ทำความรู้จัก pandemic fatigue


บทความเรื่อง How We Can Deal with ‘Pandemic Fatigue’ (๑)  เขียนโดยนักประสาทวิทยาศาสตร์ David Badre แห่ง Brown University   ผู้เขียนหนังสือ On Task : How Our Brain Gets Things Done    อธิบายอาหารสมองล้าจากการเผชิญการระบาดใหญ่ของโควิด ๑๙   ที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อลดการระบาดน้อยลง ที่ผมเคยคิดว่า ผู้คนประมาทมากขึ้น    บทความนี้มีคำอธิบายลึกซึ้งกว่ามาก 

ฝรั่งอธิบายพฤติกรรมย่อหย่อนการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดต่อโรคโควิด   หลังจากปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาระยะหนึ่ง ว่า pandemic fatigue    บทความนี้บอกว่ามีหลายสาเหตุ มีสาเหตุด้านการเมือง และด้านสังคม    ที่ชักจูงผู้คนให้ไม่เชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์     รวมทั้งมีกลไกทางสมองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว   

 ชื่อของปรากฏการณ์อาจก่อความเข้าใจผิดว่า เกิดจากสมองหมดแรงหรือเหนื่อย     ผู้เขียน (Badre) บอกว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะสมองมนุษย์ฉลาด    เก่งด้านประหยัดพลังงาน    มีความสามารถในการตัดสินใจเลือกทำกิจกรรม

อธิบายต่อได้ว่า สมองมีกลไก cognitive control ทำโดยเครือข่ายสมองหลายส่วน รวมทั้งสมองส่วนหน้า     ที่ช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ตามเหตุปัจจัย    คือมีความยืดหยุ่นสูงชนิดที่สัตว์อื่นๆ ไม่มี รวมทั้งระบบ AI ก็เทียบไม่ติด   

ระบบ cognitive control เป็นระบบที่คิดกำไรขาดทุน    ว่าหากทำสิ่งนั้นแล้ว ผลที่ได้รับคุ้มกับการลงทุนหรือไม่    และการลงทุนอย่างหนึ่งคือพลังงานที่ใช้ในสมอง    หากเราคิดว่าเรื่องที่จะทำต้องใช้สมองมาก แต่ผลที่ได้รับมีคุณค่าน้อย     เราก็ไม่ทำ    สมองของเราเป็นนักทำ cost-benefit analysis โดยเราไม่รู้ตัวนะครับ    กิจกรรมใดให้ผลประโยชน์สูงโดยลงทุนต่ำ ระบบ cognitive control ก็บอกให้ทำ     แต่ละวันสมองวิเคราะห์และตัดสินใจเรื่องแบบนี้เป็นร้อยเป็นพันครั้ง    และแต่ละคนก็ตัดสินใจไม่เหมือนกัน เพราะเรามีระบบให้คุณค่าแตกต่างกัน   

ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนของโควิด  การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันให้ผลตอบแทนต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไป   เพราะส่วนของการลงทุนสูงขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและการเมือง รวมทั้งผลกระทบส่วนตัว     เป็นสาเหตุหนึ่งของ pandemic fatigue

เหตุผลที่สอง ของการเกิด pandemic fatigue ที่ผมเข้าใจว่าเป็นปัญหาหนักของสหรัฐอเมริกา     คือการที่คำแนะนำให้ถือปฏิบัติ (เพื่อป้องกันการระบาด) ไม่คงเส้นคงวา ฝ่ายโน้นว่าอย่าง ฝ่ายนี้ว่าอย่าง     ทำให้ cognitive control สับสน  

เหตุผลที่สาม การปฏิบัติตามมาตรการ work from home ทำให้ผู้นั้นต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) เช่น ทำงานด้วยเลี้ยงลูกด้วย    เป็นการเพิ่มภาระทางสมอง    หากไม่มีปัจจัยมาเพิ่มด้านคุณค่า ก็เกิด pandemic fatigue

จากคำอธิบายนี้ มาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ที่ไทยเราใช้ เช่น โครงการคนละครึ่ง    จึงไม่ใช่ช่วยลดภาระด้าน “กระเป๋า” ของประชาชนเท่านั้น  แต่มีผลต่อ “สมอง”   ช่วยเพิ่มความรู้สึกด้านคุณค่าต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาด    ส่งผลให้ประชาชนพร้อมใจต่อการปฏิบัติตามมาตรการของทางการมากขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๔ มี.ค. ๖๔

หมายเลขบันทึก: 689764เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2021 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2021 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท