ฝึกสมองให้มีทักษะการคิดยืดหยุ่น



หนังสือ Elastic : Flexible Thinking in a Time of Change(2018)   เขียนโดย Leonard Mlodinow    บอกว่าการคิดมี ๓ ระดับ คือแบบ คิดตามกรอบ (scripted thinking),  คิดตามตรรกะ (analytical thinking), และคิดยืดหยุ่น (elastic thinking)  

ในยุค VUCA คนเราต้องฝึกคิดให้ยกระดับสู่แบบที่ ๓ ได้อย่างคล่องแคล่ว    จึงจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและคาดเดาทิศทางได้ยาก    และมีชีวิตที่ดีได้

ความก้าวหน้าด้าน cognitive neuroscience   ช่วยไขความกระจ่างว่า การคิดยืดหยุ่นเกิดขึ้นได้เพราะมีการผ่อนคลายให้สมองส่วนควบคุมการใช้เหตุผล (Executive Functions / executive brain อยู่ที่ lateral prefrontal cortex) ทำงานน้อยลง    สมองส่วนนี้ทำหน้าที่กรองสัญญาณที่มาจากส่วนอื่นๆ ของสมอง (cognitive filtering system)    เพื่อตัดสินว่าจะใช้หลักการอะไร    จะตัดสินใจอย่างไร    ซึ่งเป็นการคิดตามกรอบ และตามตรรกะ    หากจะให้มีการคิดแบบยืดหยุ่น ต้องหาทางทำให้สมองส่วนนี้ทำงานน้อยลง หรือไม่ทำงาน     

สภาพที่ “เครื่องกรองสัญญาณ” หย่อนยาน จะทำให้สภาพจิต “คล้ายคนบ้า” (schizotypy)     ทำให้ความคิดเป็นอิสระ  และคิดประหลาดไม่อยู่กับร่องกับรอย (nonconformist)    หากเครื่องกรองสัญญาณชำรุดถาวร ก็เป็นคนวิกลจริต (schizophrenia)    แต่ถ้าเราฝึกบังคับเครื่องกรองสัญญาณให้หย่อนเป็นครั้งคราวตามที่ต้องการได้    เราก็จะได้สมองที่คิดแบบที่ ๓  คือสมองยืดหยุ่น

ที่จริงมนุษย์เราค้นพบตัวช่วย “สลบ” “เครื่องกรองสัญญาณ” สมองชั่วคราว    และใช้ประโยชน์มันมานานแล้ว    ได้แก่ สุรา  กัญชา  และคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้พบสมุนไพร ayahuasca    และยังมียาหลอนประสาทอีกหลายชนิด    แต่นั่นเป็นตัวช่วยภายนอก   ที่มีผลร้ายตามมาด้วย  

สภาพที่สมองคิดแบบยืดหยุ่น คือสภาพที่สมองอยู่ใน default mode   ซึ่งหมายถึงสมองสงบจากความคิด    เป็นสภาพที่สมองมีพลัง “background energy” หรือ “dark energy”    ซึ่งเป็นสภาพที่สมองส่วน executive brain ไม่ทำงาน     เกิดพลังลี้ลับในสมอง    ที่ทำให้สมองยืดหยุ่นและสร้างสรรค์เป็นพิเศษ    ที่เรียกว่า REST state (random episodic silent thinking)     ที่ได้จากการวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์    คิดเงียบๆ หรือคิดแบบไม่คิด เป็นการคิดที่ยืดหยุ่นที่สุด    โดยในสภาพนี้สมองใช้ default network   

Default network กำกับความคิดภายในของเรา     กำกับการพูดคุยกับตนเอง ทั้งที่เราทำอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว     คนที่มีทักษะในการพูดคุยกับตนเอง  จะมีสมองที่ยืดหยุ่นด้านความคิด   

Default network ทำงานได้อย่างอิสระในสภาพผ่อนพักทางใจ    เช่น ขณะฝันกลางวัน  เหม่อลอย  เดินเล่น  อาบน้ำ    เป็นช่วงที่สมองมีพลังสูงในการสร้างไอเดียใหม่ๆ       

ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์สมอง ช่วยให้เข้าใจกลไกของ default network ในสมอง     ว่าเกิดจาก association cortices ซึ่งเป็นเครือข่ายพื้นที่ในสมอง     คำว่า cortices เป็นพหูพจน์ของคำว่า cortex    ให้ความหมายว่า นี่คือเครือข่ายของ ๕ sensory cortex    ที่เป็นส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ตีความผัสสะทั้ง ๕   คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย     ห้าส่วนของเปลือกสมองที่ทำหน้าที่ตีความผสสะนี้จะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย    เรียกว่า default network  หรือเครือข่ายสมองจิตสงบ หรือจิตเดิมแท้    ยังไม่ปรุงแต่ง         

เครือข่ายนี้ใหญ่มาก เชื่อมโยงเซลล์สมองถึงสามในสี่ของเซลล์สมองในส่วนเปลือกสมอง (cerebral cortex)     เป็นสมองที่ทำให้เรามี ท่าที บุคลิก ที่จำเพาะของแต่ละคน    นอกจากนั้น ยังเป็นสมองแหล่งกำเนิดของความสร้างสรรค์ 

นี่คือเครือข่ายสมองที่ป็นกลาง     เปิดรับต่อการรับรู้แนวคิดที่แตกต่าง  และสิ่งเร้าที่เพิ่งได้รับ    เปิดช่องให้เกิดความคิดเชิงบูรณาการ    ความท้าทายของมนุษย์ยุคปัจจุบันคือ   เราต่างก็เป็นผู้ด้อยโอกาสสมองว่าง    ขาดแคลนเวลาที่สมองอยู่ใน default mode    เพราะเราต่างก็อยู่ในสภาพสังคมที่มี hyper stimulation    ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอกมากเกิน       

มองจากมุมวิธีคิดแบบตะวันออก    นี่คือสภาพที่จิตสงบ    เรารู้กันมานานแล้วว่า จิตที่สงบเป็นจิตที่มีพลัง    และเราก็รู้วิธีทำให้จิตสงบด้วย  

หนังสือบอกว่า ในสภาพจิตที่สงบ    เราคุยกับตัวเอง    ช่วยให้ความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น    ช่วยให้สมองได้เชื่อมโยงสารสนเทศที่แตกต่าง สร้างความสัมพันธ์ใหม่  เกิดกรอบความคิดใหม่    ช่วยให้การคิดจากล่าง (bottom-up thinking) ค้นหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ  หรือการสร้างสรรค์ใหม่ๆ    ที่ทำไม่ได้โดย top-down thinking  ที่กำกับโดย executive brain   

เมื่อไรก็ตาม ที่สมองพุ่งสมาธิสู่การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง    กระบวนการเชื่อมโยงสมองส่วนรับรู้สิ่งเร้า (associative cortices)    ที่เรียกว่า associative process จะหย่อนลง    ทำให้เราคิดตามแนวทางที่คุ้นเคย    แต่เมื่อไรที่สมองอยู่ในสภาพผ่อนพัก    เราจะคิดในแนวทางใหม่ๆ ได้ดีขึ้น    ซึ่งก็คือ คิดยืดหยุ่น    เนื่องจากในสภาพนี้  สมองเกิดการเชื่อมสัมพันธ์แบบไร้ทิศทาง (random association)   

ที่น่าแปลกใจคือ เขาบอกว่า การผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination) เป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์      เพราะมันทำให้เราชลอการตัดสินใจโดยใช้ความคิด    เปิดโอกาสให้การ “คิดโดยไม่คิด” เข้ามาทำงาน  

สภาพ “รู้แจ้ง” (insight) เกิดจากสภาพสมองที่จิตสงบ    และพร้อมที่จะรับฟังจากสมองซีกขวา    ที่เป็นสมองส่วนที่ชอบคิดนอกกรอบ    ซึ่งตามปกติสมองส่วนนี้มักโดน ACC – anterior cingulate cortex คอยกำกับให้ “พูดไปก็ไม่ได้ยิน”    คนที่ฝึก ACC ให้ไม่เข้มงวดขึงขัง    จึงเท่ากับมี insight mindset  หรือ relaxed mindset     คือเป็นคนที่มีสภาพสมองที่พร้อมให้เกิดการ “รู้แจ้ง”   

ทำให้ผมตีความว่า เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแสวงหาสัจจะอยู่ ๖ ปี    ก็เพื่อเปลี่ยนสมองให้เข้าสู่ insight mindset นี่เอง    เป็นการเตรียมสมองให้ตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ        

หนังสือบอกว่า สามารถฝึกสมองให้คิดยืดหยุ่นได้หลากหลายวิธี   ได้แก่

  • สมาธิภาวนา
  • การเจริญสติ
  • สัปปายะสถาน  ที่แสงสลัว เพดานสูง  เปิดกว้าง  ช่วยให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง    ไม่มีความเร่งรีบ
  • ปลอดจากสิ่งเร้าให้ต้องตอบสนอง เช่นโทรศัพท์  โซเชี่ยลมีเดีย
  • เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ  บรรยากาศใหม่ๆ    เช่นโดยการเดินทางท่องเที่ยว
  • การไม่ยึดมั่นถือมั่น   
  • ใช้สารเคมีกดสมองส่วน executive functions   เช่นสมุนไพรกัญชา
  • การใช้สมองจนเพลีย    แล้วจึงหันมาคิดเรื่องสร้างสรรค์ 
  • คิดเรื่องสร้างสรรค์ในช่วงของวันที่เป็นช่วงที่สมองผ่อนพัก    เช่นผมเป็นคนที่สมองตื่นตัวช่วงเช้า (มนุษย์ไก่)    ใช้ช่วงเช้าทำงานตามปกติ    จนตกเย็นก็หมดแรง ต้องการพักสมอง    ใช้ช่วงนั้นทำงานสร้างสรรค์    ส่วนคนที่เป็น “มนุษย์นกฮูก”  สมองตื่นตัวตอนดึก    งัวเงียตอนตื่นนอนช่วงสายๆ หรือเที่ยงๆ ก็ใช้ช่วงนั้นคิดเรื่องสร้างสรรค์ หรือทำงานสร้างสรรค์         
  • สมาทานจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)    ทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ    สมองจะพร้อมคิดยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา     
  • ออกกำลัง ความรู้สึกในบุญคุญ (gratitude exercise)    เช่นกล่าวคำขอบคุณผู้ผลิตและประกอบอาหารก่อนกินอาหารทุกมื้อ   
  • ออกกำลัง ความมีเมตตากรุณา (kindness exercise)    โดยทำบัญชีประจำวันของตนเองว่าได้มีพฤติกรรมเมตตากรุณาต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง   

น่าจะยังมีวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมองส่วน default network อีกมาก    โดยทางตะวันออกของเราใช้มาเป็นเวลาหลายพันปี    ภายใต้เป้าหมายเพื่อชีวิตที่ดีแบบที่มีความสงบ ตามสภาพสังคมโบราณ     แต่ในหนังสือเล่มนี้ ใช้ในต่างเป้าหมาย    คือเพื่อชีวิตที่มีความยืดหยุ่น และสร้างสรรค์ ตามสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต     

คนเขียนหนังสือนี้เป็นฝรั่ง เป็นยิว ไม่รู้จักศาสนาพุทธ    เขาจึงรู้จักสิ่งรบกวนความสงบในใจเฉพาะส่วนที่เป็นสิ่งเร้าภายนอก    ไม่รู้จักสิ่งรบกวนความสงบที่เป็นสิ่งเร้าภายใน คือกิเลสตัณหา     ผมจึงขอเพิ่มเติมว่า เพื่อให้จิตใจหรือความคิดยืดหยุ่นมีความว่องไว    เราต้องรู้จักวิธีทำให้ใจสงบจากสิ่งเร้าภายในด้วย    ก็จะทำให้จิตสงบง่ายขึ้น    และคิดยืดหยุ่นได้         

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689118เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท