หญ้าแพรก ดอกมะเขือและเรือน้อย : ชื่อเรื่องสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องหรือไม่ อย่างไร


      เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้รู้จักชื่อหนังสือเรื่อง “หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย” ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้ามีความคิดว่าหนังสือเล่มนี้คงจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “ครู” โดยตรง คงมีความเข้มข้นและลึกซึ้งในเรื่องราวระหว่างครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะ หญ้าแพรกและดอกมะเขือเป็นวลีที่อ่านแล้วทำให้นึกถึงครู โดยทั้งสองสิ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันไหว้ครู เป็นสิ่งที่นักเรียนนำมาจัดใส่พานไหว้ครู โดยมีนัยเพื่อเป็นการแสดงว่า นักเรียนจะมีความอดทนที่จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเหมือนกับหญ้าแพรกที่ทนต่อฝนฟ้าอากาศ ทนต่อการถูกเหยียบย่ำ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครู พร้อมจะเป็นลูกศิษย์ที่ดีตามที่ครูสั่งสอนเหมือนกับดอกมะเขือที่โค้งลงพื้นดิน นอกจากนี้สัญลักษณ์ของวันไหว้ครูยังมีข้าวตอกและดอกเข็มที่แสดงถึงความมีระเบียบและมีสติปัญญาที่แหลมคมด้วย ส่วนเรือน้อยนั้นเมื่ออ่านแล้วก็ทำให้นึกถึงครูเช่นเดียวกัน ซึ่งสื่อถึงหน้าที่ของครูที่ต้องอบรมสั่งสอนนักเรียน ดังคำกล่าวคุ้นหูที่ว่า “ครูคือเรือจ้าง ผู้นำพาศิษย์สู่ฝั่งฝัน” นั่นเอง

          มิใช่เพียงที่ได้กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น เพราะเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านคำนำของหนังสือเล่มนี้ ก็ยิ่งสนับสนุนความคิดของข้าพเจ้าที่ว่าหนังสือเล่มนี้คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของครูอย่างลึกซึ้งแน่นอน ซึ่งสำนักพิมพ์เพื่อนดีได้กล่าวไว้ในคำนำว่า “...ชื่อเรื่อง ‘หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย’ จึงเป็นเรื่องของครูและนักเรียนอย่างแน่นอน...” ถึงแม้ส่วนของคำนำจะตีความให้หญ้าแพรกและดอกมะเขือเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และสติปัญญา ซึ่งไม่ตรงกับที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในส่วนต้นก็ตาม

          หญ้าแพรก ดอกมะเขือและเรือน้อยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักศึกษาวิชาชีพครู โดยจะนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครเอกของเรื่องคือ “บัวบรรณ” และดำเนินเรื่องโดยให้บัวบรรณไปพบเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตชีวิตของนักศึกษาครูได้อย่างชัดเจน ทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งการออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “การฝึกสอน” อันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของนักศึกษาครูด้วย

          เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เนื้อเรื่องค่อนข้างจะมีส่วนที่เกี่ยวกับ “ครูและนักเรียน” อยู่น้อยและมีส่วนของ “ความรัก” ระหว่างบัวบรรณและพี่บู๊ตอยู่มาก เสมือนเป็นส่วนหลักของเรื่อง จนทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องราวระหว่างครูกับนักเรียนเป็นเพียงส่วนย่อยที่นำมาสร้างสีสันหรือเพิ่มอรรถรสให้เรื่องนี้เท่านั้น ซึ่งถ้าหากมุ่งประเด็นไปที่เรื่องราวความรักของตัวละครนี้เป็นหลัก ก็จะสามารถกล่าวได้ว่า ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย เพราะถูกให้น้ำหนักกับส่วนของเรื่องราวความรักระหว่างตัวละครมากกว่า แต่ทว่าในทางกลับกัน หากจะจัดให้เรื่องราวความรักของบัวบรรณและพี่บู๊ตเป็นเพียงเนื้อหาย่อยที่นำมาเสริมเรื่องให้สนุกครบรสมากขึ้นเท่านั้น และมุ่งประเด็นหลักไปที่เรื่องราวของครูและนักเรียนโดยไม่นำปริมาณเนื้อหามาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็จะสามารถกล่าวได้ว่า ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก เพราะ ชื่อเรื่องสื่อถึงครูและเนื้อเรื่องก็เป็นเรื่องราวของครู ถึงแม้เรื่องราวระหว่างครูและนักเรียนจะมีปริมาณเนื้อหาน้อยกว่าความรักของบัวบรรณและพี่บู๊ต แต่ก็ถูกนำมากล่าวไว้ทั้งในตอนต้นของการเปิดเรื่องและในส่วนท้ายเป็นการปิดเรื่อง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญนั่นเอง

          สรุปแล้ว จากที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าในประเด็นคำถามที่ว่า “ชื่อเรื่องสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องหรือไม่ อย่างไร” เท่านั้น ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาจะตัดสินว่าหนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะในท้ายที่สุดข้าพเจ้าก็ขอยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่สนุก ครบรส และควรค่าแก่การได้อ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าเองที่เป็นนักศึกษาวิชาชีพครู เมื่อได้อ่านแล้วก็ยิ่งเข้าใจชีวิตของนักศึกษาครูมากยิ่งขึ้นไปอีกเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 689398เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2021 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท