กระบวนการ transform มหาวิทยาลัย



ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มานานหลายปี    ได้เรียนรู้สูงมาก จากปัจจัยที่หลากหลาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นในการประชุมสภา   

ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งคือภาวะผู้นำของท่านนายกสภา ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย ประกอบกับความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร นำโดยท่านอธิการบดีที่ทำงานเร็ว ตอบสนองนโยบายได้จริงจัง    รวมทั้งความสามารถในการ “ชง” เรื่อง เข้าสภา     ทั้งที่รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา     และความสามารถของสำนักงานสภาฯ    

เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง    มหาวิทยาลัยเตรียมร่างแผนพัฒนาระยะที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙)    โดยผมมีข้อสังเกตว่า ฝ่ายบริหารของ มช. ฉลาดมากในการดำเนินยุทธศาสตร์ระดมพลังของทุกฝ่ายมาร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง     โดยมีข้อมูลมาให้ผู้เกี่ยวข้องดู  แล้วขอสัมภาษณ์โดยเตรียมคำถามปลายเปิดมาให้ ๕ ข้อ   

การจัดทีมสัมภาษณ์กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิน่าสนใจมากสำหรับผม    คือใช้อาจารย์และบุคลากรหนุ่มสาวเข้ามาร่วม    เป็นกลไกให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นผู้นำและเป็นเจ้าของแผนพัฒนามหาวิทยาลัย    เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเหล่านี้คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต   

ผมมองว่า จุดเด่นของ มช. คือความสามารถขององค์กรในการเรียนรู้ และสร้างวงจรของการพัฒนาอย่างเป็นระบบ    คือเก่งด้าน organization for transformation    หรือ management for change    สมรรถนะนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสมรรถนะด้านวิชาการหรือด้านเทคนิค   

ที่จริงทักษะในการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ใช้ได้กับทุกกิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัย    และจะช่วยให้สามารถสร้างทฤษฎีทางวิชาการขึ้นจากบริบทของเราเอง    ไม่พึ่งพาทฤษฎีจากตะวันตกเพียงถ่ายเดียว     และเป็นกลไกช่วยให้ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ผงาดขึ้นมาเทียบเท่าตะวันตกได้  

ความท้าทายส่วนที่ยากที่สุดของการสร้าง transformation ในมหาวิทยาลัยไทยคือส่วนของการทำให้บรรลุผล    ความยากอยู่ที่การทำให้อาจารย์เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตนเอง    วิธีการของ มช. น่าจะช่วยให้ มช. บรรลุผล university transformation ได้จริง  

วิธีสร้างผู้นำรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  

ยิ่งได้ฟังท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รศ. ดร. อุษณีย์ คำประกอบ เล่าวิธีที่ มช. รวมพลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้ารางวัล TQC ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔   แล้วก็เห็นชัดว่า มช. กำลังมี momentum เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

ปลายเดือนมีนาคม จะมีการประชุมแบบ retreat นำผลการสัมภาษณ์กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิเข้านำเสนอ    เพื่อเป็นข้อมูลสู่การกำหนดแผน ๑๓ ปี ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐   ผมน่าจะมีข่าวมาเล่าต่อ

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.พ. ๖๔

   

หมายเลขบันทึก: 689545เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2021 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2021 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท