดังนั้น โครงการปฏิบัติธรรม ๒ วัน ๑ คืน เป็นโครงการที่ได้ผลน้อยที่สุด คือไม่คุ้มกับงบประมาณค่ารถที่หน่วยงานเหมามา ไม่คุ้มค่ากับการที่เสียเวลาทำงานประจำไป ดังนั้นถ้าจะเสียค่ารถมาแล้ว ก็ต้องให้ได้ ๒ คืน 

เพราะที่นี่จะอยู่มากวันน้อยวัน ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทุกอย่างฟรีหมด ไม่มีค่าที่พัก ค่าอาหาร ไม่มีค่าห้องประชุม ค่าวิทยากร เพราะพระที่นี่ไม่รับเงิน ไม่จับปัจจัย พระทุกองค์จะมีแค่ "องค์ละบาตร..." เรื่องเงินที่จะถวายวัดตัดไปได้เลย ไม่ต้องเบิกมา... 

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกผู้ที่ติดต่อว่า ให้มีรถมาก็พอ ไม่ต้องเบิกเงินหลวงมา ถ้ามีงบประมาณก็ให้ลงไปที่การเพิ่มจำนวนวันในการเหมารถจะดีกว่า หรือถ้าอยู่นาน ๆ ก็เหมามาสองวัน คือวันมารับ กับวันมาส่ง คือ เรียกง่าย ๆ ว่า "ตัดหางปล่อยวัด" ไปเลย ไม่ต้องเอารถบัส รถตู้มาจอดไว้ให้เปลืองเงิน ยิ่งเป็นรถส่วนตัว รถตู้นี้เป็นศัตรูต่อพรหมจรรย์ คือ อยู่ดี ๆ ก็หาเรื่องออกนอกวัด ออกไปเที่ยว ไปหากินก๋วยเตี๋ยวในตลาด

เวลา ๓ วัน ๒ คืนนี้ก็ถือว่า น้อยสุด ๆ แล้ว เพราะวันแรกกว่าจะมาก็เที่ยง วันกลับก็จะกลับกันก่อนเที่ยง ก็มีเวลาเหลือ "วันเดียว" เหมือนเดิม แต่ก็ยังดี เพราะสิ่งสำคัญคือ "ความหยุดนิ่งของจิต..."

หยุดนิ่งคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางมา และไม่ต้องไขว่คว้าถึงอนาคตในการเดินทางกลับ

การอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ หนึ่งวัน วันนี้เป็นวันที่สำคัญ เพราะเป็นวันที่จิตได้หยุดนิ่งจริง ๆ ...

แต่ทว่า... ถ้าหากผู้บริหารคนใดเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ที่ดีและมั่นคง ก็จะจัดโครงการตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไป โดยอาจจะพ่วงรวมวันหยุดเข้ามาด้วย เช่น

มาวันพุธ กลับวันอาทิตย์ อย่างนี้ดี เสียงานแค่สามวัน แต่ทว่า คนที่มาต้องตั้งใจจริง ๆ เพราะคนที่มาจะถือว่าเขาเสียสิทธิในการพักผ่อน เสียวันหลับวันนอน จะมาปฏิบัติธรรมก็ยังจะมาคิดเรื่องได้เรื่องเสียอีกเนอะ




------------

ดังนั้นอย่างที่เคยกล่าวในบันทึกก่อน ๆ เรื่อง "

พุทธเศรษฐศาสตร์ : ทีม ILC ทีมผู้มีฉันทะ คือ มีความพอใจที่ประกอบด้วยปัญญา..." https://www.gotoknow.org/posts...




ถ้าเป็นโครงการที่หน่วยงานจัดมา ส่วนใหญ่ส่งชื่อมาจำนวนหนึ่ง พอถึงวันจริง ๆ ก็จะลดไปเรื่อย ๆ ลดไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งก็เลื่อนหรือยกเลิกโครงการไปเลย โครงการฟรี ๆ มักเป็นอย่างนี้ เป็นเพราะคนที่มาไม่เห็นค่าในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะ ถ้าหากว่าไปยุ่งเกี่ยวกับวันหยุดของเค้าอีกล่ะก็ "ปัญหาเยอะๆๆๆ"

ดังนั้น ผู้ที่จัดโครงการปฏิบัติธรรมจะต้องมีอินทรีย์บารมีที่แก่กล้ามาก ต้องเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่เหมือนกับจัดไปสัมมาที่นั่นที่นี่ ไปดูภูเขา ลงทะเล เล่นน้ำตก โครงการแบบนั้นออกตั้งแต่ตีสี่ตีห้าก็ยังได้ จะกลับบ้านดึกดื่นค่ำคืนขนาดไหนก็ได้ และคนที่จะไปก็มีแต่เพิ่ม มีแต่เพิ่ม 

เหมือนกับเจ้าของรีสอร์ทท่านหนึ่งในอำเภอวังน้ำเขียวมาเล่าให้ฟังว่า วันนี้กว่าจะมาวัดได้ก็เย็นเลย เพราะคณะที่มาปฏิบัติในรีสอร์ท อยู่เต็มเวลามาก ๆ คือ กว่าจะออกจากที่พักก็ปาเข้าไปบ่ายสองโมง อื่ม... ทีเวลามาวัดนี้ แปดโมงเช้าก็อยากจะกลับบ้านกันแล้ว น่าคิด น่าคิด และน่าคิด...

เพราะอะไร...? เพราะมาวัดส่วนใหญ่ก็มาทุกข์ อดนอน อดข้าว ต้องมานั่งสมาธิปวดแข้งปวดขา จะทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ คือ ที่ว่าไม่ได้ คือ ทำตามกิเลสไม่ได้ ดังนั้น ใครล่ะอยากจะมา อยู่บ้านดี ๆ ก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องมานั่งปวดแข้งปวดขาให้เปล่าประโยชน์ อันนี้ก็จริง

สาเหตุอย่างหนึ่งก็คือ วันที่มานั้นน้อยไป หรือการจัดลำดับขั้นในการปฏิบัตินั้นยังไม่เหมาะสำหรับอุปนิสัยของแต่ละคนในแต่ละวัน

ยิ่งมาน้อย ก็ยิ่งอัดหลักสูตรมาก กลัวคนที่มาจะไม่คุ้มค่า ก็เลย "จัดเต็ม"

แต่ทว่า หากมีวันและเวลามาก ๆ อย่างเช่น คณะจากกรมปศุสัตว์ และคณะเด็ก ๆ นักศึกษาพยาบาลที่มาคณะล่าสุดนี้ มีเวลา ๕ วัน ๔ คืน ก็สามารถจัดวันเวลาได้อย่างเหมาะสมตามจังหวัด ตามเวลาของชีวิต

จากการที่พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในคณะฯ เล่าให้ฟังว่า พอเด็ก ๆ รู้ว่าจะมาวัด ๕ วันนี้ก็บ่นกันอุบ เพราะสามปีที่ผ่านมา มาวัดละสามวันก็แทบแย่ นี่มาห้าวัน เด็ก ๆ ก็เตรียมกันทุกข์ไว้ล่วงหน้า 




------------

แต่ทว่า... การมาอยู่ที่นี่ก็ได้ผลตอบลัพธ์กลับมาค่อนข้างดี ตามบันทึกนี้ 

Facebook แบบประเมินผลการฝึกอบรมที่ทรงคุณค่า... https://www.gotoknow.org/posts...





------------

ซึ่งข้าพเจ้าขอสรุปการปฏิบัติตามวันและเวลาที่มาง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

วันที่ ๑ "อยู่อย่างลำบาก" คือการเรียนรู้คุณค่าจากความยากลำบาก หรือถ้าหากเป็นคำพูดในแนววิชาการก็จะเรียกว่าเป็นการละลายพฤติกรรมก็ได้ (Ice Breaking)  เป็นการละลายพฤติกรรมที่ไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ แต่ให้ทุก ๆ คนออกไปอยู่กับธรรมชาติ แล้วให้ความยากลำบากแสดงพลังที่ทรงคุณค่าออกมาเอง ความหิว ความเหนื่อย ความร้อน ความท้อแท้ ทุก ๆ อย่างจะบ่งบอกได้ถึงคำว่า "มิตรภาพ" คือเพื่อน คือ มิตรแท้จะแสดงออกมา สิ่งสำคัญของการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งก็คือการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ในคณะ คนเราจะเห็นนิสัยใจคอหรือธาตุแท้กันนั้นก็เมื่อเราและท่านได้ประสบพบเจอกับความทุกข์ ความยาก ความลำบาก 

เรายังไม่ต้องพูดอะไรกันมาก มาถึงก็ไปเดินป่าเลย แล้วให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดจากธรรมชาติได้เป็นผู้บอกผู้สอนด้วยตนเอง



------------

วันที่ ๒ "อยู่เพื่อเรียนรู้ " คือ เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราไม่ต้องไปบอกว่าเวลานั้นทำอันนั้น เวลานี้ทำอันนี้ เพราะบอกไปเน้น ๆ ก็ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ให้บอกไปที่อาจารย์หรือผู้ควบคุม โดยเฉพาะ เด็ก ๆ นี้ ควรจะให้ครูบาอาจารย์มาปฏิบัติก่อน จะได้รู้เวลาและวางแผนชีวิตให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี ให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ ซึบซัมเวลาแห่งการปฏิบัติด้วยตนเอง โดยทำกันไปเป็นหมู่ เป็นคณะ พวกมากลากไป ไปไหนไปกัน



------------

วันที่ ๓ "อยู่ตัว" หลังจากการเดินป่าวันแรกที่เหนื่อยล้า วันที่สองได้พักร่างกายบ้าง ปฏิบัติบ้าง ตื่นแต่เช้า กลางวันก็ให้ได้พักผ่อนอย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง วันที่สามร่างกายเริ่มฟื้น และได้เรียนรู้เวลาในการปฏิบัติจากวันที่ ๒ คนที่มาก็เริ่มที่จะรู้และวางแผนชีวิตตัวเองได้ว่าจะกินอย่างไร นอนอย่างไร ร่างกายนี้ถึงจะอยู่ได้



------------

วันที่ ๔ "อยู่เป็น" วันนี้สบายที่สุด เพราะทุกอย่างลงตัว ทุกคนอยู่ได้ อยู่เป็น ทำทุกอย่างจนเป็นอัตโนมัติ กายพร้อม ใจพร้อม เต็มที่ และเต็มใจที่จะทำทุกอย่างด้วยความเสียสละ




------------

วันที่ ๕ "อยู่กับความจริง" คือ ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านเพื่อกลับไปเผชิญหน้ากับความจริง การมาปฏิบัติธรรมเหมือนกับการมาเรียนรู้ มาทำแบบฝึกหัด เพราะองค์ประกอบทุกอย่างที่อยู่ในวัด ถือว่าสบายในระดับหนึ่ง สบายในที่นี้ก็คือ ครูบาอาจารย์จัดการขวางกั้นสิ่งที่จะมาเป็นอันตรายต่อกิเลส ตัณหา ราคะ และอุปาทานของเราไว้อย่างพอสมควร 







ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ปฏิบัติ การได้เรียนรู้ธรรมจากการสวดมนต์แปล ซึ่งนอกจากได้สมาธิจากการสวดมนต์แล้ว ยังได้ปัญญาจากการพิจารณาคำแปลตามบทสวดต่าง ๆ นั้น ทุกท่านที่มาก็จะมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง

หลังจากเที่ยงวัน เมื่อทุกท่านได้ยกกระเป๋าขึ้นรถ และล้อรถเคลื่อนออกไป นั่นแหละ คือ ความจริงที่ทุกคนจะต้องอยู่ให้ได้ 




------------

ถ้าทุกข์ก็ให้ทุกข์แต่ทางกาย... ใจอย่าให้มีทุกข์

เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ได้เรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของท่าน และมีพระอริยสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันบริสุทธิ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามประการ เราจะสามารถยืนหยัดในสังคมได้อย่างเป็นสุข ลดทอนความทุกข์จากจิตใจให้น้อยไปหรือให้หายไปให้ได้ในที่สุด...

หมายเลขบันทึก: 690073เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2021 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2021 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผู้มาปฏิบัติธรรม หน้าตาสดใสทุกคนเลยนะคะ เพื่อนบอกว่า หากปฏิบัติธรรม 7 วัน จะมีปิติและมีความสุขค่ะ

ถูกต้องแล้ว ถ้าเกิน ๓ วันขึ้นไป ผู้ปฏิบัติจะเริ่มอยู่ตัว และอยู่เป็น ถ้าหากมีเวลา ไม่เสียหน้าที่การงาน ก็ควรจะมาอยู่ตั้งแต่ ๕ วันขึ้นไปแต่ทว่า… การปฏิบัติธรรม มิใช่การทิ้งหน้าที่การงานแล้วมาอยู่วัด แต่การปฏิบัติธรรมต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการปฏิบัติงาน

ดังนั้น ระยะเวลาตั้งแต่ ๕-๙ วันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาสร้างความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เพื่อการนำไปปฏิบัติที่ถูกต้อง

การมาวัดมาเพื่อสร้างความเข้าใจ ชาร์จแบต ชาร์จพลัง เพื่อกลับไปต่อสู่กับโจทย์แห่งการภาวนาที่แท้จริงคือการปฏิบัติหน้าที่การงาน การอยู่กับครอบครัว การอยู่ในสังคมคือโจทย์ของจริงแห่งชีวิต…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท