ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก : เสรีภาพกับความลับที่ถูกซ่อน


            “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลนักเขียนยอดเยี่ยม “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” และเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของ “กำพล นิรวรรณ” ซึ่งเริ่มงานอาชีพในฐานะนักแปลของกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ปุถุชนเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังกลับจากเข้าไปร่วมการปฏิวัติกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยบนเทือกเขาภูบรรทัด จึงออกเดินทางค้นหาบทเรียนชีวิต จากความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมค่อย ๆ เรียบเรียงกลั่นกรองออกมาเป็นสำเนียงภาษาในรูปแบบของเรื่องสั้น ด้วยภาษาและลีลาเฉพาะตัว ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องเล่าลี้ลับ แปลกประหลาดและมหัศจรรย์

             “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” หนึ่งในสิบสองเรื่องสั้นในรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ” ความน่าสนใจของเรื่องคือ การนำเสนอฉากและบรรยากาศของหมู่บ้านชาวมินังคะเบา ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร การเดินทางของตัวละครไปยังหุบเขาเซียน็อกเพื่อค้นหาสิ่งเร้นลับที่ถูกซ่อนอยู่บนโตรกเขาแห่งนั้น เรียงร้อยเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องของตัวละคร โดยใช้ลีลาภาษาที่ไพเราะงดงาม เสมือนกำลังร่วมเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติไปกับตัวละคร

             “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” เป็นเรื่องราวของ “ข้าพเจ้า” ที่ต้องการเดินทางไปยังหุบเขาเซียน็อกตามคำบอกเล่าของ “ฟาเรล” มัคคุเทศก์หนุ่มชาวบูคิตติงกี ที่หนีมาเสี่ยงโชคในสยามประเทศ เพราะไม่อยากตกเป็นช้างเท้าหลังของเมีย สิ่งที่ดึงดูดให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังหุบเขาแห่งนั้นไม่ใช่เพียงทัศนียภาพของธรรมชาติ แต่กลับเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ถูกซ่อนเร้นไว้ในหุบเขาแห่งนั้น และสิ่งที่เป็นความลับนี้อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟาเรลต้องหนีจากบ้านมา จนกระทั่งในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้คำตอบของความลับที่ถูกซ่อนไว้

             โครงเรื่องของ “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” ไม่มีความสลับซับซ้อน เพราะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ตามลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ และไม่มีการสลับฉากไปมา จนเกิดความสับสน ซึ่งผู้เขียนใช้กลวิธีการเปิดเรื่องด้วยการพบกันของตัวละครระหว่าง “ข้าพเจ้า” กับ “ฟาเรล” “เขาแนะนำตัวเองสั้น ๆ กับข้าพเจ้าว่า ฟาเรล” (หน้า 265) การพบกันของทั้งสองทำให้เราได้ทราบว่าฟาเรล เป็นมัคคุเทศก์ชาวบูคิตติงกี แต่ทิ้งอาชีพนำเที่ยว เข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้วยเหตุผลคือหนีเมีย เพราะบูคิตติงกีคือดินแดนมินังคะเบา เมืองมารดาธิปไตย หากชายใดแต่งงานจะกลายเป็นช้างเท้าหลังทันที ฟาเรลไม่สามารถทนอยู่ภายใต้อำนาจของเมียได้จึงตัดสินใจทิ้งเมียแล้วหนีมา เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านของฟาเรลอย่างละเอียด ความงามของโตรกเขาเซียน็อก ชวนให้เขาอยากไปสัมผัสที่นั่นให้ได้ แต่สิ่งที่เร่งเร้าความอยากนั้นไม่ใช่เพียงความงามทางกายภาพของสถานที่ หากแต่เป็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนเร้นในโตรกเขาแห่งนั้น ซึ่งยากนักที่คนทั่วไปจะพบเห็น สอดคล้องกับชื่อเรื่อง “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” นับว่าเป็นการเปิดเรื่องที่มีความน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม เพราะทำให้ผู้อ่านสงสัยและใคร่อยากจะรู้ว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาแห่งนั้น การเดินทางของตัวละครไปยังสถานที่แห่งนั้นจะเป็นอย่างไร และเรื่องราวจะจบลงแบบไหน

               การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่ฟาเรลเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของข้าพเจ้าที่ต้องการจะไปหุบเขาเซียน็อกให้ได้ จึงติดต่อกับราอิสเพื่อนที่เป็นมัคคุเทศก์ในหมู่บ้านเดียวกันให้เป็นเพื่อนนำทางให้ ซึ่งตอนนี้แสดงให้เห็นว่าฟาเรลไม่ได้เพียงแค่หนีเมียมาเท่านั้น แต่เหมือนกลัวบางสิ่งบางอย่างบนนั้นที่เขาไม่ได้บอกกับข้าพเจ้า “ตกลงคุณหนีเมียมา หรือหนีอะไรกันแน่” (หน้า 268)และนั่นก็เป็นเหตุผลที่เขาให้ราอิสนำทางขึ้นไปแทน

             การอยู่ที่นี่ทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักรู้ว่าคนมินังคะเบาหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีและหวงแหนความเป็นเสรีชนของตนเองมาก อย่างราอิสที่ยอมอยู่เป็นโสด และฟาเรลที่หนีไปจากแผ่นดินมารดา ราอิสพาข้าพเจ้าไปผับแห่งหนึ่งกับกลุ่มเพื่อนของเขา จากบทสนทนาในกลุ่มแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ ผู้ชายกับผู้หญิงที่เกิดในเมืองมารดาธิปไตย เมืองที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัว ทำให้ผู้ชายเกือบทุกคนเลือกที่จะอยู่อย่างคนโสด บางส่วนก็หนีไปจากเมืองนี้ เพราะไม่อยากอยู่ภายใต้อำนาจของสตรี หลังจากที่ทุกคนแยกย้ายกันเข้านอน ข้าพเจ้าก็เห็นกวางดาวตาเดียวที่เขาเคยเห็นก่อนหน้านั้นกำลังเดินเข้ามาหา แล้วก็ค่อย ๆ เดินจากไป ตกดึกวันต่อมาราอิสกับข้าพเจ้าออกเดินทางไปยังโตรกเขาเซียน็อก เมื่อถึงด้านบนราอิสปล่อยให้ข้าพเจ้าดื่มด่ำกับธรรมชาติเบื้องล่างที่เต็มไปด้วยป่าไม้ สักพักก็ได้กลิ่นคล้ายกำมะถัน ซึ่งเป็นกลิ่นควันไฟจากภูเขาไฟมาราปี เรื่องดำเนินมาถึงจุดสุดยอดเมื่อมีเสียงของลมแรงตามด้วยเงาของปีกคู่มหึมาโผลงสู่ชะง่อนผาที่พวกเขายืนอยู่ เผยให้เห็นกวางดาวตาเดียวตนนั้นได้กลายร่างเป็นหญิงสาวกำลังเดินมาหาพวกเขา และจูงมือราอิสให้เดินตามไป ตามมาด้วยเสียงโหยหวนเหมือนกับคนกำลังเจ็บปวด เมื่อฟังอีกครั้งก็เหมือนกับเสียงคนที่กำลังถึงจุดสุดยอดแห่งความสุข  

            การปิดเรื่องแสดงให้เห็นว่าหลังจากราอิสเสร็จสิ้นภารกิจกับหญิงสาวคนนั้นแล้ว ก็เดินกลับมาหาข้าพเจ้าด้วยท่าทางอิดโรย กลับกันก็เห็นว่าราอิสรู้สึกดีกับสิ่งที่เพิ่งผ่านไป ส่วนหญิงสาวคนนั้นก็บินขึ้นสู่ท้องฟ้าและหายไป และจากบทสนทนาระหว่างราอิสกับข้าพเจ้า ทำให้เรารู้ว่าหญิงสาวคนนั้นเป็นนางไม้แห่งหุบเขาเซียน็อก “บอกเขาว่านางไม้แห่งงารายเซียน็อกวิเศษที่สุดในโลก” (หน้า 287) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เนื่องจากฟาเรลไม่ได้หนีมาเพราะเหตุผลเรื่องเมียเท่านั้น แต่หนีจากนางไม้ตนนี้ด้วย และนางไม้ตนนี้อาจเป็นคำตอบของความลับแห่งหุบเขาแห่งนี้

           ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร “ข้าพเจ้า” จะเห็นว่าข้าพเจ้าหลงใหลและชื่นชอบในธรรมชาติมากเพราะเคยอยู่ในป่าถึงห้าปี และในขณะเดินทางผ่านป่าเขาก็ได้ชื่นชมธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ทั้งภาพที่เห็นและกลิ่นไอที่สัมผัส ชวนให้หวนรำลึกถึงวันวานเมื่อครั้งที่ตนเคยหลบซ่อนอยู่ในเทือกเขาบรรทัด อีกทั้งความงดงามของหุบเขาเซียน็อก ซึ่งไม่ใช่เพียงความงดงามทางธรรมชาติเท่านั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินของหุบเขาแห่งนี้ก็งดงามทั้งชายและหญิง ดังข้อความ “หรือว่าผู้คนในแผ่นดินนี้ถูกปั้นขึ้นมาด้วยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เฉกเช่นที่พระองค์ทรงเนรมิตแผ่นดินของพวกเขาขึ้นมา”(หน้า 270) และการมาเยือนสถานที่นี้ทำให้ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ว่าผู้คนที่เมืองนี้รักและหวงแหนในศักดิ์ศรี ความเป็นเสรีชนของตนมาก ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงการที่ผู้ชายเมืองนี้ยอมอยู่เป็นโสด หรือทิ้งเมียไปเสี่ยงโชคในเมืองอื่น เพราะไม่สามารถทนอยู่เป็นช้างเท้าหลังของเมียได้

           แก่นเรื่องหรือแนวคิดสำคัญของเรื่อง คือ การรักและหวงแหนในศักดิ์ศรีของชาวมินังคะเบา ไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจของใคร จนขาดความเป็นอิสรเสรีของชีวิต บางคนเลือกที่จะหลบหนีไปเสี่ยงโชคเสี่ยงดวงในต่างเมืองเพื่อหวังว่าจะพบเสรีภาพอย่างที่ตนต้องการ ซึ่งนั่นไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะมีโอกาสได้ครอบครองมันหรือไม่ ดังข้อความ “…บอกเขาว่ากลับมาเถอะ มาอยู่บ้านเรา อย่าไปอยู่อย่างสำเภาไร้หางเสือที่อื่นเลย…” (หน้า 287) “เรื่องเมียไม่สำคัญเท่าไหร่ เสรีภาพสำคัญกว่า” (หน้า 276) 

           ตัวละครหลักซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง คือ ข้าพเจ้า นับว่าเป็นตัวละครสำคัญที่ช่วยคลี่คลายความสงสัยเกี่ยวกับความลับของหุบเขาเซียน็อก ข้าพเจ้าจัดเป็นตัวละครหลายมิติ เพราะมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ข้าพเจ้ามีความพยายามและมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปยังหมู่บ้านของฟาเรลโดยไม่สนใจว่าหนทางข้างหน้าต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง อีกทั้งยังเข้าใจและรู้สึกเห็นใจผู้ชายที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเมีย ในทางกลับกันก็รู้สึกหมดศรัทธาต่อความทะนงในศักดิ์ศรีและหวงแหนความเป็นเสรีชนของคนมินังคะเบา เมื่อมีชายคนหนึ่งขอให้ข้าพเจ้าช่วยพาเขาไปเมืองไทยด้วย ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าชายคนนี้ไม่ได้รักและหวงแหนในศักดิ์ศรีเหมือนกับคนมินังคะเบาเลย และในตอนที่ราอิสกับนางไม้กำลังบรรเลงเพลงรักอยู่นั้นจิตใจของข้าพเจ้าก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายว่า “ไฟปรารถนาในตัวข้าพเจ้าเริ่มลุกโชนขึ้นอีกครั้งและกระพือไปตามจังหวะคลื่นฝูงค้างคาว” (หน้า 285) ดังนั้น “ข้าพเจ้า” จึงจัดว่าเป็นตัวละครที่มีความสมจริง มีชีวิตจิตใจเหมือนคนทั่วไป เพราะมีอารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสภาพแวดล้อม

           นอกจากนี้ยังมีตัวละครตัวอื่น ๆ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ตัวละครหลักแสดงพฤติกรรมและลักษณะนิสัย ได้แก่ ฟาเรล ตัวละครรองที่ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าอยากไปหุบเขาเซียน็อกจากคำบอกเล่าของเขาเกี่ยวกับความลับที่ถูกซ่อนไว้ ในส่วนนี้ทำให้ทราบลักษณะนิสัยส่วนหนึ่งของข้าพเจ้าว่าชื่นชอบการผจญภัย รักการเดินทาง ชอบความตื่นเต้นท้าทาย อย่างในตอนแรกที่ข้าพเจ้าขอให้ฟาเรลช่วยนำทางไปยังหมู่บ้าน แต่ฟาเรลปฏิเสธเพราะเกรงกลัวบางสิ่งบางอย่างบนนั้น แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ยังไม่ลดละความพยายาม แม้จะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ฟาเรลกลัวนั้นคืออะไรก็ตาม ฟาเรลเป็นคนที่รักในศักดิ์ศรีของตนเอง จะเห็นว่าเขาทิ้งเมียเพราะต้องการความเป็นอิสระ การที่เขาแต่งงานทำให้ต้องตกเป็นช้างเท้าหลังของเมีย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสังคมในปัจจุบัน ผู้ชายมักจะเป็นช้างเท้าหน้า เป็นผู้นำครอบครัว  ความต้องการเป็นอิสระจึงเป็นสาเหตุให้เขาหนีมาเสี่ยงโชคในต่างเมือง ราอิส ตัวละครรองอีกตัวที่สำคัญ มีลักษณะนิสัยคล้ายกับข้าพเจ้าคือ หลงใหลในความงดงามของธรรมชาติและชอบการเดินทางเหมือนกัน เนื่องจากมีอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถูกชะตาทันทีเมื่อเริ่มต้นบทสนทนากัน อีกทั้งยังชำนาญการเดินทางในเวลากลางคืน สามารถช่วยนำทางข้าพเจ้าไปหาสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการพบได้ แม้ว่าในเรื่องตัวละครรองทั้งสองตัวไม่ได้แสดงบทบาทมากนัก แต่การปรากฏตัวของตัวละครทั้งสองนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ตัวละครหลักแสดงลักษณะนิสัยและพฤติกรรมออกมาอย่างชัดเจน

           “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” มีความโดดเด่นในด้านการนำเสนอฉากและบรรยากาศ ฉากสำคัญที่ปรากฏในเรื่องคือ ฉากหมู่บ้านของชาวมินังคะเบา ที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมบทบาทของข้าพเจ้าที่ชื่นชอบในธรรมชาติอยู่แล้วให้มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ดังข้อความ “โอ้ แม่เจ้า! หุบเขาอะไรช่างสวยงดงามเช่นนี้ ถ้าโลกนี้มีสวรรค์บนดินอยู่จริงมันก็คือหุบเขาเซียน็อกนี่เอง”(หน้า 272) และมีการพรรณนาเกี่ยวกับทัศนียภาพระหว่างสองข้างทางในขณะนั่งรถไปยังหมู่บ้าน ดังข้อความ “ข้าพเจ้าไปตามเส้นทางเลียบทิวเขา ผ่านทุ่งนาเขียวขจี…เส้นทางเริ่มเลี้ยวลดคดเคี้ยวผ่านป่าทึบ ด้านล่างปกคลุมด้วยไม้เตี้ยรกรัฏ ด้านบนต้นผึ้งผิวสีนวลชูคอระหงอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บางต้นมีเถาวัลย์ยักษ์ห้อยลงมาระโยงระยาง” (หน้า 270) นอกจากนี้ยังใช้การบรรยายในขณะที่ข้าพเจ้ากับราอิสกำลังเดินทางขึ้นไปยังโตรกเขา  เซียน็อก ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนว่าตัวละครทั้งสองเป็นนักปีนเขาจริง ๆ ดังข้อความ “เราเดินเลียบแม่น้ำ เซียน็อกร็อดที่ไหลผ่ากลางหุบเขา…น้ำตื้นแค่เข่าเราจึงข้ามฝั่งมุ่งหน้าไปยังเชิงผา เส้นทางต่อจากนั้นเป็นทางไต่เขาสูงชันลัดเลาะไปตามหลืบผา” (หน้า 279)

           บรรยากาศในเรื่องนับว่าเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร มีการพรรณนาเกี่ยวกับอากาศในยามเช้าท่ามกลางหุบเขา ค่ำคืนของการเดินทาง ซึ่งมีทั้งเสียงครวญครางของนกที่กำลังหลับ เสียงของลม และสอดคล้องกับการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังในตอนที่ข้าพเจ้ากำลังเดินทางขึ้นไปยังโตรกเขาเซียน็อก ผู้เขียนได้เปลี่ยนฉากเป็นป่าดิบทึบและบรรยายต่อว่าเส้นทางเริ่มมืดสนิท มีเพียงแสงจันทร์ราง ๆ ที่เล็ดลอดผ่านต้นไม้เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเริ่มเข้าใกล้สิ่งเร้นลับเข้าเต็มทีแล้ว และก่อนที่นางไม้จะปรากฏตัวผู้เขียนได้สร้างบรรยากาศให้น่าตื่นเต้น ลุ้นระทึกและผสมผสานด้วยกลิ่นอายของความ   น่ากลัว ด้วยเสียงภูเขาไฟมาราปีกำลังพ่นควันไฟ ดังข้อความ “…เปลวเทียนเกิดไหววูบขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ลมยังสงัดเงียบ ครู่ต่อมา ข้าพเจ้าได้ยินเสียงหวีดหวิวดังแว่วมาแต่ไกล ท้องฟ้าที่ใสกระจ่างเริ่มมีม่านสีขาว    แผ่คลุม มีกลิ่นกำมะถันบาง ๆ ลอยเข้าจมูก อากาศเริ่มหนักอึ้ง…” (หน้า 281) และเมื่อเรื่องดำเนินเข้าใกล้จุดสุดยอด ผู้เขียนก็ได้สร้างบรรยากาศโดยรอบให้ทวีความรุนแรงและน่ากลัวมากยิ่งขึ้น และค่อย ๆ คลายความน่ากลัวลงเมื่อนางไม้แห่งงารายเซียน็อกปรากฏตัว “กลิ่นลมปราณของพระแม่ธรณีเริ่มแรงขึ้น แรงขึ้น เสียงหวีดหวิวก็เริ่มดังขึ้น ดังขึ้น และดังขึ้น ฟังคล้ายเสียงกิ่งสนกรีดลมแรงที่พัดกรรโชกมาเป็นระลอก ๆ…ม่านสีขาวที่อ้อยอิ่งอยู่เหนือชะง่อนผาก็ถูกแหวกชำแรกออกจากกัน…เผยให้เห็นพระจันทร์ที่คล้อยดวงไปอยู่เหนือเหลี่ยมผา” (หน้า 282)

            นอกจากนั้น บรรยากาศในขณะที่ราอิสเดินหายลับไปกับนางไม้ และตามมาด้วยเสียงเหมือนคนกำลังบรรเลงบทเพลงรักอย่างเร่าร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เหมาะสมในการบรรยายฉากนั้น ผู้เขียนจึงสร้างบรรยากาศโดยรอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความไม่เหมาะสมแล้วยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้นมากขึ้นอีกด้วย ดังข้อความ “ค้างคาวใหญ่เริ่มรวมฝูงบินวนเหนือชะง่อนผาและถลาขึ้นลงเป็นจังหวะเหมือนคลื่นที่โยนตัวตามกันมาเป็นระลอก” (หน้า 285) และใช้บทเพลงโบเลโรมาช่วยเสริมอารมณ์ตัวละครที่กำลังทวีความเร่าร้อน  โดยปกติบทเพลงโบเลโรนั้นจะเริ่มบรรเลงอย่างช้า ๆ จากนั้นจะค่อย ๆ เร่งจังหวะให้เร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์ตัวละครในขณะนั้น เมื่อสิ้นสุดการบรรเลงบทเพลงรัก ผู้เขียนจึงสร้างบรรยากาศให้ค่อย ๆ คลี่คลายกลับมาเป็นปกติ ดังข้อความ “คลื่นฝูงค้างคาวเริ่มโยนตัวช้าลง ช้าลง และค่อย ๆ แยกย้ายบินหายไป…” (หน้า 286)

            แม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีความเหนือจริงอยู่บ้างแต่ฉากในเรื่องนี้ก็ถือว่ามีความสมจริง เพราะเป็นสถานที่  ที่ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟมาราปี หมู่บ้านมินังคะเบา มีเพียงกระท่อมกลางหุบเขาซึ่งเป็นบ้านของฟาเรลที่ผู้เขียนสมมติขึ้นเท่านั้น และไม่ว่าฉากในเรื่องจะมีอยู่จริงหรือไม่ต่างก็มีส่วนสำคัญช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างสมบูรณ์

          นอกจากฉากและบรรยากาศแล้ว “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” ยังมีความโดดเด่นด้านการใช้สัญลักษณ์และโวหารภาพพจน์ จะเห็นว่าในตอนปิดเรื่องผู้เขียนได้กล่าวถึงนางไม้แห่งหุบเขาเซียน็อก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้เขียนใช้สัญลักษณ์นางไม้เป็นตัวแทนของผู้หญิงในเมืองมินังคะเบา เพื่อเป็นสิ่งเน้นย้ำว่าเมืองนี้เป็นเมืองมารดาธิปไตย ทำให้การนำเสนอเนื้อหามีความสมจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังปรากฏสัญลักษณ์อื่น ๆ เช่น กระท่อมหลังคาทรงเขาควาย เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชาวบูคิตติงกี ซึ่งเป็นการบอกเล่าตำนานของชาวมินังคะเบา ดังในอดีตที่ชาวชวาเข้ามารุกรานโจมตีชาวมินังคะเบา และเพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเสียเนื้อของทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดประลองควายขึ้น ควายฝ่ายใดแข็งแกร่งกว่าถือว่าฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ เมื่อสิ้นสุดการประลองปรากฏว่าควายของชาวมินังคะเบาเป็นฝ่ายชนะ จึงเป็นที่มาของชื่อ “มินังคะเบา” แปลว่า ควายแห่งชัยชนะ จนกลายเป็นที่มาของสัญลักษณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาพอสังเขป ดังนี้

อุปมาโวหาร เช่น

“ท่าทางสง่างามดุจดั่งเทพบุตร” (หน้า 267)

“ผู้คนในแผ่นดินนี้ถูกปั้นขึ้นมาด้วยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เฉกเช่นที่พระองค์ทรงเนรมิตแผ่นดินของพวกเขาขึ้นมา” (หน้า 270)

“ถ้าฟาเรลสง่างามเหมือนพระเยซู ราอิสก็งามสง่าไม่แพ้สิทธัตถะ” (หน้า 270)  

“ภาพที่เห็นดูราวกับผืนพรมเขียวขจีแผ่คลุมเป็นเวิ้งรูปร่างคล้ายแตงโมผ่าซีก” (หน้า 271)

“น้ำใสราวแผ่นกระจก” (หน้า 278)

“ชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศราวกับระเบียงของขุนเขา” (หน้า 280)

บุคลาธิษฐาน เช่น

“ฟ้าดินก็จะพลอยตื่นเต้นกับคุณไปด้วย” (หน้า 269)

“ทิวผาสูงชันทอดตัวโอบกอดพรมผืนนี้ไว้เกือบทุกด้าน” (หน้า 271)

“แสงสีหมากสุกส่องทะลุหมู่เมฆ ทอดลำเลียดสันผาลงมาลูบไล้ยอดข้าวที่พลิ้วไหว” (หน้า 271)

“ไม่สนใจว่าแอลกอฮอล์กับสารกาแฟจะเข้าไปตบตีกันในตัวในหัวเราอย่างไร” (หน้า 273)

“พระจันทร์ลอยดวงขึ้นไปซบไหล่ฟ้า” (หน้า 278)

อธิพจน์ เช่น

“แผ่นดินที่พระเจ้าทรงประดับประดาอัญมณีทางธรรมชาติไว้ให้อย่างงดงาม” (หน้า 269)

“ถ้าโลกนี้มีสวรรค์บนดินอยู่จริงมันก็คือหุบเขาเซียน็อกนี่เอง” (หน้า 272)

สัทพจน์ เช่น

เสียงหวีดหวิวของใบไม้กรีดลม” (หน้า 279)

ปฏิปุจฉา เช่น

“แล้วคุณแน่ใจหรือว่าที่เมืองไทยคุณจะมีเสรีภาพมากกว่าที่นี่” (หน้า 276)

“แม่น้ำสายไหนอีกหนอที่จะใสเท่าแม่น้ำสายนี้” (หน้า 278)

              นอกจากนั้นแล้วสำนวนภาษาที่ใช้ยังสามารถอ่านเข้าใจง่าย มีความลื่นไหลของการเลือกสรรคำ มีการใช้คำซ้อนเพื่อเน้นข้อความให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่นคำว่า ผสมผสาน แยกย้าย เหยียบย่าง เย็นฉ่ำ เงียบสงัด ง่วงงุน เป็นต้น และคำซ้อนเพื่อเน้นความหมายซึ่งมีลักษณะคล้ายสำนวนไทย เช่น รู้จักมักจี่ โดดเดี่ยวเดียวดาย ระบือลือเลื่อง โขมงโฉงเฉง สุดลูกหูลูกตา อวบอิ่มเต่งตึง กระสับกระส่าย กระแทกกระทั้น เป็นต้น และปรากฏสำนวน รีดนาทาเร้น หมายถึง ขู่เข็ญเอาทรัพย์สินจากคนที่ยากจน หรือเคี่ยวเข็ญให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกินกำลังความสามารถ ซึ่งผู้เขียนใช้สำนวนนี้เพื่อเปรียบเทียบว่าฟาเรลหนีจากเมืองมารดาเหมือนกับบรรพบุรุษของเขาที่หนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงของชาวดัทช์ และในตอนที่ภูเขาไฟมาราปีกำลังพ่นควันก็มีการซ้ำคำเพื่อเน้นย้ำการเกิดเหตุการณ์ ดังข้อความ “กลิ่นลมปราณของพระแม่ธรณีเริ่มแรงขึ้น แรงขึ้น เสียงหวีดหวิวก็เริ่มดังขึ้น  ดังขึ้น และดังขึ้น” (หน้า 282) รวมถึงมีการอ้างบทประพันธ์เพื่อบรรยายลักษณะของกวางดาวที่กลายร่างเป็นหญิงสาวว่ารูปงามเหมือนนางสีดา

เปรียบปรางสีดาก็น่าชม

เปรียบเนตรเนตรคมคมสัน

เปรียบพักตร์ผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์

เปรียบถันดั่งปทุมละอองนวล

(หน้า 283)

          เมื่อพิจารณาโครงเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร ฉากและบรรยากาศแล้ว เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกันตลอดทั้งเรื่อง อีกทั้งมีการใช้สำนวนภาษา โวหารภาพพจน์เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์คล้อยตามไปกับตัวละคร ดังที่ผู้เขียนได้พรรณนาฉากและบรรยากาศความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ที่ตัวละครไปสัมผัส นอกจากนี้ยังเสมือนเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมินังคะเบาเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ดึงเอาเอกลักษณ์วัฒนธรรมและลักษณะของผู้คนในท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานในเนื้อเรื่องเพื่อเพิ่มกลิ่นอายความเป็นชาวบ้านกลางหุบเขาและชนเผ่ามินังคะเบา ไม่ว่าจะเป็นกระท่อมหลังคาทรงเขาควาย รูปร่าง สีผิวของผู้คน เป็นต้น แม้ว่าเนื้อหาของเรื่องจะไม่ได้เน้นหนักด้านแก่นเรื่องหรือแนวคิดให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงเท่าไรนัก แต่ก็มีการตั้งคำถามถึงเสรีภาพเพื่อให้ผู้อ่านนำไปขบคิดว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยในปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่นั้นมีเสรีภาพต่างจากเมืองมินังคะเบาหรือไม่ ดังข้อความ “แล้วคุณแน่ใจหรือว่าที่เมืองไทยคุณจะมีเสรีภาพมากกว่าที่นี่” (หน้า 276)

          “ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก” นับว่าเป็นอีกเรื่องที่ช่วยปลุกพลังของนักผจญภัยในตัวเราให้กล้าเผชิญโลกกว้างเหมือนกับตัวละครข้าพเจ้าที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปยังหุบเขาเซียน็อกให้ได้ โดยไม่สนใจ    คำเตือนของฟาเรลที่เป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นหนังสือที่ช่วยเปิดประสบการณ์ให้กับผู้อ่าน รวมถึงได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นมาของชาวมินังคะเบา สัมผัสและเรียนรู้สังคมเมืองมารดาธิปไตย วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ บอกเล่าผ่านท่วงทำนองภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและการใช้โวหารภาพพจน์ที่ทำให้ผู้อ่านได้จินตนาการ เสมือนกำลังร่วมเดินทางไปกับตัวละคร จึงนับว่าเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องที่นักอ่านทั้งหลายไม่ควรพลาด

บทวิจารณ์โดย สิรินทร์

รายการอ้างอิง

กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่น ๆ. กรุงเทพฯ : ผจญภัย.

เพจเฟซบุ๊ก : ชาติพันธุ์แห่งอุษาคเนย์

หมายเลขบันทึก: 689210เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2021 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2021 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท