พุทธเศรษฐศาสตร์ : งานของ "ความตาย..."


เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นศาสตร์ที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจที่อยู่บ้านพื้นฐานของการสร้าง "ความหลง" กระตุ้นให้ซื้อ กระตุ้นให้ใช้ กระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอย เพื่อตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจ แต่การปฏิบัติทางจิตซึ่งถือเป็นหลักการทางพุทธเศรษฐศาสตร์นั้น กระตุ้นให้คนละให้ได้ซึ่งความหลงเหล่านั้น

คนในสังคมทุกวันนี้หลงในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริฐ ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย เหมือนกับคนมองดูสายน้ำที่กำลังไหลไปทางตะวันตก แล้วอยากให้สายน้ำนั้นไหลย้อนกลับขึ้นไปทางทิศตะวันออก...

การละเสียได้ซึ่งความหลง โดยการเจริญมรณานุสสติ หรือการพิจารณาถึงความตายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ...

เมื่อได้เห็นคณะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ใจดีจาก อบต.ด่านเกวียน มาร่วมรวมกันทำดอกไม้จันทน์ นี่ถือว่าเป็นอุบายธรรมที่สำคัญในการปลดเปลื้องภาระทางด้านธาตุขันธ์ที่เกาะเกี่ยวอยู่ในหัวใจ

การพูดให้ฟังร้อยครั้ง ไม่เท่าทำให้ดูครั้งเดียว แต่การทำให้ดูหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้านครั้ง ก็ไม่เท่ากับบุคคลผู้นั้นลงกระทำด้วยตนเอง

การก่อเกิดด้วยการรวมตัวกันของผู้หลัก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ให้มีกิจกรรมการทำงานร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ดี และการได้ร่วมรวมกันทำงานที่สามารถเป็นอุบายในการให้พิจารณาถึงความตายในทุก ๆ ครั้งที่ได้ขยับไม้ ขยับมือ ขยับเขยื้อนร่างกายจึงเป็นสิ่งที่ดีมาก ประเสริฐมาก ประเสริฐพิเศษจริง ๆ

คนที่กลัวในความตายก็พยายามนำตัวเองออกห่าง หรือหนีจากเรื่องความตายนั้น

ใครมาพูดเรื่องตาย ก็ว่าเขาพูดไม่ดี แต่ถ้าใครมาชมว่าสวย ว่ารวยล่ะชอบ...

การที่พระมีการสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ในการบำเพ็ญบุญกุศลให้กับผู้วายชนม์นั้น ท่านมิได้สวดให้คนที่ตายหรือละสังขารฟัง แต่ที่สำคัญคือให้บุคคลทีไปร่วมงานเหล่านั้น ได้ร่วมรวมกันพิจารณาถึงความตายที่จะต้องมีแก่เราแน่นอน

คนรวยก็ตาย คนจนก็ตาย เด็กก็ตาย ผู้ใหญ่ก็ตาย ผู้ชายก็ตาย ผู้หญิงก็ตาย ทุก ๆ คนล้วนแต่มีความตายเป็นธรรมดา จะหลีกหนีไปไหนมิได้

อนิจจา วะตะ สังขารา, สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ,

อุปปาทะวะยะธัมมิโน, มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา,

อุปัชชิตตะวา นิรุชฌันติ, ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป,

เตสัง วูปะสะโม สุโข, ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลาย เป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้...

สัพเพ สัตตา, สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง,

มะรันติ จะ มะริงสุ จะ มะริสสะเร, ตายแล้วด้วย กำลังตายอยู่ด้วย และจะต้องตายอีกด้วย,

ตะเถวาหัง มะริสสามิ, เราก็จะต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน,

นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย, ความสงสัยในเรื่องตายนี้ ย่อมไม่มีสำหรับเรา... (บทพิจารณาสังขาร) 

-------------


อันธรรมใด คือธรรมเลิศ แห่งชีวิต

ธรรมนำจิต ให้ละได้ ซึ่งความหลง

พิจารณา ธรรมะนั้น เพื่อปลดปลง

ให้วางลง เสียได้ ก่อนตัวตาย


อันร่างกาย มิยั่งยืน ไปถึงไหน

อีกไม่ไกล เราต้องตาย กลายเป็นผี

ก่อนชีพดับ ละสังขาร ดับชีวี

โปรดเร่งสร้าง คุณความดี ทุกคืนวัน


อันชีวิต นี้หนอ ไม่นานนัก

แม้ฟูกฟัก ทะนุถนอม ย่อมเปื่อยเน่า

เซลล์เสื่อมถอย ผิวหนังเหี่ยว เรี่ยวแรงเบา

เราและเขา อีกไม่นาน ย่อมต้องตาย

อันความตาย คือสัจธรรม แห่งชีวิต

ให้เร่งคิด นำกายใจ เร่งขวนขวาย

ให้ดับทุกข์ โลภ โกรธ หลง ก่อนชีพวาย

อุทิศใจ มอบร่างกาย สร้างความดี

อันบุญกรรม แน่แท้ จักตามติด

ทั้งถูกผิด ที่เคยทำ แต่หนหลัง

เราต้องแก้ กรรมทั้งหมด ในปัจจุบัน

ด้วยกำลัง ทั้งกายใจ ไม่ยั้งรอ


อันสวรรค์ หลังตาย มิเที่ยงแน่

จะได้แน่ จักต้องได้ วันนี้หนอ

อันสวรรค์ อันนิพพาน อย่ารั้งรอ

เร่งสานต่อ ทางดำเนิน อริยธรรม


อริมรรค มีองค์แปด อันประเสริฐ

เป็นธรรมเลิศ นำชีวิต สู่สวรรค์

สุขวันนี้ สุขวันหน้า สุขทุกวัน

เหนือสวรรค์ คือนิพพาน พ้นเกิดตาย...

 

หมายเลขบันทึก: 689088เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2021 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2021 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท