เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (22) บ้านแผ่นดิน


บ้านแผ่นดิน ฉายภาพอะไรๆ หลากหลายกว่าเด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำอย่างชัดแจ้ง เห็นวิถีเกษตรกรรม เห็นวิถีการเคลื่อนไหลของแรงงาน เห็นวิถีการศึกษา เห็นวิถีเศรษฐกิจ เห็นวิถีคติชนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม เห็นความหลายหลายของชาติพันธุ์ หรือพหุวัฒนธรรม ผสมผสานยึดโยงกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคลังชีวิตของมนุษย์ทั้งที่เป็น ดิน น้ำ ป่า ที่หมุนวนเปลี่ยนผ่านเป็นฤดูชีวิต

"บ้านแผ่นดิน" กวีนิพนธ์ภาคต่อของ "เด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำ" จากกากะเยียสำนักพิมพ์ โดย "บรรจง บุรินประโคน" นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19

บ้านแผ่นดิน ยังคงเชื่อมร้อยเรื่องราวเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับบ้านเกิดเฉกเช่นเด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำ หากแต่ครั้งนี้มีตัวละครหลักที่กระโดดออกมาถักทอเรื่องราวคือ "เฒ่าเฌอ" และ "แม่กล้วยไม้" ซึ่งพบรักข้ามพื้นถิ่น ณ มุมเมืองอันเป็นแรงงานแห่งชีวิต ก่อนหวนกลับมาพลิกฟื้นชีวิตในอ้อมกอดมาตุภูมิ ก่อเกิด "พลอยใส" และ "เพชรงาม" ผู้ซึ่งก่อเกิดและเติบใหญ่อย่างน่าชื่นชม


บ้านแผ่นดิน มีพื้นที่ชีวิตที่กว้างไกลกว่าเด็กหญิงใบไมักับเด็กชายตาน้ำอย่างเห็นได้ชัด จากภูมิภาคสู่ตลาดแรงงานเมืองใหญ่ จากเมืองใหญ่กลับสู่บ้านเกิด และการเติบใหญ่ของตัวละครที่แอบอิงเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับบ้านเกิด 

หรือคำสอนอันดีงามของครอบครัว และสังคมโดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมในแบบไทยๆ 

บ้านแผ่นดิน ฉายภาพอะไรๆ หลากหลายกว่าเด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำอย่างชัดแจ้ง เห็นวิถีเกษตรกรรม เห็นวิถีการเคลื่อนไหลของแรงงาน เห็นวิถีการศึกษา เห็นวิถีเศรษฐกิจ เห็นวิถีคติชนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม 

เห็นความหลากหลายของชาติพันธุ์ หรือพหุวัฒนธรรม ผสมผสานยึดโยงกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคลังชีวิตของมนุษย์ทั้งที่เป็น ดิน น้ำ ป่า ที่หมุนวนเปลี่ยนผ่านเป็นฤดูชีวิต ฯลฯ

จะว่าไปแล้ว ตัวตนของผู้เขียนที่ยังเสมอต้นเสมอปลาย ก็คือ การส่งต่อคำสอนในแบบ "คนบ้านเดียวกัน" หรือ "จากบรรพชนสู่บรรพชน" ที่ยังคงแจ่มชัดซื่อใสเหมือนเล่มก่อนๆ 

ตาเฌอบอกลูกสาวเจ้าพลอยใส
กินข้าวคำใหญ่ก่อนออกบ้าน
วันนี้ลูกต้องช่วยแม่-พ่อทำงาน
เก็บข้าวตกไปลานนาของเรา
...
แม่กล้วยไม้บอกลูกสาวจงรักน้อง
คอยปกป้องดูแลเอาใจใส่
ทั้ง "พลอยใส" "เพชรงาม" คือสายใย
เป็นความรักยิ่งใหญ่ของครอบครัว

...

จากความรักในชายคาบ้านก็เบ่งบานเป็นความรักเชิงสังคม และอาบอวลด้วยกลิ่นรักษ์บ้านเกิด จิตอาสา หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

ที่ไหนเล่า? จะสู้ที่ฝังราก
แม้นอดอยากหิวโหยก็คือบ้าน
ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณ
เป็นสะพานเชื่อมโยงความผูกพัน
...
ด้วยศรัทธากับปรัชญาความพอเพียง
การหล่อเลี้ยงชีวิตให้คุณค่า
ทั้งสืบสานประเพณีโบราณมา
กราบไหว้ดิน-ฟ้า ขมาบรรพชน
...

หรือในบทสรุปของนิยามความรักหลากมิติ

รักบ้านเกิดรักเมืองนอน
รักคำสอนบรรพชนอันแน่นหนัก
รักสังคมบ้านเมืองด้วยใจภักดิ์
รักสุดท้ายรู้จักรักตัวเอง
...

หรือการถอดรหัสปรัชญาชีวิตจากธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือบ่อเกิดแห่งปรัชญาและชีวิตของสรรพสิ่ง

เมื่อกิ่งก้านยางนาร่วงหล่น
ตกอยู่ใต้ต้นไม่อาจฝืน
เป็นสัญลักษณ์ธรรมชาติผู้หยัดยืน
หมุนเวียนพลิกฟื้นเช่นวงจร
...

การผูกโยงมุขปาฐะ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

บักทอง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"
"หมาเก้าหาง" ผู้เผือแผ่และกล้าหาญ
เกี่ยวกระหวัดข้าวจากฟ้ามาประทาน
เป็นตำนานข้าวชาวจ้วงเล่าสู่ฟัง
...
เหมือนต้นเดือนพฤษภาคมเป็นใจ
เมืองเชียงขวัญมีงานใหญ่บวชควายจ่า
ประเพณีแต่โบราณสืบสานมา
เพื่อขอขมาดินฟ้าฝนการเกษตรกรรม

...

การวิพากษ์ระบบแรงงานและคุณค่าของความเป็นคน

แต่ความหวังยังมีหากใจสู้
เฒ่าเฌอจึงรับรู้มิเคยบ่น
ก่อนหันหลังให้กับเมืองเกินอดทน
เมื่อหัวหน้ามาปล้นเงินค่าแรง
บอกเพียงว่าเศรษฐกิจไม่ดี
บริษัทติดหนี้จึงบอกแจ้ง
เฒ่าเฌอว่า "อีสาน" ที่ว่าแล้ง-
ไม่เท่าใจเหือดแห้งของบางคน

ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 690028เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2021 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2021 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สองเล่มนี้ แถวเชียงใหม่แทบไม่เห็นเลยครับ ;)…

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

ทั้งสองเล่ม กำลังผลิตซ้ำอีกครั้ง สนใจอุดหนุนนักเขียนได้นะครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท