มิตรภาพต่างสายพันธ์


“มิตรภาพต่างสายพันธุ์” วรรณกรรมประเภทสารคดีเชิงท่องเที่ยวเล่มนี้ เป็นผลงานการเขียนของ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของตนเองที่ทำงานอยู่ในป่าเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีเพื่ออุทิศชีวิตให้งานถ่ายภาพสัตว์ป่า ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายทอดเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเจอออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการตอกย้ำว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าและเหมาะแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาเรื่อง “มิตรภาพต่างสายพันธุ์” สามารถสรุปได้ดังนี้

ด้านเนื้อหา

      การนำเสนอเนื้อหาเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนอาจใช้วิธีการเขียนแบบบันเทิงคดีได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ซึ่งสารคดีเรื่อง มิตรภาพต่างสายพันธุ์ ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้นจากข้อเท็จจริงและนำมาประกอบกับความคิดเห็นของผู้เขียนเอง โดยมีเนื้อหาหลัก คือ ประสบการณ์ของผู้เขียน และเกร็ดย่อย คือ เรื่องราวของสัตว์ป่า บุคคลที่ผู้เขียนได้พบ เมื่อพิจารณาแล้วสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็นได้ดังนี้

          ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสารคดีเรื่อง มิตรภาพต่างสายพันธุ์ ได้แก่ ภูมิหลังของผู้เขียน ภาษายาวีที่ปรากฏในเรื่อง เช่น แบ แปลว่า พี่ชาย ซือดะ แปลว่า อร่อย เป็นต้น ชื่อของสัตว์ ลักษณะนิสัย ลักษณะทางกายภาพและการดำรงชีวิตของสัตว์ที่ปรากฏในเรื่อง เช่น นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่และไม่มีขนคลุมบริเวณด้านใต้ของปีก เป็นต้น โครงการช่วยเหลือเหล่านกเงือกบนเทือกเขาบูโด ของอาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ สถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง เช่น เทือกเขาบูโด ดอยม่อนจอง ดอยอินทนนท์ พิกัดทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่ปรากฏในเรื่อง อนุสัญญาแรมซาร์ บุคคลต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง เช่น อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ ไมเคิล แม็กมิลแลนด์ วอลซ์ เป็นต้น

          เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น ประกอบกับการพิจารณาจากภูมิหลังและประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งก็คือ ม.ล.ปริญญา วรวรรณ แล้วพบว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวล้วนน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ม.ล.ปริญญา วรวรรณ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากท่านทำงานถ่ายภาพสัตว์ป่ามาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังเป็นนักเดินทางผู้มากประสบการณ์ จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพื้นที่ป่าในประเทศไทยเป็นอย่างดี อีกทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความหมายของภาษายาวี ชื่อของสัตว์ โครงการช่วยเหลือเหล่านกเงือกบนเทือกเขาบูโด ของอาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ ชื่อสถานที่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่ชื่อของบุคคลอย่าง ไมเคิล แม็กมิลแลนด์ วอลซ์ ล้วนสามารถสืบค้นข้อมูลที่แท้จริงได้ทั้งสิ้น

          ความคิดเห็นที่ปรากฏในสารคดีเรื่อง มิตรภาพต่างสายพันธุ์ ได้แก่ ความคิดเห็นที่ผู้เขียนมีต่อการใช้ชีวิต เช่น “การก่อไฟเพื่อหุงข้าวกินไม่ใช่เรื่องงายดายนัก” (กองไฟ, หน้า ๒๕) “ยอมรับว่าคนเดินป่ากับกองไฟเป็นของคู่กัน” (กองไฟ, หน้า ๒๖) “การได้ล้อมวงอยู่ข้างกองไฟนับเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์” (กองไฟ, หน้า ๒๗) ความคิดเห็นที่ผู้เขียนมีต่อสัตว์ป่า เช่น “นกในดวงใจของผมคือนกอีโก้ง” (นกในดวงใจ, หน้า ๒๙) “เสียงร้องของนกเงือกหัวแรดมีสำเนียงคล้าย ๆ นกกก” (มิตรภาพ, หน้า ๓๙) “ความคิดเห็นที่ผู้เขียนมีต่อธรรมชาติ เช่น ป่าหนาทึบเบื้องล่างดูกว้างใหญ่” (เดินทาง, หน้า ๑๕๒) ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์ที่ล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อนำอวัยวะบางส่วนไปใช้ประโยชน์ ความคิดเห็นที่มีต่อระบบราชการของประเทศไทย เช่น “เราไม่อยากพูดถึงเรื่องอุปกรณ์ เสบียง หรืออะไรต่าง ๆ ที่ขาดแคลนหรอกครับ เพราะถึงจะอยู่ป่า แต่เราก็พอเข้าใจว่า ‘ระบบ’ ของประเทศนี้เป็นอย่างไร” (ข้างหลังช้าง, หน้า ๑๘๖)

          เมื่อพิจารณาความคิดเห็นที่ ม.ล.ปริญญา วรวรรณ สอดแทรกไว้ในสารคดีเรื่อง มิตรภาพต่างสายพันธุ์ ได้ข้อสรุปว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นล้วนเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ทั้งเรื่องความคิดเห็นที่ผู้เขียนมีต่อการใช้ชีวิต ความคิดเห็นที่มีต่อสัตว์ต่าง ๆ ความคิดเห็นที่มีต่อธรรมชาติ หรือแม้แต่ความคิดเห็นที่มีต่อระบบราชการของประเทศไทย ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นที่ผู้เขียนได้นำเสนอออกมาไม่อาจตัดสินได้ว่าถูกหรือผิดอย่างไร ผู้อ่านหรือบุคคลอื่น ๆ อาจมีความคิดเห็นที่เหมือนหรือแตกต่างไปจากนี้ได้ หากพิจารณาในแง่ของความน่าเชื่อถือ ก็นับว่าความคิดเห็นของผู้เขียนนั้นน่าเชื่อถือและเป็นการเตือนสติให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด เช่น เรื่องการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อนำอวัยวะบางส่วนไปใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เป็นต้น

กลวิธีการแต่ง

          ชื่อเรื่อง“มิตรภาพต่างสายพันธุ์” ผู้แต่งใช้คำสั้น ๆ มาประกอบกันแต่กลับสื่อความหมายได้มาก ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี

          พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชื่อเรื่องกับส่วนของเนื้อหาโดยรวม ได้ดังนี้ คำว่า “มิตรภาพ” หมายถึง ความเป็นเพื่อน โดยในส่วนของเนื้อหาได้สื่อถึงมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มิตรภาพระหว่างสัตว์กับสัตว์ และมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ซึ่งสื่อถึงความเป็นเพื่อนที่ไม่มีข้อจำกัดในความแตกต่าง ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ภูมิลำเนา เชื้อชาติ หรือแม้แต่ความแตกต่างทางสายพันธุ์ สอดคล้องกับคำว่า “ต่างสายพันธุ์” ที่ปรากฏในชื่อเรื่อง จึงสามารถสรุปได้ว่าชื่อเรื่องและเนื้อหานั้นมีความสัมพันธ์กัน

          การเปิดเรื่อง

          ผู้เขียนเริ่มต้นการเปิดเรื่องด้วยการใช้พรรณนาโวหาร โดยพรรณนาให้เห็นสภาพการใช้ชีวิตในป่า เช่น “สายลมร้อนอบอ้าวของยามบ่ายพัดผ่านบริเวณดงไผ่ริมลำห้วยอย่างต่อเนื่อง” (คำนำผู้เขียน, หน้า ๑๓) และยังปลุกอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านให้เกิดความตื่นเต้นตามผู้เขียนด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกช้างป่าเข้าโจมตี ซึ่งเป็นความประทับใจแรกในการเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผู้อ่านอยากติดตามตอนต่อ ๆ ไป

          การดำเนินเรื่อง

          ผู้เขียนดำเนินเรื่องในลักษณะที่เป็นการเขียนเล่าเรื่องย้อนอดีต ทำให้ผู้อ่านค่อย ๆ รู้จักผู้เขียนมากยิ่งขึ้นผ่านตัวอักษรที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมา และทำให้ผู้อ่านค่อย ๆ ซึมซับหัวใจแห่งการมองสัตว์ป่าในหลาย ๆ แง่มุมจากจิตวิญญาณที่ผู้เขียนบรรจุลงในตัวอักษร ซึ่งส่วนของเนื้อหามีการแบ่งเนื้อหาเป็นบท ๆ และใช้ย่อหน้าสั้น ๆ อ่านแล้วไม่น่าเบื่อ อ่านแล้วสามารถหยุดพักได้ ทำให้ผู้อยู่กับหนังสือได้เป็นเวลานาน ซึ่งนับเป็นข้อดีข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

          จากที่ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาเป็นบท ๆ เมื่อพิจารณาชื่อของแต่ละบท พบว่า ชื่อบทที่ผู้เขียนตั้งใจใช้นั้น สื่อถึงเนื้อเรื่องในบทนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่ออ่านแล้วสามารถคาดเดาได้ว่าบทนั้น ๆ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอะไร แต่ถึงแม้ผู้อ่านอาจจะสามารถคาดเดาเนื้อหาสาระของแต่ละบทจากชื่อบทได้ ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าความสนุกของบทนั้น ๆ ลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะในแต่ละบทมักจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจบรรจุอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีข้อความที่กินใจผู้อ่าน หรือทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดตามด้วยคำถามเชิงวาทศิลป์ ซึ่งปรากฏอยู่ในตอนท้ายของทุกบท เช่น “ในฐานะมนุษย์ หากจะให้ลบสิ่งที่เข้ามาอยู่ในใจออกไปคงทำไม่ได้ง่ายนัก” (นกในดวงใจ, หน้า ๓๔) “มันง่ายเสียจนแบมุไม่ได้คิดถึงว่า ช่วงเวลาหลังจากนั้น ด้วยอาหารที่เต็มปาก บินมาเกาะหน้าปากโพรง ใช้กรงเล็บยึด หางแข็ง ๆ ช่วยประคอง เมื่อมองเข้าไปในโพรง มันคือความว่างเปล่า นกเงือกหัวแรดตัวนั้นจะรู้สึกเช่นไร” (มิตรภาพ, หน้า ๓๙) “เมื่อใดที่ส่งเสียงไปแล้ว ไม่มีเสียงใด ๆ ตอบกลับมา อาจเป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่า” (บทเพลงของพฤกษ์ไพร, หน้า ๗๘)

          การปิดเรื่อง

          ผู้เขียนปิดเรื่องด้วยการทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่เสียดสีสังคม ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนใจ เช่น “ผู้ชาย ๗ - ๘ คน มีลูกซองห้านัดเก่า ๆ อยู่ในมือ ๒ - ๓ กระบอก นั่งร้องไห้อยู่ข้าง ๆ ซากสัตว์ป่าที่ถูกฆ่าด้วยปืนแรงสูง เสียงร้องไห้คงไม่เบาเท่าใด แต่ป่ามันอยู่ลึกเกินกว่าใครจะได้ยิน” (ข้างหลังช้าง, หน้า ๑๘๗) และผู้เขียนยังได้นำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักผู้เขียนมากยิ่งขึ้น เช่น บท “สัตว์ป่าและการถ่ายภาพ” ผู้เขียนได้เล่าถึงการเริ่มต้นเป็นช่างถ่ายภาพสัตว์และความสำเร็จที่ชุดภาพของตนเองได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เป็นต้น

          การใช้ภาษา

          โวหารที่ปรากฏในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการพรรณนาสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ นึกภาพตามสิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอด ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมกับผู้เขียนได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น “ซากหรือร่างอันไร้ชีวิตของควายป่าตัวผู้ซึ่งมีน้ำหนักร่วม ๆ ตันตัวนั้นนอนตะแคงอยู่ในลำห้วยที่ระดับน้ำลดลงจนกระทั่งเหลือเป็นร่องน้ำแคบ ๆ ซากยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีเพียงเนื้อบริเวณช่องท้องเท่านั้นที่มีร่องรอยถูกกัดกินไป” (หนทางข้างหน้า, หน้า ๔๕) “นกหัวขวานจะใช้ปากแข็ง ๆ เคาะลำต้นไม้สัก ๓ - ๔ ครั้ง หลังจากนั้นจะหยุด เอาหัวแนบลำต้นเพื่อฟังเสียงความเคลื่อนไหวของแมลงซึ่งอยู่ภายใน แล้วจึงใช้ลิ้นยาว ๆ ที่มีกาวเหนียว ๆ อยู่ที่ปลายลิ้น คว้าเอาแมลงมากิน” (บทเพลงของพฤกษ์ไพร, หน้า ๗๗) “ปลายเดือนพฤศจิกายน พื้นหญ้าบริเวณยอดดอยขาวโพลนไปด้วยน้ำแข็ง อากาศเย็นยะเยือก อาคารหลังเล็กดูเงียบสงบ ไร้ผู้คน ด้านหลังอาคารที่เคยคึกคักเพราะเป็นห้องน้ำ บัดนี้ว่างโล่ง ห้องน้ำถูกรื้อไปแล้ว” (บนยอดดอย, หน้า ๑๒๓) เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากบรรยายโวหารและพรรณนาโวหารแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังปรากฏการใช้อธิบายโวหาร เช่น “Ramsar Convention หรืออนุสัญญาแรมซาร์ ตั้งชื่อตามชื่อเมืองแรมซาร์ในประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นที่ประชุมร่วมกันครั้งแรกของรัฐบาลหลายประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๑๔” (ตรีมอกาเซะ, หน้า ๙๑) และยังปรากฏการใช้สาธกโวหารด้วย เช่น “เสียงทำให้เกิดความรู้สึกไพเราะ สงบ หรือหวาดกลัว ที่แปลกๆ ก็มีเยอะ อย่างเช่นเสียงของ ‘นกมูม’” (บทเพลงของพฤกษ์ไพร, หน้า ๗๕)

          ภาพพจน์ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ อุปมา เช่น มีทั้งทำนองสูง ต่ำ เล็กแหลม ห้าว แยกเสียงอย่างไพเราะ เปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ก็ไม่ต่างจากกำลังอยู่หน้าวงออร์เคสตรา (บทเพลงของพฤกษ์ไพร, หน้า ๗๕) อุปลักษณ์ เช่น นกในดวงใจของผมคือนกอีโก้ง (นกในดวงใจ, หน้า ๓๐) บุคลาธิษฐาน เช่น หลายครั้งขณะนั่งมองเปลวไฟร่ายรำ ผมหวนคิดถึงบรรพบุรุษ (กองไฟ, หน้า ๒๕) และสัทพจน์ เช่น “ฟืนไหม้ส่งเสียงฟู่ ๆ” (กองไฟ, หน้า ๒๗) “ช่วงสายจะมีเสียงครางฮือ ๆ จากพวกนกเขาเปล้า” (บทเพลงของพฤกษ์ไพร, หน้า ๗๗)

ทัศนะของผู้แต่ง

          ทุกบทจะสอดแทรกทัศนะของผู้เขียน ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดตาม โดยทัศนะของผู้เขียนที่ปรากฏในเรื่อง มีดังนี้      ทัศนะที่ผู้เขียนมีต่อการใช้ชีวิต ผู้เขียนได้ให้ทัศนะว่า ความยากลำบากอาจอยู่ที่การมีชีวิตอยู่ นั่นคือ จะต้องตามหาความหมายบางส่วนของชีวิตและยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด         ทัศนะที่ผู้เขียนมีต่อสัตว์ต่าง ๆ คือ ผู้เขียนชื่นชมลักษณะทางกายภาพของสัตว์ว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม และทุกชีวิตต่างก็มีวิถีของตนเอง เช่น เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า “เสือ” ผู้เป็นนักล่านั้นโหดเหี้ยมหรือดุร้ายเพียงเพราะวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างของมัน และยังกล่าวถึงมิตรภาพในหมู่สัตว์หลาย ๆ สายพันธุ์ที่มีต่อกัน เช่น พวกมันเฝ้าระวังภัยให้กันละกัน เป็นต้น

          ทัศนะที่ผู้เขียนมีต่อระบบราชการของประเทศไทย แม้จะไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาน้ำเสียงที่ปรากฏประกอบแล้ว พบว่า ผู้เขียนมีการเสียดสีสังคม เสียดสีระบบราชการของประเทศไทยว่า ค่อนข้างจะไม่ให้ความสำคัญและไม่ให้การสนับสนุนในการพิทักษ์ป่าและสัตว์ป่าเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับนำงบประมาณไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ป่าและสัตว์ป่าที่กำลังลดจำนวนลง

          ทัศนะที่ผู้เขียนมีต่อมนุษย์ โดยผู้เขียนแสดงทัศนะถึงมนุษย์ทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดีคือ มนุษย์ไม่มีการจำกัดซึ่งมิตรภาพ นั่นคือ ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน เชื้อชาติใด มนุษย์ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์และเกิดมิตรภาพดี ๆ ระหว่างกันได้ แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ก็ไม่ได้ดีเลิศเสมอไป มนุษย์ก็ยังมีกิเลสอยู่ จึงยังมีการเบียดเบียนสัตว์และธรรมชาติอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังปรากฏน้ำเสียงต่าง ๆ ของผู้เขียนอีกด้วย เช่น เศร้า หดหู่ สงสาร และตื่นเต้น

แนวคิด

          จุดมุ่งหมายสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือ เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ ผู้เขียนได้กล่าวถึงสัตว์หลายชนิด เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น “เสือ” สาเหตุที่เสือต้องล่าสัตว์ก็เพื่อความอยู่รอดของตัวมันเอง และคงไม่ใช่ของความของมันที่ธรรมชาติออกแบบลักษณะทางกายภาพของมันให้ดุดันน่าเกรงขาม เหมาะแก่การเป็นนักล่าเช่นนี้

          แนวคิดประการหนึ่งของเรื่องนี้ คือ การเรียนรู้ชีวิตทั้งเรียนรู้ชีวิตของตนเองเพื่อหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ และเรียนรู้ชีวิตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ เพื่อเข้าใจในความแตกต่างนั้น การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมิตรภาพดี ๆ ที่ทุกชีวิตต่างมีแก่กันจะทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น นอกจากไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว หากประสบกับปัญหาความขัดแย้งหรือความเข้าใจไม่ตรงกัน ก็ควรหัดคิดในมุมกลับกันบ้าง นั่นคือ การมองเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ในสถานภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งการมองสถานการณ์ต่าง ๆ ในทางกลับกัน คือลองจินตนาการให้เขาเป็นเรา ให้เราไปเป็นเขาในสถานการณ์นั้น เราจะรู้สึกอย่างไรและจะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์นั้น ๆอย่างไร เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น จะไม่มีการกล่าวโทษผู้อื่น จะไม่มีใครต้องเสียใจหรือเจ็บปวดเพียงเพราะความไม่เข้าใจซึ่งกันละกันอีกแล้ว

หมายเลขบันทึก: 689397เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2021 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท