พุทธเศรษฐศาสตร์ : วัฒน "ทำ" ตาม ๆ กัน...


เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปซื้อหญ้ามาปลูกถึงนาหญ้าบ้านคลอง ๑๒ หนองเสือ ปทุมธานี จึงได้มีโอกาสพิสูจน์ซ้ำวัฒนธรรม "ตาม ๆ กัน)

ครูบาอาจารย์เคยให้ข้อคิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ท่านเห็นเคยแถว ๆ นี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะทุก ๆ คนก็ทำไร่ข้าวโพดตาม ๆ กัน ปลูกอ้อยตาม ๆ กัน นอกจากปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศแล้ว ก็ยังมีปัญหาจากสัตว์ป่าอาทิเช่น ช้าง และกระทิงออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรอีก ท่านจึงเมตตาปลูกสวนทุเรียนให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะคนเมืองจันทบุรี ที่มากราบครูบาอาจารย์หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาต่างหน้าชื่นตาบานเพราะราคาผลผลิตทุเรียนนั้นทำให้ลืมตาอ้าปากกันได้อย่างเต็มที่

ท่านจึงเมตตาพูดว่า "คนเรา ทำอะไรก็ทำตาม ๆ กัน จนก็จนตามกัน รวยก็รวยตามกัน"

เพราะที่ดินแถวนี้ที่เห็นทำไร่ข้าวโพดกันเยอะ ๆ นั้น แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ที่ดินของคนทำไร่ แต่เป็นที่ดินที่ต้องเช่าจากนายทุน... ทั้งนายทุนเงินกู้ นายทุนร้านขายปุ๋ย ขายยาฆ่าแมลง อุปกรณ์ทำการเกษตร ที่ชาวไร่ไปเอาของมาใช้แบบ "เงินเชื่อ" เมื่อผลผลิตออกมาไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือว่าขาดทุน นายทุนเหล่านั้นจึงได้ยึดที่ดินเป็นการใช้หนี้

อย่างที่บ้านคลอง ๑๒ หนองเสือ พี่น้องประชาชนก็ทำนาเหมือนกัน แต่เป็น "นาหญ้า" ซึ่งเขาทำตาม ๆ กัน และมีการแข่งขันกันด้วย

ข้าพเจ้าเคยไปนั่งคุยกับเจ้าของนาหญ้าหนุ่ม ๆ คนนึง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาทำแข่งกันกับเพื่อน... แข่งกันว่า ใครจะได้ผลผลิตไวกว่ากัน โดยปกตินั้นหญ้าแปลงหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๖ สัปดาห์ต่อ ๑ รุ่น... เขาแข่งกันว่าใครจะทำได้เร็วกว่านั้น คิดคว้าหาสูตรการใส่ปุ๋ย เพราะให้หญ้าขึ้นเต็ม แล้วสามารถขายได้เร็วที่สุด

ในรอบ ๕-๖ สัปดาห์นั้น จากพื้นที่นาข้าวเดิม ๆ เขาบอกว่า ตอนที่ทำถนนข้าง ๆ เขาจ้างรถบดถนนมาบดดินในนาข้าวเดิมให้แน่น แล้วขึ้นแอ่งน้ำเล็ก ๆ ขึ้นมารอบ ๆ แปลง โดยใช้เศษหญ้าที่เหลือจากที่ขายประมาณ ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์ ฉีกๆๆๆ แล้วหว่านกระจายให้ทั่ว จากนั้นจึงปั่นขี้เลนจากแอ่งน้ำนั้นขึ้นมารดให้ท่วมเศษหญ้า โดยการทำทุกขั้นตอน เจ้าของใช้วิธีการจ้างทั้งหมด

จ้างหว่าน จ้างรดน้ำ จ้างถอนหญ้า (หญ้าที่เป็นวัชพืช) จ้างใส่ปุ๋ย จ้างแซะ จ้างขนส่ง โดยในแปลงหนึ่ง ๆ นั้น เขาบอกว่าสามารถขายหญ้าได้ประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) โดยสามารถหมุนเวียนทำได้ทั้งปี เพราะได้น้ำจากคลอง ๑๒ ที่สามารถสูบมาใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยแต่ละคนที่มีดินกันคนละหลายแปลง หลายสิบไร่

นาหญ้าที่คลอง ๑๒ จึงถือว่าเป็นแหล่งปลูกและขายหญ้าแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งสามารถขายไปทั่วประเทศตลอดทั้งปี

เมื่อวานนี้ทำไมถึงต้องไปถึงแปลงหญ้า..?

ตอนแรกข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะหาซื้อร้านขายปลีกบริเวณข้างทาง ซึ่งจะมีเรื่อยไปจากคลอง ๑๒ ไปถึง คลอง ๑๕ เพราะรอบนี้ใช้ปริมาณไม่มาก แค่ประมาณ ๑๐๐ ตารางเมตร

แต่ทว่า... เมื่อไปถามราคาร้านข้างทางแล้วค่อนข้างแพง (ตารางเมตรละ ๒๐ บาท) และหญ้าไม่ค่อยสวย โดยปกติถ้ามาซื้อแถว ๆ นี้ราคาจะอยู่ที่ ๑๒-๑๔ บาทต่อตารางเมตร

ทำไมราคาถึงแพงขึ้น..?

ก็เป็นไปตามหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์คือหลักของอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply)

เมื่อวานนี้ข้าพเจ้าต้องการหญ้ามาเล ซึ่งเป็นหญ้าใบใหญ่เพื่อใช้ในการปูในพื้นที่ที่ร่ม แต่ทว่า... หญ้ามาเลตอนนี้ ค่อนข้างมีน้อย เนื่องจากเจ้าของนาหญ้าเล่าให้ฟังว่า ช่วงหน้าหนาว หญ้าจะโตช้า ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำมีปริมาณความเค็มมากขึ้น หญ้าจึงไม่ได้ผลผลิตดีเหมือนกับช่วงอื่น ๆ 

แต่ถึงแพงขึ้นมาอย่างไรก็ต้องซื้อ... ตลาดหญ้าปูสวน อำนาจการกำหนดราคาจึงอยู่ที่ผู้ผลิต ไม่เหมือนกับผลผลิตทางการเกษตรทั่วไป ที่ราคาส่วนใหญ่ ผู้ผลิตต้องรอคอยว่า รัฐบาลจะประกันราคาเท่าไหร่ โรงสี ลานมัน พ่อค้าคนกลาง จะให้ราคาเท่าไหร่ 

คนรวยในเมืองไทยจึงเป็นพ่อค้าคนขาย และคนที่จนส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องเกษตรกรที่ต้องรอคอยว่า เขาจะให้ราคาฉันเท่าไหร่ เมื่ออำนาจในการซื้ออยู่ที่นายทุน ก็เท่ากับเป็นปลาใหญ่กินปลาน้อย ผู้ที่ด้อยกว่าไม่มีวันที่จะลืมตาอ้าปาก ขาดทุนสะสมทุก ๆ ปี ขาดทุนไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลืออะไรแม้กระทั่งที่ดินที่จะทำกิน ต้องไปเช่าที่ดินที่เคยเป็นของตัวเอง อย่างที่เราได้เห็นความจริงกันอยู่ในทุกวันนี้

ดังนั้น... เรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เราเห็นสิ่งใด ๆ เกิดขึ้นแล้วเราต้องมีปัญญา เราเรียน เราศึกษา เราต้องมีปัญญา และนำปัญญาเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ยิ่งยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยของความรู้ที่ระเบิดออกมาอย่างมาก (Knowledge Explosion) เราสามารถหาความรู้ได้ทุกสิ่งเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

คนล้มเราก็เห็น คนลืมตาอ้าปากได้เราก็เห็น คนที่มั่นคงเราก็ทำตามเขา คนที่ประสบความล้มเหลว เราก็รู้ไว้เพื่อเป็นประสบการณ์ ต้องพยายามไม่ล้มเหมือนเขา

ข่าวสารต่าง ๆ ก็มีให้เห็นกันอยู่ทุกวัน คนเครียด คนเป็นโรคประสาทเพราะหนี้สิน ปัญหาครอบครัว หย่าร้าง เล่นการพนัน กินเหล้าเมายา ฉกชิงวิ่งราว ก็มีให้เราเห็นอยู่ทุก ๆ วัน เราต้องนำทุกอย่างที่เรารู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์

สิ่งใดที่ดีให้รีบทำ รีบขวนขวาย สิ่งไหนไม่ดีรู้แล้วก็หยุด ละ เลิก

ท่านทั้งหลายพึงละจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง แล้วร่วมกันประกอบอาชีพด้วยการมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วชีวิตของเราก็จะปฏิบัติและเดินไปอย่างถูกต้องตามครรลองตามศาสตร์แห่งพุทธะ คือ ศาสตร์แห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เรารู้เพื่อตื่น มีวันคืนที่แช่มชื่นเบิกบานด้วยความดี ความเสียสละ เพียงท่านตั้งใจทำงานด้วยจิตใจของผู้ให้ ผู้เสียสละ แล้วชีวิตของท่านจะได้พบกับศานติสุขอย่างแท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 688791เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2021 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท