Developmental Evaluation : 27. DE เพื่อพัฒนาโรงเรียนในโครงการ TSQP (2)



ต่อจากบันทึกที่ ๒๖   

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นวันที่ ๒ ของ การอบรมเชิงปฏิบัติการ Developmental Evaluation (DE) ช่วงกลางน้ำ (ครั้งที่ ๒)จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล    ให้แก่สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และ สถานศึกษา ของ กสศ.    ที่ต้องการใช้การประเมินในแนวทาง Developmental Evaluation มาเสริมพลังของภาคี เครือข่ายและโรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รุ่น ๑ และรุ่นที่ ๒

Workshop กลางน้ำนี้มีการออกแบบกระบวนการและกิจกรรม  และทดลองใช้ในทีมกระบวนกรถึง ๓ รอบ    มีการปรับปรุงทุกรอบ   จนเอามาใช้จริงในวันนี้   ในเวลา ๒ วันมีกิจกรรม ๖ ขั้นตอนคือ

  1. 1. ทบทวนเป้าหมาย  
  2. 2. วิเคราะห์กิจกรรม
  3. 3. ประเมินผลลัพธ์
  4. 4. วิเคราะห์ความซับซ้อน
  5. 5. ประเมิน
  6. 6. ปรับแผนงาน

ในวันแรกกิจกรรมดำเนินมาถึงขั้นตอนที่ ๕ การประเมินผลลัพธ์ และประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  

วันที่สองคาบแรกทำกิจกรรมประเมิน ซ้ำอีกรอบหนึ่ง ตอบโจทย์ “วิเคราะห์ศักยภาพของเราและทีม   มีเรื่องอะไรที่ต้องพัฒนา/ปัญหา   เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย”   โดยมีไกด์ให้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อควาสำเร็จได้แก่ (๑) วิชาการ  (๒) ระบบไอที  (๓) การออกแบบกระบวนการ และเกณฑ์ในการประเมิน  (๔) กลุ่มเป้าหมายและจำนวนผู้เข้าร่วม  (๕) การจัดการ เช่น เวลา สถานที่ การเดินทาง วิธีการสื่อสาร  (๖) การติดตามความสำเร็จ 

ผมตั้งข้อสังเกตกับตนเองว่า ขั้นตอนการประเมินนี้มีจุดอ่อน เพราะเป็นการประเมินตนเอง    มองข้ามบางประเด็นได้ง่าย    ตามธรรมชาติของมนุษย์    เป็นเหตุให้ขั้นตอนนี้ยากที่จะได้ข้อมูลที่เข้มงวดจริงจัง    

คาบที่สอง   ดำเนินกิจกรรมที่ ๖   โดยระดมความคิดตอบสองคำถาม (๑) จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเองอย่างไร   (๒) จะปรับปรุงวิธีทำงานอย่างไร  

คาบที่สามเป็นการแยกห้องย่อย ๓ ห้อง   แต่ละทีมโค้ชเสนอ ๓ ประเด็นคือ  (๑) ความสำเร็จที่ระบุในขั้นตอนที่ ๓  ให้ข้อเรียนรู้อะไร  (๒) ปัญหาที่ค้นพบในขั้นตอนที่ ๕  บอกข้อแก้ไขอะไร   (๓) จากแผนปรับการดำเนินงานในขั้นตอนที่ ๖  จะกลับไปปรับศักยภาพของทีม และวิธีทำงานของทีมอย่างไร     ผมไปเป็นวิทยากร ร่วมกับคุณหยกแห่ง กสศ. ในห้องย่อยที่ ๑  มีทีมโค้ช ๔ ทีมอยู่ในห้องคือ  มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา,  ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษ,  มูลนิธิสยามกัมมาจล,  และมรภ. กาญจนบุรี   

ผมตกลงกับคุณหยกว่า เราจะเป็นวิทยากรที่เน้นตั้งคำถาม ให้ทีมโค้ชได้คิด    และเนื่องจากคุณหยกเป็นผู้ทำ สัญญา จำเป้าหมายที่จะต้องส่งมอบของแต่ละโครงการได้    จึงขอให้คุณหยกเน้นตั้งคำถามโยงไปยัง deliverables ดังกล่าว     

เมื่อกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุม    ผมตีความว่า ทีมโค้ชเข้าใจประเด็นที่ต้องเสนอไม่ชัดเจน    ทำให้การนำเสนอไม่คมชัด    เป็นข้อเรียนรู้ว่า วิทยากรกระบวนการต้องระบุประเด็นของแต่ละขั้นตอนให้คมชัด    และเมื่อมีการนำเสนอไม่ตรงคำถาม ต้องเข้าไปปรับความเข้าใจทันที    ไม่ปล่อยให้ความคลุมเครือผ่านไป  

พิจารณาโจทย์ในคาบที่ ๓  จะเห็นว่าเป็นโจทย์ที่ดีเยี่ยม    หากทีมโค้ชเข้าใจชัดว่ามันเป็น feedback  กับ response   ซึ่งหากกระบวนกรช่วยชี้ให้ชัด   ทีมโค้ชจะได้ประโยชน์มาก     

ข้อสังเกตของผมคือ    ทีมโค้ชที่มีความมั่นใจในตนเองสูง     แม้มาผ่านกระบวนการ DE ก็ยังไม่ค่อยเรียนรู้    ไม่ค่อยเปิดใจ    เพราะข้อมูล feedback ไม่แข็งแรงพอ    เนื่องจากไม่ได้เก็บโดยบุรุษที่สาม (third party)    เป็นข้อมูลที่ทำเองเก็บข้อมูลเอง       

คาบที่สี่Reflection ของทั้งสองวัน    คุณเปาให้โจทย์การ AAR ไว้ว่า  (๑) การมาเข้า สองวันนี้ ทำให้มองโครงการต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง    (๒) เห็นสถานการณ์ของทีมต่างออกไปอย่างไร     ในทางปฏิบัติ เป็นการสะท้อนคิดลงบัตร ซึ่งจะได้ข้อมูลภายหลัง    แต่ก็มีการให้ตัวแทนของแต่ละทีมโค้ชนำเสนอ    ทีมโค้ชที่เก่งบอกว่าจะเอาวิธีการ DE ไปใช้ในการทำงาน    สมาชิกของทีมโค้ชที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่าจะเอาไปใช้ในโรงเรียน        

    ผมคิดว่า โจทย์สองข้อของคุณเปาเป็นคำถามที่สุดยอด    แต่การตอบต้องการการใคร่ครวญสะท้อนคิดสูง    จึงน่าจะถามใหม่ด้วยคำถามเดิม    หลังจบ workshop หนึ่งสัปดาห์ ให้แต่ละทีมปรึกษากันและตอบมาสั้นๆ ข้อละสองสามประโยค    น่าจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์ต่อผลลัพธ์ของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเป็นอย่างมาก   

Reflection ของผม

ผมได้รับมอบหมายให้กล่าวปิดและสรุป    โดยบอกว่ามีเวลา ๓๐ นาที    แต่เมื่อถึงเวลาจริงมีเวลาเหลือเพียงไม่ถึง ๑๐ นาที    ผมจึงกล่าวปิดสั้นๆ   ว่า DE เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานที่มีความซับซ้อนสูง ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น    ทำงานแบบไม่เปะปะ  จับเป้าชัด โดยมองที่ผล  มีการกำหนดผลเป็น KRA/KPI    แล้วจึงเอามากำหนดกิจกรรมเพื่อการบรรลุเป้า   หลังดำเนินการ มีการทบทวนว่าแต่ละกิจกรรมให้ผลอย่างไร     เอามาคิดทบทวนว่าแต่ละกิจกรรมมีผลกระทบสูง-กลาง-ต่ำ    และมีความซับซ้อนสูง-กลาง-ต่ำ     เลือกเอากิจกรรมที่ทั้งผลกระทบสูง และความซับซ้อนสูง เอาไปดำเนินการต่อ    ซึ่งเป็นการช่วยให้มีการทำงานอย่างมีการจัดลำดับความสำคัญ    คือ DE เป็นเครื่องมือให้ทำน้อย ได้ผลมาก 

ขอยก ๑๐ ประเด็นที่ผมเตรียมสรุป แต่ไม่มีเวลาพูดในที่ประชุม   เอามาเสนอไว้ดังต่อไปนี้    จะเห็นว่าเมื่อเขีนยเข้าจริงๆ มีถึง ๑๑ ประเด็น

  1. 1. ผมได้เรียนรู้วิธีจัด workshop ที่มีคุณภาพสูงและทรงพลังมาก    เป็น workshop ที่ผสมระหว่างสมาชิก onsite   และ online    ได้เห็นว่าต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก  และเตรียมการณ์มาอย่างดี
  2. 2. DE SCBF Model ที่เสนอให้โครงการ TSQP นำไปใช้นี้    มีลักษณะสำคัญคือ ทีมปฏิบัติงานเป็นทีมประเมินไปในตัว    การประเมินจึงมีลักษณะ self-evaluation    หากจะให้ได้ความเห็นหรือการตีความที่มีความแตกต่างหลากหลายสูงกว่านี้   น่าจะพิจารณาเพิ่มสมาชิกของทีม ให้มีผู้อำนวยการโรงเรียน  ครูแกนนำ  ผู้แทนแหล่งทุน  เข้าไปอยู่ในทุกทีม DE  
  3. 3. ยังเห็น Fixed mindset เกี่ยวกับการประเมิน   มองเป็นการประเมินได้-ตก (summative evaluation)     แทนที่จะมองเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ตามแนว DE    ใน workshop ครั้งต่อๆ ไปน่าจะมีการย้ำเตือนหลุมพรางนี้ เป็นระยะๆ  
  4. 4. พลังของ DE มาจากผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) ซึ่งใน workshop หมายถึงสมาชิกกลุ่ม    ที่ต้องเป็น “ตัวจริง” คือเป็นผู้ลงมือทำจริง  และมีความมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับโครงการอย่างแท้จริง     ไม่ใช่แค่เป็นตัวแทนโครงการมาเข้า workshop    ใน workshop นี้ เห็นชัดเจนว่า บางทีมโค้ช ผู้มาประชุมไม่ใช่ตัวจริง   
  5. 5. พลังของ DE มาจากการลงมือทำ แล้วเรียนรู้และปรับตัว    กล่าวใหม่ว่า ช่วยให้เกิดการลงมือทำอย่างมีชั้นเชิง มีเป้าหมายชัด   ทำแล้วมีการเก็บข้อมูลเอามาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปรับตัว    workshop กลางน้ำนี้มีเป้าหมาย เพื่อช่วยการเรียนรู้และปรับตัว     ผมสงสัยว่าบางกลุ่มอาจจะยังไม่ชัดเจนในเป้าหมายนี้    และอาจจะเอาไปใช้ต่อในงานของตนไม่เป็น
  6. 6. พลังของ DE มาจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง    โดยมี KRA/KPI เป็นตัวชี้ชัด    นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์กิจกรรมเพื่อการบรรลุ KRA/KPI เหล่านั้น    ทีมงานต้องร่วมกันทบทวนและตีความเป้า ตามสภาพของโครงการที่เคลื่อนตัวไป
  7. 7. วง DE นี้เป็นวงของโค้ช    ที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตัวจริงของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง     ผู้ปฏิบัติตัวจริงอยู่ที่โรงเรียน    ท่าทีของโค้ชต่อผู้ปฏิบัติงานตัวจริงจึงสำคัญมาก    ผมตกใจที่หัวหน้าทีมโค้ชบางทีมเอ่ยถึงโรงเรียนในเครือข่ายโดยใช้ถ้อยคำว่า “เพื่อให้เขาทำโครงการให้เรา”    ซึ่งเป็นท่าที (กระบวนทัศน์) ที่ผิด และจะไม่ทำให้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองภายใต้การโค้ชของทีมนั้นประสบความสำเร็จ    เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทีม กสศ. และทีมจัดการโครงการที่จะต้องหาทางทำความเข้าใจกับหัวหน้าทีมนั้นๆ   
  8. 8. ผมได้ยินหัวหน้าทีมโค้ชบางทีมกล่าวว่า โค้ชลงพื้นที่เดือนละครั้ง    และได้ข่าวว่าโค้ชในทีมบางคนอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนที่ตนรับผิดชอบมากหลายร้อยกิโลเมตร    ผมไม่คิดว่าการจัดระบบงานที่หลวมเช่นนี้จะได้ผล  
  9. 9. “เราเอาเงินไปให้โรงเรียนแสนนึง เขาทำแสนห้า”   เป็นคำพูดที่ผมตกใจ    ว่าโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองภายใต้ทีมโค้ชนั้น กลายเป็นการจ้างทำของไปแล้วหรือ    ทำให้ผมสงสัยว่า แรงจูงใจที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการคืออะไร    ทำให้รู้สึกว่า เงิน ๑ แสนบาทที่โครงการอุดหนุนโรงเรียน อาจเป็นยาบำรุงก็ได้  หรืออาจเป็นยาพิษก็ได้    อะไรเป็นตัวแปรฤทธิ์ยา (เงิน) ให้มีฤทธิ์ไปทางที่ถูกต้อง      
  10. 10. ผมมองว่า DE เป็นเครื่องมือช่วยให้เราเข้าใกล้ความเป็นจริงของงานหนุนให้เกิด “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ยิ่งขึ้น    ความเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนสูง  และมีระบบซ้อนระบบอยู่ในงาน    ทำให้เราเข้าใจ “ความเป็นทั้งหมด” (the whole) ของโครงการนี้ได้ยาก    DE จะช่วยให้เราเข้าถึงได้ดีขึ้น  
  11. 11. ในการประชุมปฏิบัติการนี้ ไม่มีการกล่าวถึงฤทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความเชื่อของผม คือการเอื้อทางสะดวกให้เกิด “การผุดบังเกิด” (emergence) ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่    ซึ่งในกรณีนี้คือการผุดบังเกิดของปัจจัยพลิกผัน ให้ระบบการศึกษาของชาติไทย    ได้ออกจากระบบปัจจุบัน (low performing systems)  ไปสู่ระบบ high performing education system    ผมเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ของการผุดบังเกิดนั้นกำลังฟักตัวอยู่  

วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 689935เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2021 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2021 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท